LET US GUIDE YOU
RECOMMENDED ROUTES
อัพเดทและเที่ยวชมงาน
ชุบชีวิตเมือง เติมสีสันให้ย่าน ขยายประสบการณ์งานดีไซน์ ด้วยเทคโนโลยีจาก Epson
ตลอด 9 วันในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2022 นอกจากเราจะได้ตื่นตากับไอเดียของนักสร้างสรรค์ที่ร่วมกันระดมความคิด สร้าง หาทางรอดให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงตื่นเต้นกับการ “Co” กันของงานออกแบบ ธุรกิจ และผู้คนในย่านต่าง ๆ อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจะเป็นความประทับใจและกลายเป็นความทรงจำที่ดีของหลายคนคือ “ความมีชีวิตชีวาและสีสัน” ที่กลับคืนมาอีกครั้งในย่านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ – หนึ่งในเป้าหมายหลักของเทศกาลฯ ในปีนี้ เพื่อช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้คนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ย่านต่าง ๆ หลังผ่านช่วงเวลาเงียบเหงาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งภารกิจ “ชุบชีวิตเมือง” เหล่านี้ นอกจากอาศัยไอเดียที่สดใหม่หรือฝีมือของนักออกแบบแล้ว เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์ ก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ที่ทำให้ไอเดียเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ไอเดียสร้างสรรค์ผสานเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์หลากหลายผลงาน “ชุบชีวิตเมือง” ในเทศกาลฯ ปีนี้ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางภาพจาก Epson Thailand เช่น “Printery Awakening” โดย Urban Ally ร่วมกับ Silpakorn University Central Library, ก้องเดช หวานจริง และ ณัฐวุฒิ มีทรัพย์ทอง ใช้เทคนิค Projection Mapping เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ลงบนสถาปัตยกรรมเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ หรือ “Revitalise The First Post Office” โดย Urban Ally ร่วมกับ APLD The Lighting Company และ Studio Visual Assembly ที่ใช้การฉายภาพกราฟิกสีสันสะดุดตาลงบนอาคารสำคัญที่หลายคนหลงลืมไปอย่างไปรษณียาคาร โดยใช้คาแรกเตอร์แนว Pop Art ในธีม Hello 2022 เพื่อทำให้สถานที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตและทักทายผู้คนอีกครั้ง นอกจากการเนรมิตสถานที่ในย่านให้มีสีสันและบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่จริง เทคโนโลยีทางภาพจาก Epson Thailand ยังช่วยขยายประสบการณ์ให้งานออกแบบนิทรรศการน่าสนใจมากขึ้น เช่น นิทรรศการ Bangkok NFT Art Festival 2022 ที่นำเสนอผลงานศิลปะ NFT ด้วยการใช้โปรเจกเตอร์ความคมชัดสูงช่วยสร้างมิติใหม่ในการรับชมและพางานศิลปะไปแสดงในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากแค่ผนังสีขาวในแกลเลอรี, โปรเจกต์ “ศิลปะข้อมูล” ที่นำงานวิจัยของ Urban Ally มาออกแบบการนำเสนอโดย อ.สิริพร ด่านสกุล ด้วยการใช้ภาพกราฟิกเคลื่อนไหวฉายผ่าน Projection Mapping ช่วยทำให้ข้อมูลเชิงตัวเลขที่เข้าถึงยากอยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจและชวนติดตาม ไปจนถึงนิทรรศการอื่น ๆ ที่ต้องอาศัย Multimedia เป็นส่วนประกอบ การมีเทคโนโลยีการนำเสนอที่ตอบโจทย์และมีคุณภาพ ช่วยให้ทุกไอเดียสร้างสรรค์เป็นไปได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คิดและทดลองนอกจากสนับสนุนอุปกรณ์การสร้างสรรค์ Epson Thailand ยังเป็นผู้สนับสนุนภาพรวม เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2022 ด้วยความเชื่อในการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ได้มีโอกาสคิดและทดลอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่หลายอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ (New Normal) รวมถึงเชื่อว่าการสนับสนุนให้ธุรกิจและชุมชนมีช่องทางในการสร้างรายได้ ด้วยการสร้างสีสันและชีวิตชีวาให้กับเมืองและผู้คนในกรุงเทพฯ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยต่อไปในอนาคตชมและแชร์ภาพบรรยากาศงานออกแบบที่ชุบชีวิตเมือง เติมสีสันให้ย่าน ขยายประสบการณ์งานดีไซน์ ด้วยเทคโนโลยีจาก Epson ได้ในอัลบั้มนี้
16 ก.พ. BBBB
New World x Old Town Part 2: การกลับมาของภารกิจปลุกชีวิตตึกเก่าในย่านบางลำพู
ก่อนหน้านี้หากค้นหาคำว่า “ห้างนิวเวิลด์” สิ่งที่พบเป็นอันดับต้น ๆ คือข่าวห้างร้างที่มีปัญหาด้านการก่อสร้างต่อเติมอาคารจนต้องปิดตัวลง ต่อมาได้กลายเป็นวังมัจฉาใต้ห้างร้าง เพราะมีคนลักลอบนำปลาเข้าไปปล่อยบริเวณน้ำท่วมขังเพื่อแก้ปัญหาเรื่องยุง และกลายเป็นจุดถ่ายรูปแห่งใหม่ที่สร้างความฮือฮาในช่วงเวลานั้น หลังจากเป็นข่าวใหญ่ได้มีการสั่งปิดพื้นที่อีกครั้งพร้อมขนย้ายปลาและสูบน้ำออก เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้าง และดูเหมือนจะเป็นจุดสิ้นสุดของตำนานห้างหรูคู่ย่านบางลำพู ทว่าในปี 2020 หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำทีมนักศึกษาและศิษย์เก่าของคณะ มาทำโปรเจกต์ New World x Old Town ร่วมกับชุมชน เพื่อปลุกห้างร้างที่หลับใหลให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจุดเริ่มต้นของการปลุกชีวิตห้างร้าง“ห้างนิวเวิลด์เป็นห้างเก่าตรงสี่แยกบางลำพูที่โดนทิ้งร้างมานานมาก ทำให้บรรยากาศของย่านดูหงอยเหงาไปด้วย ทีนี้เราบังเอิญเจอภาพถ่ายด้านในห้างนิวเวิลด์ในเฟซบุ๊กเพื่อนโรงเรียนเก่า เลยส่งข้อความไปถามว่าเข้าไปได้ยังไง เพราะนิวเวิลด์เป็นตึกในฝันที่เด็กสถาปัตย์อยากเอามาทำโปรเจกต์กันมาก ปรากฏว่าครอบครัวเพื่อนเป็นเจ้าของที่ดินที่ให้เช่าทำห้างสรรพสินค้า เราเลยชวนเพื่อนมาคุยกับอาจารย์วิชาผังเมืองที่คณะสถาปัตย์ เพราะทำเลของห้างเป็นจุดที่สามารถใช้ฟื้นฟูย่านได้ดีมาก ถ้านิวเวิลด์สว่างก็น่าจะทำให้ย่านรอบ ๆ สว่างตามไปด้วย”“ปีแรกที่จัดงานเราเริ่มคิดจากว่าตึกนี้ปิดมานานแล้ว