ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

Let us say THANKS!

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ขอขอบคุณนักสร้างสรรค์ เจ้าของสถานที่และผู้คนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้สนับสนุน อาสาสมัคร ทีมงานต่างๆ และผู้ร่วมงานทุกท่าน ที่มาร่วมกับเราในการทำให้ Bangkok Design Week 2020 เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้กรุงเทพฯ ก้าวไปข้างหน้า และเราจะกลับมาร่วมมือกันอีกครั้งเพื่อเมืองของเรา   แล้วพบกันใหม่ใน Bangkok Design Week 2021 วันที่ 30 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ 2564   #BKKDW2020 #BKKDW2021 #Bangkokdesignweek  

ACADEMIC PROGRAM

โปรแกรมเพื่อส่งเสริมด้านการศึกษา (Academic Program) โปรแกรมสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่แวดวงสร้างสรรค์อย่างเต็มตัว เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างนักศึกษากับนักสร้างสรรค์มืออาชีพ ให้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนและร่วมงานกัน และยังเป็นเวทีให้หน่วยงานภาคการศึกษาได้นำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเมือง อีกทั้งช่วยสร้างประสบการณ์ในการทำงานผ่านโปรแกรมอาสาสมัครในส่วนงานต่าง ๆ ของเทศกาลฯ โดยแบ่งเป็น 3 โปรแกรม ดังนี้ 1. โครงการพิเศษ Special Project เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา นักออกแบบ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน โดยทุกฝ่ายมีโจทย์การทำงานร่วมกันใน 5 กลุ่ม ได้แก่   Urban City & Development  จัดแสดงผลงานในชื่อ “Local Service” โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสตูดิโอออกแบบ Cloud-floor ร่วมกับ 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร – ภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โครงการพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและออกแบบพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ในบริบทของกรุงเทพมหานคร ภายใต้ธีม Resilience – New Potential for Living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต โดยมีเป้าหมายภายใต้ประเด็นหลากมิติในโจทย์ Local Service ซึ่งให้นิสิตนักศึกษาได้ทดลองทำความเข้าใจบริบทและทำงานร่วมกับคนในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การออกแบบและสร้างสรรค์บริการสาธารณะให้กับกลุ่มคนในพื้นที่ที่เหมาะกับบริบทอย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การแก้ปัญหา ตอบโจทย์ความต้องการ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพให้กับกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การอยู่อาศัย รวมถึงการประกอบอาชีพของคนในย่านและพื้นที่ศึกษาทดลอง โดยผลลัพธ์จากการสร้างสรรค์ทั้งหมดจะถูกนำเสนอในรูปแบบวิดีทัศน์ที่แสดงถึงกระบวนการทำงาน (Process) การแสดงแผนภาพข้อมูล (Data Visualization) และ/หรือ การจัดทำชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) ในสถานที่จริง พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง   Product Design จัดแสดงผลงานในชื่อ “Identity Exhibition” โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสตูดิโอออกแบบ Plural Design ร่วมกับ 10 สถาบันการศึกษา ได้แก่ – ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร – สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา – ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง – สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – สาขาวิชาการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – สาขาวิชาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง – ภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จุดประสงค์ของโครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อให้นิสิตนักศึกษาร่วมกันสำรวจย่านต่าง ๆ ในเมืองที่เราอยู่ เพื่อค้นหาต้นทุนทางวัฒนธรรมในย่านซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น ๆ ไม่จะเป็นวัสดุ สิ่งก่อสร้าง การตกแต่ง กิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม นำมาใช้เป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่จะจัดแสดงภายในนิทรรศการ โดยชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือผลิตภัณฑ์ จะแสดงให้เห็นถึงตัวตนของย่านนั้น ๆ เพราะในขณะที่โลกยิ่งเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัย เราก็ยิ่งต้องการเอกลักษณ์และตัวตนที่เด่นชัดมากขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของธีมหลักในนิทรรศการคือ IDENTITY ที่เชื่อว่าตัวตนที่เด่นชัดในหน่วยย่อย ๆ จะช่วยกันประกอบเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนยิ่งฃึ้น พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง   Multimedia Design จัดแสดงผลงานในชื่อ “Bangkok Projection Mapping Competition” โดย Yimsamer Studio  ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบแขนงต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงงานออกแบบสื่อสมัยใหม่ (New Media) ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงการสื่อสารทางเดียวผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับผู้ชม ดังที่พบเห็นได้ในงานออกแบบปฏิสัมพันธ์ (Interactive Design) หรือมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบ เช่น การออกแบบสื่อภาพฉาย (Projection Mapping) เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ร่วมกับ EPSON (Thailand) จัดกิจกรรม “New Media Festival” ภายใต้แนวคิด “Shift-Alternate (เปลี่ยน)” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท โดยผลงานที่จัดแสดงนี้ คือผลงานของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลฯ ที่จะส่งเสริมวงการออกแบบสื่อสมัยใหม่ในประเทศให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับสากลโลก พื้นที่จัดแสดงผลงาน : บ้านเลขที่ 1   Fashion Design จัดแสดงผลงานในชื่อ “Rewind & Unwind” โดย สมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ (BFS) ร่วมกับ 2 สถาบันการศึกษา ได้แก่ – หลักสูตรการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ – สาขาแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตรศิลป์ คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กระแสสังคม ค่านิยม วัฒนธรรม หรือแม้แต่จำนวนประชากรที่เปลี่ยนแปลงและแปรผันอย่างก้าวกระโดด ส่งต่อผลหลายปัจจัยในทุกภาคส่วน ตั้งแต่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ไปจนถึงงานศิลปะและงานออกแบบ นำมาซึ่งการปรับตัวที่โน้มเอียงไปตามกระแสโลกซึ่งมีความยืดหยุ่นและเติบโตได้ในสภาวะที่สิ่งรอบตัวมีอยู่อย่างจำกัด  Rewind & Unwind : Rewind มองย้อนกลับไปสู่ความสามัญของสิ่งธรรมดา วิถีชีวิต หรือภูมิปัญญาที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เพื่อคลี่คลายความคิดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น แล้วบอกเล่าด้วยมุมมองใหม่ผ่านสิ่งที่ดูธรรมดา(Local Material) ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสร้างสรรค์ เพื่อการปรับตัวและอยู่ร่วมในสภาพสังคมปัจจุบันที่ดีที่สุด โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำ กับ 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ ได้แก่ Greyhound, ASAVA ,ISSUE, MILIN, Patinya, Painkiller, Kloset, TandT, Vickteerut และ Janesuda เพื่อร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าผ่านแนวคิดและวัสดุที่ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถส่งเสริมทั้งในด้านมูลค่าและลดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง   โครงการพิเศษ โดย Moleskine ร่วมกับการออกแบบสถาปัตยกรรม (นานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (INDA) โครงการที่นำเสนอแนวคิดการฟื้นคืนสิ่งที่กำลังถูกละทิ้ง ให้กลับมามีชีวิตและได้รับการใช้งานอย่างยั่งยืนอีกครั้ง โดยไม่เพียงปรับเปลี่ยน สร้างสรรค์ และดูแลเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ กลับมามีคุณค่าในหน้าที่การใช้งานเดิมที่เคยเป็นอยู่ แต่ยังคิดต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ระบบนิเวศ และการใช้งานอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ระดับโครงสร้างสถาปัตยกรรม ไปจนถึงสิ่งของที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง   2. การจัดแสดง Showcase การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการของสถาบันการศึกษา ทั้งผลงานนักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่า หรืองานวิจัย เพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่องค์ความรู้และแนวคิดสร้างสรรค์เฉพาะวิชาที่สอดคล้องกับธีมงาน “RESILIENCE : New potential for living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต” ประกอบไปด้วยผลงานการจัดแสดงจาก 16 สถาบัน จัดแสดงผลงานอยู่ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง – การออกแบบสถาปัตยกรรม (นานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (INDA) – ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร – คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – วิชาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พื้นที่จัดแสดงผลงาน : โถงชั้นใต้ดิน อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง – วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต – ปริญญาโท หลักสูตรนวัตกรรมการออกแบบ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ – มหาวิทยาลัย TON DUC THANG ประเทศเวียดนาม – หลักสูตรการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ – ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ – วิทยาลัยชุมชนแพร่ – โรงเรียนออกแบบชนาพัฒน์ – ภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พื้นที่จัดแสดงผลงาน : บ้านเหลียวแล – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่จัดแสดงผลงาน : MDIC ชั้น 2 (อาคารส่วนหลัง) TCDC กรุงเทพฯ – มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์   3. การจัดกิจกรรม Activity การจัดกิจกรรมโดยสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เฉพาะสาขาวิชา อาทิ เวิร์กช็อปให้ความรู้ การบรรยายและเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน รวมถึงการเปิดบ้าน (Open House) ให้เยี่ยมชมหรือเข้าร่วมกิจกรรม โดยในปีนี้ ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ได้แก่ – การออกแบบนิเทศศิลป์ (นานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CommDe) – ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร – ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต   #BKKDWACADEMICPROGRAM     #BKKDW2020  

