BANGKOK DESIGN WEEK 2025, 8 –23 FEB

Design Research Day

Design Research Day คือวันแห่งการนำเสนอผลงานการออกแบบและนวัตกรรม โดยเชิญนักสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขา มานำเสนอโปรเจกต์หรืองานวิจัยในรูปแบบการบรรยายที่เป็นกันเอง ภายในเวลาคนละ 20 นาที เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์จากกระบวนการทำงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นแนวคิดที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นใน Bangkok Design Week 2025 พบกับนักสร้างสรรค์ 10 ท่าน 1. คุณรักสิริ แก้วเทวี รักษาการแทนหัวหน้าสถานวิจัยและผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวข้อ: Shophouse Façades on Ratchadamnoen Road in Southern Thailand: A Taxonomic Study to Produce a Dataset for AI Modelling ย่านท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางทางสถาปัตยกรรมที่มีความหลากหลายอย่างโดดเด่น นอกเหนือจากอาคารเก่าแก่มากมายแล้ว ยังมีเบาะแสเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคแรก ๆ อีกด้วย ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นถนนสายหลักของพื้นที่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางสถาปัตยกรรม การวิจัยครั้งนี้จะเจาะลึกถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในรูปด้านของตึกแถว โดยมุ่งหวังที่จะอนุมานลักษณะเฉพาะของอาคารพาณิชย์ และ ทำความเข้าใจรูปแบบด้านของตึกแถวตลอดแนวถนน โดยมุ่งหวังที่จะสร้างชุดข้อมูลที่สามารถใช้เป็น input สำหรับการศึกษาโดยใช้ machine learning เพื่อการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ควบคู่กับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารต่อไป 2. คุณพงศ์ภัค สงวนดีกุล นักศึกษาปริญญาโท CTO at Muland | UX/UI Designer, Product Designer สถาบันวิทยาลัยดุสิตธานี หัวข้อ: ประสบการณ์มูเตลูในโลกเสมือนจริง MULAND เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงเทคโนโลยี VR และ AI เข้ากับความศรัทธาในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงศาสนา โดยผู้ใช้งานสามารถสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัดอรุณราชวราราม หรือคำชะโนด โดยไม่ต้องเดินทางจริง ฟีเจอร์ประกอบด้วยการท่องเที่ยวเสมือนจริง การทำบุญออนไลน์ การจำลองพิธีกรรม และการซื้อของบูชา นอกจากนี้ยังมีระบบ Hyper-Personalization ที่ปรับแต่งประสบการณ์ตามพฤติกรรมผู้ใช้ เพื่อลดข้อจำกัดด้านเวลา สุขภาพ และค่าใช้จ่าย, MULAND มุ่งเน้นการสร้างความสะดวกสบาย ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงศาสนาให้ทันสมัย และส่งเสริมความยั่งยืนโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยังช่วยสร้างชุมชนผู้ศรัทธาและสนับสนุนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ได้รับรายได้พัฒนาต่อไปในอนาคต 3. คุณจุติกรานต์ อังคพนมไพร Previsualization Manager, RiFF Animation Studio หัวข้อ: A VR game-cards based on discovery learning to enhance environment literacy การพัฒนาการ์ดเกมเสมือนจริง (VR) เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะด้านสิ่งแวดล้อม โดยจำลองสถานการณ์ที่ผู้เล่นต้องเผชิญกับปัญหามลพิษต่าง ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า น้ำเน่าเสีย ขยะ และมลพิษทางอากาศ โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการค้นพบ จากการสำรวจสาเหตุของปัญหา ฝึกวิธีจัดการขยะ ลดการสร้างขยะ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาทักษะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้เล่น 4. คุณญาณาริณ พากเพียร นักศึกษาปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ: นวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนผสานความเป็นจริงเสริม ที่ใช้เกมเป็นฐานเพื่อส่งเสริมการเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยสำหรับวัยรุ่นตอนต้น งานวิจัยนี้ได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้ประติมากรรมสุโขทัยเป็นกรณีศึกษา เน้นความเรียบง่ายและสร้างสรรค์ เหมาะสำหรับการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย ผ่านการใช้ เทคโนโลยี VR และ AR โดย VR 360 ใช้ปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และ AR ถูกออกแบบให้เป็นกิจกรรมขุดค้นโบราณคดีสุโขทัย เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเอง 5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชภูมิ ปัญส่งเสริม อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ: การพัฒนาแบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อทุกคน (Development of Thai Universal Design Font) การพัฒนาแบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อทุกคน (Thai Universal Design Font) เกิดขึ้นจากการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุในหลายประเทศ ทำให้ความสามารถในการอ่านและการมองเห็นกลายเป็นประเด็นสำคัญในการออกแบบตัวพิมพ์ โดยได้แรงบันดาลใจจากฟอนต์ UD ของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบบตัวพิมพ์ที่อ่านง่ายและมองเห็นชัดเจน การวิจัยชุดนี้ใช้แนวคิดการออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาฟอนต์ไทย UD ที่รองรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาทางสายตา 6. คุณณฐวลัญช์ เนียมถนอม