ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

สามย่าน — ครบสูตรย่านเรียนรู้ มาคู่ตำนานอร่อย

ออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้วไปเรียนรู้พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ ตั้งแต่โครงการทดลองเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชุมชน จนถึงเวทีไอเดียสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การใช้งานจริงในอนาคต ภายใต้ศักยภาพของย่านเก่าที่ถูกเร่งเครื่องและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากโครงข่ายเชื่อมต่อจากระบบรถ ราง ยิ่งช่วยกระชับพื้นที่โดยรอบทั้งย่าน CBD (Central Business District) ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจกรุงเทพฯอย่างสีลมและสาทร สถานศึกษา อุดมศึกษาจากจุฬาฯ-สวนหลวง จนกระทั่งชาวฝั่งธนบุรีให้สามารถเข้าถึงใจกลางเมือง รวมทั้งการมีแผนพัฒนาย่านอย่างชัดเจนจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหลากหลายโครงการ ตลอดจนการมาถึงของสามย่านมิตรทาวน์ มิกซ์ยูสซ์ขนาดใหญ่ที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมและช่วงเวลาการใช้งานในพื้นที่ยาวแทบตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มธุรกิจสื่อและความบันเทิงระดับโลก Time Out Group ได้คัดเลือกให้“จุฬาฯ-สามย่าน” ติดอันดับที่ 16 จาก 40 ย่านทั่วโลก (Top 40 coolest neighbourhoods) ในปี 2020 ด้วยเป็นย่านที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างวัฒนธรรม อาหาร ความสนุกสนานแบบคนท้องถิ่น สะท้อนจิตวิญญาณของชุมชนเดิม ขับเคลื่อธุรกิจท้องถิ่นที่เปรียบเสมือนหัวใจของเมืองร่วมด้วย ท่ามกลางพื้นที่ซึ่งรายล้อมไปด้วยสถานศึกษาในระดับต่างๆ รอบย่าน จึงถือเป็นหนึ่งในแหล่งบ่มเพาะที่สำคัญ ความน่าสนใจยังอยู่ที่พื้นที่เชิงทดลองที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา นักออกแบบ และบุคคลทั่วไปสามารถตั้งต้นลงมือ ตั้งแต่ CU ART 4C พื้นที่สร้างสรรค์ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คอมมูนิตี้ด้านศิลปะที่ต้องการให้นิสิตและผู้สนใจได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดชุมชนและตอบสนองการเป็นเมืองศิลปะในอนาคต The Shophouse 1527 พื้นที่ทดลองชั่วคราว ที่สลับสับเปลี่ยนนำเสนอนิทรรศการเชิงประสบการณ์โดยมีพื้นฐานจากการเล่าและเก็บข้อมูลของคนในพื้นที่จริงๆ ทั้งผู้คน พื้นที่ของสามย่านก่อนนำมาตีความสร้างสรรค์ การปรับเปลี่ยนเชิงพื้นที่ย่านยังหมายถึงลานกลางแจ้งและสวนสาธารณะซึ่งยิ่งจะกลายเป็นพื้นที่หลักภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าและความใส่ใจด้านสุขภาวะเริ่มกลายเป็นความใส่ใจอันดับต้นๆ  อย่างที่สวนอุทยานจุฬาฯ 100 ปี เป็นหนึ่งต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การพักผ่อน ทั้งยังรับมือกับปัญหาธรรมชาติในอนาคตอย่างรอบด้าน โดยภูมิสถาปนิกวางผังด้วยการกดพื้นที่สวนลงฝั่งหนึ่งทำให้อีกฝั่งยกตัวสูงขึ้น เมื่อน้ำฝนที่ตกลงมาจึงไหลมารวมกันบริเวณสระรับน้ำ ที่พร้อมสอดแทรกตัวอาคารไว้ใต้พื้นที่ส่วนที่ถูกยกขึ้นสำหรับเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ และพื้นที่จัดนิทรรศการในอนาคต สวนทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 โซน แต่ละโซนมีความสอดคล้องไปกับลักษณะสัณฐานของพื้นที่ นับเป็นตัวอย่างนำร่องที่สามารถขยายผลและต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ของเมืองได้    ย่านนี้มีอะไรน่าสนใจ โครงข่ายหลัก และระบบเชื่อมต่อทั่วย่าน บนพื้นฐานแนวคิดการสร้างย่านให้เชื่อมต่ออย่างครอบคลุม นอกจากโครงข่ายถนนสายหลัก สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่านแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะมีส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ยังทำให้คนฝั่งธนบุรีเข้าสู่พื้นที่ย่านหัวลำโพง สามย่าน สีลมมากขึ้น  ตำนานของกินและฟินกับอาหารยอดฮิต มีร้านอาหาร ภัตตาคารชื่อดังหลายร้านที่มีจุดเริ่มต้นสาขาแรกที่สามย่าน จนกลายเป็นย่านต้นตำรับ ผนวกกับการมาถึงของเจเนอเรชั่นใหม่ช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัวด้วยการสร้างสรรค์เมนูใหม่ชูจุดเด่นเดิม การออกแบบร้านให้สามารถดึงดูดลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ตลอดจนโครงการมิกซ์ยูสโดยรอบที่ประกอบด้วยร้านค้าสมัยใหม่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและการใช้งานพื้นที่ตลอดวันได้เต็มศักยภาพมากขึ้น ตึกแถวเก่าเล่าด้วยฟังก์ชั่นใหม่ ตึกแถวสิ่งปลูกสร้างที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของสามย่านในอดีต กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นย่านการศึกษายุคใหม่ที่เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และนำเสนอผลงานสร้างสรรค์หลายแห่งบนอาคารที่มีดีไซน์ทันสมัย เช่นเดียวกับ ตึกแถวที่ไม่ถูกใช้งานถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อาร์ตสเปซที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ ความตั้งใจของผู้ประกอบการเอกชนและนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ มีส่วนผลักดันให้ย่านและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก้าวไปอีกขั้น หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Yelo house ในซอยเกษมสันต์ 1 ปรับเปลี่ยนพื้นที่โกดังสีเหลืองสดเป็นคอมมูนิตี้ด้านศิลปะ จัดกิจกรรมหมุนเวียนไม่ซ้ำตลอดปี พร้อมประตูวิเศษที่เชื่อมไปสู่พื้นที่อื่นภายในย่าน หรือ Reno Hotel โรงแรมที่ปรับปรุงอาคารจากยุค 1960s ให้เป็นพื้นที่เข้าพักที่ใส่ใจเรื่องศิลปะ ด้านล่างพร้อมด้วยคาเฟ่และร้านค้าขายผลงานศิลปะจากผู้ประกอบการสร้างสรรค์ #CreativeDistrictofBKKDW       #BangkokCityOfDesign