EASILY NAVIGATE! ออกเดินทางง่ายๆ ได้ตามใจ

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนมาเที่ยวชมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ฮาวทูมาเจริญกรุง – ตลาดน้อย กับ 3 คำแนะนำ ที่จะพาทุกคนมา BKKDW2020 ถึงพื้นที่จัดเทศกาลฯ แบบไม่หลงทางให้ต้องเสียอารมณ์   1    ฟรี!!! รถรับส่งแสนสบาย จาก BTS หรือ MRT              ตลอดเทศกาลฯ 2     เดินทางด้วย 3 ระบบขนส่งสาธารณะที่จะทำให้               การเดินทางของทุกคนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น         #ทิ้งรถไว้บ้านมางานตัวปลิว   3     หากมีความจำเป็นต้องนำรถยนตร์ส่วนตัวมา                บริเวณเทศกาลฯ สามารถเดินทางตามเส้นทาง              และจอดรถในจุดใกล้เคียงพื้นที่จัดงานที่แนะนำ  

ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง - ตลาดน้อย

เปิดย่านสร้างสรรค์…พื้นที่จัดแสดงหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ทำไม – ที่ไหน – อย่างไร กับ 4 ย่านสร้างสรรค์ใหม่ของกรุงเทพฯ ต้นแบบ “ย่านสร้างสรรค์” ลำดับแรกของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ คือศูนย์กลางการผสมผสานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์และต้นทุนทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้คนหลากเชื้อชาติ ความเชื่อ และความต้องการที่หลากหลาย การปรับตัวของพื้นที่ที่ค่อยเป็นค่อยไป และความร่วมมือของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่พยายามขับดันให้เจริญกรุง ย่านอันเปี่ยมเสน่ห์แห่งนี้ ก้าวขึ้นสู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ที่แท้จริง จากปีแรกที่เริ่มต้นทำความรู้จักและเข้าใจในพื้นที่ผ่านการสำรวจและลงพื้นที่ ก้าวสู่ปีที่สอง ที่เน้นการต่อยอดปรับปรุงพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพและศักยภาพ ผ่านโครงการทดลองที่หลากหลาย เพื่อสร้างภูมิทัศน์และภาพจำใหม่ ๆ ให้กับผู้คนในย่านและผู้มาเยือน ในปีนี้ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 พร้อมแล้วที่จะนำเสนอการเติบโตไปอีกขั้นของย่านสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยบุคลากรผู้อยู่เบื้องหลังศักยภาพของพื้นที่อย่างแท้จริง เตรียมพบกับผลงานการร่วมพัฒนาผู้ประกอบการดั้งเดิมในพื้นที่ อาทิ บ้านเย็บหมอนเฮงเส็ง ยาดมเอี๊ยะแซ กะหรี่ปั๊บคุณปุ๊ ร้านอาหารนิวเฮงกี่ และบ้านครุฑ ซึ่งจะมาพร้อมกับสินค้าและบริการใหม่ ๆ อันเกิดจากการนำต้นทุนเก่าแก่ของย่านมาปรับใช้เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการเป็นตัวแทนของย่านสร้างสรรค์สำหรับกรุงเทพมหานคร BANGKOK CITY OF DESIGN เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบระดับโลก พบกับความเคลื่อนไหวใหม่ของย่าน “เจริญกรุง – ตลาดน้อย” ที่นี่ เร็ว ๆ นี้   #CreativeDistrictofBKKDW       #BangkokCityOfDesign #BKKDW2020  

