ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เผยแพร่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

โปรแกรมเพื่อส่งเสริมด้านการศึกษา (Academic Program)

โปรแกรมสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่แวดวงสร้างสรรค์อย่างเต็มตัว

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างนักศึกษากับนักสร้างสรรค์มืออาชีพ ให้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนและร่วมงานกัน และยังเป็นเวทีให้หน่วยงานภาคการศึกษาได้นำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเมือง อีกทั้งช่วยสร้างประสบการณ์ในการทำงานผ่านโปรแกรมอาสาสมัครในส่วนงานต่าง ๆ ของเทศกาลฯ โดยแบ่งเป็น 3 โปรแกรม ดังนี้

1. โครงการพิเศษ Special Project

เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา นักออกแบบ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน โดยทุกฝ่ายมีโจทย์การทำงานร่วมกันใน 5 กลุ่ม ได้แก่

 

  • Urban City & Development 

จัดแสดงผลงานในชื่อ “Local Service” โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสตูดิโอออกแบบ Cloud-floor ร่วมกับ 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– ภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและออกแบบพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ในบริบทของกรุงเทพมหานคร ภายใต้ธีม Resilience – New Potential for Living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต โดยมีเป้าหมายภายใต้ประเด็นหลากมิติในโจทย์ Local Service ซึ่งให้นิสิตนักศึกษาได้ทดลองทำความเข้าใจบริบทและทำงานร่วมกับคนในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การออกแบบและสร้างสรรค์บริการสาธารณะให้กับกลุ่มคนในพื้นที่ที่เหมาะกับบริบทอย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การแก้ปัญหา ตอบโจทย์ความต้องการ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพให้กับกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การอยู่อาศัย รวมถึงการประกอบอาชีพของคนในย่านและพื้นที่ศึกษาทดลอง โดยผลลัพธ์จากการสร้างสรรค์ทั้งหมดจะถูกนำเสนอในรูปแบบวิดีทัศน์ที่แสดงถึงกระบวนการทำงาน (Process) การแสดงแผนภาพข้อมูล (Data Visualization) และ/หรือ การจัดทำชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) ในสถานที่จริง

พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

 

  • Product Design

จัดแสดงผลงานในชื่อ “Identity Exhibition” โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสตูดิโอออกแบบ Plural Design ร่วมกับ 10 สถาบันการศึกษา ได้แก่

– ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
– ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
– สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
– สาขาวิชาการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– สาขาวิชาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
– ภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จุดประสงค์ของโครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อให้นิสิตนักศึกษาร่วมกันสำรวจย่านต่าง ๆ ในเมืองที่เราอยู่ เพื่อค้นหาต้นทุนทางวัฒนธรรมในย่านซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น ๆ ไม่จะเป็นวัสดุ สิ่งก่อสร้าง การตกแต่ง กิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม นำมาใช้เป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่จะจัดแสดงภายในนิทรรศการ โดยชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือผลิตภัณฑ์ จะแสดงให้เห็นถึงตัวตนของย่านนั้น ๆ เพราะในขณะที่โลกยิ่งเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัย เราก็ยิ่งต้องการเอกลักษณ์และตัวตนที่เด่นชัดมากขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของธีมหลักในนิทรรศการคือ IDENTITY ที่เชื่อว่าตัวตนที่เด่นชัดในหน่วยย่อย ๆ จะช่วยกันประกอบเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนยิ่งฃึ้น

พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

 

  • Multimedia Design

จัดแสดงผลงานในชื่อ Bangkok Projection Mapping Competition” โดย Yimsamer Studio 

ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบแขนงต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงงานออกแบบสื่อสมัยใหม่ (New Media) ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงการสื่อสารทางเดียวผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับผู้ชม ดังที่พบเห็นได้ในงานออกแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Design) หรือมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบ เช่น การออกแบบสื่อภาพฉาย (Projection Mapping) เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ร่วมกับ EPSON (Thailand) จัดกิจกรรม “New Media Festival” ภายใต้แนวคิด “Shift-Alternate (เปลี่ยน)” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท โดยผลงานที่จัดแสดงนี้ คือผลงานของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลฯ ที่จะส่งเสริมวงการออกแบบสื่อสมัยใหม่ในประเทศให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับสากลโลก

พื้นที่จัดแสดงผลงาน : บ้านเลขที่ 1

 

  • Fashion Design

จัดแสดงผลงานในชื่อ Rewind & Unwind” โดย สมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ (BFS) ร่วมกับ 2 สถาบันการศึกษา ได้แก่

– หลักสูตรการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– สาขาแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตรศิลป์ คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กระแสสังคม ค่านิยม วัฒนธรรม หรือแม้แต่จำนวนประชากรที่เปลี่ยนแปลงและแปรผันอย่างก้าวกระโดด ส่งต่อผลหลายปัจจัยในทุกภาคส่วน ตั้งแต่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ไปจนถึงงานศิลปะและงานออกแบบ นำมาซึ่งการปรับตัวที่โน้มเอียงไปตามกระแสโลกซึ่งมีความยืดหยุ่นและเติบโตได้ในสภาวะที่สิ่งรอบตัวมีอยู่อย่างจำกัด 

Rewind & Unwind : Rewind มองย้อนกลับไปสู่ความสามัญของสิ่งธรรมดา วิถีชีวิต หรือภูมิปัญญาที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เพื่อคลี่คลายความคิดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น แล้วบอกเล่าด้วยมุมมองใหม่ผ่านสิ่งที่ดูธรรมดา(Local Material) ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสร้างสรรค์ เพื่อการปรับตัวและอยู่ร่วมในสภาพสังคมปัจจุบันที่ดีที่สุด

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำ กับ 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ ได้แก่ Greyhound, ASAVA ,ISSUE, MILIN, Patinya, Painkiller, Kloset, TandT, Vickteerut และ Janesuda เพื่อร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าผ่านแนวคิดและวัสดุที่ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถส่งเสริมทั้งในด้านมูลค่าและลดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

 

  • โครงการพิเศษ โดย Moleskine ร่วมกับการออกแบบสถาปัตยกรรม (นานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (INDA)

โครงการที่นำเสนอแนวคิดการฟื้นคืนสิ่งที่กำลังถูกละทิ้ง ให้กลับมามีชีวิตและได้รับการใช้งานอย่างยั่งยืนอีกครั้ง โดยไม่เพียงปรับเปลี่ยน สร้างสรรค์ และดูแลเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ กลับมามีคุณค่าในหน้าที่การใช้งานเดิมที่เคยเป็นอยู่ แต่ยังคิดต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ระบบนิเวศ และการใช้งานอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ระดับโครงสร้างสถาปัตยกรรม ไปจนถึงสิ่งของที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน

พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

 

2. การจัดแสดง Showcase

การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการของสถาบันการศึกษา ทั้งผลงานนักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่า หรืองานวิจัย เพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่องค์ความรู้และแนวคิดสร้างสรรค์เฉพาะวิชาที่สอดคล้องกับธีมงาน “RESILIENCE : New potential for living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต” ประกอบไปด้วยผลงานการจัดแสดงจาก 16 สถาบัน จัดแสดงผลงานอยู่ใน 4 พื้นที่ ได้แก่

  • พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

– การออกแบบสถาปัตยกรรม (นานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (INDA)
– ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– วิชาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

  • พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้นใต้ดิน อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

– วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต
– ปริญญาโท หลักสูตรนวัตกรรมการออกแบบ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– มหาวิทยาลัย TON DUC THANG ประเทศเวียดนาม
– หลักสูตรการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
– วิทยาลัยชุมชนแพร่
– โรงเรียนออกแบบชนาพัฒน์
– ภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

  • พื้นที่จัดแสดงผลงาน : บ้านเหลียวแล

– คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • พื้นที่จัดแสดงผลงาน : MDIC ชั้น 2 (อาคารส่วนหลัง) TCDC กรุงเทพฯ

– มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

3. การจัดกิจกรรม Activity

การจัดกิจกรรมโดยสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เฉพาะสาขาวิชา อาทิ เวิร์กช็อปให้ความรู้ การบรรยายและเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน รวมถึงการเปิดบ้าน (Open House) ให้เยี่ยมชมหรือเข้าร่วมกิจกรรม โดยในปีนี้ ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ได้แก่

– การออกแบบนิเทศศิลป์ (นานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CommDe)
– ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต

 

#BKKDWACADEMICPROGRAM     #BKKDW2020

 

แชร์