เจริญกรุง-ทรงวาด — ยิ่งเก่ายิ่งเจ๋ง

ต้นแบบ “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ลำดับแรกของกรุงเทพฯ ที่รวบรวมผลงานการร่วมพัฒนาของผู้ประกอบการดั้งเดิมในพื้นที่ และการเติบโตไปอีกขั้นของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่แท้จริง ตลอดช่วงหลายปีที่ CEA สร้างความร่วมมือกับผู้คนในย่าน ภาครัฐ และเอกชน สำหรับการเดินหน้าย่านประวัติศาสตร์ สู่ต้นแบบ “ย่านสร้างสรรค์” ศูนย์กลางที่ผนวกความรุ่งเรืองของชุมชนริมแม่น้ำพระยาที่ประกอบจากความหลากหลายของเชื้อชาติ ความเชื่อ ตลอดจนความเหนียวแน่นของธุรกิจครอบครัวที่สืบต่อมานานกว่า 4-5 รุ่น  จากการเริ่มต้นทำความรู้จักและเข้าใจในพื้นที่ผ่านการสำรวจและลงพื้นที่ สู่การปรับปรุงพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพผ่านโครงการทดลองที่หลากหลายเพื่อสร้างภูมิทัศน์และภาพจำใหม่ๆ ให้กับผู้คนในย่านและผู้มาเยือน ก้าวต่อไปคือการพัฒนาต่อยอดและเพิ่มศักยภาพความเป็นไปในการดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นที่อาคารเก่าผนวกกับสินทรัพย์เดิมให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานให้ร่วมสมัยพร้อมๆ กับการส่งเสริมกิจกรรม เช่น อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ในฐานะศูนย์การบ่มเพาะด้านความคิดสร้างสรรค์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ธนาคารแห่งแรกของไทย ศุลกสถาน อาคารที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่มีแผนบูรณะหลังเก่าพร้อมสร้างหลังใหม่ควบคู่เป็นโรงแรมหรู มัสยิดชุมชนฮารูณอายุกว่า 100 ปีที่ผลัดหมุนเวียนกิจกรรมร่วมกับชุมชนและกลุ่มต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาตรอกซอกซอยตั้งแต่ช่วงโครงการ Co-create Charoenkrung ในขวบปีแรกที่ช่วยสร้างบรรยากาศการเชื่อมต่อภายในย่านส่งผลให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องรวมทั้ง Colour of charoenkrung ซึ่งผู้เยี่ยมชมจะสนุกสนานผ่านการเดินสำรวจและลัดเลาะถนนซอกซอยในย่านได้อย่างสะดวกถือเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงเพิ่มข้อดีให้กับการท่องเที่ยว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภาคเอกชนหลายรายเข้ามาลงทุนและเปิดให้บริการในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า คาเฟ่ โรงแรมบูทีคโฮเต็ล แกลเลอรีศิลปะมากกว่า 10 แห่ง รวมถึงพื้นที่จัดงานสร้างสรรค์อย่าง Warehouse 30 และ Central the Original Store ที่พาผู้เยี่ยมชมกลับสู่จุดเริ่มต้นของอาณาจักรค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล พร้อมนิทรรศการและห้องสมุดเฉพาะด้านธุรกิจและการค้าปลีก  การเติบโตที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการนำร่อง “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ตั้งแต่สินทรัพย์ในฐานะทุนในการต่อยอด โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเติบโตของชุมชนและธุรกิจในย่าน  เกิดการต่อยอดของสินค้าเก่าแก่ซึ่งได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การให้บริการ ให้เหมาะกับโลกยุคใหม่มากขึ้น ให้สามารถจำหน่ายหรือสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของย่านเจริญกรุง ที่เกิดจากการเดินหน้าร่วมกันระหว่างภาคต่างๆ และผู้คนในชุมชน จึงทำให้ภาพของย่านสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เด่นชัดมากขึ้นในทุกๆ ปี ย่านนี้มีอะไรน่าสนใจ เรื่องเล่าของพื้นที่ที่ถูกเพิ่มมูลค่า อดีตที่ยังคงมีชีวิตกำลังกลายเป็นต้นทุนที่ไม่ต้องลงทุนมหาศาลแต่เปลี่ยนผ่านเป็นแรงรุกคืบทั้งในเชิงการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างและความลึกซึ้งในการรับรู้ของผู้คน ไม่เพียงเท่านั้นตลอดการทำความเข้าใจยังต้องอาศัยแรงเล็กๆ จากทุกภาคส่วนในชุมชนซึ่งยิ่งเพิ่มประโยชน์และข้อได้เปรียบในการสร้างความแข็งแรงและผลในระยะยาว ย่านต้นแบบที่ค่อยๆ ปรากฏผล จากความเข้าใจในอัตลักษณ์และธุรกิจดั้งเดิมของย่าน นำไปสู่โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างทักษะเก่า และนักออกแบบรุ่นใหม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์จนทำให้ Made in Charoenkrung ทั้งขวบปีที่ 1 และ 2 สร้างทิศทางใหม่ให้กับหลายผลงาน ทั้งยังถูกต่อยอดจนสร้างรายได้กับผู้ประกอบการและชุมชน ความร่วมมือและเครือข่ายที่เข้มเเข็งของคนในชุมชน โรงเรียน บ้านโบราณ มัสยิด สถานทูตฝรั่ง ย่านเจริญกรุงแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่อยู่ร่วมกันมาได้ตั้งต้นลงมือลายร้อยปี ความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้คนพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันด้วยภูมิหลัง แต่เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาย่านสู่อนาคตที่เอกลักษณ์ของย่านอยู่ร่วมกับความทันสมัยได้อย่างพอดี #CreativeDistrictofBKKDW       #BangkokCityOfDesign