เจ้าของที่ดินยังไม่รู้จะทำอะไรกับมันดี แต่เขาก็อยากให้ตึกนี้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของย่าน โดยไม่ได้มองว่าจะต้องกลับมาเป็นห้างสรรพสินค้าหรูหรา เราเลยคุยกับเพื่อนว่างั้นเรามาเปิดตึกครั้งแรกกันหลังจากปิดมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่เราไม่อยากให้เป็นภาพว่ามีคนมาจัดนิทรรศการศิลปะ แล้วคนข้างนอกมาถ่ายรูปเต็มไปหมดเลย แต่คนในย่านงงว่าเกิดอะไรขึ้น”“New World x Old Town ปีแรกเลยเน้นสื่อสารกับคนในย่าน ให้คนบางลำพูได้กลับเข้ามาในสถานที่ที่เคยเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และช่วยบอกเล่าความทรงจำที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้บันทึกไว้ให้ฟังหน่อย เพราะยุครุ่งเรืองของห้างมันยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แล้วก่อนหน้านี้เวลาเสิร์ชคำว่า นิวเวิลด์ ก็จะขึ้นแต่ข่าวพื้นถล่ม แต่พอจัดนิทรรศการครั้งแรกกลายเป็นว่าเราได้พบอีกภาพจำหนึ่งเลย คนบางลำพูเขามองว่านิวเวิลด์เป็นความโก้เก๋ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สำหรับคนในย่าน ตึกนี้ไม่ใช่ผู้ร้าย บางคนไปเดินทุกวันเลย ไปดูคอนเสิร์ต เล่นรถบั๊มพ์ เล่นบ้านบอล อัดรูปถ่าย บางห้างร้านก็ยังเหลือร่องรอยอยู่ในอาคาร”การเดินทางสู่ภาคต่อของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งประวัติศาสตร์ภาคประชาชน“ปีนี้ที่จะจัดงานครั้งที่สองเลยเป็นโจทย์ต่อเนื่องจากครั้งแรกว่า โดยศักยภาพของพื้นที่ห้างนี้สามารถฟื้นฟูและปรับปรุงให้เป็นสิ่งต่าง ๆ ในอนาคตได้ ซึ่งเราตรวจสอบแล้วว่าโครงสร้างมีความปลอดภัยสำหรับการจัดนิทรรศการ ครั้งที่แล้วเราทำงานร่วมกับคนในชุมชนผ่านทางชมรมเกสรลำพูและประชาคมบางลำพู เราเน้นคนในย่านค่อนข้างเยอะประมาณ 85% ปีนี้เราเริ่มอยากเปิดให้คนข้างนอกได้เห็นศักยภาพของตึกนี้ ซึ่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เคยพูดไว้น่าสนใจมาก เขาบอกว่าจุดนี้ถือเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสถาปัตยกรรมอีกหมวดหนึ่งเลย เพราะเวลาพูดถึงอาคารอนุรักษ์ มันต้องมีความสวยงามทางสถาปัตย์และประวัติศาสตร์อันดีงาม แต่ตึกนี้คือซากโครงสร้างที่ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ ไม่ได้มีคุณค่าในแบบที่คนส่วนใหญ่เขาให้กัน แต่สักวันหนึ่งตึกนี้คงต้องกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ช่วยให้ย่านบางลำพูกลับมามีชีวิต เราเลยอยากให้คนข้างนอกได้เข้ามาร่วมสัมผัสศักยภาพของตึกร้างนี้มากขึ้น คนในย่านเองเขาก็ไม่ได้อยากให้ตึกนี้ถูกปิด เขาอยากให้มันถูกฟื้นฟูและใช้งานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรอบให้เขาด้วย”“สิ่งที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นคือเราจะเล่าภาพจำของย่านบางลำพูผ่านการจัดแสงและงานอินสตอลเลชัน เน้นการเล่าความเป็นมาของย่านบางลำพู ซึ่งคนที่อยู่ในย่านเก่าเขาจะรู้กันว่าย่านนี้มีคาแรกเตอร์ชัด แต่คนข้างนอกอาจยังไม่รู้ว่าคาแรกเตอร์หลัก ๆ ของบางลำพูคืออะไร เราจึงเอางานดีไซน์ต่าง ๆ มาเล่าเนื้อหาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต ผ่านข้าวของ เรื่องราว และผู้คน”การเติมเต็มกันและกันในฐานะคนนอกกับคนในย่าน“ปีนี้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานร่วมกับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทดลองเรื่องเสียงในพื้นที่ย่านบางลำพู เพราะเรารู้สึกว่าเสียงหรือดนตรีน่าจะเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายกว่าการมายืนอ่าน ด้านแสงสีปีที่แล้วเราทำกันเองแบบมือสมัครเล่นมาก ๆ ปีนี้เราได้มืออาชีพอย่าง HUI Team Design และ Saturate Designs มาร่วมทำงานด้วย และมีแก๊งชมรมเกสรลำพูที่เป็นทั้งไกด์และคนประสานงานกับคนในพื้นที่มาตั้งแต่ครั้งแรก”“ครั้งแรกเราจัดงานค่อนข้างเป็นเชิง Nostalgia ปีนี้เราอยากชวนคนในย่านมาสร้างแรงบันดาลใจว่าอาคารร้างนี้และบางลำพูจะเป็นอะไรได้บ้างในอนาคต โดยพาร์ตอนาคตเราพยายามจะไฮไลต์กลุ่มเด็ก ๆ ชมรมเกสรลำพู เวลาต้นลำพูมีเกสร มันจะแพร่พันธุ์ไปต่อได้และไม่ยอมตาย ซึ่งคนกลุ่มนี้แหละที่จะทำให้ย่านบางลำพูพัฒนาต่อไป”“การทำงานร่วมกันทำให้เราได้ใช้จุดแข็งในฐานะที่เป็นคนนอกกับคนในมาเติมเต็มและส่งเสริมกัน ในมุมมองของคนนอก ความไม่รู้ก็จะทำให้เราขี้ตื่นเต้นกับสิ่งที่เขามี แต่บางมุมคนนอกดูไม่ออกว่ามีอะไรพิเศษ เช่น บ้านหลังนี้ในเชิงสถาปัตย์ดูไม่มีอะไร แต่เขาปักชุดโขนเก่งมาก บางเรื่องเป็นอินไซต์มากเลย เช่น ร้านขนมเบื้อง ต.เง็กชวน ที่ต้า (ปานทิพย์ ลิกขะไชย – ประธานชมรมเกสรลำพู) เล่าให้ฟังว่าเขาเคยขายแผ่นเสียงมาก่อน เป็นความเชื่อของตระกูลว่าต้องขายของที่เป็นวงกลม พอเลิกขายแผ่นเสียงเลยมาขายขนมเบื้องแล้วทำอร่อยด้วย”“เราอยากให้คนในย่านมาเดินงาน New World x Old Town แล้วเกิดอินสไปร์ว่าย่านเราเป็นอะไรได้อีกที่จะนำความสดชื่นมีชีวิตชีวากลับมา ไม่ใช่เฉพาะตัวตึกร้างเท่านั้น แต่หมายถึงทั้งย่านเลย ส่วนคนข้างนอกก็เสพคอนเทนต์ได้หลายเลเยอร์มาก เลเยอร์แรกมาดูกันว่าตึกประหลาดที่ปิดมานานและเคยเป็นวังมัจฉาอยู่ช่วงหนึ่ง จะอินสไปร์คนรุ่นใหม่ด้วยความสนุกสนานยังไงได้บ้าง ส่วนเลเยอร์ที่สองเราอยากให้คนฉุกคิดว่าในย่านไหน ๆ ก็มีพื้นที่แบบนี้ได้ นิทรรศการนี้ไม่ได้จัดโชว์ให้คนมาดูแล้วตื่นตาตื่นใจ แต่เราอยากใช้นิทรรศการเป็นแพลตฟอร์มให้คนรุ่นใหม่มาเห็นแล้วลองนำแนวคิดไปต่อยอด โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวกับย่านบางลำพูก็ได้ อยากให้คนเห็นศักยภาพของสิ่งต่าง ๆ ในย่านของตัวเอง แล้วช่วยกันคิดต่อยอด และเลเยอร์สุดท้าย ถ้าใครมาชมงานแล้วสนใจมาก ๆ อยากให้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้อง ๆ ชมรมเกสรลำพู ถึงที่มาของร้านชุดนักเรียน ขนมเบื้อง ข้าวแช่ ความสนุกมันแบ่งเป็นหลายเลเยอร์ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้รับสาร”New World x Old Town Part 2 จัดแสดงอยู่ที่สี่แยกบางลำพู บริเวณตึกเก่าที่เคยเป็นห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เข้าชมได้เวลา 17.00-21.00 น. หากอยากรู้ว่าศิลปะและงานออกแบบปลุกชีวิตให้ตึกร้างกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างไรต้องไม่พลาดชมงานนี้Urban AllyWebsite : urbanally.orgFacebook : facebook.com/UrbanAlly.SU