เพื่อนบ้านเก่า มุมมองใหม่ ไฮไลต์กิจกรรมย่านทองหล่อ-เอกมัยในงาน BKKDW2020

เพื่อนบ้านเก่า มุมมองใหม่ ไฮไลต์กิจกรรมย่านทองหล่อ-เอกมัยในงาน BKKDW2020   รู้จักทองหล่อ-เอกมัยในอีกแง่มุมที่มากไปกว่าย่านไลฟ์สไตล์กิน ดื่ม เที่ยว ยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ หรือย่านที่ครบวงจรด้านการอยู่อาศัย ร้านอาหาร สำนักงาน ขนส่งมวลชน สถานที่พบปะ เพราะทองหล่อ–เอกมัยยังมีธุรกิจออกแบบหลายสาขาครบวงจรซ่อนตัวอยู่ในย่านด้วย  ถึงอย่างนั้นย่านนี้ก็ยังคงประสบกับจุดอ่อนด้านการพัฒนา ส่งผลให้มีการเชื่อมต่อระหว่างกันไม่ดีนัก ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 หรือ BKKDW2020 ย่านทองหล่อ-เอกมัยจึงจัดงานภายใต้แนวคิด “Creative Neighborhood” (เพื่อนบ้านสร้างสรรค์) เน้นให้ผู้คนทุกกลุ่มภายในย่านร่วมมือกันทำกิจกรรม เพื่อตอบโจทย์อัตลักษณ์อันผสมผสานระหว่างความเก่าแก่–ประวัติศาสตร์และธุรกิจคลื่นลูกใหม่ หากกลไกนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้ย่านปรับตัวต่อความท้าทายในอนาคตได้ Neighbour Green เพื่อนบ้านสายรักษ์โลก หนึ่งในภาพจำของถนนเอกมัยคือต้นไม้น้อยใหญ่ที่ปกคลุมตลอดแนว งานนี้เป็นการรวมตัวกลุ่มเพื่อนบ้านที่มีความสนใจเรื่องพื้นที่สีเขียว มาร่วมกันจัดกิจกรรมและแสดงผลงานเพื่อสะท้อนถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเวิร์กช็อปแปลงขยะเป็นศิลปะ หรือการเล่าเรื่องด้วยการเพิ่มลูกเล่นบนต้นไม้ เช่น โปรแกรม Oasis Creators เก็บของเหลือ สร้างของเก๋ เวิร์กช็อปจัดดอกไม้ประดิษฐ์แบบมืออาชีพกับ Olive Creative และกระถางจากวัสดุเหลือใช้จากโรงงานของ kenkoon Neighbour Art and Media เพื่อนบ้านสายศิลป์ ทองหล่อ–เอกมัยเป็นแหล่งรวมสถานที่พบปะหลากสไตล์ ตั้งแต่บาร์ ร้านอาหาร จนถึงแหล่งช้อปปิ้ง เหล่าเพื่อนบ้านจึงร่วมกันจัดกิจกรรมอาร์ต ๆ และแสดงไอเดียปรับปรุงป้ายรถประจำทาง ทางเท้า และทางข้ามเพื่อกระตุ้นการเดิน แถมเหล่าดีไซเนอร์ยังเปิดบ้านให้ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย เสพงานออกแบบ เต้นรำ และดื่มด่ำความสนุกสนานที่เคล้าไปกับเสียงดนตรี ผ่านกิจกรรมจำนวนมาก เช่น  การจัดแสดง Live Scale Floor Plan “The Playground” โดย Mobella ณ ACMEN Ekamai Complex งานทดลองเพื่อนำเสนอแนวคิดการใช้พื้นที่แบบ Smart Living และเรียนรู้การอ่านแปลนอินทีเรียร์ผ่านการจัดแสดงในสเกล 1:1 โดยมีเฟอร์นิเจอร์จริงให้ทดลองและเรียนรู้เกี่ยวกับระยะการใช้งานจริง เพื่อเปลี่ยนจากเส้นวาดบนกระดาษเป็นวัตถุจริงที่จับต้องได้ พร้อมสาธิตขั้นตอนการผลิตเฟอร์นิเจอร์โดยช่างชำนาญการจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์หนัง เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ การจัดแสดง PDM Brand X Atelier 2+ โดย PDM Brand บริษัทดีไซน์สัญชาติไทยทำงานด้านธุรกิจสร้างสรรค์ และ Atelier 2+ นักออกแบบแถวหน้าของเมืองไทย นำเสนอแนวคิดการใช้พื้นที่อย่างสร้างสรรค์ การเชื่อมกันระหว่างงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน ผ่านงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการอยู่อาศัยแบบไทยด้วยสื่อผสมอันหลากหลาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้ซึบซับและรับรู้ว่าการออกแบบพื้นที่การอยู่อาศัยสามารถสร้างบริบทการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งยังสะท้อนไปยังวิธีคิดระยะยาวในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครั้งต่อๆ ไปของผู้บริโภค ที่จะทำให้ดีไซน์ที่ดีกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยการเลือกซื้อ การนำเสนอไอเดียใหม่ในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตในเมืองของผู้คนในชุมชนดีขึ้น และนำไปสู่แรงบันดาลใจที่ดีของผู้คนในย่านอื่นต่อไป เช่น Shma จับมือกับ kenkoon ด้วยการนำวัสดุและองค์ความรู้จากทาง kenkoon มาสร้างสรรค์ป้ายรถประจำทางในย่าน เพื่อปรับภูมิทัศน์ของย่านให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น  โปรแกรม Movie in the Front Yard โดย kenkoon / PDM Brand / Lamptitude ร่วมกับ ชอบใจ สตูดิโอ นำเสนอกิจกรรมดูหนังบ้านเพื่อนผ่านจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ใจกลางทองหล่อ ณ kenkoon Thonglor Showroom ชวนเพื่อนมาปูเสื่อเก๋ๆ  จาก PDM Brand ดูหนังนอกกระแสในบรรยากาศสวนหน้าบ้านแบบเป็นกันเอง  Neighbour Food เพื่อนบ้านสายกิน รู้หรือไม่ว่างานออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ดัง ๆ ก็มารวมตัวกันอยู่ที่เอกมัย โดยเฉพาะบริเวณโครงการ ACMEN Ekamai Complex แถมใกล้กันนั้น ยังมีร้านอาหารชื่อดังเก่าแก่ของย่านอยู่หลายแห่งด้วย จึงเกิดเป็นการรวมตัวกันทำอาหารอร่อย ๆ ที่เสิร์ฟบนภาชนะดีไซน์แปลกใหม่ และบรรยากาศไดน์นิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น โปรแกรม Stristro แปลงโฉมอาหารสตรีทฟู้ด โดย kenkoon / PDM Brand / Modern Outdoor / น้อมจิตต์ไก่ย่าง ย้อนอดีตวันวานของย่านเอกมัย ด้วยการจัดเซตติ้งที่ไม่ธรรมดา ณ ร้านน้อมจิตต์ไก่ย่าง สาขาเอกมัย ร้านต้นตำรับสุดคลาสสิก นอกจากนี้ kenkoon ยังร่วมกับร้านอาหารฟิวชั่นชื่อดัง Ekamian และเชฟแทน-ภากร โกสิยพงษ์ เจ้าของร้าน จัดเซตติ้งสุดเก๋ที่ kenkoon Thonglor Showroom Neighbour Memory เพื่อนบ้านสายเก๋า  แม้เอกมัยจะเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ แต่ก็มีเรื่องราวเก๋า ๆ ไม่แพ้กัน เพราะที่นี่เป็นทั้งบ้านของคนเก่าคนแก่ ร้านค้าดั้งเดิม และคลองเป้งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน งานนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการย้อนวันวานผ่านกิจกรรมศิลปะริมคลอง ชมภาพถ่ายสถานที่โบราณ และจิบกาแฟ พร้อมฟังเกร็ดประวัติศาสตร์สนุกๆ The Commons สโมสรเพื่อนบ้าน คอมมูนิตีมอลล์สไตล์ลอฟต์ แหล่งรวมไลฟ์สไตล์และสถานที่แฮงค์เอาต์ยอดฮิตในย่านทองหล่อ ที่ขอเชื้อเชิญให้ทุกคนไปร่วมสโมสรด้วยในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ย่านทองหล่อ-เอกมัยกำลังสร้างแรงบันดาลใจ และชวนให้ทุก ๆ คนในย่านของตัวเองและในย่านอื่น ๆ มองเห็นผ่านเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ว่า ในยุคที่มีความท้าทายทางธุรกิจมากขึ้นอย่างเช่นทุกวันนี้ เครือข่ายของเพื่อนบ้านทางธุรกิจอาจเป็นกลไกที่ยั่งยืนได้ เพราะการเชื่อมโยงนำไปสู่การร่วมงานกัน ยืดหยุ่น ปรับตัว และค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งทางธุรกิจและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน…เพราะ Creative Neighborhood จะไม่ได้เป็นเพียงธีมหลักของย่านทองหล่อ–เอกมัยในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 เท่านั้น หากจะยังคงเป็นแนวคิดและพลังสำคัญของย่านที่จะถูกส่งต่อไปในระยะยาวด้วย    #THONGEKCREATIVEDISTRICT      #CREATIVEDISTRICTOFBKKDW #BKKDW2020  