The making of PINIJ / Mindfulness Quarantine

PINIJ / Mindfulness Quarantine Collectible Design Thailand 02 โดย suMphat Gallery   “พินิจ” คือ อากัปกิริยาที่ประสาทสัมผัสของร่างกายและจิตใจภายในเพ่งพิจารณา ตรวจตราบางสิ่งอย่างละเอียด ด้วยความตั้งอกตั้งใจที่มากกว่าเพียงการมองเห็น “พินิจ” เป็นชื่อนิทรรศการครั้งที่ 2 ของ Collectable Design Thailand ซึ่งจัดแสดงงานออกแบบ งานคราฟต์หลากเทคนิคของศิลปินนักออกแบบไทยหลายสาขา ผ่านโมเดลธุรกิจแบบ Art & Design Gallery ซึ่งแพร่หลายทั้งในปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว เน้นจัดแสดงงานคราฟต์ที่คุณภาพดี ผลิตขึ้นในจำนวนน้อย ราคาสูง โดยมีรัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เจ้าของรางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Product Design เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยความเชื่อว่านี่อาจจะเป็นอีกทางรอดของนักออกแบบไทย   แนวคิดก่อนพินิจ สถานการณ์ที่โลกต้องพบเจอกับการระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องถูกกักขัง เก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการเดินทาง เพื่อเติมเต็มสัญชาตญาณที่ฝังลึก แม้ร่างกายจะไม่อาจเดินทางด้วยกายภาพได้ ก็มนุษย์ดิ้นรนที่จะเดินทางภายใต้ข้อจำกัดที่มี ด้วยการกลับเข้าไปยังภายในจิตใจ กลับไปยังความทรงจำของตัวเอง “การเดินทางมันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในโครโมโซมของมนุษย์เรา จากที่เคยเดินทางด้วยเท้า แต่ต้องหยุดอยู่กับที่ สมองจึงเดินทางด้วยเหมือนกัน” รัฐอธิบายต่อไปว่า การก้าวเท้าไปค้นพบจุดหมายปลายทางใหม่ที่ถูกระงับไว้นานนับปี จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของโจทย์การออกแบบที่ชวนให้ทุกคนมาร่วมสำรวจภายในจิตใจภายใต้ความหมายของคำว่า “พินิจ” กระบวนการพินิจ ในช่วง 2 ปีที่เว้นว่างจากการจัดงาน Collectable Design Thailand ครั้งแรก รัฐเล่าว่าเขาคอยติดตามผลงานนักออกแบบในประเทศไทยอยู่เสมอ คอยสังเกตความต่อเนื่องและพัฒนาการของแต่ละคน เมื่อถึงเวลานิทรรศการครั้งนี้ จึงเริ่มต้นจากการสรุปแนวคิดหลัก จากนั้นจึงติดต่อพูดคุยกับนักออกแบบแต่ละคน ลิสต์ออกมาเป็นรายชื่อนักออกแบบที่น่าสนใจ แล้วคัดเลือกออกมา 10 คนสุดท้ายที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงาน มีความสนใจในศาสตร์ที่แตกต่างกันไป “เวลาที่เราปล่อยให้ศิลปิน-นักออกแบบได้ลงมือทำ จะเห็นว่าจิตใจข้างในของแต่ละคนมีอะไรอยู่บ้าง สัญชาตญาณหรือสิ่งที่เก็บไว้ในตัวจะแสดงออกมา เวลาเราปล่อยให้เขาสร้างอะไรก็ได้ขึ้นมาโดยไม่มีคำจำกัดความ” รัฐเล่าถึงข้อสังเกตที่เขาพบเห็น ในฐานะผู้ก่อตั้งโครงการ คิวเรเตอร์และผู้ร่วมแสดงผลงาน   พินิจศิลปิน-นักออกแบบ 10 งานออกแบบศิลปะที่ทำงานกับภายในของผู้สร้างผลงานและผู้ชมผลงานไปพร้อมกัน มีดังนี้  “Ni” โดยจูน เซกิโน แห่ง Junsekino Architect ร่วมกับพิษณุ นำศิริโยธิน ผู้เชี่ยวชาญงานไม้ สื่อสารพื้นที่ว่างของตัวตนภายในผ่านชิ้นไม้มะค่าที่ประกอบกันเป็นพระพุทธรูป   “so far – so close โดย ภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา นักออกแบบเครื่องประดับแห่ง Trimode Studio สื่อสารความรู้สึกเชื่อมโยงกันแม้ถูกกักขัง ผ่านทักษะการบัดกรีโลหะเด็กแว้น เชื่อมต่อขึ้นรูปแจกันสองใบที่มีขนาดแตกต่างกันแต่เชื่อมไว้ด้วยห่วงโซ่ “TARA  (ตฺฤา)” โดย วาสนา x สาวิน ช่างหัตถกรรมงานไม้ไผ่ชั้นครูแห่งเมืองเชียงใหม่ ร่วมงานกับลูกชายเป็นครั้งแรก ทั้งคู่นำงานไม้ไผ่มาสานเป็นรูปทรงของมันดาลา ที่สื่อถึงการเวียนว่ายตายเกิดตามความเชื่อของศาสนาพุทธ   “EYELIDS ON THE CITY” โดย ปิยพงศ์ ภูมิจิตร นักออกแบบกราฟิกที่หยิบจับภาพนับพันของอรุณ ภูริทัต ช่างภาพที่สังเกตการณ์พื้นที่ในเมืองกรุงเทพฯ ระหว่างช่วงการระบาดของโควิด 19 นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือชุดเมืองบนเปลือกตา จากนั้นส่งต่อให้ธนพล แก้วพริ้ง ช่างภาพอีกคนมาตีความต่อเป็นนิทรรศการภาพถ่ายอีกที “Lose Track watch” โดย กฤษณ์ เย็นสุดใจ นักออกแบบแฟชั่น และผู้อำนวยการออกแบบของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เขาสังเกตเห็นว่าในช่วงล็อกดาวน์ผู้คนหันมาสะสมสิ่งของมากขึ้น เขาจึงขายนาฬิกาที่สะสมไว้ แล้วสร้างชิ้นงานโลหะขึ้นรูปกรอบสี่เหลี่ยมทำจากทองคำครอบนาฬิกาไว้อีกที สื่อสารถึงความสำคัญของปัจจุบันขณะ   “SEA  AND  ME” โดย o-d-a นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งร่วมงานกับพิษณุ นำศิริโยธิน สื่อสารความรู้สึกโหยหาทะเลของมนุษย์ในระหว่างที่การเดินทางกลายเป็นข้อจำกัด โดยคัดเลือกแผ่นไม้ที่ถูกตัดไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วนำมาประกอบเข้ากับกระจก