ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

The Making of Design PLANT 2021 - DOMESTIC

เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

The Making of Design PLANT 2021 – DOMESTIC

By DesignPLANT

 

Design Plant เป็นชื่อที่วงการออกแบบรู้จักกันเป็นอย่างดี เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไทยที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 เปิดเป็นพื้นที่กลางในการรวบรวบและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่หลากหลายให้นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตวัสดุในประเทศไทยมาเชื่อมต่อโอกาสและสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ทั้งในเชิงธุรกิจ การบริการ รวมทั้งการนำเสนอผลงานภายใต้โจทย์ที่ท้าทายแตกต่างกันไปในแต่ละปี

 

ในปี 2021 ผลกระทบจากภาวะโรคระบาดยังไม่หายไปไหน ในภาวะที่พลเมืองโลกต่างต้องติดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานนับปี Design Plant จึงเลือกคำว่า “DOMESTIC” มาเป็นโจทย์ใหญ่ ชวนนักออกแบบมาร่วมตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ใกล้ตัว เราชวนทีมงานจาก Thinkk Studio ผู้เป็นแม่งานในปีนี้ มาเล่าให้เราฟังถึงที่มาและกระบวนการทำงานของนิทรรศการซึ่งพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นงานออกแบบที่คุณอาจคาดไม่ถึง

เนื่องจากปีที่แล้ว เราแทบทุกคนต่างต้องติดอยู่ในประเทศของตัวเอง ข้อจำกัดนี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกบทบาท รวมถึงดีไซเนอร์เองด้วย เราจึงชวนทุกคนมาหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในประเทศ” ลูกตาล – จารวี ทองบุญเรือง Exhibition Content & Project Coordination ของ Thinkk Studio เล่าให้เราฟังถึงการตีความบริบทที่ว่าด้วยภายใน ว่าสามารถเป็นได้หลายระดับตั้งแต่ต้นทุนทางธรรมชาติตามภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตในละแวกที่อยู่อาศัย ปฏิสัมพันธ์ของนักออกแบบกับผู้คนอื่นๆ ไปจนถึงการตั้งคำถามกับความเชื่อที่ไม่อาจจับต้องได้แต่แฝงอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันที่ใช้ชีวิต

 

กระบวนการสู่ความเป็นไปได้ใหม่

เมื่อได้โจทย์ประจำปีที่ชัดเจนแล้ว Design Plant ก็โพสต์ประกาศเปิดรับผลงาน หรือไอเดียในการพัฒนางานออกแบบทางเพจเฟซบุ๊ก โดยในครั้งนี้มีโปรเจ็กต์ทดลอง Emerging Plant เพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษคัดเลือกนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ยังเป็นนักศึกษาและหรือคนทำงานที่เพิ่งจบการศึกษามาไม่ถึง 2 ปี ทั้งหมด 10 กลุ่ม ซึ่งเต็มไปด้วยไอเดียสดใหม่ มาทำงานร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพที่พกความชำนาญมาเต็มกระเป๋า และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่มากด้วยองค์ความรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง

49 ผลงานที่ได้รับคัดเลือก ถูกนำมาแบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ จัดแสดงโดยทีมนิทรรศการ เนรมิตพื้นที่ใน ATT 19 เจริญกรุง 30 ด้วยวัสดุจากสปอนเซอร์อย่างไม้อัดดัดโค้ง ตราเข็มทิศ จัดการพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนและสร้างความน่าสนใจให้ผลงานที่นำมาจัดแสดงได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ทีมงานยังจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปทำเก้าอี้จากไม้อัดดัดโค้ง ให้ผู้เข้าชมงานได้ลงมือทำแล้วนำกลับไปใช้จริง ตามคอนเซ็ปต์ของความเป็น Domestic ที่นอกจากหมายถึง ในประเทศแล้วยังหมายถึง ในครัวเรือนได้อีกด้วย

 

ส่วนโปสเตอร์สีเขียวสดใสที่เป็น Key Visual หลักของนิทรรศการครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือกับ Studio 150 ซึ่งต่อยอดแนวคิดหลักของนิทรรศการ ออกมาเป็นตัวหนังสือคำว่า Domestic ที่ยืดหดได้ภายในระยะเส้นกริด เพื่อสื่อสารถึงความเป็นไปได้ภายในกรอบจำกัดนั่นเอง


 

จากไกลเข้ามาใกล้

ผลงานเด่นจากทั้ง 5 หมวดหมู่ไล่เรียงจากสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่ห่างไกลตัวเราที่สุด แล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้ตัวเราที่สุด ตามระยะความรู้สึกของมนุษย์ จากภายนอกสู่ภายใน

Nation เป็นหมวดหมู่ของงานที่ไม่ได้จำกัดพื้นที่เป็นการเฉพาะเจาะจงแต่ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง เช่น Domestic Alternative Materials โดย Thinkk Studio ทดลองนำวัสดุเหลือทิ้ง 12 แบบ มาดัดแปลง เพื่อหาแนวทางในการนำไปใช้ทดแทนวัสดุเดิมๆ ต่อไป อีกชิ้นในหมวดนี้คือ SPIRULINA SOCIETY โดย ANYA MUANGKOTE นักออกแบบผู้สนใจด้านความยั่งยืน เลือกใช้วัสดุที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มาสร้างเป็นชุดปลูกสาหร่ายสำหรับคนเมือง ทั้งช่วยผลิตอาหาร ลดการผลิตของเสีย และแสงไฟที่เปิดให้กับสาหร่ายยังนำมาใช้แทนโคมไฟได้อีกด้วย