02 ก.พ. BBBB
Regen Districts: วัสดุชีวภาพเพื่อความยั่งยืนที่ทั้งคูลและรักษ์โลก
ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นใหญ่ในทุกวงการทั่วโลก การมองหาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ด้านฟังก์ชัน เพื่อลดการสร้างมลภาวะจึงเป็นสิ่งที่นักออกแบบสายกรีนให้ความสนใจ เยล-อัญญา เมืองโคตร ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ขณะเรียนปริญญาโทที่ Royal College of Art (RCA) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอจึงมุ่งศึกษาเรื่องวัสดุชีวภาพ (Biomaterial) อย่างจริงจัง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโครงการ Regen Districts ที่ได้รับทุนจากโปรแกรม Connections Through Culture (CTC) ของ British Council และทำงานร่วมกับองค์กร Materiom กลุ่มผู้จัดทำแพลตฟอร์มห้องสมุดออนไลน์รวบรวมสูตรการทำวัสดุชีวภาพจากนักออกแบบและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเปิดประตูสู่โลกวัสดุชีวภาพ“เยลรู้จัก Materiom ตอนไปเรียนต่อที่ลอนดอน แพลตฟอร์มนี้เป็นที่รู้จักกันมากในหมู่นักเรียนดีไซน์โซนยุโรป เพราะคนกลุ่มนี้เขากำลังมองหาวัสดุทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะนักเรียนสายแฟชั่นกับสิ่งทอ อย่างเยลเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ คนอื่น ๆ ในคลาสเขาก็อาจจะไปทำเรื่องอื่นในเชิงสังคมได้ เช่น งานออกแบบเพื่อผู้พิการ แต่สายแฟชั่นกับสิ่งทอเขาจะตื่นตัวกับวัสดุชีวภาพมาก เยลเคยทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ก็จะมีเด็กสายแฟชั่นกับสิ่งทอสมัครเข้ามาเยอะมาก เพราะเขาอยากรู้จริง ๆ ว่าเขาจะนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้ในงานออกแบบได้ไหม”เยลเปรียบเทียบว่าการทดลองสูตรวัสดุชีวภาพก็เหมือนการทำอาหารสักจาน ที่เราพอรู้คร่าว ๆ ว่าเมนูนี้ต้องใส่วัตถุดิบอะไรบ้าง แต่กว่าจะได้วัสดุที่สมบูรณ์แบบตรงกับความต้องการ ก็ต้องผ่านการทำซ้ำ ๆ นับครั้งไม่ถ้วน การมีแพลตฟอร์มอย่าง Materiom ขึ้นมาจึงทำให้คนที่สนใจวัสดุชีวภาพได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และลดระยะเวลาในการลองผิดลองถูกลงไปได้มาก เมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทย เธอจึงคิดอยากจะเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ เพื่อขยายขอบเขตการใช้วัสดุชีวภาพออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น “พอมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราก็เริ่มตระหนักว่า จริง ๆ แล้วขยะที่เราสร้างขึ้นในแต่ละวันมันค่อนข้างเยอะนะ ทุกวันนี้เวลาตอกไข่เสร็จ เยลจะเอาเปลือกไปล้างตากไว้ แล้วเอามาบดเพื่อเตรียมทำเป็นวัสดุชีวภาพ ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากอะไร ทุกขั้นตอนสามารถทำได้ด้วยเครื่องครัวและของใกล้ตัวที่เรามีอยู่แล้วทั้งหมด เป็นสิ่งที่คนทั่วไป DIY เองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องพยายามมากเกินไป เวลาทำเวิร์กช็อป เราก็จะแนะนำว่าใครกินอะไรเยอะให้ลองเริ่มทำวัสดุชีวภาพจากสิ่งนั้น”ทำเวิร์กช็อปร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ทีแรกเยลตั้งใจทำเวิร์กช็อปให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อนำความรู้จาก Materiom มาเผยแพร่ให้คนไทยรู้จัก โดยเริ่มสอนกันแบบ 101 ให้รู้ว่าวัสดุชีวภาพคืออะไร ตัวประสานคืออะไร แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สะดวกต่อการนัดรวมคนหมู่มาก เธอจึงเริ่มจากการทำงานร่วมกับศิลปินไทยและจัดโชว์เคสทางออนไลน์ก่อนในเบื้องต้น “สิ่งที่คนมักถามคือวัสดุชีวภาพเอาไปทำอะไรได้บ้าง เราเลยคิดว่าการชวนศิลปินที่มีความหลากหลายมาร่วมงานและจัดโชว์เคสเป็นตัวอย่างน่าจะทำให้คนที่สนใจเขาเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น” หลังจากได้ลองทำงานร่วมกับศิลปินและสอบถามความพึงพอใจ โดยรวมหลายคนก็ตื่นเต้นกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ แต่วัสดุจากธรรมชาติก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เรื่องสีสันที่ไม่ค่อยจัดจ้าน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเตรียมหลายขั้นตอน “เยลอยากสื่อสารอย่างจริงใจที่สุดว่าวัสดุเหล่านี้มันมีความท้าทายเยอะ ถ้าตากแห้งไม่ดีก็ขึ้นราได้นะ เราจะไม่มาบอกว่าวัสดุชีวภาพมันดีทุกคนควรใช้ อาจไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของศิลปินบางคนที่ทำงานยุ่งตลอดเวลา หรือบางคนที่ชอบทำงานมินิมอลก็อยากให้ชิ้นงานออกมาเป๊ะเท่ากันทุกมุม แต่ในช่วงแรกของการทดลองอาจจะมีชิ้นงานที่บิดเบี้ยวบ้าง ซึ่งบางคนก็รู้สึกชื่นชอบความคาดเดาไม่ได้เหล่านี้ และมองว่าเป็นเสน่ห์ของงานจากวัสดุชีวภาพ”สร้างเครือข่ายขยายแนวคิดเรื่องความยั่งยืนนอกจากทำงานร่วมกับศิลปินและนักออกแบบแล้ว พาร์ตเนอร์อีกกลุ่มหนึ่งคือคาเฟ่และร้านอาหารในเขตวัฒนา ที่ยินดีแบ่งปันขยะอินทรีย์ให้แก่ผู้ที่สนใจผลิตวัสดุชีวภาพ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการสร้างคุณค่าให้กับขยะเศษอาหาร ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนที่สนใจทดลองทำวัสดุชีวภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนรักสิ่งแวดล้อมด้วย “ความตั้งใจของเราคืออยากให้โปรเจกต์นี้สามารถกระจายไปในหลาย ๆ ย่าน แต่เบื้องต้นเราเริ่มที่โซนทองหล่อ เอกมัย อ่อนนุชก่อน โดยเริ่มจากร้านที่ฟังเราพูดแล้วเข้าใจคอนเซปต์ และยินดีที่จะเปิดพื้นที่ให้คนวอล์กอินเข้าไปเก็บขยะอินทรีย์ได้แบบไม่ลำบากทางร้านจนเกินไป บางร้านอาจจะต้องโทรไปนัดก่อนเพราะวัสดุบางอย่าง เช่น เปลือกผลไม้ ถ้าเก็บไว้นานก็จะขึ้นรา” หากต้องการดูรายชื่อว่ามีร้านไหนบ้างที่สนับสนุนโครงการนี้ สามารถเข้าไปสอดส่องได้ที่เว็บไซต์ regendistricts.com/community ซึ่งในอนาคต เยลวางแผนไว้ว่าจะประสานงานกับร้านต่าง ๆ ให้มาเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และอยากมีเวิร์กช็อปร่วมกับพาร์ตเนอร์โดยนำวัสดุชีวภาพมาผลิตเป็นสิ่งของที่เชื่อมโยงกับธีมร้าน หรือจัดเป็นนิทรรศการ Pop-up เล็ก ๆ ในวันที่คนเริ่มรู้จัก Regen Districts มากขึ้นแล้ว “ในเชิงคอนเซปต์ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่อยู่เหมือนกัน แต่เราเริ่มทำจากจุดเล็ก ๆ ก่อน และไม่ได้มองโปรเจกต์นี้ในเชิงธุรกิจมากนัก เราอยากให้ Regen Districts เป็นพื้นที่ที่สร้างบทสนทนาและชักชวนคนที่สนใจเรื่องวัสดุชีวภาพให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ล่าสุดเยลไปออกงาน Thailand Coffee Fest มีคนมาเห็นเราทำที่วางโทรศัพท์จากเยื่อหุ้มกาแฟ เขาก็สนใจ อันนี้เป็นอีกพาร์ตหนึ่งของงานส่วนตัวในฐานะดีไซเนอร์ แต่สำหรับ Regen Districts เราจะดูภาพรวมในการสื่อสารมากกว่า เยลอยากให้เรื่องวัสดุชีวภาพเป็นไอเดียที่เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง เพราะทุกวันนี้เรื่องมลพิษ เรื่องขยะอาหาร การบริโภคมากเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น เราเลยอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนเอาไอเดียเกี่ยวกับวัสดุชีวภาพไปต่อยอด ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยได้ด้วย”Regen Districts เข้าร่วมกับเทศกาล Bangkok Design Week 2022 ในรูปแบบนิทรรศการและอีเวนต์ออนไลน์ ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ regendistricts.com นอกจากนี้เยลยังเป็นหนึ่งในวิทยากรออนไลน์ทอล์กโปรแกรม “Material Futures 2022 วัสดุเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14.00-16.00 น. ทาง Facebook : Bangkok Design Week ถ้าอยากรู้ว่าเราจะช่วยโลกด้วยวิธีการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ยังไงได้บ้างต้องลองมาฟังRegen DistrictsWebsite : regendistricts.comFacebook : facebook.com/regendistricts
01 ก.พ. BBBB
The Wall 2022 Urban Lighting: แสงที่พาเมืองไปไกลกว่าความสวย
เมื่อพูดถึงความทรงจำต่อสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง นอกจากพื้นที่แล้ว “แสง” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับเน้นความรู้สึกและเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับบรรยากาศ งานออกแบบแสงที่ดีจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อเมืองที่เราอยู่ เมืองที่มีการออกแบบแสงที่ดีทำให้คนอยากออกมาใช้ชีวิต และยังช่วยสร้างความผูกพันระหว่างคนกับเมืองได้ โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนห่างหายจากการเดินทางท่องเที่ยวกันไปพอสมควร ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ กลุ่ม Lighting Designers Thailand (LDT) ทีมนักออกแบบแสงที่สนใจงานสถาปัตยกรรมและพื้นที่ จึงร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ “The Wall” ขึ้นอีกครั้ง เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเมือง ส่งต่อความสุขผ่านแสงสีและปลุกกระแสการพัฒนาชุมชนเก่าแก่อย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์แห่งการออกแบบแสงหลากรูปแบบหลายเทคนิคพื้นที่แสงแห่งความทรงจำย้อนกลับไปในปี 2018 กลุ่ม Lighting Designer Thailand (LDT) ได้นำทีมเข้าไปสำรวจพื้นที่ย่านตลาดน้อย และเนรมิตการออกแบบแสงเพื่อแต่งแต้มสีสันยามค่ำคืนขึ้นมาบริเวณ 10 จุดเช็กอินที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนตลาดน้อยได้อย่างน่าสนใจ ต่อมาในปี 2019 LDT ก็ยังคงร่วมแสดงผลงาน Bangkok Design Week ต่อเนื่องด้วยการนำเสนอมุมมองใหม่ของแสงที่มีต่องานสถาปัตยกรรม โดยเลือกใช้พื้นที่ “โรงภาพยนตร์สกาล่า” โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้วอย่างน่าเสียดาย พิณ-ฐะนียา ยุกตะทัต Lighting Designer จาก FOS Lighting Design Co.,Ltd. หนึ่งในทีมงาน LDT บอกเล่าว่า โรงภาพยนตร์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่ย่านสยามสแควร์มายาวนาน จึงนับเป็นพื้นที่อันทรงคุณค่าที่มีมิติน่าสนใจหลากหลายแง่มุมไม่ใช่แค่ในเชิงสถาปัตยกรรมเท่านั้น ในงาน The Wall 2019 มีทั้งคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเที่ยวชมกันอย่างคึกคัก และอีกกลุ่มคือผู้ใหญ่ที่ได้มารำลึกอดีตถึงวันวานที่สถานที่แห่งนี้เคยรุ่งโรจน์ การสร้างอีเวนต์ขึ้นมาโดยใช้ศิลปะแสงเป็นสิ่งดึงดูดจึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนแต่ละช่วงวัยได้มาใช้เวลาแบ่งปันความทรงจำร่วมกัน และคงดีไม่น้อยหากการแต่งเติมความพิเศษให้กับสถานที่เหล่านี้ จะช่วยปลุกกระแสให้คนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมามากขึ้น โดยควรจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ ให้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งอาจดีกว่าการทำลายหรือรื้อถอนทิ้งไป ปลุกชีวิตคลองผดุงกรุงเกษมส่วนปี 2022 นี้ โปรเจกต์ The Wall ของกลุ่ม LDT ขับเคลื่อนด้วยการโฟกัสที่ Urban Lighting เป็นหลัก โดยช่วงสถานการณ์โควิดที่สังคมอยู่ภายใต้ความตึงเครียดแบบนี้ ในฐานะนักออกแบบที่ทำงานกับพื้นที่สาธารณะ พิณและทีมงานจึงเห็นพ้องต้องกันว่า “เราอยากจัดงานเพื่อให้คนมีความสุขและมีสุนทรียะ เพื่อกระตุ้นให้คนเข้ามาใช้งานพื้นที่มากขึ้น อยากให้คนมองเห็นความสวยในความเก่า และการจัดไฟยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยน่าเดิน เป็นการผสมกันระหว่างสุนทรีย์กับความปลอดภัย เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาเมืองด้วย” พื้นที่ย่านเมืองเก่าที่ LDT เลือกปักหมุดในปีนี้คือบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ถนนมหาพฤฒาราม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรทางน้ำ มีถนน ทางเท้า รวมถึงองค์ประกอบของสะพานและอาคารเก่าแก่รายรอบที่เป็นแลนด์มาร์กเด่น ๆ เช่น สะพานพิทยเสถียร อาคารชัยพัฒนสิน “ย่านนี้เป็นจุดที่การจราจรค่อนข้างวุ่นวาย คนส่วนใหญ่จึงมักรีบเดินแล้วผ่านไปแค่นั้น แต่เราเห็นความสวยงามที่ซ่อนอยู่ มุมนี้ถ้าทำดีๆ มันสวยเหมือนต่างประเทศได้เลย คลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองกั้นเกาะชั้นนอกที่มีประวัติศาสตร์ของย่านท่าเรือและย่านการค้า แต่ละสะพานและแต่ละตึกมีเรื่องราวอยู่ในนั้น” ด้วยองค์ประกอบน่าสนใจเหล่านี้ พิณจึงอยากให้งาน Urban Lighting ที่กำลังจะเกิดขึ้น ช่วยจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนมองเห็น Hidden Gems อีกหลายจุดในกรุงเทพฯ ถ้าใครมีไอเดียดี ๆ ก็อยากให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกิจกรรมยามค่ำคืน ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การติดตั้งแสงสีอย่างถาวรในหลาย ๆ พื้นที่ เพื่อยืดขยายเวลาให้ร้านค้าในท้องถิ่นค้าขายได้มากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรไปมา ทั้งยังตอบโจทย์ในแง่ของการใช้ชีวิตหลบแดดช่วงกลางวันในเมืองที่ร้อนระอุอย่างกรุงเทพฯ ด้วย เล่าเรื่องมอบความสุขผ่าน The Wall 2022 “พื้นที่จัดแสดงงาน The Wall ในปีนี้ แบ่งออกเป็น 8 จุดหลักรอบคลองผดุงกรุงเกษม โดยทีม Lighting Designer ของเรามีทั้งคนเก่า ๆ ที่เคยร่วมงานกันมาอยู่แล้วและน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการ แต่ละทีมทำงานภายใต้โครงหลักเดียวกันคือต้องตอบโจทย์ความเป็น Urban Lighting ที่มอบความสุขและสร้างการจดจำว่าตรงนี้มีอะไรเกิดขึ้น ประสบการณ์ที่เราอยากให้คนมาเดินเที่ยวชมเมืองได้รับคือมุมนี้มีความน่าสนใจซ่อนอยู่นะ พื้นที่ตรงนี้มีอะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ให้เขาได้เห็นความพิเศษของสิ่งเดิมในพื้นที่ที่เคยมีอยู่แล้ว บางมุมอาจจะดูค่อนข้างรกหรือธรรมดาแต่ก็น่าสนใจขึ้นได้ด้วยการออกแบบแสง ซึ่งเราเอาแนวคิดเดียวกันนี้ไปทำที่อื่นในต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ก็ได้” สุดท้ายนี้หากอยากรู้ว่าแสงสว่างจะสามารถเล่นสนุกกับพื้นที่และสร้างมิติใหม่อะไรที่น่าสนใจขึ้นมาได้บ้าง ขอเชิญมาหาคำตอบด้วยกันในงาน The Wall ได้ที่คลองผดุงกรุงเกษม ช่วงถนนมหาพฤฒาราม วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022Lighting Designers ThailandFacebook: facebook.com/Lighting-Designers-Thailand-533668950005586
30 ม.ค. BBBB
WE ARE IN THE SAME GAME: โปรเจกต์ส่งสารผ่านงานศิลปะว่าเราไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง
ตั้งแต่เริ่มมีข่าวเปิดตัวโตเกียวโอลิมปิก 2020 แง้มออกมา คนทั่วโลกต่างเฝ้ารอการเกิดขึ้นของมหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่ครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ ส่วนหนึ่งก็เพราะแดนอาทิตย์อุทัยมีชื่อเสียงด้านการส่งออกวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ไปทั่วโลกอยู่แล้ว และเป็นที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นมักลงมือทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสุดพลังเสมอ แต่แล้วการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้กิจกรรมนี้ต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดที่เข้มงวด ปราศจากเสียงเชียร์กระหึ่มสนามอย่างที่เคยเป็นมา ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดทั่วโลกก็ยังไม่คลี่คลายนัก เหมือนว่าเรากำลังต่อสู้อยู่ในเกมที่ต้องร่วมมือกันผ่านพ้นไปให้ได้ กลุ่มศิลปินนักสร้างสรรค์จากหลายประเทศในเอเชียจึงรวมตัวกันในชื่อ ubies CONSORTIUM เพื่อทำกิจกรรมและสร้างเครือข่ายนักสร้างสรรค์ โดยโปรเจกต์แรกที่เกิดขึ้นคือ WE ARE IN THE SAME GAME ซึ่งเปิดตัวในรูปแบบออนไลน์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 จนจบการแข่งขันโอลิมปิกส่งต่อกำลังใจด้วยคบเพลิงแห่งศิลปะเติร์ก-จักรพันธ์ สุวรรณะบุณย์ หนึ่งในนักออกแบบผู้ก่อตั้ง PRACTICAL school of design สถาบันถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบที่เป็น Co-organizer ในการรวบรวมผลงานของศิลปินไทยในโปรเจกต์นี้ บอกเล่าว่า WE ARE IN THE SAME GAME เป็นโปรเจกต์ที่รวบรวมผลงานศิลปะจากศิลปินเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งมี กนกนุช ศิลปวิศวกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PS±D เป็นผู้ร่วมดำเนินการในส่วนของประเทศไทย และออกแบบโลโก้โดย PRACTICAL Design Studio โดยธีมหลักของงานจะเป็นการส่งต่อกำลังใจให้กับนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องทุกคน ภายใต้แนวคิดว่ามนุษย์ทุกชนชาติล้วนเป็นเพื่อนที่ดูแลกันและกัน เปรียบเสมือนอยู่ในเกมเดียวกันอันมีโลกทั้งใบเป็นเวที เราจะร่วมมือกันเอาชนะเส้นแบ่งทางสังคม วัฒนธรรม และขอบเขตอื่น ๆ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ เปิดรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น และทำให้พวกเราเชื่อมโยงโลกเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเอาชนะความท้าทายทั้งหลายนี้ให้ได้“โปรเจกต์นี้เราเปิดรับทั้งผลงานของศิลปินและคนทั่วไปโดยไม่จำกัดเทคนิค