ย่านสร้างสรรค์ทองหล่อ - เอกมัย

เปิดย่านสร้างสรรค์…พื้นที่จัดแสดงหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ทำไม – ที่ไหน – อย่างไร กับ 4 ย่านสร้างสรรค์ใหม่ของกรุงเทพฯ   ไพร์มโลเกชันของกรุงเทพฯ คือนิยามของย่านทองหล่อ-เอกมัย (ถนนสุขุมวิท ซ. 55–ซ. 63) ที่นอกเหนือจากจะเป็นแหล่งรวมธุรกิจไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังได้รับการยอมรับอย่างสูงจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ การเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับบน ร้านค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตีมอลล์ และสตูดิโอสร้างสรรค์ชั้นนำระดับประเทศ ทำให้ทองหล่อ-เอกมัยกลายเป็นจุดขายของกรุงเทพฯ ทั้งในด้านการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตแบบล้ำสมัย  กลุ่มทองเอก ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของนักธุรกิจและนักออกแบบในย่านที่ต้องการยกระดับการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการรวมตัวกันทำงานในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่อยู่ภายในย่านจึงเป็นคำตอบสำคัญที่จะขับเคลื่อนธุรกิจและความเป็นไปของทองหล่อ-เอกมัย ให้ยังคงความกลมกลืนและเกื้อกูลกันในที ขณะเดียวกันก็ตอบรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและธุรกิจในวันนี้ที่ยากจะมีใครยืนหนึ่งเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยการร่วมมือกันเพื่อสร้างพลังที่เข้มแข็งที่สุด และส่งต่อให้กับทุกธุรกิจและทุกชีวิตในพื้นที่ต่อไป ทองหล่อ-เอกมัย แหล่งรวมพลังแห่งการสร้างสรรค์ คุณต๊ะ-อนุพล อยู่ยืน, คุณมาร์ค-เมธชนัน สวนศิลป์พงศ์ และ คุณยศ-ยศพล บุญสม คือสามนักธุรกิจสายออกแบบในกลุ่มทองเอกผู้รับหน้าที่โต้โผหลักของการจัดกิจกรรมในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ในย่านทองหล่อ-เอกมัย  คุณต๊ะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการออกแบบบริษัทโมเบลลา แกลเลอเรีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชั้นนำสัญชาติไทยแบรนด์โมเบลลา (Mobella) ในย่านมาราว 6 ปี คุณมาร์คดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายออกแบบแห่งเคนคูน (kenkoon) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Outdoor Living ในสไตล์โมเดิร์นสัญชาติไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกในย่านราว 6-7 ปี ส่วนคุณยศเป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดการของบริษัท ฉมา จำกัด (Shma) บริษัทรับปรับภูมิทัศน์ชื่อดังที่ตั้งในย่านมาราว 12 ปี  เหตุผลโดยรวมที่ทั้ง 3 ท่านเลือกทำธุรกิจย่านทองหล่อ-เอกมัยนั้นคล้ายกัน หากแตกต่างกันไปในรายละเอียด นั่นคือการที่ย่านเป็นศูนย์รวมของธุรกิจไลฟ์สไตล์และการออกแบบ โครงการอสังหาริมทรัพย์ และพลังแห่งการสร้างสรรค์ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเป็นวัตถุดิบแห่งแรงบันดาลใจ  คุณยศกล่าวว่า “ทองหล่อ-เอกมัยมีแรงดึงดูดบางอย่างที่สร้างพลังงานให้แก่นักออกแบบหรือคนทำงานสร้างสรรค์ ย่านนี้มีทั้งที่พักอาศัย พื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ในย่าน วิถีชีวิตทั้งตอนกลางวันและกลางคืนที่ไม่ซ้ำกัน ผู้คนหลากหลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ธุรกิจหลากหลาย มันจึงเป็นย่านที่มีชีวิตซึ่งไม่หยุดนิ่ง เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตงานหรือสร้างแรงบันดาลใจให้แก่งาน” ทางด้านคุณต๊ะเปิดใจว่า “งานของผมเน้นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นดีไซน์ของคนไทย ช่วงแรกที่ทำแบรนด์ Mobella สินค้าไทยยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าไร และด้วยความที่คนมักมองว่าย่านทองหล่อ-เอกมัยเป็นย่านที่มีดีไซน์จัด เป็นศูนย์รวมของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์กับของตกแต่งบ้าน เราจึงต้องการนำงานดีไซน์ของเราเข้ามาฝังตัวอยู่ในย่านนี้ อยากทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในย่านได้เห็นว่าสินค้าไทยก็มีดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งย่านทองหล่อ-เอกมัยยังเป็นแหล่งรวมของที่อยู่อาศัยและธุรกิจไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ อย่างร้านค้าและร้านอาหาร ประกอบกับผู้คนในย่านเป็นกลุ่มลูกค้าที่เรามองหาด้วย จึงเลือกที่นี่เป็นทำเลที่ตั้งในการประกอบธุรกิจ” ส่วนคุณมาร์คให้เหตุผลว่า “แต่ก่อนเมืองไม่ได้ขยายออกไปมาก ส่วนใหญ่อยู่ในโซนสาทรหรือย่านเมืองชั้นใน เมื่อที่ดินแพงขึ้น ประชากรมากขึ้น คนจึงเริ่มย้ายจากย่านนั้นมาอยู่สุขุมวิทกัน คนที่พอจะมีกำลังก็สร้างที่พักอาศัยในรูปแบบสมัยใหม่หน่อย ที่นี่ยังมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เยอะ จึงเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดทุกอย่างเข้ามาในชุมชน ทั้งร้านอาหาร ร้านค้า ฯลฯ ภาพของสุขุมวิทจึงมีสีสันแตกต่างจากย่านอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ มีเสน่ห์บางอย่างที่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะมีทั้งความเป็นฝรั่ง ความเป็นญี่ปุ่น เข้ามาแทรกอยู่ นอกจากนี้เมื่อพูดถึงสินค้าคุณภาพ คนก็มักนึกถึงสุขุมวิท แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านระดับโลกที่เป็นท็อปแบรนด์ก็ การนำแบรนด์ของเรามาอยู่ในย่านเดียวกันจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ” การเปลี่ยนแปลงและแรงดึงดูดของทองหล่อ-เอกมัย ทองหล่อ-เอกมัยนับเป็นย่านที่มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง ปัจจุบันมีการเติบโตของพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เป็นอย่างมาก รวมถึงห้างขนาดใหญ่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่แฮงเอาต์ยามค่ำคืน