BANGKOK DESIGN WEEK 2024, 27 JAN–4 FEB

‘สำรับบ้านครัว’: เปิดบ้านชุมชนมุสลิมเก่าแก่

เผยแพร่เมื่อ 25 วันที่แล้ว

‘สำรับบ้านครัว’: เปิดบ้านชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยของอร่อยและประวัติศาสตร์แขกจาม



ไม่ไกลจากแหล่งรวมวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์เป็นที่ตั้งของ ‘ชุมชนบ้านครัว’ ชุมชนมุสลิมเก่าแก่เชื้อสายแขกจามอายุกว่า 235 ปี ซึ่งพี่ติ๋ม – สุพิชฌาย์ วงศ์ยุติธรรม ประธานกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านครัว และรองประธานอนุสตรีประจำมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ ให้คำนิยามชุมชนที่เธออยู่มาตั้งแต่เกิดว่า “พวกเราคือชาวจามและเป็นนักสู้” หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บรรพบุรุษของชาวชุมชนบ้านครัวคือ ‘กองอาสาแขกจาม’ ที่ร่วมรบปกป้องดินแดนสยามในสงครามเก้าทัพ จึงได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 และเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงสะพานเจริญผลมาจนถึงปัจจุบัน

 

เวลาต่อมาชาวชุมชนบ้านครัวต้องลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง เพื่อปกป้องบ้านของตนจากการถูกเวนคืนพื้นที่สร้างทางด่วนซึ่งยืดเยื้อยาวนานถึง 28 ปี และปัจจุบันพวกเขาก็กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่ค่อยๆ กลืนกินวิถีชีวิตดั้งเดิมให้สูญหาย จึงเกิดเป็นโครงการฟื้นฟูคุณค่าพัฒนาชุมชนที่ทางสถาบันอาศรมศิลป์ทำร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และต่อยอดมาสู่กิจกรรมเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือนทุกศาสนาทุกความเชื่อที่สนใจศึกษาเรียนรู้อัตลักษณ์ของชาวชุมชนบ้านครัว

 


สัมผัสเสน่ห์ชุมชนเก่าและเรื่องราวเล่าขาน

กิจกรรม ‘สำรับบ้านครัว’ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, สถาบันอาศรมศิลป์, อุทยานการเรียนรู้ TK Park, GalileOasis และชุมชนบ้านครัว โดยมีทั้งหมด 18 โปรแกรมที่นำเสนอทั้งนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม เวิร์กชอปทำอาหาร ทัวร์นำเที่ยว และสำรับอาหารพื้นถิ่นมุสลิมจาม

 

ไฮไลต์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือกิจกรรม ‘เดินเที่ยว…ย้อนรอยตำนานผ้าไหมบ้านครัว’ ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ยุคแรกเริ่มที่ ‘จิม ทอมป์สัน’ ก่อตั้งธุรกิจผ้าไหม ช่างทอผ้าในชุมชนบ้านครัวคือกำลังสำคัญที่ทำให้ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยพี่ติ๋มบอกเล่าว่า “ตอนพี่ติ๋มเป็นเด็กเดินไปตรงไหนก็จะได้ยินเสียงกี่กระตุกจากการทอผ้าไหม พายเรือผ่านจะเห็นโรงย้อมตากไหมหลากสีสัน เราเลยนำเรื่องราวนี้กลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง พี่ติ๋มดีใจนะที่มีคนมาเดินทัวร์กับเรา แล้วเขากลับมาทำเวิร์กชอปอีก มีคนนึงมาสามวันเลยเขาบอกว่าอาหารอร่อย ผู้คนอบอุ่นน่ารัก เวลาพาเดินทัวร์เราใส่ชุดชาวจามนุ่งผ้าถุงคลุมฮิญาบ ร้องเพลงสนุกสนานเป็นกันเอง แล้วพอเขากลับมาอีกครั้ง เขาก็ใส่ผ้าปาเต๊ะมาให้เข้ากับเราด้วย”

 

“เราต้อนรับทุกคนแบบเป็นธรรมชาติ เล่าประวัติศาสตร์ในสไตล์เรา พาไปกินอาหารและขนมที่ไม่เหมือนที่อื่น มีทั้งข้าวแขก แกงส้มเขมร บอบอสะแด๊ก ก๋วยเตี๋ยวแกง น้ำอินทผลัม” พี่ติ๋มบรรยายถึงเมนูบางส่วนที่จัดเสิร์ฟในช่วงเทศกาล โดยมีการนำเสนอ ‘สำรับบ้านครัว’ ทั้งบริเวณงานระดมทุนการกุศลประจำปีที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ เรือนแม่ทรัพย์ ร้านอาหารไทยมุสลิมในเรือนไม้เก่าอายุ 200 กว่าปี ร้านบังมินที่สืบทอดสะเต๊ะสูตรเด็ดกันมานับร้อยปี และร้านอื่นๆ อีกมากมายที่กระจายตัวอยู่ทั่วชุมชนอันรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอาหารแห่งนี้