จะเป็นงานเพนต์ รูปถ่าย กราฟิก คอลลาจ อะไรก็ได้ นัยหนึ่งชื่อ WE ARE IN THE SAME GAME มันสื่อถึงโอลิมปิกที่เป็นกีฬาของคนทั่วโลก แต่อีกแง่หนึ่งคำว่า SAME GAME ก็พูดถึงการที่ทุกคนในโลกต่างได้รับผลกระทบจากโควิดกันทั้งนั้น กำลังใจที่ส่งผ่านงานศิลปะจึงไม่ได้ส่งให้นักกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่เรายังอยากให้กำลังใจคนทั่วโลกด้วย” จากนิทรรศการออนไลน์สู่ Poster Exhibitionเมื่อถามถึงสิ่งที่เราจะได้เห็นในงาน Bangkok Design Week 2022 ครั้งนี้ เติร์กขยายความต่อว่า ‘PS±D COTM : WE ARE IN THE SAME GAME 2022’ คือ Poster Exhibition ที่รวบรวมผลงานของศิลปินไทยและต่างชาติทั้งหมดมากกว่า 200 ชิ้นมาจัดแสดงในรูปแบบของโปสเตอร์ เป็นการต่อยอดจากนิทรรศการออนไลน์ที่จัดแสดงอยู่บนเว็บไซต์ weareinthesamegame.com“ก่อนหน้านี้ประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโปรเจกต์นี้เขาก็มีการทำกิจกรรมต่อยอดเหมือนกัน เช่น นำผลงานศิลปะไปทำเป็นเสื้อ จัดงานเสวนา จัดนิทรรศการ ส่วนของประเทศไทยเราก็นำโปรเจกต์มาเข้าร่วมกับงาน Bangkok Design Week ซึ่งนอกจากจะพิมพ์โปสเตอร์มาจัดแสดงแล้ว เราก็แพลนไว้ว่าจะมีทัวร์เล็ก ๆ เชิญศิลปินในโปรเจกต์มาพาเดินชมงาน โดยอาจจะ Co ร่วมกับโปรเจกต์อื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week ด้วย” คิดต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจผ่านบทสนทนาสิ่งที่เติร์กและทีมงานวางแผนไว้ว่าอยากให้เกิดขึ้นคือการนำผลงานบางชิ้นมาต่อยอดเป็นกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และเปิดวงสนทนาชวนศิลปินในโครงการมาพูดคุยกันถึงความรู้สึกและประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจกิจกรรมของ WE ARE IN THE SAME GAME กระจ่างชัดยิ่งขึ้น“หลาย ๆ คนอาจจะได้เห็นงาน WE ARE IN THE SAME GAME ผ่านช่องทางออนไลน์กันไปแล้ว ทั้งทางเว็บไซต์ เพจ อินสตาแกรม แต่การมาเดินชมงาน Poster Exhibition เราจะได้เห็นทุก ๆ ผลงานจำนวน 200 กว่าชิ้นพร้อมกัน ทำให้เกิดความสนุกในการรับชมงานมากขึ้น อีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือการมาร่วมชมงานด้วยกัน มันเปิดโอกาสให้เรามีบทสนทนากับคนอื่น ๆ และนำไปสู่การเกิดแรงบันดาลใจหรือความคิดต่อยอดจากผลงานศิลปะตรงหน้าได้ โดยทาง PRACTICAL school of design จะจัดทีมสตาฟฟ์เข้าไปช่วยอธิบายหากมีคนสนใจอยากสอบถามว่าโปรเจกต์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ไอเดียของแต่ละชิ้นงานมีจุดตั้งต้นมาจากอะไรบ้าง”“ด้วยหัวข้อหลักที่เป็นการส่งเมสเสจเกี่ยวกับกิจกรรมโอลิมปิกในประเทศญี่ปุ่น ผลงานของคนไทยและศิลปินต่างชาติหลาย ๆ คนก็จะมีความ Localize ให้เข้ากับประเทศญี่ปุ่นมากหน่อย เช่น มีการใช้สีหรือสอดแทรก Identity บางอย่างที่สื่อถึงความเป็นญี่ปุ่น โดยศิลปินแต่ละคนก็ยังคงมี Identity ของตัวเอง แต่ก็จะมีพาร์ตหนึ่งที่พยายามเบลนด์ให้เข้ากับหัวข้อของกิจกรรม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหรือแม้กระทั่งตอนนี้หลาย ๆ คนน่าจะต้องการกำลังใจ เราก็คาดหวังว่าผลงานเหล่านี้จะทำให้คนที่มาชมงานได้รับความรู้สึกดี ๆ กลับไป และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น”เติร์กพูดถึงภาพรวมของผลงานที่เราจะได้เห็นกันแบบออฟไลน์ในเร็ว ๆ นี้ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง และนอกจาก Poster Exhibition แล้ว ในช่วงเวลาของการจัดงานเทศกาลฯ PRACTICAL school of design ยังมีแผนจัดกิจกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์และการออกแบบร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพิ่มเติมอีกหลายกิจกรรม รับรองว่าสนุกและอัดแน่นไปด้วยสาระดี ๆ เกี่ยวกับงานออกแบบแน่นอน รอติดตามกันได้เลยที่งาน Bangkok Design Week 2022 ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ WE ARE IN THE SAME GAMEWebsite : weareinthesamegame.com/thFacebook : facebook.com/weareinthesamegame Instagram : @weareinthesamegamePRACTICAL school of designWebsite: practicalschoolofdesign.comFacebook: facebook.com/Practicalschoolofdesign/
29 ม.ค. BBBB
เปิดตัวย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ! พร้อมรูปแบบการจัดงานแบบ Co With Creation
ใกล้เข้ามาแล้ว กับเทศกาล Bangkok Design Week 2022 ที่ครั้งนี้มาพร้อมกับการจัดงานทั้งรูปแบบออนไลน์ที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง และการจัดงานบนพื้นที่จริงที่จะชวนคุณมาเดินสำรวจความน่าสนใจและงานออกแบบใหม่ ๆ ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย กระจายตัวไปถึง 5 ย่านในกรุงเทพฯ หลังจากในปีที่ผ่านมาเราเคยจัดงานที่ เจริญกรุง – ตลาดน้อย, สามย่าน, อารีย์ – ประดิพัทธ์, ทองหล่อ – เอกมัย แต่ปีนี้พิเศษขึ้นไปอีก ! มาพร้อมย่านใหม่อย่าง พระนคร พร้อมพื้นที่สร้างสรรค์อีกหลายแห่งที่กระจายตัวทั่วกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าหลากหลายที่สุดเท่าที่เคยมีมา คุณจะได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในบริบทที่หลากหลายกว่าเดิม และสัมผัสความเป็นย่านที่จะมาอวดเสน่ห์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปอย่างแน่นอน เตรียมพบกับทั้ง 5 ย่านที่จะถูกแต่งเติมสีสันในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ที่ปีนี้มาในธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ Co กันระหว่างออนไลน์และพื้นที่จริง Bangkok Design Week 2022 ยังคงเต็มไปด้วยโปรแกรมน่าสนใจและผลงานสร้างสรรค์มากมายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในปีนี้มีการลดจำนวนงานที่จัดแสดงในพื้นที่จริงลงเพื่อรักษามาตรการความปลอดภัย แต่ความสนุกและสีสันยังไม่เลือนหายไปไหน เพราะเราได้ยกโปรแกรมอีกส่วนมาไว้ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงง่าย ๆ ได้ทุกที่ และได้เป็นส่วนหนึ่งกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในปีนี้ จุด Co หลักอยู่ที่ “เจริญกรุง – ตลาดน้อย” ย่าน “เจริญกรุง – ตลาดน้อย” ยังคงเป็นย่านจัดงานหลักเช่นเคยเหมือนทุกปี และเป็นย่านที่มีผลงานจัดแสดงมากที่สุด เตรียมพบกับโปรแกรมไฮไลท์มากมายที่จะกระจายตัวอยู่ทั่วย่านแห่งนี้ เชิญชวนให้ทุกคนออกมาเดินสำรวจและค้นหาความคิดสร้างสรรค์ที่ซ่อนอยู่ในย่านนี้ไปพร้อมกัน สถานที่จัดงานหลัก – Elton House – Broccoli Revolution Charoen Krung – Heliconia Bangkok | เฮลิโคเนีย กรุงเทพฯ – O.P. Garden | โอ.พี. การ์เด็น – Central: The Original Store – Marine Police Lodging | บ้านพักตำรวจน้ำ – Haroon Mosque Community | ชุมชนมัสยิดฮารูน – Ten Fingers Factory and Design Co.,LTD – Darunbannalai Children’s Library | ดรุณบรรณาลัย ห้องสมุดเด็กปฐมวัย – Soi Charoenkrung 34 | ซอยเจริญกรุง 34 – Grand Postal Building, Charoenkrung Road | อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง – TCDC Bangkok | TCDC กรุงเทพฯ – Hēi Jīi | เฮจิ – Charoen 43 Art & Eatery | เจริญ 43 อาร์ท แอนด์ อีทเทอร์รี่ – Warehouse 30 | โกดัง 30 – JOJO Cafe – ATT 19 | แอท ไนน์ทีน – Same Old Days – River City Bangkok | ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก – Mad Sugar Home Cafe’ – Yip In Tsoi | ยิบอินซอย – Khlong Phadung Krung Kasem, Mahapluetharam Road | คลองผดุงกรุงเกษม ถนนมหาพฤฒาราม – Chai Phatthanasilp | ชัยพัฒนศิลป์ – Talad Noi Community | ชุมชนตลาดน้อย – Patina Bangkok | พาทีน่า แบงค็อก – Mother Roaster – Soi Charoenkrung 22 | ซอยเจริญกรุง 22 – Baan Rim Naam, Talad Noi | บ้านริมน้ำ ตลาดน้อย – The So Heng Tai Mansion | บ้านโซวเฮงไถ่ – Hong Sieng Kong | ฮงเซียงกง – Puey Park | สวนป๋วย (ท่าน้ำภาณุรังษี) – Recordoffee | เรคคอดอฟฟี่ – DINSOR | ดินสอ – San Chao Rong Kueak | ศาลเจ้าโรงเกือก Co หลากหลายย่าน สร้างสีสันทั่วกรุงเทพฯ นอกจาก “เจริญกรุง – ตลาดน้อย” โปรแกรมบางส่วนยังกระจายตัวไปจัดแสดง 3 ย่านที่มีคาแรกเตอร์แตกต่าง ได้แก่ สามย่าน, อารีย์ – ประดิพัทธ์ และ ทองหล่อ – เอกมัย ที่เคยสร้างสีสันมาแล้วในปีที่ผ่านมา พร้อมพื้นที่สร้างสรรค์อีกหลายแห่งที่กระจายตัวทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดงานในย่านที่หลากหลาย จะทำให้เราได้สำรวจผลงานออกแบบไปพร้อมซึมซับกลิ่นอายความเป็นย่านต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป รวมถึงได้ลองเดินทำความรู้จักร้านรวงต่าง ๆ ผู้ประกอบการเจ้าเก่าและโดดเด่นประจำย่าน และได้สัมผัสผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนั้น ๆ อีกด้วย Co ย่านใหม่ “พระนคร” พิเศษกว่าทุกปี เพราะปีนี้มีเรามีย่านใหม่อย่าง “พระนคร” เป็นอีกย่านที่จะมีผลงานจัดแสดงมาร่วมแต่งแต้มสีสันให้เมืองเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ กับโจทย์สนุกที่จะท้าทายความเป็นไปได้ในการ Co กันระหว่างย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราว พร้อมต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เข้ากับเมืองในมิติต่าง ๆ #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation
24 ธ.ค. BBBB
DESIGN RESEARCH DAY - ANNOUNCEMENT OF PARTICIPANT
ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกบรรยายในงาน Design Research Day ทะเล กังขาว อรจิรา ยั่งยืน ภาวิดา วชิรปัญญาพร ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ศุภาศัย วงศ์กุลพิศาล เขมิกา ธีรพงษ์ พิชชาภา จรีภรณ์พงษ์ ศุภชัย คำตัน โกเมศ กาญจนพายัพ ศุภกร ทาหนองค้า สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 10 ท่าน เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อเเจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป
24 ธ.ค. BBBB
ปลุกพลังบวกผ่านงานออกแบบ Visual Identity ใน Bangkok Design Week 2022
Key Visual คือส่วนสำคัญในการสร้างภาพจำและสื่อสารแนวคิดเบื้องหลังของ Bangkok Design Week มาตลอดทุกปี แต่สำหรับปีนี้ที่ผู้คนยังคงบอบช้ำและเมืองยังคงซบเซาจากวิกฤติโควิด-19 อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ Key Visual ต้องช่วย “ปลุกพลังบวก” ให้บรรยากาศที่แสนห่อเหี่ยวของปีที่ผ่านมากลับคืนสู่ความสดใสอีกครั้ง เป็ด-ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ คือนักออกแบบกราฟิกที่ทางเทศกาลฯ มอบหมายให้เขารับผิดชอบโจทย์นี้ ก่อนหน้านี้เป็ดเคยไปใช้ชีวิตและทำงานกับบริษัทกราฟิกดีไซน์ในประเทศญี่ปุ่นนานถึง 12 ปี ก่อนจะบินกลับมาก่อตั้งสตูดิโอออกแบบของตัวเองในประเทศไทยในชื่อ Routine Studio และฝากผลงานในหลากหลายวงการอย่าง ปกหนังสือ อาคิเต็กเจอ, Untitled Case และอีกหลายเล่มจากสำนักพิมพ์ Salmon Books, โปสเตอร์ภาพยนตร์ Snap, ผลงานออกแบบ Visual Identity ให้หลากหลายเทศกาล เช่น Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2021 หลายคนจดจำงานกราฟิกของเป็ดได้จากความมีชีวิตชีวา สีสัน และจังหวะกราฟิกที่สนุก บวกการออกแบบคาแรกเตอร์ที่น่ารักละมุนใจ และนั่นคือเหตุผลที่เทศกาลฯ เลือกให้เขาเป็นผู้ออกแบบ Key Visual ชุบชูใจคนในปีนี้ แม้จะยืนระยะในวงการกราฟิกดีไซน์มายาวนาน แต่การได้มีส่วนร่วมกับ Bangkok Design Week 2022 ก็ยังสร้างความตื่นเต้นกับเจ้าตัวไม่น้อย เพราะการสื่อสารแนวคิด “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ออกมาเป็นภาพให้นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ไปจนถึงคนทั่วไปเข้าใจก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่เบา