และชาวต่างชาติทั้งที่อยู่อาศัยและท่องเที่ยวในย่าน ไม่ว่าจะฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน เกาหลี แรงดึงดูดต่าง ๆ ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่ง “ค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับ “ไลฟ์สไตล์” ที่ต้องจ่าย การจราจรที่ดูติดขัดยิ่งกว่าเก่า แต่ข้อดีคือย่านนี้ยังมีเรื่องราวของคนที่อยู่อาศัยอยู่จริง ๆ ไม่ใช่ย่านเกิดใหม่ที่ไม่มีประวัติความเป็นมา ยุคเก่าและใหม่มีการเติบโตไปอย่างเป็นธรรมชาติในตัวของมันเอง การเปลี่ยนแปลงของความต่างระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่มีเสน่ห์ น่าสนใจ และน่าค้นหา แต่คำถามคือจะควบคุมการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและทำให้ย่านเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน กลุ่มทองเอก…ชุมนุมกลุ่มคนสายออกแบบ จุดเด่นอีกข้อหนึ่งของทองหล่อ-เอกมัยคือ ย่านนี้เป็นแหล่งรวมของกลุ่มคนทำงานสายออกแบบและสร้างสรรค์มานาน หากแต่ส่วนใหญ่เป็นการรู้จักกันอย่างหลวม ๆ โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กันจริงจัง แต่ท่ามกลางกระแสธุรกิจและผู้บริโภคที่ยากจะเติบโตตามลำพัง การสร้างความเกื้อกูลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในย่าน จึงเป็นคำตอบสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและความเป็นไปของทองหล่อ-เอกมัยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง นั่นเป็นที่มาของกลุ่มทองเอก (ThongEk Creative Neighborhood) ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นธุรกิจเด่นของย่าน แบรนด์แฟชั่น ร้านอาหาร คาเฟ่ รวมถึงการรวมตัวของกลุ่มนักออกแบบในพื้นที่ ทั้งสถาปนิก ภูมิสถาปนิก นักออกแบบภายใน นักออกแบบกราฟิก ฯลฯ  ทองหล่อ-เอกมัยวันนี้ กำลังเปลี่ยนความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้านที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มาเป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักกันอย่างแท้จริง นำมาซึ่งมิตรภาพที่ดีและเกื้อกูล คุณต๊ะกล่าวว่า “ทางฝั่งของผมเป็นผู้ประกอบการที่เน้นเรื่องธุรกิจ แต่โดยพื้นฐาน เราใช้ดีไซน์ในการผลักดันแบรนด์ เพราะเราก็เป็นนักออกแบบที่นำสินค้ามาจำหน่าย การรวมตัวกันเกิดจากการที่รู้สึกว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว การทำธุรกิจตามลำพังไม่สนุกและเหนื่อยด้วย จึงเริ่มจากการรวมกลุ่มกันเล็ก ๆ ก่อน แน่นอนว่าจุดประสงค์ข้อแรกเป็นเรื่องของธุรกิจ เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์และสินค้าของเรามากขึ้น อีกข้อคือเราอยากทำให้ย่านทองหล่อ-เอกมัยที่เราอยู่เป็นย่านที่น่าเดินมากกว่าเดิม เช่นวันนี้ลูกค้าอาจไปที่สตูดิโอ Shma ของคุณยศ จากนั้นคุณยศแนะนำลูกค้ามาดื่มกาแฟที่ร้านกาแฟข้างล่างโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ Mobella ของผม จากนั้นผมส่งต่อลูกค้าไปที่โชว์รูมเพื่อนบ้านอย่าง kenkoon ของคุณมาร์ค ผมมองว่ามันครบวงจรมาก ทำให้กลุ่มนักออกแบบได้เชื่อมโยงกันเป็นทอด ๆ ซึ่งรวมถึงร้านค้าดั้งเดิมในท้องถิ่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องดีไซน์ด้วยเช่นกัน นับเป็นการสร้างบรรยากาศของเครือข่ายเพื่อนบ้านทางธุรกิจในย่านที่ดี อบอุ่น และเป็นมิตร ช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนและเติบโตไปด้วยกัน นอกจากนี้เรายังรวมกลุ่มกันเพื่อจัดทำสัมมนาหรือการพูดคุยเล็ก ๆ โดยเชิญนักออกแบบในพื้นที่มานั่งฟัง หรือทำโอเพนเฮ้าส์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาดูงาน รวมถึงสนับสนุนผลงานของนักศึกษาให้มีโอกาสได้รับประสบการณ์กับแบรนด์ในอีกรูปแบบหนึ่ง เราอยากนำเสนอทรัพยากรที่น่าสนใจหรือเรื่องราวที่ยังไม่ค่อยถูกเล่าในย่านที่มีอยู่มากมายให้ผู้คนได้รู้จักมากขึ้น ให้ได้รู้ว่าทองหล่อ-เอกมัยไม่ได้เด่นแค่เรื่องไลฟ์สไตล์กิน ดื่ม เที่ยวเท่านั้น”  ทางด้านคุณยศรับหน้าที่เป็นผู้นำการรวมตัวของนักออกแบบในย่าน ทั้งสถาปนิก ภูมิสถาปนิก นักออกแบบภายใน นักออกแบบกราฟิก นักออกแบบฝั่งสื่อและนิทรรศการ ฯลฯ “กลุ่มทองเอกเกิดจากความท้าทายหรือปัญหาที่ว่าเราอยู่ในย่านนี้กันมาเป็น 10 ปี เราไปออกแบบให้ที่อื่น แต่พอหันไปมองรอบ ๆ บ้านตัวเอง ก็พบว่าปัญหาที่เราแก้ให้ที่อื่น มันยังเป็นปัญหาในย่านของเราอยู่เลย จึงมองว่าเครื่องมือในเชิงการออกแบบสร้างสรรค์นี่ล่ะคือคำตอบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุก ๆ คนในย่าน รวมทั้งเราเองด้วย พอมารวมกลุ่มกัน ก็เริ่มเข้าใจว่ามีคนที่ทำธุรกิจเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงนี้จริง ๆ คือเราไม่ได้อยู่คนเดียว เริ่มหันไปมองและพบว่าเรามีเพื่อนบ้านที่ทำงานสายออกแบบในด้านต่าง ๆ มากมาย เกิดการเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศนี้ จากที่แต่ก่อนแค่รู้จักกัน รู้ว่าอยู่ในย่านเดียวกัน แต่ต่างคนต่างทำ กลายมาเป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจและการใช้ชีวิตในย่านมากขึ้น นี่เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งผมมองว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหรือพลังที่จะทำให้ย่านนี้ตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้”  ค้นพบทองหล่อ-เอกมัยในมุมมองใหม่ ที่ไม่ได้มีเพียงสีสันยามวิกาล แต่คือกระบวนการลงมือทางธุรกิจที่โปร่งใส แบ่งปัน และเกื้อกูลในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่พร้อมปลดล็อกจุดติดขัด ให้ทองหล่อ-เอกมัยยังคงฐานะย่านที่เต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ อันไม่รู้จบของกรุงเทพฯ และสะท้อนศักยภาพของการเป็นย่านสร้างสรรค์ที่พร้อมจะเติบโตเป็นแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยต่อไป   #CreativeDistrictofBKKDW       #BangkokCityOfDesign #BKKDW2020  

