ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

New World x Old Town Part 2: การกลับมาของภารกิจปลุกชีวิตตึกเก่าในย่านบางลำพู

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้หากค้นหาคำว่า “ห้างนิวเวิลด์” สิ่งที่พบเป็นอันดับต้น ๆ คือข่าวห้างร้างที่มีปัญหาด้านการก่อสร้างต่อเติมอาคารจนต้องปิดตัวลง ต่อมาได้กลายเป็นวังมัจฉาใต้ห้างร้าง เพราะมีคนลักลอบนำปลาเข้าไปปล่อยบริเวณน้ำท่วมขังเพื่อแก้ปัญหาเรื่องยุง และกลายเป็นจุดถ่ายรูปแห่งใหม่ที่สร้างความฮือฮาในช่วงเวลานั้น หลังจากเป็นข่าวใหญ่ได้มีการสั่งปิดพื้นที่อีกครั้งพร้อมขนย้ายปลาและสูบน้ำออก เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้าง และดูเหมือนจะเป็นจุดสิ้นสุดของตำนานห้างหรูคู่ย่านบางลำพู ทว่าในปี 2020 หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำทีมนักศึกษาและศิษย์เก่าของคณะ มาทำโปรเจกต์ New World x Old Town ร่วมกับชุมชน เพื่อปลุกห้างร้างที่หลับใหลให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง


จุดเริ่มต้นของการปลุกชีวิตห้างร้าง


“ห้างนิวเวิลด์เป็นห้างเก่าตรงสี่แยกบางลำพูที่โดนทิ้งร้างมานานมาก ทำให้บรรยากาศของย่านดูหงอยเหงาไปด้วย ทีนี้เราบังเอิญเจอภาพถ่ายด้านในห้างนิวเวิลด์ในเฟซบุ๊กเพื่อนโรงเรียนเก่า เลยส่งข้อความไปถามว่าเข้าไปได้ยังไง เพราะนิวเวิลด์เป็นตึกในฝันที่เด็กสถาปัตย์อยากเอามาทำโปรเจกต์กันมาก ปรากฏว่าครอบครัวเพื่อนเป็นเจ้าของที่ดินที่ให้เช่าทำห้างสรรพสินค้า เราเลยชวนเพื่อนมาคุยกับอาจารย์วิชาผังเมืองที่คณะสถาปัตย์ เพราะทำเลของห้างเป็นจุดที่สามารถใช้ฟื้นฟูย่านได้ดีมาก ถ้านิวเวิลด์สว่างก็น่าจะทำให้ย่านรอบ ๆ สว่างตามไปด้วย”


“ปีแรกที่จัดงานเราเริ่มคิดจากว่าตึกนี้ปิดมานานแล้ว เจ้าของที่ดินยังไม่รู้จะทำอะไรกับมันดี แต่เขาก็อยากให้ตึกนี้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของย่าน โดยไม่ได้มองว่าจะต้องกลับมาเป็นห้างสรรพสินค้าหรูหรา เราเลยคุยกับเพื่อนว่างั้นเรามาเปิดตึกครั้งแรกกันหลังจากปิดมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่เราไม่อยากให้เป็นภาพว่ามีคนมาจัดนิทรรศการศิลปะ แล้วคนข้างนอกมาถ่ายรูปเต็มไปหมดเลย แต่คนในย่านงงว่าเกิดอะไรขึ้น”


“New World x Old Town ปีแรกเลยเน้นสื่อสารกับคนในย่าน ให้คนบางลำพูได้กลับเข้ามาในสถานที่ที่เคยเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และช่วยบอกเล่าความทรงจำที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้บันทึกไว้ให้ฟังหน่อย เพราะยุครุ่งเรืองของห้างมันยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แล้วก่อนหน้านี้เวลาเสิร์ชคำว่า นิวเวิลด์ ก็จะขึ้นแต่ข่าวพื้นถล่ม แต่พอจัดนิทรรศการครั้งแรกกลายเป็นว่าเราได้พบอีกภาพจำหนึ่งเลย คนบางลำพูเขามองว่านิวเวิลด์เป็นความโก้เก๋ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สำหรับคนในย่าน ตึกนี้ไม่ใช่ผู้ร้าย บางคนไปเดินทุกวันเลย ไปดูคอนเสิร์ต เล่นรถบั๊มพ์ เล่นบ้านบอล อัดรูปถ่าย บางห้างร้านก็ยังเหลือร่องรอยอยู่ในอาคาร”