สร้างความรู้สึกเหมือนกับได้ยืนอยู่เบื้องหน้าผืนทรายและท้องทะเล แต่สะท้อนกลับมาเป็นภาพของผู้ชมแทน “MUJO” โดย รัฐ เปลี่ยนสุข เลือกย้อนกลับไปหาความสุขที่ในวัยเด็ก หยิบเอาระยับน้ำสะท้อนขึ้นมาในเรือนไทยของบ้านตายายในฤดูน้ำหลาก เป็นความสวยงามที่ไม่อาจครอบครองได้ เช่นเดียวกับช่วงเวลาในชีวิต นำมาถ่ายทอดด้วยก้อนดีบุกหล่อเคลือบแว็กซ์และครอบด้วยแก้วที่หล่อเป็นริ้วน้ำกระเพื่อม   “Time” โดย สุมนัสยา โวหาร อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความถนัดเครื่องรัก เครื่องเขิน จึงนำเครื่องสังคโลกจากจังหวัดสุโขทัยที่แตกหักเสียหายเนื่องจากความไม่สมบูรณ์แบบของงานฝีมือช่างท้องถิ่น ใช้ยางรักของจีน ไทย ญี่ปุ่นมาประสานชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยเทคนิคคินสึงิ เพื่อทำความเข้าใจเวลาและตัวตนของเธอเอง   “HAPPINESS | TIME” โดย เดชา อรรจนานันท์ แห่ง THINKK Studio เลือกสื่อสารความเลื่อนไหลของความรู้สึกที่มีต่อเวลาที่สั้นยาวไม่เท่ากัน ผ่านชุดของเล่นที่มีลูกบอลเล็กๆ กลิ้งไปมา โดยทำงานร่วมกับร่วมกับช่างนาฬิกา จึงออกแบบได้อย่างท้าทายมากพอที่ผู้เล่นจะใช้เวลาจดจ่ออยู่กับสิ่งนี้ได้อย่างยาวนาน   “No Smoke without Fire” โดย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แฟชันดีไซเนอร์ แห่ง WISHARAWISH ที่บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำ ความสุขระหว่างร่วมโต๊ะอาหารผ่านจาน 16 ใบ แต้มสีสันสดใสที่สื่อถึงความสนุกสนานร่าเริงแต่ก็เจือด้วยสีเทาสะท้อนความวิตกกังวลของตัวนักออกแบบเอง พินิจพิจารณา        ด้วยความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เกิด Art & Design Gallery เกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริง รัฐจึงร่วมมือกับ SAC Gallery เพื่อวางแผนการประชาสัมพันธ์นิทรรศการและการขายงานออกแบบศิลปะเหล่านี้ “ถือว่ายากในตอนแรก แต่เมื่อกลไกนี้ทำงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องใช้คนหมุนก็จะไปต่อได้ของมันเอง เป็นโปรเจ็กต์ชิมลางที่หากแกลเลอรีศิลปะเริ่มสนใจแล้วต่อไปก็จะสนับสนุนดีไซเนอร์ที่ทำงานคราฟต์ และขายได้มากขึ้นจริงๆ” รัฐย้ำถึงความตั้งใจของเขาอย่างมั่นใจอีกครั้ง  “เมื่อได้เข้ามาดู ได้พินิจ ได้อ่านแนวความคิดของผู้สร้างผลงานแล้ว จะพบว่าเราล้วนแชร์ประสบการณ์งดงามหรือเลวร้ายร่วมกัน ทุกคนจะเชื่อมโยงเข้าหากันได้ เพราะศิลปะคือการสื่อสารที่สร้างผลกระทบด้านอารมณ์ ผลงานเหล่านี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจ พยายามหาทางออก มอบทางเลือกที่ไม่ใช่สำหรับร่างกาย แต่ทำงานกับความรู้สึกภายในของเราด้วย”   ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Collectible Design Thailand ได้ที่ facebook.com/collect.thai   #TheMakingOfBKKDW2021  #PINIJ #BKKDW2021 #BangkokDesignWeek  

The Making of ศาลา คอย(ล์)เย็น

ศาลา คอย(ล์)เย็น | Stay Cool Pavilion ออกแบบโดย Nikken Sekkei Thailand / ออกแบบแสงโดย NULTY   “เราหยิบยืมวัสดุดั้งเดิมมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยี BIOSKIN ที่มีต้นแบบอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่า อิฐดินเผากำลังเป็นตัวแทนของการใช้เทคโนโลยีท่อเซรามิก ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศแบบไทย ทั้งในแง่การออกแบบ การใช้งาน”   แนะนำแนวคิดของโปรเจ็กต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้ เรามองว่า Resurgence คือ การฟื้นฟู การกลับมาของสิ่งต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ วิกฤตปัญหาโลกร้อน วิกฤตธรรมชาติ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Heat Island Effect) ในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงเลือกประเด็นนี้มาเป็นโจทย์ตั้งต้น ทั้งยังมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการเลือกวัสดุที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เสมือนตัวทดลอง ว่าจะมีเครื่องมือใดบ้างที่สามารถลดปัญหาเกาะความร้อนได้บ้าง นี่อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนวิธีคิด หรือมุมมองต่อสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วรอบตัว  นอกจากนี้ยังได้แรงบันดาลใจจากโปรเจ็กต์จริงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วของ Nikken Sekkei อย่างอาคาร NFB Osaki Building (Sony City Osaki) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดย Facade ของอาคารถูกออกแบบให้มีท่อเซรามิกชนิดพิเศษสร้างให้เกิดการไหลเวียนของน้ำฝน ตัวท่อจะมีรูพรุนค่อนข้างมาก เมื่อน้ำฝนไหลไปตามท่อจะเกิดระเหยของน้ำ ทำให้อุณหภูมิบน Facade ลดลง สามารถคืนความชื้นให้กับชั้นบรรยากาศ และกลับเข้าสู่วัฏฐจักรของน้ำในธรรมชาติ ทำให้ตัวอาคารเองที่เป็นจุดเล็กๆ ในเมือง มีส่วนในการช่วยลดสภาวะปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Heat island Effect) และช่วยลดอุณภูมิของพื้นที่โดยรอบได้ จึงนำมาประยุกต์เข้ากับแนวคิดของงานและพาวิลเลียนที่จะเกิดขึ้น ช่วยให้เรามองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม และสร้างให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในแง่การใช้ประโยชน์และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับผู้ชมงาน   เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด จากโจทย์ต้นทางความคิด อันดับแรกคือ ปัญหาเกาะความร้อน และความร้อนเป็นสิ่งที่คนไทยสัมผัสได้ใกล้ชิดอยู่แล้ว พอเห็นเทคโนโลยีนี้ เราจึงเริ่มมองหาว่า มีวัสดุตัวไหนบ้างที่ผลิตหรือใช้กันมานานในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณย่านเจริญกรุงที่มักพบเห็นกระเบื้อง อิฐดินเผาในอาคารเก่ารอบๆ ย่าน จากการลองผิดลองถูก จนพบว่า อิฐดินเผาตอบโจทย์ค่อนข้างมาก และนิยมใช้เป็นส่วนโครงสร้างของอาคารที่ใช้งานกันมาตั้งอดีต หากเราหาวิธีประกอบด้วยระบบใหม่ๆ ไม่ให้เหมือนต้นแบบ มาประยุกต์ให้ใกล้เคียงและสื่อสารกับพื้นที่มากกว่า กล่าวโดยสรุปคือ เราหยิบยืมวัสดุดั้งเดิมมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยี BIOSKIN ที่มีต้นแบบอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่า อิฐดินเผากำลังเป็นตัวแทนของการใช้เทคโนโลยีท่อเซรามิก ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศแบบไทย ทั้งในแง่การออกแบบ การใช้งาน รวมทั้งความยั่งยืน   ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง วัสดุที่เลือกใช้ มีความพิเศษอย่างไร ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงาน ไม่ง่ายเลยทีเดียว เพราะเราเริ่มตั้งต้นทดลองจากการใช้ “กระเบื้องอิฐดินเผา” มาก่อน แต่ในหลายๆ เงื่อนไข กระเบื้องเองไม่ได้ทำหน้าที่ของโครงสร้างและการรับน้ำหนักขนาดนั้น รวมทั้งเป็นวัสดุที่มีข้อจำกัดในการหาซื้อในท้องตลาดตามจำนวนที่ต้องการ ก่อนจะมาสรุปเป็น “อิฐดินเผา” ที่เราใช้ในพาวิลเลียน เพราะมองว่าเป็นวัสดุก่อสร้างพื้นถิ่นที่หาได้ง่ายในประเทศสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเทคโนโลยีท่อเซรามิก BIOSKIN นอกจากนั้นยังพบว่าเป็นวัสดุที่มีการใช้งานในงานสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่โบราณ และสามารถพบเห็นได้ในอาคารเก่าย่านเจริญกรุงและโดยทั่วไป แม้ว่าเราจะเลือกใช้ “อิฐดินเผา” เป็นวัสดุหลัก แต่ระหว่างทางก็มีการทดลองกับอิฐหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ความพยายามติดต่อผู้ผลิตอิฐดินเผาที่เป็นเจ้าท้องถิ่นในย่าน แต่ก็พบข้อจำกัด เช่น ตัวโมลขึ้นรูปไม่สามารถตอบโจทย์ด้านขนาด และจำนวนการผลิตที่มีไม่เพียงพอ จึงขยับมาใช้ผู้ผลิตที่มีวัสดุเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ยังคงเน้นย้ำผู้ผลิตที่อยู่ในประเทศ เพราะต้องการสนับสนุนวัสดุของท้องถิ่นเท่าที่เป็นไปได้มากที่สุด นอกจากนี้ในช่วงแรกๆ ยังทดลองใช้อิฐที่มีอุณหภูมิการเผาต่ำกว่าปกติ เรียกว่า วัสดุที่มี Defect ในแง่ปฏิกริยาเคมีแล้ว มักจะทำให้วัสดุเกิดรูพรุนมากกว่าปกติ และอุ้มน้ำได้มาก เราจึงทดลองนำอิฐที่ไม่ผ่าน QC ของโรงงานมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ตอนแรกที่เราลองติดต่อโรงงานไป พบว่าส่วนใหญ่โรงงานจะนำอิฐที่ไม่ได้คุณภาพเหล่านี้ไปทิ้ง ไปถมที่ ทำให้ไม่เหลือมาใช้งานได้ มีการศึกษาต่อไปว่า ถ้าสามารถนำวัสดุดังกล่าวมาใช้ใหม่ได้จริงๆ ก็จะช่วยนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมองว่า หากเราเลือกวิธีการใช้งานวัสดุอย่างเหมาะสม นอกจากวัสดุจะสามารถถูกนำกลับมาใช้ซ้ำได้แล้ว อิฐดินเผาเหล่านี้อาจยังสามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิและลดความร้อนภายในอาคารได้ แม้ว่าอิฐอาจไม่มีคุณสมบัติที่เป็นรูพรุนมากเท่ากับท่อเซรามิกของ BIOSKIN แต่ก็สามารถดูดซับน้ำได้บางส่วน และอนุญาตให้เกิดการระเหยของน้ำได้เช่นกัน รวมถึงการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอิฐดินเผาได้ด้วยอีกทาง สำหรับในการออกแบบพื้นที่การใช้งานภายใน เราก็ไม่ละเลยแม้กระทั่งจุดเล็กๆ ระหว่างการศึกษา ช่วงแรกในการออกแบบพาวิลเลียนมี option หนึ่งเป็นการเข้าออกทางเดียว แต่เราก็ไม่ลืมประเด็นของ COVID-19 จึงถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งเงื่อนไขในการออกแบบ เพื่อสร้างระบบการใช้งานที่มี Circulation ลื่นไหลจึงเลือกให้เป็นการเข้าออกคนละทาง แม้เป็นจุดเล็กแต่เราก็ใส่ใจในประเด็นนี้ นอกเหนือจากนั้น ด้านความปลอดภัย พาวิลเลียนไม่ได้ใหญ่มาก และมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้ เป็นพื้นที่เปิด ระบายอากาศได้ดี จึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดได้     สรุปความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ ข้อแรก คือ ตอบโจทย์แนวคิดงาน Bangkok Design Week ในปีนี้ เราพยายามสื่อสารเทคโนโลยี BIOSKIN ผ่านวัสดุท้องถิ่นคืออิฐดินเผาที่มีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ผู้เข้าชมพาวิลเลียนได้สัมผัสว่าเทคโนโลยีนี้สามารถมอบความรู้สึกกับผู้ใช้งานได้อย่างไรบ้าง ไม่มากก็น้อย จากการทดลองของเรา ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าผลลัพธ์จะเป็นไปตามต้นแบบที่เคยเกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน ข้อสอง อย่างที่เล่าไปคือ เทคโนโลยี BIOSKIN จะพยายามเป็นจุดเล็กๆ จุดนึงที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้นึกถึงเรื่อง เกาะความร้อนเมือง (Heat island Effect) ให้มากขึ้น และเริ่มมองหาสิ่งที่ใกล้ตัวอยู่แล้วมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดปัญหาเกาะความร้อนในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย   ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงาน จุดมุ่งหมายของ “ศาลาคอย(ล์)เย็น” คือ ความตั้งใจที่จะสื่อสารและเป็นตัวแทนที่แสดงออกถึงแนวทางในการออกแบบและโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นจริง ผ่านการเปลี่ยนมุมมองวัสดุที่นิยมใช้อยู่ในท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพาวิลเลียนนี้จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ความรู้สึกสบายแก่ผู้ใช้งาน และคืนความชื้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยการปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีการก่อสร้าง รูปแบบที่มีความยืดหยุ่นและความหลากหลายในการใช้งาน โดยเรายังคาดหวังว่าผู้ที่เข้ามาชมงานจะสามารถรับรู้ผ่านสิ่งที่เราออกแบบ ที่สำคัญคือผู้ชมสามารถจับประเด็นและสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อต่อยอดกับสิ่งรอบๆ ตัว เพราะสิ่งที่เราสื่อสารคือ เรากำลังหยิบจับวัสดุใกล้ตัวมาผสมผสานกับเทคโนโลยี นั่นหมายความว่า ผู้ที่มาชมงานสามารถมองหาวัสดุอื่นๆ ที่ใกล้ตัวผู้ชมงานมากขึ้นไปอีก มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ #TheMakingOfBKKDW2021  #StayCoolPavillion #BKKDW2021 #BangkokDesignWeek

The Making of Bangkok Projection Mapping Competition 2021 (BPMC 2021)

Bangkok Projection Mapping Competition 2021 (BPMC 2021)   “ความพิเศษคือความเป็น The one and only Projection Mapping Competition in Thailand เป็นงานที่รวมตัวคนที่มีฝีมือการทำคอนเทนต์หรือการทำ Projection mapping ไว้มากมาย หรือแม้กระทั่ง New player ที่สนใจเรื่องพวกนี้เข้ามาอยู่ในที่ที่เดียวกัน” แนะนำแนวคิดของโปรเจ็กต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอก ดีไซน์วีคปีนี้โปรเจ็กต์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากยิ้มเสมอ เพราะเราทำงานอยู่ในตลาดของมัลติมีเดียเอนเตอร์เทนเมนต์ ในงานนี้จึงประกอบไปด้วยนิยามของยิ้มเสมอด้วยคือ T-Experience (Technology + Experience) ซึ่งขอบเขตงานจะมีหลากหลายรูปแบบที่นำเทคโนโลยีมารวมไว้ด้วยกัน หนึ่งในนั้นเป็นงานที่ได้รับความนิยมระดับโลก คือ Projection mapping หรือการฉายภาพไปยังชิ้นงานสถาปัตยกรรม โดยคุณค่าของ Projection mapping คือเพื่อส่งเสริมหรือเปลี่ยนแปลงบริบทให้พื้นที่นั้นดูมีคุณค่า โดยผ่านการเล่าเรื่องจากตัวคอนเซปต์ของธีมงาน และตัวบริบทที่ผ่านการเล่าเรื่องของพื้นที่งานที่จัดแสดง ครั้งหนึ่งยิ้มเสมอเคยมีโอกาสไปเข้าร่วมแข่งขันที่ต่างประเทศ ได้ค้นพบว่าคนรู้จักในวงการไปประกวดจนได้รับรางวัลติดมือกลับมาด้วย แล้วทำไมจึงไม่มีงานรูปแบบนี้ในบ้านเรา ทั้งๆ ที่เรามีพื้นที่ มีสถาปัตยกรรม มีผู้คนที่สนใจเรื่องเหล่านี้ทั้งในแง่คอมมูนิตี้ เศรษฐกิจ ให้กับประเทศเราอยู่ เราเลยอาสาเป็นตัวแทนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจัดงานประเภทนี้ขึ้นมา สำหรับงานนี้มีชื่อว่า ‘Bangkok Projection Mapping Competition 2021’ (BPMC 2021)  โดยปีที่แล้วเป็นการจัดแบบ Soft Launch คือการชวนคนรู้จักในแวดวง Projection mapping มาเปิดการแข่งขันขึ้นที่ ‘บ้านเลขที่ 1’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการจัดบางกอกดีไซน์วีคพอดี ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ปีนี้เราเลยตั้งใจจะยกระดับการแข่งขันไปยังระดับนานาชาติให้ได้ จึงเป็นที่มาของ Bangkok Projection Mapping Competition 2021 ซึ่งเรากล้าพูดว่าเป็น The one and only projection mapping competition in Thailand ซึ่งธีมงานปีนี้ชื่อว่า ‘Wish’ แปลว่า ความปรารถนาและความหวัง จริงๆ แล้วก็คือผมหวังว่างานปีนี้จะจัดไปด้วยดี แม้สถานการณ์จะลุ่มๆ ดอนๆ นอกจากนี้ยังมีแขกรับเชิญ 3 ท่าน ที่ได้รับเกียรติเป็นกรรมการตัดสิน คือ คุณจิ๊บ-จันทร์เพ็ญ กุลแก้ว, คุณกบ-พงศ์ภาสกร กุลถิรธรรม และคุณต้น-เรืองฤทธิ์ สันติสุข พี่ๆ เขายินดีจะมาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน โดยจัดขึ้นที่อาคารอีสต์ เอเชียติก เจริญกรุง 40 บางรัก ที่โรงแรมโอเรียลเต็ล     เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด  สำหรับแรงบันดาลใจมาจากสถานการณ์ในตอนนี้ ถ้าคุณจะอฐิษฐานขออะไรสักข้อหนึ่งผ่านแคนวาสของตึกอีสเอเชียติก คุณปรารถนาอะไร  โดยโปรเจ็กต์นี้มีวัตถุประสงค์หลักอยู่สี่ข้อคือ หนึ่ง ส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจภาคชุมชน ภาควัฒนธรรม ภาคการท่องเที่ยว ด้วยการทำงานเพื่อคอมมูนิตี้ในย่านหรือระดับจังหวัดในวงกว้างมากขึ้น สอง แสดงศักยภาพและสื่อใหม่ให้สังคม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีอยู่ในทุกภาคส่วน แม้กระทั่งธุรกิจทั่วไปหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับศิลปะและงานออกแบบก็ตาม สาม