The Shophouse 1527 x Labyrinth Cafe แล็บลิ้นคาเฟ่

แวะเที่ยว New Kid on the (Old) Block The Shophouse 1527 x Labyrinth Cafe แล็บลิ้นคาเฟ่ อาร์ตสเปซแห่งใหม่ใจกลางสามย่าน   ใครจะคิดว่าตึกแถวร้างที่ซ่อนตัวอยู่ในจุดอับสายตาบนถนนพระรามสี่ จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะ “อาร์ตสเปซ” แห่งใหม่ในสามย่าน ที่ชื่อ The Shophouse 1527 โดยการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในสามย่านมาเป็นต้นทุนการสร้างสรรค์โปรเจ็กต์สุดเท่ที่มีเรื่องราวรอการค้นพบมากมายขนาดนี้… “นโยบายที่เราได้ยินมาคือเขาอยากเปลี่ยนสามย่านให้เป็นย่านการศึกษา ซึ่งระหว่างที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะกลายไปเป็นอะไร แต่ตึกแถวที่เหลืออยู่นี้อาจเป็นโซนสุดท้ายที่จะโดนทุบในอีก 2 ปี ด้วยระยะเวลาที่ก็ไม่กดดันเรามากเท่าไร เราเองก็พบว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เลยชวนเพื่อน ๆ กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบที่รู้จักและสนใจในเรื่องเดียวกันมาดูห้องเช่าที่ว่างอยู่ แล้วทุกคนก็ตัดสินใจเช่าตึกพร้อม ๆ กันเพื่อสร้างโปรแกรมกันคนละแบบ เราเช่าตึกแถวหมายเลขที่ 1527 ให้เป็น The Shophouse 1527 เป็นพื้นที่ทดลองชั่วคราว นำเสนอนิทรรศการเชิงประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องย่าน ที่มีทั้งผู้คน พื้นที่ และสังคมอยู่รวมกัน และด้วยความที่ตึกอยู่ในสามย่าน เราจึงดึงคอนเทนต์ของสามย่านที่เกิดจากการเล่าและเก็บข้อมูลของคนในพื้นที่จริงๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์นิทรรศการ” คุณโจ-ดลพร ชนะชัย ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Cloud-floor กล่าว   เรื่องราวใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม คือคอนเทนต์ที่เล่าได้ไม่รู้จบ The Shophouse 1527 เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมเมื่อปีที่ผ่านมา ตึกหน้ากว้าง 4 ม. ลึก 14 ม. ถูกเปลี่ยนจากตึก 3 ชั้นเป็น 2 ชั้น ด้วยการทุบฝ้าเพดานเปิดพื้นที่ระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 แต่องค์ประกอบโดยรวมยังคงเสน่ห์ความดิบแบบตึกแถว เก่ารวมทั้งร่องรอยต่างๆ ในตึกไว้เหมือนเดิม “ในช่วงรื้อถอน เราก็พยายามเก็บรวบรวมข้อมูลของสามย่านให้มากที่สุด อย่างเช่นร่องรอยของผู้อยู่อาศัยเดิมตามจุดต่าง ๆ ของตึก ซึ่งปลุกเรื่องราวความทรงจำและวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเกิดขึ้นในตึกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นแรงบันดาลใจสู่นิทรรศการแรกในชื่อ “Resonance of Lives at 1527” เราเล่าเรื่องราววิถีชีวิตเดิมของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ผ่านร่องรอยต่างๆ ของตึกแถวกับการเข้ามาของเรา ทั้งเรื่องการรีโนเวทและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เป็นความโชคดีที่ที่นี่เป็นตึกที่มีเจ้าของมือเดียว อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นลูก เท่าที่ทราบ ครอบครัวเขาอยู่ที่นี่มานานกว่า 50 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่มีร่องรอยเยอะขนาดนี้” นิทรรศการถัดมาเป็นนิทรรศการต่อเนื่องจากนิทรรศการแรก นำเสนอเรื่องราวและความเชื่อต่างๆ ของสามย่านผ่านความทรงจำของเจ้าของดั้งเดิมเช่นกัน เช่น ศาลเจ้า การแสดงงิ้ว ต้นไทรศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ โดยเล่าผ่านหนังสือพิมพ์ที่ผลิตขึ้นมาเอง และนำเสนอด้วยวิธีการเล่าที่แตกต่างกันไปตามเนื้อหา โดยมีทาง soi | ซอย มาช่วยออกแบบการนำเสนอเนื้อหาให้ เช่น เรื่องศาลเจ้าถูกเล่าผ่านการเสี่ยงเซียมซี เป็นต้น “ส่วนตัวมองว่าสามย่านมีเรื่องเล่าได้เป็นร้อย ตอนแรกเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพื้นที่เลย แต่พอมาได้ยินและเห็นทุก ๆ อย่าง ก็คิดว่าน่าสนใจและน่านำมาเล่าต่อ สามย่านอาจเป็นหนึ่งในโมเดลที่ย่านอื่น ๆ สามารถนำไปเป็นต้นแบบได้ เช่น เป็นกลุ่มของชุมชนที่อยู่กันแบบมีพาณิชยกรรมด้านล่างของตึก ส่วนด้านบนเป็นที่พักอาศัย ย่านนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความเชื่ออยู่ในพื้นที่ โมเดลแบบนี้เกิดขึ้นในหลายย่านของกรุงเทพฯ เลยคิดว่าถ้าทำที่สามย่านเป็นตัวอย่างให้ดูว่ามันเล่าได้กี่แบบ ย่านอื่น ๆ ก็อาจนำโมเดลนี้ไปใช้ในย่านได้ บางลำภูก็อาจเล่าคล้าย ๆ กัน แต่วิธีการเลือกเนื้อหาอาจได้มาคนละแบบก็ได้ เคยคุยกันว่าสามย่านเป็นเรื่องราวของความปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกวัน มีความเป็นชีวิตประจำวันสูงมาก ถ้าไม่สังเกต จะไม่เห็นอะไรสักอย่าง แต่ถ้าสังเกตเห็น มันก็น่าสนใจมากทีเดียว”     สินทรัพย์ที่ดี จุดเด่นที่ทำให้สามย่านแตกต่างจากย่านอื่นๆ ภาพจำของสามย่านที่หลายคนนึกถึงอาจเป็นแหล่งรวมศูนย์การค้าหรือร้านอาหารรสเด็ดมากมาย แต่คุณโจยังมองเห็นเสน่ห์อีกข้อหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม “สามย่านมีสินทรัพย์ที่ดี ทั้งในแง่ของผู้คนและพื้นที่ มีสเปซที่ซ่อนตัวอยู่ซึ่งเราต้องเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ก่อน มีวัฒนธรรมที่แสดงออกมาในแง่ของสถาปัตยกรรม เช่น ศาลเจ้า ถ้าไม่ได้ไปดู จะไม่รู้เลยว่ามี แต่ถ้าให้เล่าเรื่องราวสินทรัพย์ในย่านนี้ มันเล่าได้ไม่รู้จบ เป็นการผสมผสานของของเก่ากับของใหม่เข้าด้วยกันจริงๆ และด้วยความที่เป็นย่านที่อยู่ใกล้กับจุฬาฯ มันจึงเคลื่อนไหวด้วยพลังเด็กรุ่นใหม่เยอะกว่าในที่อื่น ๆ เคยได้ยินว่ามหาวิทยาลัยเป็นแกนนำสำคัญที่จะช่วยสั่งสมสินทรัพย์เชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ นี่จึงเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนได้อีกทางหนึ่ง” Photo credit: facebook.com/theshophouse1527 เสิร์ฟเครื่องดื่มแกล้มด้วยเรื่องเล่าของชาวสามย่าน ชั้นล่างของ The Shophouse 1527 ในวันนี้ คือ Labyrinth Cafe แล็บลิ้นคาเฟ่ คาเฟ่ที่มาพร้อมคอนเซปต์ slow bar และบาร์ขนาดยาวเสิร์ฟเครื่องดื่มรสชาติแสนพิเศษ ส่วนชั้น 2 เป็นแกลเลอรีที่จัดนิทรรศการหลักไปแล้ว 2 ครั้ง ทุกครั้งที่มีการจัดแสดงนิทรรศการ The Shophouse 1527 และร้านกาแฟจะทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอสเปเชียลดริงก์ที่เข้ากับนิทรรศการนั้น ๆ ให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย “เราต้องหาพาร์ตเนอร์ที่ใช่และเข้ากับเราให้เจอ เขามองเหมือนเราว่าการดื่มกาแฟก็เป็นประสบการณ์การทดลองอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นกาแฟที่ขายคือจึงไม่ใช่แบบชงแล้วมาเสิร์ฟเลย แต่มีการพูดคุย และอะไรอื่นๆ เขาจึงเป็นเหมือนหนึ่งในนิทรรศการที่พูดได้และพูดเก่งของเรา (หัวเราะ) ทีมเขามีหลายคน มีสอนถ่ายภาพด้วย เข้าใจมุมของการทดลองและศิลปะอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าโชคดีที่เจอและเป็นพาร์ตเนอร์กัน” ปัจจุบันผู้คนที่แวะเวียนไปเยี่ยมเยียน The Shophouse 1527 มีทั้งกลุ่มคนทำงานสายออกแบบ สายครีเอทีฟ ตลอดจนนักศึกษา “เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่การแสดงออกของศิลปะในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายกว่าคำว่า “อาร์ต” มันอาจเป็นการนำเสนอความสร้างสรรค์ในด้านใดก็ได้ เราอยากสร้างบรรยากาศของการสร้างสรรค์ให้ต่างไปจากเดิม เรายังเปิดกว้างกับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ ให้สามารถใช้พื้นที่ในการแสดงออกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเป็นคอนเทนต์ที่เหมาะกับพื้นที่ของเรา นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทดลองที่รอเด็กรุ่นใหม่ซึ่งอาจยังไม่มีกำลังในการลงทุนมากพอ ให้มาร่วมเติมเต็ม นำเสนอคอนเทนต์ของเขาออกมาในเชิงกายภาพให้มากขึ้นได้”   #SamyanCreativeDistrict      #CreativeDistrictofBKKDW #BKKDW2020  

