ท่าจะเล่า: เป็นโปรแกมหนึ่งในท่าวังดีไซน์เนอะ นำเสนอผ่านรูปแบบพื้นที่เสวนา ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ที่ชวนคนในท้องถิ่น นักวิชาการ และผู้คนที่สนใจ มาร่วมบอกเล่า แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และความทรงจำถึงชุมชนท่าวังและย่านรอบข้าง ผ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คำบอกเล่า และภาพถ่ายเก่า
สถานที่ : มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
———————-
*ตารางกิจกรรม*
เสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00-12.00 น.
หัวข้อ : ท้องถิ่น “ท่าวัง” เล่าประวัติศาสตร์ย่านพระนคร
วิทยากร : ผศ. ดร.นุชนภางค์ ชุมดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, กลุ่มอ่านเมือง และชาวชุมชนท่าวัง
เสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00-12.00 น.
หัวข้อ : มองภาพเก่าเล่าท่าวัง
วิทยากร : เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2563
เปิดลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมทางเพจ Facebook : อ่านเมือง
—————
ท่าวังเป็นชุมชนเก่าแก่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ในอดีตเป็นที่ตั้งของชุมชนที่อยู่นอกกำแพงพระนคร ชื่อท่าวัง มาจากการที่ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นท่าน้ำคู่กับวังท่าพระ ซึ่งเป็นวังสำหรับพระราชโอรสและเจ้านายองค์สำคัญที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยทุกวันนี้ยังเหลือร่องรอยแนวกำแพงอิฐเก่า ซึ่งในอดีตเป็นกำแพงทางเดินลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาของเจ้านายและสตรีฝ่ายในในวังท่าพระ
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนท่าวังเป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนของเหล่าขุนนางและข้าราชการที่ต้องคอยรับใช้เจ้านายในวังหลวงและวังหน้าพระลาน ยังมีหลักฐานจากความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าว่าบรรดาบรรพบุรุษของพวกเขาเคยทำงานเป็นเจ้าพนักงานจัดเตรียมอาหาร และเป็นเจ้าพนักงานดนตรี
เมื่อกว่า 70 ปีก่อน ท่าวังยังมีความสำคัญในฐานะเป็นท่าเรือรับส่งคนจากฝั่งธนบุรีมาสู่ฝั่งพระนคร เพื่อมาทำงาน และค้าขาย ก่อนที่ต่อมาเรือเมล์จะหายไป ถูกแทนที่ด้วยเรือหางยาวที่เน้นการเหมาลำ ส่งผลให้ความคึกคักของท่าวังเริ่มลดน้อยลง กลายเป็นชุมชนอยู่อาศัยแบบเต็มตัว
อีกความพิเศษหนึ่งคือ ผู้คนที่นี่ยังคงมีความเชื่อ ประเพณี และวิถีชีวิตบางอย่างร่วมกัน มีอาคารสถานที่ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงเหลือสภาพความเป็นชุมชนท้องถิ่นกรุงเทพฯ แบบดั้งเดิม นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้ ก่อนจะเลือนหายไปตามเวลาและความทรงจำที่เลือนรางของผู้คน
ถึงจะมีความสำคัญ แต่ที่ผ่านมาชุมชนท่าวังกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดชุมชนท่าวังให้เป็นที่รู้จักของคนที่มาเที่ยว รวมถึงนักศึกษาและบุคลากรในศิลปากรเอง เพื่อให้ย่านนี้เป็นอีกพื้นที่ที่สร้างพลังบวก จนนำมาสู่ ‘ท่าวังดีไซน์เนอะ’ ผ่านกิจกรรม Tour และ Talk ในช่วงเทศกาล
กิจกรรมทั้งหมดนี้จัดขึ้นโดย ‘อ่านเมือง’ ซึ่งเป็นพื้นที่รวมตัวของคนสนใจ ‘เมือง’ ตั้งแต่ ผู้คน ย่าน อาคาร สถานที่ ร้านค้า ตลาด และอีกมากมาย ที่สุดท้ายแล้วรวมกันเกิดเป็นชีวิตของเมืองขึ้นมา โดยเราคิดกันว่าเมืองทำหน้าที่เป็นเหมือนหนังสือที่ชวนให้เรามาช่วยกันอ่าน และถอดรหัสไปพร้อมกัน หลายครั้งพวกเราเห็นเมืองและย่านค่อยๆ ถูกทำลายและเลือนหายไปจากความทรงจำอยู่เรื่อยๆ จนเกิดความคิดที่อยากเข้าไปช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเท่าที่พวกเราจะทำได้
ในครั้งนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สนับสนุนให้เรากล้าที่จะเข้ามาบวก และพร้อมใช้ศาสตร์ที่ถนัดสร้างสรรค์งานและต่อยอดย่านพระนครในงาน Bangkok Design Week 2025 ได้อย่างเต็มที่ที่สุด
ติดตามกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : อ่านเมือง
Instagram : arnmuang
ผู้จัดรายการ/วิทยากร
- ผศ. ดร.นุชนภางค์ ชุมดี
- เอนก นาวิกมูล
- ชาวชุมชนท่าวัง
- กลุ่มอ่านเมือง