อย่างที่บอกเราไปพับบลิชในกรุ๊ปที่เป็นงาน Projection mapping หรือทำคอนเทนต์โมชั่นกราฟิก ฉะนั้นปีนี้เราดีใจมากๆ และการันตีได้ว่ามีผู้เข้าแข่งขันต่างประเทศเข้ามาร่วมจอยด้วย สี่ เรื่องการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตสื่อสมัยใหม่และระดับภูมิภาค แน่นอนว่าเรามีคนที่อยู่ในวงการเดียวกันอยู่แล้ว แต่คนที่อยู่ในวงการหรือคนที่ลงไปลงไปคลุกคลีสำหรับผมคิดว่ามันยังน้อยไปที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ ซี่งอยากให้เชื่อมคอมมูนิตี้ให้มันกระชับขึ้น ให้ดูแข็งแรงขึ้น ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง ความยากง่ายหรือความท้าทายในการติดตั้งผลงานเป็นอย่างไร ถ้าเป็นความท้าทายอันดับแรกคือเรื่องพื้นที่ เพราะโลเคชั่นที่คัดเลือกมา เราเลือกพื้นที่ไม่ได้แปลว่าพื้นที่จะเลือกเรา เราต้องทำการบ้านอย่างหนักในการสร้างพื้นที่และสร้างเงื่อนไขให้เจ้าของพื้นที่เห็นด้วย และมองเห็นประโยชน์ของเราที่เข้าไปทำงานบนพื้นที่เขา ซึ่งกว่าจะได้พื้นที่อย่างอีสต์เอเชียติกเราต้องบุกตะลุย หนึ่ง เราต้องสร้างทางเลือกให้เราด้วยว่าสถานที่ไหนที่ตอบโจทย์ สอง เราเองยังเล็งพื้นที่เจริญกรุง เพราะยังเป็นพื้นที่หลักของหลายอีเวนต์ ต้องมาเลือกว่าเจริญกรุงมีพื้นที่ไหนที่เหมาะสม  เพราะการทำ Projection mapping ไม่ใช่แค่พื้นที่สวย แต่ต้องมีองค์ประกอบโดยรอบด้วยอย่างระยะการฉายภาพ แสงที่ฉายไปรอบๆ สาม มีอะไรบ้างที่ตอบโจทย์สถานการณ์บ้านเมืองหรือสถานการณ์ในปีนี้ ซึ่งเป็นการควบคุมแต่ละทีมด้วยว่าถ้าเผยแพร่ออกไปจะไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมหรือส่งผลในแง่ลบ ฉะนั้นจะมีความท้าทายทุกภาคส่วน ตั้งแต่การบริหารจัดการ การจัดการเรื่องการแข่งขัน รวมทั้งพื้นที่บริเวณการติดตั้งต่างๆ    ความพิเศษของโปรเจ็กต์ครั้งนี้ จริงๆ แล้วยิ้มเสมอเองเราก็ค่อยๆ เริ่มจากเป็นผู้ผลิต เราทำตั้งแต่ออกแบบ ประดิษฐ์ คิดค้น อุดมการณ์ที่ทำมาเสมอคือการสร้างเครือข่ายของการทำงานในเชิงมัลติมีเดีย เพราะฉะนั้นเราเล็งตั้งแต่ปี 2020 แล้ว อุดมการณ์ของเราคือการสร้างเครือข่ายของคนทำงานประเภทนี้เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเราเองอยากส่งต่อให้เครือข่ายของธุรกิจนี้ เราเพียงแค่ขยับไปอีกขั้นเพื่อที่จะส่งต่องานต่างๆ ที่เข้ามาไปสู่เครือข่ายหรือการมีพาร์ทเนอร์ ในแต่ละโปรเจ็กต์ที่ทำงานร่วมกัน แน่นอนว่าเราก็ได้รับงานมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น คนที่จะรับงานกับเราในอนาคตพูดง่ายๆ เลยว่า มีงานมีรายได้ แต่ตอนนี้อยากทำอะไรเพื่อเครือข่ายก่อนแล้วค่อยต่อยอดไปสู่สังคม ซึ่งเราก็อยากไปต่อยังระดับโลกก่อนให้ได้ เราทำสิ่งนี้มาตลอดสองปีแล้ว ทั้งงานบางกอกดีไซน์วีคปีที่แล้ว งาน CSR เราได้มีโอกาสเชิญศิลปินมาร่วมงาน หรือเวิร์กช็อปสอนนักศึกษาร่วมกับ CEA หรืองาน BPMC นี้ เป็นต้น อย่างน้อยเราก็ได้สร้างเครือข่ายนี้ก็จะเป็นประโยชน์เชื่อมโยงกันได้กับทุกคน เราต้องบอกก่อนว่างานปีนี้จัดขึ้นในนาม BPMC 2021 ส่วนความพิเศษคือความเป็น The one and only Projection Mapping Competition in Thailand เป็นงานที่รวมตัวคนที่มีฝีมือการทำคอนเทนต์หรือการทำ Projection mapping ไว้มากมาย หรือแม้กระทั่ง new player ที่สนใจเรื่องพวกนี้เข้ามาอยู่ในที่ที่เดียวกัน สำหรับเรามันพิเศษแล้ว มันแสดงให้เห็นว่าโปรเจ็กต์นี้สามารถผลักดันในภาคส่วนธุรกิจ และสร้างโอกาสให้กับคนใหม่ๆ ต่อไปได้ ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงานชิ้นนั้น คนในธุรกิจนี้จะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง เราทราบว่าเงินรางวัลมันไม่ได้ไปต่อกับธุรกิจ แต่ว่างานนี้จะเป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจ ต่อยอดอุตสาหกรรมนี้ไปต่อได้อีก สิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังคือแม้คนจะอาจจะมาไม่เยอะแต่เราเข้าใจในสถานการณ์ แต่ผู้เข้าแข่งขันที่มาร่วมงานเขาเต็มที่กับงานนี้มากๆ รวมถึงคาดหวังเบื้องต้นว่าธุรกิจนี้จะไปต่อด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า BPMC 2021 เหมือนกับชื่อของ ‘ยิ้มเสมอ’ ที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องไปต่อ เพราะคำว่ายิ้มเสมอช่วยได้จริงๆ หมายเหตุ : ในงานจะมีจำหน่ายสูจิบัตร หรือเรียกว่า AR Book ผู้เข้าชมงานคนไหนที่มี AR Book นี้สามารถทราบข้อมูลของแต่ละทีมในงาน BPMC 2021 ได้ทันที รวมถึงผู้เข้าชมงานคนไหนที่สนใจผลงานของผู้เข้าแข่งขันก็สามารถติดต่อทีมที่สนใจได้เลย   #TheMakingOfBKKDW2021  #BPMC2021 #BKKDW2021 #BangkokDesignWeek

The Making of CARNIVAL