 

ส่วนในแง่ของการพัฒนาชุมชน โปรแกรมสำรับบ้านครัวยังมี Youth Photo Exhibition ‘Signature of Bankrua’ ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ The Momentum ชวนเด็กๆ ในชุมชนมาจัดนิทรรศการภาพถ่าย และต่อยอดไปสู่การจัดวงเสวนาเรื่องเล่าหลังภาพถ่าย โดยพี่ติ๋มมองว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่การปลูกฝังให้เยาวชนมีความรู้สึกผูกพันกับชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ด้วยว่าเด็กมองภาพชุมชนของตัวเองยังไง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างกระบวนการส่งต่อชุมชนให้กับคนรุ่นต่อไป

 


เปิดประตูสู่พื้นที่ใหม่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นอกจากกิจกรรมหลักส่วนใหญ่ที่กระจายตัวอยู่รอบชุมชนบ้านครัวแล้ว ยังมีอีก 4 โปรแกรมที่ขยับขยายมาจัดบริเวณ GalileOasis ครีเอทีฟสเปซเพื่อนบ้านของชุมชน ได้แก่ ตลาดแห่งศรัทธา, เวิร์กชอปสอนเขียนอักษรอารบิก, มุสลิม มุ-สลิม YOGA คลาสโยคะสำหรับคนในชุมชน และนิทรรศการศิลปะ กาล(ะ) | สถาน(ะ) ซึ่งนับเป็นการเชื่อมประสานพื้นที่ทำกิจกรรมที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ากับการวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

 

โดยดา – ณัฐพร ธนะไพรินทร์ ผู้ดูแลกิจกรรมประจำ GalileOasis บอกเล่าถึงการทำโปรเจกต์ร่วมกับชุมชนบ้านครัวว่า “เราอยากให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเขาสามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ ก่อนหน้านี้เราก็เคยชวนร้านในชุมชนมาขายของในโครงการ แนะนำลูกค้าที่เช่าสถานที่ให้ใช้บริการของว่างจากชุมชน และในดีไซน์วีคเราก็มีตลาดแห่งศรัทธา ซึ่งปกติกาลิเลโอจัดตลาดทุกเดือนอยู่แล้วโดยเปลี่ยนธีมไปไม่ซ้ำกัน เดือนที่มีเทศกาลดีไซน์วีคเราเลยจัดธีม ‘ตลาดแห่งศรัทธา’ เพราะเรามองว่าคนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านครัวเป็นมุสลิม แต่ละแวกโดยรอบก็มีผู้คนหลายความเชื่อหลายศาสนา เลยลองทำเป็นตลาดที่รวบรวมสินค้าสายมูทุกความเชื่อ และเชิญร้านขนมของพี่ๆ ในชุมชนบ้านครัวเข้าร่วมมาด้วย”

 

“หรืออย่างกิจกรรม มุสลิม มุ-สลิม YOGA เราก็ต้องการเน้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจริงๆ ที่มัสยิดเขามีการออกกำลังกายอย่างโยคะ แอโรบิกกันอยู่แล้ว แต่กลุ่มพี่ๆ ที่มาเข้าร่วมจะค่อนข้างใหม่กับการเล่นโยคะและปกติไม่ค่อยออกกำลังกาย เราเลยอยากชวนเขามายืดเส้นยืดสาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการออกกำลังกายโดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา แล้วเราก็มีเสื่อโยคะให้เขานำกลับไปฝึกต่อที่บ้านด้วย”

 

“ส่วนเวิร์กชอปเขียนอักษรอารบิกจะสอนโดยพี่ป่องจากชุมชนบ้านครัว ซึ่งในมุมนึงวิทยากรเขาก็ได้มาสัมผัสมุมมองใหม่ๆ จากวัยรุ่น ส่วนคนที่มาเรียนก็ได้รู้จักภาษาใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและได้ฝึกสมาธิ เพราะพี่ป่องเขาจะสอนตัดสติกเกอร์ด้วย หรือถ้าเป็นคนที่เรียนดีไซน์มาก็สามารถนำสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้กับงานไทโปหรืองานออกแบบอื่นๆ ได้ สามารถมองให้เป็นงานศิลปะได้

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/BankruaOfficial



Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์