เริ่มต้นจากปลุกพลังความสดใส 2 ปีที่ผ่านมาปัญหาโควิด-19 อยู่กับคนทั่วโลก ทำให้นักสร้างสรรค์หมดไฟจะสรรค์สร้างอะไรกันไปไม่น้อย ทั้งทีมงานเทศกาลฯ และเป็ดจึงเห็นตรงกันว่า เราต้องมอบความหวังและกระตุ้นบรรยากาศที่เหมาะกับการสร้างสรรค์ให้กลับมาเป็นอันดับแรก “ตอนที่ได้รับแจกโจทย์ ได้รู้ธีมงานในปีนี้ก็คือ Co With Creation และเป้าหมายของเทศกาลฯ ที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดบรรยากาศสร้างสรรค์ เราก็มาทำการบ้าน คิดว่าทำอะไรกับงานได้บ้าง พอคิดจากชื่อที่อยากให้คนมาร่วมงาน นึกถึงประเด็น ‘การเชื่อมโยง’ และ ‘การช่วยเหลือกัน’ ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะฝั่งนักสร้างสรรค์ ชุมชน หรือฝั่งธุรกิจเอง ก็เลยอยากสร้างงานที่คนดูสามารถเห็นความหลากหลายใน Main Visual ของงาน” “องค์ประกอบหลาย ๆ อันในงาน เช่น ตัวหนังสือ C O W I T H ที่นำมาทำเป็นภาพ ก็จะมีรูปแบบหลากหลาย แล้วค่อยมาจัดการกับพื้นที่ให้มีความกลมกลืน มีองค์ประกอบย่อย ๆ ที่แสดงการเชื่อมโยงต่อจุดกันในแบบต่าง ๆ เหมือนเป็นพลังงานด้านบวกที่มาสนับสนุนแพลตฟอร์ม Bangkok Design Week ปีนี้” “ซึ่งพอคุยว่าโทนของงานน่าจะไปทางไหน ก็คิดว่าน่าจะอยากได้ความสดใส มีพลังบวกขึ้นมากกว่าปีก่อน ๆ ให้เป็นบรรยากาศที่เชียร์อัพคนที่ชมงาน คิดว่าการสร้างบรรยากาศนี้ก็น่าจะเป็นผลดีกับการสร้างสรรค์ด้วยหลังจากที่ขมุกขมัวกันอยู่นานเพราะโควิด ก็เลยเป็นที่มาของภาพรวมดีไซน์ต่าง ๆ ในโปสเตอร์ คืออยากให้คนดูรู้สึกเฟรช มีความสนุกเข้ามา และเปิดกว้างถ้าหากจะมีการต่อยอดพูดคุยหรือทำงานเรื่องจริงจังอื่น ๆ ” โจทย์เรื่องสีและวัย แบบสเก็ตช์ Graphic Elements องค์ประกอบ และชุดสีหลายชุด ก่อนจะเป็น Visual Identity เวอร์ชั่นจริงที่ถูกใช้ใน Bangkok Design Week 2022 “สีเหลือง” คือสีที่คนจดจำได้จาก Bangkok Design Week ปีที่ผ่านมา โจทย์ต่อมาคือการสร้างสรรค์ความสดใหม่และสดใส แต่ยังคงไว้ซึ่งสีที่เป็นภาพจำของเทศกาลฯ “ในส่วนของการทำงานเรื่องสีหรือการเลือกสี พอได้รายละเอียดโจทย์มาว่าอยากจะให้งาน On-site ยังคงสีเหลืองเอาไว้ เพราะค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการบอกทิศทาง เลยเริ่มทำงานโดยยึดสีเหลืองเป็นหลัก และมีกรอบที่ใช้ Form ของตัว D จากคำว่า Design เข้าไปสร้างเป็นโลโก้หลักของเทศกาลฯ แล้วค่อย ๆ ปรับหาสีอื่นที่มาเข้าคู่กัน ต้องเป็นสีที่ไม่กวนกันและดูสบายตา คิดว่าเทา-ดำเป็นคู่สีที่ใช้กับเหลืองได้ดี โดยที่มีสีอื่นมาเพิ่มเติมไม่ยากมาก จุดหลักในการทำงานเรื่องสีคือคนดูแวบเดียวแล้วต้องเข้าใจว่าคืองานเดียวกัน ส่วนนี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและละเอียดไปบ้าง แต่คิดว่าเวลาใช้งานในสถานที่จริงที่เป็นตึกรามบ้านช่อง การเข้าคู่สีต่าง ๆ ที่เลือกไว้น่าจะช่วยให้งานเด่นออกมาได้” “หนึ่งในโจทย์สำคัญน่าจะเป็นเรื่องของการทำให้งานดูสนุกสดใส แต่ต้องไม่ให้ความรู้สึกเด็กเกินไป เพราะว่า Visual นี้จะถูกเอาไปใช้ประกอบกับงานนิทรรศการของดีไซเนอร์หลากหลายท่านมาก อย่าง Object ต่าง ๆ ในงาน ถึงจะดูเป็นเอกเทศ เป็นคาแรกเตอร์ที่เหมือนมีชีวิตของตัวเองก็จริง แต่การดีไซน์ของเราจะไม่มีการใส่ลูกตาหรือกรอบใบหน้าที่ชัดเจนลงไป พยายามเน้นฟอร์มรูปร่างที่เป็นแนว Geometric ให้ดูเป็นเทศกาลงานดีไซน์อยู่” ทุกรายละเอียดคือการเล่าเรื่อง หัวใจของการออกแบบกราฟิกคือการสื่อสารผ่านรูปภาพให้คนเข้าใจ ทั้งสิ่งที่อยู่บนภาพตรง ๆ และเหล่าความหมายที่ซ่อนอยู่ รายละเอียดทุกอย่างที่อยู่ในงานจึงมีเนื้อหาและสิ่งที่จะสื่อสารในตัวเอง “มีการใส่รายละเอียด เพิ่มดีเทลให้งานมี Texture เพิ่มขึ้นกว่าฟอร์มตัวหนังสือเฉย ๆ อย่างตรงตัวอักษร C ก็ทำให้มันเป็นจุด ๆ ที่ดูเชื่อมต่อกันเพื่อล้อกับคอนเซปต์ของงานที่พูดเรื่องการเชื่อมต่อและการช่วยเหลือกัน คือถ้าเอาดีเทลพวกนี้ออกไป งานก็จะดูเหงามาก” “แต่ไม่เชิงว่าคนดูจะต้องมาทำหน้าที่ถอดรหัสอะไรซับซ้อน เราแค่พยายามต่อยอดการทำงานจากภาพนิ่งให้เกิดความเคลื่อนไหวในจินตนาการคนดู และทำให้งานสามารถนำไปใช้ในงานเคลื่อนไหวต่อได้เวลาที่ต้องอยู่ในสื่ออื่น ๆ อย่างสื่อดิจิทัล อย่างส่วนจุดของตัว i ก็เป็นไอเดียออกมาจากกล่อง หรือตัว H ก็มีเส้นตารางขึ้นมาเป็นเเปลนแบบร่างดีไซน์ และที่สำคัญคือเราใส่องค์ประกอบรองที่ลอยไปลอยมา มาช่วยสร้างความเคลื่อนไหวและความรู้สึกให้กับงานด้วย” Co with ความหวัง บรรยากาศใน Routine Studio ที่เป็ดใช้เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ ยูน-พยูณ วรชนะนันท์ สิ่งสำคัญที่สุดของคนทำงานก็คือการที่งานประสบความสำเร็จดังความคาดหมาย แต่ความสำเร็จของแต่ละคน รวมถึงแต่ละงานก็ต่างกันออกไป ในมุมของเป็ด ความสำเร็จของงานนี้คือ “พลังงานบวก” ที่เขาอยากส่งต่อให้เพื่อนร่วมวงการและใครก็ตามที่พบเห็น เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญที่คนขาดไม่ได้ ณ เวลานี้ก็คือความหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีรออยู่ “ปกติเวลาทำงานก็จะมีตั้งเป้าหมายในด้านอารมณ์ไว้เหมือนกัน เช่น อยากให้คนที่เห็นตัวงานเราแล้วเกิดความรู้สึกอะไร อยากให้คนอ่านจำหนังสือเล่มนั้นด้วยความรู้สึกแบบไหน สำหรับงานนี้ก็อยากจะให้เป็นงานที่ทำให้คนมางานหรือคนที่มาร่วมจัดงานได้รู้สึกถึงบรรยากาศแง่บวก ส่งพลังให้มองออกไปข้างหน้า หลังจากที่ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนจากเรื่องโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ งานนี้อยากจะชวนคนหันมาเริ่มมองเห็นภาพในอนาคตว่ามันมีอะไรทิศทางไหนที่เราไปกันต่อได้อีก และมีความหวังจากงานดีไซน์ได้บ้าง” ผลงานการออกแบบชิ้นอื่น ๆ ของเป็ด มีทั้งปกหนังสือ สิ่งพิมพ์ ปกซีดี และ Visual Identity #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation
20 ธ.ค. BBBB