 

Local เป็นหมวดหมู่ของงานออกแบบที่ได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรม ความถนัด หรือวัตถุดิบในย่าน เขต ชุมชน จังหวัด ที่นักออกแบบคุ้นเคย งานที่โดดเด่นน่าจับตาที่สุดในหมวดนี้คือ Work From Phrakanong โดย Work From Phrakanong ฝาแฝดนักออกแบบผลิตภัณฑ์กับนักออกแบบกราฟิก ที่ร่วมกันทดสอบศักยภาพของย่านพระโขนง ผ่านการสร้างสรรค์กระเป๋าร่วมกับช่างเย็บผ้า อีกผลงานคือ MITI Screen designed โดย SARNSARD ที่นำใบของเตยทะเล พืชท้องถิ่นในภาคใต้มาสานเป็นฉากกั้นห้องที่แอบซ่อนฟังก์ชันลูกเล่นการใช้งานไว้ได้อย่างน่าสนใจ

 

 

Community เป็นหมวดหมู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีที่มาจากการพึ่งพาอาศัย ความคุ้นเคยใกล้ชิดกันระหว่างนักออกแบบกับผู้คนอื่นๆ เช่น VANZTER โดย น้ำเย็น-พัทธมน ศุขเกษม ที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมชายขอบ (Subculture) ของ ‘เด็กแว้น’ โดยร่วมกันทดลองนำทักษะการแต่งท่อ ทำสีเหลือบรุ้งออกมาเป็นแจกันสีสันแปลกตา เทคนิคชวนแปลกใจ อีกชิ้นคือ Fat boy and Nigma โดย kitt.ta.khon เก้าอี้จากงานจักสานที่ให้ผู้ซื้อสร้างลวดลายเองได้ และเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือได้ใส่ความเป็นตัวตนลงบนผลงานอย่างเต็มที่

 

 

Residence เป็นหมวดหมู่งานออกแบบสำหรับที่พักอาศัย ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ เพิ่มความสะดวกและความรู้สึกที่สบายใจ เช่น Canvas – Fine(art) Dining Table โดย PDM ซึ่งพัฒนาโต๊ะญี่ปุ่นให้มีลวดลายที่ออกแบบโดยศิลปินไทย พิมพ์ด้วยความละเอียดสูงลงบนวัสดุกันน้ำ เมื่อพับเก็บแล้วแขวนบนผนังก็กลายเป็นงานศิลปะที่จับต้องได้ อีกชิ้นคือ JOINT (T) โดย Studio YAK ผลิตแผ่นกระเบื้องเซรามิกที่มีขนาดเท่ากับแผ่นกระเบื้องที่มีขายอยู่ในท้องตลาด แต่มีตัวตะขอ มีจุดเกี่ยวแขวนที่หล่อขึ้นมาพร้อมกับตัวกระเบื้องจึงไม่ต้องติดกาวหรือตอกตะปูอีกต่อไป

 

 

Feeling เป็นหมวดหมู่งานออกแบบจากสิ่งที่อยู่ภายในของนักออกแบบเป็นหลัก ตั้งแต่รสนิยม ความหลงใหล ความสนใจของแต่ละบุคคล ไปจนถึงความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวด้วย ผลงานที่น่าสนใจคือ Emotion Collector โดย CO-DE ที่สร้างอุปกรณ์จดบันทึกอารมณ์ประจำวัน (Mood Tracker) ด้วยการใช้มือกดเลือกสีของอารมณ์ ปรบมือเพื่อส่งข้อมูลเข้าไปในเครื่อง แสดงผลการสะสมอารมณ์ในแต่ละเดือนออกมาเป็น Color lighting อีกชิ้นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ P(S)OLUTION โดย 11:11 ออกแบบเป็นกระถางธูปไหว้เจ้าด้วยดีไซน์ใหม่ในแบบของยุค 2020

ของฝากจากนิทรรศการ

“สิ่งที่ได้กลับไปแน่ๆ คือไอเดียที่หลากหลายมากเลยค่ะ แล้วที่สำคัญไอเดียของทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศ ในช่วงที่เราต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน รวมถึงจะได้เห็นแนวโน้มของงานออกแบบในปัจจุบันที่นักออกแบบไทยให้ความสำคัญกับเรื่องวัสดุ และกระบวนการผลิตที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” ลูกตาล ในฐานะ Exhibition Content & Project Coordination กล่าวย้ำว่า แม้คุณจะไม่ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทำเก้าอี้ ไม่ได้ติดต่อขอซื้องานออกแบบบางชิ้นติดมือกลับบ้าน รับรองว่าทุกคนที่ได้มีโอกาสเข้ามาชมนิทรรศการครั้งนี้จะได้ความคิดบางอย่างกลับไปด้วยแน่นอน

#THEMAKINGOFBKKDW2021

#DOMESTIC

#BKKDW2021 #BANGKOKDESIGNWEEK

แชร์