ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

โควิดเร่งให้นักออกแบบยิ่งต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้สังคมไทยตื่นตัวกันมากกับการลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งจนเกิดเทรนด์หลายอย่างขึ้น เช่น การพกถุงผ้าไปชอปปิ้ง ร้านรีฟิลที่นำขวดเก่าไปเติมผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ แต่พอเกิดการระบาดของโควิด-19 ความจำเป็นก็ทำให้เราสร้างขยะเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ หน้ากากอนามัยที่ก็ทำมาจากเม็ดพลาสติกเช่นกัน แน่นอนว่าสถานการณ์เหล่านี้ยากจะหลีกเลี่ยง แต่สิ่งที่เราพอทำได้คือการเลือกสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัดขยะติดเชื้อ และสามารถนำพลาสติกไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอื่น ๆ ในอีกหลากหลายมิติที่ลงมือทำแล้วช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ มาดูกันว่ามีไอเดียและงานออกแบบอะไรน่าสนใจบ้าง

 

ไม่ต้องสวมใส่ก็ปังลงโซเชียลได้

ฟาสต์แฟชั่นคือกระบวนการผลิตเสื้อผ้าต้นทุนต่ำที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายมหาศาล ทั้งยังมีประเด็นแรงงานทาสที่ได้รับค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมด้วย จึงมีหลายแบรนด์ที่พยายามลดการทำลายโลกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น หันมาผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุออร์แกนิก นำสินค้าเก่ามาดัดแปลงเป็นไอเท็มใหม่ นำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิล และบางแบรนด์ก็เลือกที่จะไม่ผลิตเสื้อผ้าออกมาซะเลย นั่นคือแบรนด์ Carlings จากนอร์เวย์ที่ค้นพบอินไซต์ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยชอบสั่งเสื้อผ้าออนไลน์เพื่อถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วส่งคืน สร้างทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปวดหัวให้กับร้าน ทางแบรนด์เลยเกิดปิ๊งไอเดียในการขายเสื้อผ้า 3D ให้ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์แล้วส่งรูปพอร์เทรตมา เขาจะรีทัชเสื้อผ้าเก๋ ๆ เท่ ๆ ส่งกลับไปให้ แค่นี้รูปของเราก็พร้อมลงโซเชียลเรียกยอดไลก์โดยไม่ต้องเปลืองทรัพยากรในการผลิตและขนส่ง เป็นไอเดียที่กวนและสนุกจนได้รางวัล Grand Prix สาขา Digital Craft ในงาน Cannes Lions 2019

 

รักษ์โลกตั้งแต่เริ่มออกแบบ

เมื่อพูดถึงการรีไซเคิล เรามักนึกถึงการนำขยะไปดัดแปลงเพื่อให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง แต่ตอนนี้กำลังมีแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจคือ Circular Design ที่คิดมาตั้งแต่เริ่มออกแบบเลยว่าวงจรของผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นจะถูกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ยังไงได้บ้างให้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น PaperLab ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Epson เป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ผลิตกระดาษรีไซเคิลได้ครบจบในตัว แค่ใส่กระดาษเก่าเข้าไปก็ได้กระดาษใหม่พร้อมใช้งานในเวลาเพียงไม่กี่นาที ควรมีติดออฟฟิศไว้เป็นอย่างยิ่ง

 

แนวคิด Circular Design สามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ในอุตสาหกรรมแฟชั่น หากโฟกัสที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว ก็อาจมีการเลือกใช้วัสดุบางอย่างที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือต้องผลาญทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาผลิต แต่ถ้าให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนวัตถุดิบในระบบ โดยคิดตั้งแต่ต้นว่าเมื่อหมดอายุขัย เสื้อผ้าชิ้นนี้ต้องนำกลับมาหมุนเวียนผลิตสินค้าใหม่ได้ 100% เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและไม่สร้างขยะโดยไม่จำเป็น แบบนี้ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

 

วิกฤตขยะสู่วัสดุทดแทน

ในงาน Virtual Design Festival ปี 2020 จัดโดยกลุ่ม New Designers ประเทศอังกฤษ มีผลงานนักศึกษาหลายชิ้นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือบรรจุภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากวัสดุชีวภาพกินได้ เป็นผลงานของ Holly Grounds บัณฑิตจาก Ravensbourne University ที่ทำห่อบะหมี่ขึ้นจากแป้งมันฝรั่งที่ผสมเครื่องปรุงลงไปเสร็จสรรพ เวลากินก็แค่เทน้ำร้อนใส่ลงไปไม่ต้องฉีกซองให้ยุ่งยาก และที่สำคัญคือไม่สร้างขยะด้วย ซึ่งจริง ๆ ไอเดียคล้ายกันนี้ก็มีคนไทยเคยเผยแพร่ออกมาอยู่เหมือนกัน เช่น นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ค้นพบวิธีทำบรรจุภัณฑ์เครื่องปรุงจากเจลาตินหนังปลาเหลือทิ้งในโรงงานแปรรูป หรืออีกงานวิจัยหนึ่งของนักศึกษาสาขาวิชาวัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่คิดค้นฟิล์มพลาสติกย่อยสลายได้จากใบสับปะรด เป็นนวัตกรรมที่ได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งช่วยลดขยะพลาสติกและนำของเหลือทิ้งในระบบอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย แม้จะยังไม่มีการนำไปปรับใช้ในธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงในการลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ แต่สำหรับธุรกิจเล็ก ๆ ที่คล่องตัวกว่า นี่อาจเป็นไอเดียที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกได้ไม่ยาก 

 

“ฉลากคาร์บอน” สำคัญพอกับฉลากโภชนาการ

ทุกวันนี้ความตระหนักเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นใหญ่ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ หลายแบรนด์จึงพยายามนำเสนอวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ผ่านแคมเปญต่าง ๆ อย่าง Oatly บริษัทนมข้าวโอ๊ตยักษ์ใหญ่ที่สื่อสารว่าผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านมวัว เพราะการเลี้ยงวัวเป็นตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ Oatly ยังสนับสนุนการทำเกษตรอย่างยั่งยืน รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการรีไซเคิล และออกแคมเปญโชว์ “ฉลากคาร์บอน” ให้เห็นกันไปเลยว่า สินค้าแต่ละอย่างปล่อยคาร์บอนจากฟาร์ม โรงงาน และการขนส่งเท่าไหร่บ้าง เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและชูจุดขายด้านความใส่ใจสิ่งแวดล้อม แบรนด์นี้จึงได้ใจผู้บริโภคไปแบบเต็ม ๆ แถมยังมีร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks มาจับมือเป็นพาร์ตเนอร์อีกต่างหาก

 

ยังมีนวัตกรรมและงานออกแบบน่าสนใจอีกมากมายที่ตอบโจทย์เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม สายกรีนทั้งหลายต้องไม่พลาดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ซึ่งกำลังจะจัดแสดงในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ มาค้นหาคำตอบและเรียนรู้ไปด้วยกันว่า โลกเรากำลังเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง และงานออกแบบจะเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร

 

#BKKDW2022

#BangkokDesignWeek

#CoWithCreation

 

อ้างอิง

https://www.canneslions.com/enter/awards/craft/digital-craft-lions/address-the-future-case-study

https://www.epson.co.th/be-cool-paperlab

https://www.dezeen.com/2020/07/13/holly-grounds-dissolvable-noodle-packaging-design

 

 

แชร์