การเดินทางสู่ภาคต่อของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งประวัติศาสตร์ภาคประชาชน


ปีนี้ที่จะจัดงานครั้งที่สองเลยเป็นโจทย์ต่อเนื่องจากครั้งแรกว่า โดยศักยภาพของพื้นที่ห้างนี้สามารถฟื้นฟูและปรับปรุงให้เป็นสิ่งต่าง ๆ ในอนาคตได้ ซึ่งเราตรวจสอบแล้วว่าโครงสร้างมีความปลอดภัยสำหรับการจัดนิทรรศการ ครั้งที่แล้วเราทำงานร่วมกับคนในชุมชนผ่านทางชมรมเกสรลำพูและประชาคมบางลำพู เราเน้นคนในย่านค่อนข้างเยอะประมาณ 85% ปีนี้เราเริ่มอยากเปิดให้คนข้างนอกได้เห็นศักยภาพของตึกนี้ ซึ่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เคยพูดไว้น่าสนใจมาก เขาบอกว่าจุดนี้ถือเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสถาปัตยกรรมอีกหมวดหนึ่งเลย เพราะเวลาพูดถึงอาคารอนุรักษ์ มันต้องมีความสวยงามทางสถาปัตย์และประวัติศาสตร์อันดีงาม แต่ตึกนี้คือซากโครงสร้างที่ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ ไม่ได้มีคุณค่าในแบบที่คนส่วนใหญ่เขาให้กัน แต่สักวันหนึ่งตึกนี้คงต้องกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ช่วยให้ย่านบางลำพูกลับมามีชีวิต เราเลยอยากให้คนข้างนอกได้เข้ามาร่วมสัมผัสศักยภาพของตึกร้างนี้มากขึ้น คนในย่านเองเขาก็ไม่ได้อยากให้ตึกนี้ถูกปิด เขาอยากให้มันถูกฟื้นฟูและใช้งานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรอบให้เขาด้วย”


“สิ่งที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นคือเราจะเล่าภาพจำของย่านบางลำพูผ่านการจัดแสงและงานอินสตอลเลชัน เน้นการเล่าความเป็นมาของย่านบางลำพู ซึ่งคนที่อยู่ในย่านเก่าเขาจะรู้กันว่าย่านนี้มีคาแรกเตอร์ชัด แต่คนข้างนอกอาจยังไม่รู้ว่าคาแรกเตอร์หลัก ๆ ของบางลำพูคืออะไร เราจึงเอางานดีไซน์ต่าง ๆ มาเล่าเนื้อหาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต ผ่านข้าวของ เรื่องราว และผู้คน”



การเติมเต็มกันและกันในฐานะคนนอกกับคนในย่าน


“ปีนี้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานร่วมกับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทดลองเรื่องเสียงในพื้นที่ย่านบางลำพู เพราะเรารู้สึกว่าเสียงหรือดนตรีน่าจะเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายกว่าการมายืนอ่าน ด้านแสงสีปีที่แล้วเราทำกันเองแบบมือสมัครเล่นมาก ๆ ปีนี้เราได้มืออาชีพอย่าง HUI Team Design และ Saturate Designs มาร่วมทำงานด้วย และมีแก๊งชมรมเกสรลำพูที่เป็นทั้งไกด์และคนประสานงานกับคนในพื้นที่มาตั้งแต่ครั้งแรก”


