ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

Regen Districts: วัสดุชีวภาพเพื่อความยั่งยืนที่ทั้งคูลและรักษ์โลก

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นใหญ่ในทุกวงการทั่วโลก การมองหาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์ด้านฟังก์ชัน เพื่อลดการสร้างมลภาวะจึงเป็นสิ่งที่นักออกแบบสายกรีนให้ความสนใจ เยล-อัญญา เมืองโคตร ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ขณะเรียนปริญญาโทที่ Royal College of Art (RCA) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอจึงมุ่งศึกษาเรื่องวัสดุชีวภาพ (Biomaterial) อย่างจริงจัง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโครงการ Regen Districts ที่ได้รับทุนจากโปรแกรม Connections Through Culture (CTC) ของ British Council และทำงานร่วมกับองค์กร Materiom กลุ่มผู้จัดทำแพลตฟอร์มห้องสมุดออนไลน์รวบรวมสูตรการทำวัสดุชีวภาพจากนักออกแบบและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก


เปิดประตูสู่โลกวัสดุชีวภาพ


“เยลรู้จัก Materiom ตอนไปเรียนต่อที่ลอนดอน แพลตฟอร์มนี้เป็นที่รู้จักกันมากในหมู่นักเรียนดีไซน์โซนยุโรป เพราะคนกลุ่มนี้เขากำลังมองหาวัสดุทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะนักเรียนสายแฟชั่นกับสิ่งทอ อย่างเยลเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ คนอื่น ๆ ในคลาสเขาก็อาจจะไปทำเรื่องอื่นในเชิงสังคมได้ เช่น งานออกแบบเพื่อผู้พิการ แต่สายแฟชั่นกับสิ่งทอเขาจะตื่นตัวกับวัสดุชีวภาพมาก เยลเคยทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ก็จะมีเด็กสายแฟชั่นกับสิ่งทอสมัครเข้ามาเยอะมาก เพราะเขาอยากรู้จริง ๆ ว่าเขาจะนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้ในงานออกแบบได้ไหม”


เยลเปรียบเทียบว่าการทดลองสูตรวัสดุชีวภาพก็เหมือนการทำอาหารสักจาน ที่เราพอรู้คร่าว ๆ ว่าเมนูนี้ต้องใส่วัตถุดิบอะไรบ้าง แต่กว่าจะได้วัสดุที่สมบูรณ์แบบตรงกับความต้องการ ก็ต้องผ่านการทำซ้ำ ๆ นับครั้งไม่ถ้วน การมีแพลตฟอร์มอย่าง Materiom ขึ้นมาจึงทำให้คนที่สนใจวัสดุชีวภาพได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และลดระยะเวลาในการลองผิดลองถูกลงไปได้มาก เมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทย เธอจึงคิดอยากจะเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ เพื่อขยายขอบเขตการใช้วัสดุชีวภาพออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น 


“พอมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราก็เริ่มตระหนักว่า จริง ๆ แล้วขยะที่เราสร้างขึ้นในแต่ละวันมันค่อนข้างเยอะนะ ทุกวันนี้เวลาตอกไข่เสร็จ เยลจะเอาเปลือกไปล้างตากไว้ แล้วเอามาบดเพื่อเตรียมทำเป็นวัสดุชีวภาพ ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากอะไร ทุกขั้นตอนสามารถทำได้ด้วยเครื่องครัวและของใกล้ตัวที่เรามีอยู่แล้วทั้งหมด เป็นสิ่งที่คนทั่วไป DIY เองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องพยายามมากเกินไป เวลาทำเวิร์กช็อป เราก็จะแนะนำว่าใครกินอะไรเยอะให้ลองเริ่มทำวัสดุชีวภาพจากสิ่งนั้น”


ทำเวิร์กช็อปร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่


ทีแรกเยลตั้งใจทำเวิร์กช็อปให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อนำความรู้จาก Materiom มาเผยแพร่ให้คนไทยรู้จัก โดยเริ่มสอนกันแบบ 101 ให้รู้ว่าวัสดุชีวภาพคืออะไร ตัวประสานคืออะไร แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สะดวกต่อการนัดรวมคนหมู่มาก เธอจึงเริ่มจากการทำงานร่วมกับศิลปินไทยและจัดโชว์เคสทางออนไลน์ก่อนในเบื้องต้น “สิ่งที่คนมักถามคือวัสดุชีวภาพเอาไปทำอะไรได้บ้าง เราเลยคิดว่าการชวนศิลปินที่มีความหลากหลายมาร่วมงานและจัดโชว์เคสเป็นตัวอย่างน่าจะทำให้คนที่สนใจเขาเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น” 