ย่านสร้างสรรค์สามย่าน

เปิดย่านสร้างสรรค์…พื้นที่จัดแสดงหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ทำไม – ที่ไหน – อย่างไร กับ 4 ย่านสร้างสรรค์ใหม่ของกรุงเทพฯ   ย่านชาวจีนเก่าแก่ที่เป็นแหล่งรวมร้านอาหารและงานช่างเหล็กและยานยนต์อย่างสามย่านกำลังถูกพัฒนาให้รวมส่วนผสมของความเก่าและความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกันบนถนนพระราม 4 จึงค่อย ๆ ปรากฏพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ ตั้งแต่ TCDCCOMMONS ณ IDEO Q Chula-Samyan, อาคารสามย่านมิตรทาวน์และสตูดิโอเปิดใหม่ล่าสุด The Shophouse 1527 ที่รีโนเวตจากตึกแถวไร้ผู้คน ให้เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเปิดโอกาสให้นักออกแบบหมุนเวียนกันมานำเสนอไอเดียและทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงในอนาคต ตึกแถวเก่าเปี่ยมเสน่ห์ท่ามกลางอาคารดีไซน์ใหม่ ตึกแถว สิ่งปลูกสร้างที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของสามย่านในอดีตกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นย่านการศึกษายุคใหม่ที่เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และนำเสนอผลงานสร้างสรรค์หลายแห่งบนอาคารที่มีดีไซน์ทันสมัยและมีแนวโน้มว่าตึกแถวที่ยังว่างอยู่และไม่มีผู้อาศัยอาจถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมอื่น ๆ ในอนาคตอันใกล้ น่าดีใจที่ก่อนเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงจะมาถึง Cloud-floor และ IF (Integrated Field) กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบ มองเห็นเสน่ห์ คุณค่า และความน่าสนใจของตึกแถวเก่าแก่ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คูหา คุณโจ-ดลพร ชนะชัย และคุณฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย สองผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Cloud-floor ได้เปลี่ยนตึกแถวหมายเลข 1527 ติดริมถนนพระราม 4 ให้เป็นอาร์ตสเปซชื่อ The Shophouse 1527 ด้วยหวังให้เป็นพื้นที่ทดลองที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบหมุนเวียนกันมานำเสนอไอเดียและทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยขับเคลื่อนความสร้างสรรค์ในอนาคต ร่วมค้นหาความสร้างสรรค์ที่ฝังตัวอยู่ใน The Shophouse 1527 และเสน่ห์ของพื้นที่แห่งความทรงจำและวิถีชีวิตในสามย่าน ไปพร้อมๆ กับพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ใกล้เคียง ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) เมื่อวิถีชีวิตมาบรรจบกับผลงานสร้างสรรค์ นั่นอาจสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และนำไปสู่ความเคลื่อนไหวที่จะช่วยหลอมรวมความเก่าและใหม่ของย่านได้กลมกล่อมยิ่งขึ้น โปรเจ็กต์ห้ามพลาดที่สามย่านในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 สามย่าน ย่านการศึกษาสุดฮิปแห่งใหม่ที่คนรุ่นใหม่ขยันไปเช็กอินในช่วงนี้ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่หลักของการจัดแสดงงานที่น่าสนใจ มาทำความรู้จักสามย่านในอีกมุมสร้างสรรค์ที่จะทำให้เข้าถึงความเป็นย่านแห่งนี้มากขึ้นอีกนิด ผ่านกิจกรรมอย่างนิทรรศการ โชว์เคส และเวิร์กช็อป ดังนี้ The Shophouse 1527 จับมือกับ PHKA สร้างสรรค์คอนเทนต์ร่วมกันผ่านผลงานอินสตอลเลชันดอกไม้ ในชื่อ “PHKA: KARMA” นำเสนอเนื้อหาที่สื่อสารถึงวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาเร่งด่วน โดยใช้ดอกไม้เป็นสื่อกลางเปรียบเทียบถึงผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตระบบนิเวศไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมีมิติ…ร่วมเจาะลึกลงไปในประเด็นมลภาวะที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตของผู้คนผ่านผลงานจัดแสดงยาวนานร่วม 1 เดือนครึ่ง น่าสนใจว่าเมื่อน้ำเสียถูกนำมาใช้เป็นตัวหล่อเลี้ยงดอกไม้ดอกไม้ที่เปรียบเสมือนชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พร้อมพบกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกนาทีของการจัดแสดง MOD ตึกแถวที่ตั้งอยู่ติดกับอาคารสามย่านมิตรทาวน์ รีโนเวตจากตึก 3 ชั้นเป็นชั้นเดียวเพดานสูงจัด จัดแสดง “Data and Space at MOD” นิทรรศการศิลปะที่นำเสนอข้อมูล (Data) ภายในบริเวณสามย่าน จัดแสดงในรูปแบบ Digital Visualization ทั้งข้อมูลเชิงสถิติและปริมาณของย่านในหัวข้อต่าง ๆ เช่น จำนวนร้านอาหารในย่าน จำนวนคนที่อยู่อาศัย ไปจนถึงข้อมูลเชิงประสบการณ์ในรูปแบบของการฉายภาพ Projection Mapping ลงบนผนังและพื้นภายในอาคาร พร้อมให้ผู้ชมสร้างประสบการณ์การรับรู้ที่แปลกใหม่ในพื้นที่ RAWROOM (ร.รูม) ตึกแถวที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 1 ให้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณเพื่อและจัดแสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับวัสดุ พร้อมความรู้เชิงช่างที่มีการเลือกใช้วัสดุพื้นฐานจากการปรับปรุงอาคารเก่ามาจัดประกอบและติดตั้ง ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารอย่างถาวรและเฉพาะกาล สำหรับในดีไซน์วีก RAWROOM จะร่วมมือกับบริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E จัดแสดงผลงาน “Lighting Installation” สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ห้องแถวเก่าและองค์ประกอบของยุคสมัยใหม่ Child Learning Center จัดเวิร์กช็อปเพื่อมอบพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับน้อง ๆ (Creative Kid Space) ที่ได้แรงบันดาลใจจากแนวทางการสอนและวิธีการเรียนรู้ของคุณแม่ชาวญี่ปุ่นกับลูก ๆ เช่น กิจกรรมการทำสบู่ กิจกรรมศิลปะระบายสี กิจกรรมพับกระดาษแบบญี่ปุ่น (โอริกามิ) กิจกรรมสกรีนถุงผ้า เป็นต้น MOONG Samyan ม้ง สามย่าน ตึกแถวย่านใกล้เคียงที่เปิดทำการเป็นอาร์ตแกลเลอรีขนาดเล็ก นำเสนอนิทรรศการภาพถ่ายที่ชื่อว่า “เมืองถ้า” พร้อมตั้งคำถามกับสังคมไทยเพื่อมองหาความเป็นไปได้ที่หลากหลายในการดำเนินชีวิตซึ่งมีความสัมพันธ์กันระหว่างคนกับที่ว่าง ร่วมค้นหาจิตวิญญาณความสร้างสรรค์ของ “สามย่าน” ที่ไม่เพียงปรากฏให้เห็นเด่นชัดผ่านอาคารรูปลักษณ์ใหม่ ๆ หากยังแฝงตัวอยู่ในแทบทุกจุด รวมทั้งตึกแถวที่เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตในรูปแบบดั้งเดิม อีกหนึ่งฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และการเติบโตที่น่าสนใจในอนาคต…แล้วคุณจะพบว่าการได้สำรวจพื้นที่เก่าอย่างตึกแถวธรรมดาก็สามารถกลายเป็นกิจกรรมล้ำค่าที่ไม่ควรพลาด   #CreativeDistrictofBKKDW       #BangkokCityOfDesign #BKKDW2020