“ครั้งแรกเราจัดงานค่อนข้างเป็นเชิง Nostalgia ปีนี้เราอยากชวนคนในย่านมาสร้างแรงบันดาลใจว่าอาคารร้างนี้และบางลำพูจะเป็นอะไรได้บ้างในอนาคต โดยพาร์ตอนาคตเราพยายามจะไฮไลต์กลุ่มเด็ก ๆ ชมรมเกสรลำพู เวลาต้นลำพูมีเกสร มันจะแพร่พันธุ์ไปต่อได้และไม่ยอมตาย ซึ่งคนกลุ่มนี้แหละที่จะทำให้ย่านบางลำพูพัฒนาต่อไป”


“การทำงานร่วมกันทำให้เราได้ใช้จุดแข็งในฐานะที่เป็นคนนอกกับคนในมาเติมเต็มและส่งเสริมกัน ในมุมมองของคนนอก ความไม่รู้ก็จะทำให้เราขี้ตื่นเต้นกับสิ่งที่เขามี แต่บางมุมคนนอกดูไม่ออกว่ามีอะไรพิเศษ เช่น บ้านหลังนี้ในเชิงสถาปัตย์ดูไม่มีอะไร แต่เขาปักชุดโขนเก่งมาก บางเรื่องเป็นอินไซต์มากเลย เช่น ร้านขนมเบื้อง ต.เง็กชวน ที่ต้า (ปานทิพย์ ลิกขะไชย – ประธานชมรมเกสรลำพู) เล่าให้ฟังว่าเขาเคยขายแผ่นเสียงมาก่อน เป็นความเชื่อของตระกูลว่าต้องขายของที่เป็นวงกลม พอเลิกขายแผ่นเสียงเลยมาขายขนมเบื้องแล้วทำอร่อยด้วย”


“เราอยากให้คนในย่านมาเดินงาน New World x Old Town แล้วเกิดอินสไปร์ว่าย่านเราเป็นอะไรได้อีกที่จะนำความสดชื่นมีชีวิตชีวากลับมา ไม่ใช่เฉพาะตัวตึกร้างเท่านั้น แต่หมายถึงทั้งย่านเลย ส่วนคนข้างนอกก็เสพคอนเทนต์ได้หลายเลเยอร์มาก เลเยอร์แรกมาดูกันว่าตึกประหลาดที่ปิดมานานและเคยเป็นวังมัจฉาอยู่ช่วงหนึ่ง จะอินสไปร์คนรุ่นใหม่ด้วยความสนุกสนานยังไงได้บ้าง ส่วนเลเยอร์ที่สองเราอยากให้คนฉุกคิดว่าในย่านไหน ๆ ก็มีพื้นที่แบบนี้ได้ นิทรรศการนี้ไม่ได้จัดโชว์ให้คนมาดูแล้วตื่นตาตื่นใจ แต่เราอยากใช้นิทรรศการเป็นแพลตฟอร์มให้คนรุ่นใหม่มาเห็นแล้วลองนำแนวคิดไปต่อยอด โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวกับย่านบางลำพูก็ได้ อยากให้คนเห็นศักยภาพของสิ่งต่าง ๆ ในย่านของตัวเอง แล้วช่วยกันคิดต่อยอด  และเลเยอร์สุดท้าย ถ้าใครมาชมงานแล้วสนใจมาก ๆ อยากให้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้อง ๆ ชมรมเกสรลำพู ถึงที่มาของร้านชุดนักเรียน ขนมเบื้อง ข้าวแช่ ความสนุกมันแบ่งเป็นหลายเลเยอร์ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้รับสาร”

New World x Old Town Part 2 จัดแสดงอยู่ที่สี่แยกบางลำพู บริเวณตึกเก่าที่เคยเป็นห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เข้าชมได้เวลา 17.00-21.00 น. หากอยากรู้ว่าศิลปะและงานออกแบบปลุกชีวิตให้ตึกร้างกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างไรต้องไม่พลาดชมงานนี้


Urban Ally

Website : urbanally.org

Facebook : facebook.com/UrbanAlly.SU




แชร์