หลังจากได้ลองทำงานร่วมกับศิลปินและสอบถามความพึงพอใจ โดยรวมหลายคนก็ตื่นเต้นกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ แต่วัสดุจากธรรมชาติก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เรื่องสีสันที่ไม่ค่อยจัดจ้าน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเตรียมหลายขั้นตอน “เยลอยากสื่อสารอย่างจริงใจที่สุดว่าวัสดุเหล่านี้มันมีความท้าทายเยอะ ถ้าตากแห้งไม่ดีก็ขึ้นราได้นะ เราจะไม่มาบอกว่าวัสดุชีวภาพมันดีทุกคนควรใช้ อาจไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของศิลปินบางคนที่ทำงานยุ่งตลอดเวลา หรือบางคนที่ชอบทำงานมินิมอลก็อยากให้ชิ้นงานออกมาเป๊ะเท่ากันทุกมุม แต่ในช่วงแรกของการทดลองอาจจะมีชิ้นงานที่บิดเบี้ยวบ้าง ซึ่งบางคนก็รู้สึกชื่นชอบความคาดเดาไม่ได้เหล่านี้ และมองว่าเป็นเสน่ห์ของงานจากวัสดุชีวภาพ”


สร้างเครือข่ายขยายแนวคิดเรื่องความยั่งยืน


นอกจากทำงานร่วมกับศิลปินและนักออกแบบแล้ว พาร์ตเนอร์อีกกลุ่มหนึ่งคือคาเฟ่และร้านอาหารในเขตวัฒนา ที่ยินดีแบ่งปันขยะอินทรีย์ให้แก่ผู้ที่สนใจผลิตวัสดุชีวภาพ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการสร้างคุณค่าให้กับขยะเศษอาหาร ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนที่สนใจทดลองทำวัสดุชีวภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนรักสิ่งแวดล้อมด้วย “ความตั้งใจของเราคืออยากให้โปรเจกต์นี้สามารถกระจายไปในหลาย ๆ ย่าน แต่เบื้องต้นเราเริ่มที่โซนทองหล่อ เอกมัย อ่อนนุชก่อน โดยเริ่มจากร้านที่ฟังเราพูดแล้วเข้าใจคอนเซปต์ และยินดีที่จะเปิดพื้นที่ให้คนวอล์กอินเข้าไปเก็บขยะอินทรีย์ได้แบบไม่ลำบากทางร้านจนเกินไป บางร้านอาจจะต้องโทรไปนัดก่อนเพราะวัสดุบางอย่าง เช่น เปลือกผลไม้ ถ้าเก็บไว้นานก็จะขึ้นรา” 


หากต้องการดูรายชื่อว่ามีร้านไหนบ้างที่สนับสนุนโครงการนี้ สามารถเข้าไปสอดส่องได้ที่เว็บไซต์ regendistricts.com/community ซึ่งในอนาคต เยลวางแผนไว้ว่าจะประสานงานกับร้านต่าง ๆ ให้มาเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และอยากมีเวิร์กช็อปร่วมกับพาร์ตเนอร์โดยนำวัสดุชีวภาพมาผลิตเป็นสิ่งของที่เชื่อมโยงกับธีมร้าน หรือจัดเป็นนิทรรศการ Pop-up เล็ก ๆ ในวันที่คนเริ่มรู้จัก Regen Districts มากขึ้นแล้ว 


“ในเชิงคอนเซปต์ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่อยู่เหมือนกัน แต่เราเริ่มทำจากจุดเล็ก ๆ ก่อน และไม่ได้มองโปรเจกต์นี้ในเชิงธุรกิจมากนัก เราอยากให้ Regen Districts เป็นพื้นที่ที่สร้างบทสนทนาและชักชวนคนที่สนใจเรื่องวัสดุชีวภาพให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ล่าสุดเยลไปออกงาน Thailand Coffee Fest มีคนมาเห็นเราทำที่วางโทรศัพท์จากเยื่อหุ้มกาแฟ เขาก็สนใจ อันนี้เป็นอีกพาร์ตหนึ่งของงานส่วนตัวในฐานะดีไซเนอร์ แต่สำหรับ Regen Districts เราจะดูภาพรวมในการสื่อสารมากกว่า เยลอยากให้เรื่องวัสดุชีวภาพเป็นไอเดียที่เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง เพราะทุกวันนี้เรื่องมลพิษ เรื่องขยะอาหาร การบริโภคมากเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น เราเลยอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนเอาไอเดียเกี่ยวกับวัสดุชีวภาพไปต่อยอด ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยได้ด้วย”


Regen Districts เข้าร่วมกับเทศกาล Bangkok Design Week 2022 ในรูปแบบนิทรรศการและอีเวนต์ออนไลน์ ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ regendistricts.com นอกจากนี้เยลยังเป็นหนึ่งในวิทยากรออนไลน์ทอล์กโปรแกรม “Material Futures 2022 วัสดุเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14.00-16.00 น. ทาง Facebook : Bangkok Design Week ถ้าอยากรู้ว่าเราจะช่วยโลกด้วยวิธีการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ยังไงได้บ้างต้องลองมาฟัง


Regen Districts

Website : regendistricts.com

Facebook : facebook.com/regendistricts




แชร์