นักศึกษาปริญญาโท, Hyper Island / Rise Impact หัวข้อ: To What Extent Are Service Design Tools Adopted in The Public sector when applied to Virtual Policy Platforms? การนำเครื่องมือการออกแบบบริการมาใช้ในแพลตฟอร์มนโยบายเสมือนจริงในภาครัฐ การวิจัยนี้ มุ่งเน้นศึกษาถึงขอบเขตและประสิทธิภาพในการนำเครื่องมือการออกแบบบริการ (Service Design Tools) มาใช้ในแพลตฟอร์มนโยบายเสมือนจริงภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์การให้บริการที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง พบว่าเครื่องมือการออกแบบบริการช่วยสร้างกระบวนการที่เอื้อต่อการเข้าใจความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น ช่วยเพิ่มความมีส่วนร่วมจากประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง 7. Eric Lung-Chi Lin Assistant Professor Dhurakij Pundit University หัวข้อ: Exploring the tactile elements for sustainable perfume packaging practice in art and design งานวิจัยนี้เน้นศึกษาความสำคัญขององค์ประกอบสัมผัส (Tactile Elements) ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำหอมอย่างยั่งยืน โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Jesmonite, เปลือกหอย, และเปลือกไข่ วัตถุประสงค์คือเพื่อสำรวจบทบาทของพื้นผิว น้ำหนัก และรูปทรง ที่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้บริโภคและการเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ งานนี้ยังมีมิติด้านการศึกษา ผ่านการจัดเวิร์กช็อปเพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับวัสดุยั่งยืน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้พัฒนารูปแบบที่ผสมผสานความสวยงามกับประโยชน์ใช้สอย โดยมีการแสดงผลงานในนิทรรศการและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม. 8. คุณชลธิชา อรุณรุ่งก้าวไกล Design Technology researcher and specialist, FabCafe Bangkok หัวข้อ: Claycelium 3D Printing for Adaptive and Sustainable Architecture งานวิจัยนี้ทำการศึกษาวัสดุคอมโพสิตจากไมซีเลียมและดินเหนียว สำหรับการก่อสร้างองค์ประกอบสถาปัตยกรรมโดยใช้ เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติด้วยแขนหุ่นยนต์ สืบเนื่องจากงานวิจัยนี้มุ่งหวังที่จะพัฒนาแนวทางการก่อสร้างอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของไมซีเลียม ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงมีคุณสมบัติในการผลิตอาหาร แสดงให้เห็นศักยภาพในการเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนแทนวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิม งานวิจัยนี้ประกอบด้วยการพัฒนาระบบการพิมพ์แม่พิมพ์ ทดสอบคุณสมบัติวัสดุ และสร้างต้นแบบ ผ่านการผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยและแนวคิดการออกแบบร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อการก่อสร้างที่แม่นยำ รวดเร็ว และขยายขนาดการก่อสร้างได้ง่าย ผลลัพธ์การวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการสร้างโครงสร้างชั่วคราว ที่พักฉุกเฉิน หรือผนังผลิตอาหาร ตอบโจทย์ความท้าทายระดับท้องถิ่นและสากล แสดงให้เห็นถึงแนวคิด การออกแบบหมุนเวียน เป็นมิตรต่อโลกและสังคมอย่างยั่งยืน 9. คุณเวธนี รุจิขจร Product Designer หัวข้อ: The future of menstrual taboos in the workplace Flow เป็นเก้าอี้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงในที่ทำงาน แนวคิดนี้เกิดจากสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับนโยบายการลาประจำเดือน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ รวมถึงการขาดการพูดคุยเรื่องประจำเดือนระหว่างเพศ ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า อะไรจะเป็นทางเลือกที่ช่วยดูแลผู้หญิงที่มีประจำเดือนในที่ทำงานได้? Flow ทำหน้าที่เป็นจุดพักผ่อนสำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนในสำนักงาน โดยเก้าอี้นี้ให้ความอบอุ่นบริเวณท้องน้อยและหลังส่วนล่าง Flow ยังเป็นงานออกแบบเชิงสนทนา (discursive design) ที่ส่งเสริมการพูดคุยในเชิงบวกเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนระหว่างเพศ 10. คุณญาณพันธ์ กันเดช Product Development Associate, Tiger Jewellery Manufacturing หัวข้อ: การออกแบบเครื่องประดับที่สะท้อนถึงศาสตร์จารึกตำรายาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย วัดโพธิ์ เครื่องประดับร่วมสมัย ที่ได้ถ่ายทอดในด้าน จารึกตำราการแพทย์แผนไทย ของวัดโพธิ์ ที่ว่าด้วยเรื่อง “สมุฏฐานธาตุ” โดยได้กล่าวถึง การหาที่มาของการเกิดโรคจากมูลเหตุอันเกิดจากธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ซึ่งร่างกายมนุษย์จะไม่สมบูรณ์ไม่เจ็บป่วยเมื่อธาตุทั้งสี่ จะต้องอยู่ในภาวะสมดุลกันร่างกายจึงจะปกติ ไม่เจ็บป่วย ข้าพเจ้าจึงต้องการถ่ายทอดถึงเรื่องราว สมุฏฐานธาตุ (มูลเหตุของธาตุทั้งสี่) ภูมิปัญญาการรักษาโรคในสมัยก่อน ถึงการรักษาร่างกายให้มีความสมดุล และสามารถใช้งานได้เครื่องประดับในการประกอบการนวดในแต่ละธาตุได้ เปรียบเสมือนความสมบูรณ์ของธาตุทั้งสี่โดยอ้างอิงจากการสมุนไพรที่ใช้รักษาในแต่ละธาตุ ซึ่งเป็นการพัฒนาจากต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิม สู่ผลงานเครื่องประดับเพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญา และส่งเสริมภูมิพลังทางวัฒนธรรมของการท่องเที่ยววัดโพธิ์อย่างยั่งยืน