CARNIVAL โดย DESIGN AND OBJECTS ASSOCIATION (D&O)      “ในฐานะที่เราเป็นกลุ่มนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ อยากให้ผลงานชิ้นนี้เปรียบเสมือนการได้กลับมา Celebrate กันด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยปลุกเร้าอารมณ์ให้กับผู้ที่มาชมได้รู้สึก ‘Refresh’ ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากสภาพสังคมที่พวกเราต้องประสบตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และอยากช่วยผลักดันสังคมนักสร้างสรรค์ให้สามารถเดินต่อไปได้ ”   แนะนำแนวคิดของโปรเจ็คต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้ จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่กำลังประสบอยู่ทุกวันนี้ ทำให้สภาพสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงและต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ที่เราเรียกกันว่า การรักษาระยะทางสังคมหรือ Social Distancing ทำให้ทางสมาคม DESIGN AND OBJECTS ASSOCIATION (D&O) ตั้งต้นโจทย์และแนวคิดจากมุมมองที่ว่า ถึงแม้ว่าเราจำเป็นที่จะต้องรักษาระยะห่างซึ่งกันและกัน แต่ในการออกแบบและงานสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางความคิดและการทำงาน เพราะฉะนั้นการทำงานในสภาวะหรือสถานการณ์แบบนี้ก็ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบแต่ละแบรนด์ในสมาคมฯ มาสร้างสรรค์งานออกแบบที่สะท้อนเรื่องราวที่เป็นบุคลิกของแต่ละคนออกมา โดยมีแนวคิดที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ จึงทำให้เกิดรูปแบบของชิ้นในงาน Installation Art มีลักษณะเป็นวงกลม 8 ส่วน ซึ่งหมายถึง การมารวมกลุ่มกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนี้ และสามารถแยกออกได้เป็นส่วนๆ สะท้อนให้เห็นถึงสภาวการณ์ของสังคมในปัจจุบัน รวมถึงเป็นการสะท้อนภาพการเชื่อมโยงการทำงานของสมาคมฯ ที่เป็นการรวมตัวกันของเจ้าของแบรนด์และกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในอุตสากรรมการออกแบบหลากหลายด้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ แฟชั่น งานเซรามิก ดังนั้นผลงานชิ้นนี้ จึงเป็นการเชื่อมโยงแนวคิดในการออกแบบและเทคนิคที่หลากหลายในการสร้างงานของนักออกแบบในแต่ละสาขาวิชา    เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด  นอกจากแนวคิดในการออกแบบผลงานชิ้นนี้จากประเด็น Social Distancing แล้ว ทางทีมเรามองเห็นว่าสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย หาทางออกไม่เจอ และได้รับผลกระทบจากสภาพสังคมที่ไร้ทิศทาง ดังนั้นในฐานะของนักออกแบบจึงอยากใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อปลุกเร้าอารมณ์ให้กับผู้ที่จะเข้ามาชมผลงานได้ ‘Refresh’ ขึ้นมาอีกครั้งจากหลายๆ เดือนที่ผ่านมาที่ทุกคนไม่ได้เฉลิมฉลองหรือสังสรรค์กัน จึงใช้ชื่อของผลงานว่า ‘Canival’ และทางทีมนักออกแบบที่มาร่วมทำงานกันก็มีความรู้สึกที่เหมือนกับการได้มา Celebrate กันด้วยความคิดสร้างสรรค์  ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง / วัสดุที่เลือกใช้ มีความพิเศษอย่างไร / ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงาน ด้วยการที่สมาคมฯ มีสมาชิกที่มาเข้าร่วมจากหลากหลายกลุ่มบริษัท ทั้งกลุ่มออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องประดับ และแฟชั่น เพราะฉะนั้นในการรวมกลุ่มของนักออกแบบหรือแบรนด์ต่างๆ ที่มีความหลากหลายและมีเทคนิคการออกแบบและการทำงานที่แตกต่างกันออกไป จึงใช้วิธีการทำงานภายใต้แนวคิดหลักและธีมเดียวกัน แต่เปิดโอกาสให้แต่ละเเบรนด์ได้นำเสนอสิ่งที่อยากจะเล่าผ่านเทคนิคการออกแบบหรือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งบางท่านอาจถนัดในเรื่องของงานหนัง งานผ้า งานโลหะ เป็นต้น ทางสมาคมฯ ได้เปิดกว้างให้แต่ละเเบรนด์ทดลองได้ตามที่ต้องการ ความท้าทายจึงอยู่ที่การต่อประกอบชิ้นงานจากหลากหลายเทคนิคของการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ รวมไปถึงการตีความของแต่ละแบรนด์ให้กลมกลืน ผสมผสานและไม่รู้สึกแปลกแยกจากกัน แต่ก็ยังต้องสะท้อนถึงเอกลักษณ์งานออกแบบของแต่ละท่านด้วย ทำให้ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงการเชื่อมโยงกันของงานออกแบบได้เป็นอย่างดี สรุปความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ ผลงานชิ้นนี้เป็นรูปแบบของงาน Installation Art ที่มีความหลากหลายและโดดเด่นทั้งในเชิงของการนำเทคนิคการออกแบบจากหลากหลายวิธีการ การเลือกใช้วัสดุที่มีความเฉพาะและสะท้อนเรื่องราวของแต่ละแบรนด์ที่มาร่วมกันออกแบบ ผู้ที่มาชมจะได้เห็นมุมมองและแนวคิดในการเชื่อมโยงงานออกแบบผ่านรูปแบบของชิ้นงานที่ต่อกันเป็นวงกลมและบางส่วนก็สามารถต่อประกอบกันได้ในรูปแบบอื่นๆ        ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงานชิ้นนั้น สมาคมฯ และทีมนักออกแบบเราคาดหวังให้เกิดผลลัพธ์ในหลายมิติ เนื่องจากสมาชิกของสมาคมฯ จะมีอาชีพเป็นนักออกแบบแล้ว ยังเปิดบริษัทที่ประกอบธุรกิจจริงและดำเนินธุรกิจที่ใช้การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ทุกท่านจึงมุ่งหวังให้การนำเสนอผลงานชิ้นนี้ ได้สร้าง value ในมุมผลกระทบทางธุรกิจให้กับแบรนด์ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ในเรื่องของงานออกแบบที่สามารถจับต้องได้และเป็นไปได้จริง สามารถนำไปประยุกต์กับการทำงานจริง รวมถึงมีมุมมองต่อการประกอบธุรกิจที่มีความเป็น Design-based ไปใช้ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และต่อยอดทางธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย #TheMakingOfBKKDW2021 #DandOCarnival  #DesignAndObject #BKKDW2021   #BangkokDesignWeek