ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

The making of PINIJ / Mindfulness Quarantine

เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

PINIJ / Mindfulness Quarantine

Collectible Design Thailand 02

โดย suMphat Gallery

 

“พินิจ” คือ อากัปกิริยาที่ประสาทสัมผัสของร่างกายและจิตใจภายในเพ่งพิจารณา ตรวจตราบางสิ่งอย่างละเอียด ด้วยความตั้งอกตั้งใจที่มากกว่าเพียงการมองเห็น

“พินิจ” เป็นชื่อนิทรรศการครั้งที่ 2 ของ Collectable Design Thailand ซึ่งจัดแสดงงานออกแบบ งานคราฟต์หลากเทคนิคของศิลปินนักออกแบบไทยหลายสาขา ผ่านโมเดลธุรกิจแบบ Art & Design Gallery ซึ่งแพร่หลายทั้งในปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว เน้นจัดแสดงงานคราฟต์ที่คุณภาพดี ผลิตขึ้นในจำนวนน้อย ราคาสูง โดยมีรัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เจ้าของรางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Product Design เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยความเชื่อว่านี่อาจจะเป็นอีกทางรอดของนักออกแบบไทย

 

แนวคิดก่อนพินิจ

สถานการณ์ที่โลกต้องพบเจอกับการระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องถูกกักขัง เก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการเดินทาง เพื่อเติมเต็มสัญชาตญาณที่ฝังลึก แม้ร่างกายจะไม่อาจเดินทางด้วยกายภาพได้ ก็มนุษย์ดิ้นรนที่จะเดินทางภายใต้ข้อจำกัดที่มี ด้วยการกลับเข้าไปยังภายในจิตใจ กลับไปยังความทรงจำของตัวเอง

“การเดินทางมันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในโครโมโซมของมนุษย์เรา จากที่เคยเดินทางด้วยเท้า แต่ต้องหยุดอยู่กับที่ สมองจึงเดินทางด้วยเหมือนกัน” รัฐอธิบายต่อไปว่า การก้าวเท้าไปค้นพบจุดหมายปลายทางใหม่ที่ถูกระงับไว้นานนับปี จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของโจทย์การออกแบบที่ชวนให้ทุกคนมาร่วมสำรวจภายในจิตใจภายใต้ความหมายของคำว่า “พินิจ”

กระบวนการพินิจ

ในช่วง 2 ปีที่เว้นว่างจากการจัดงาน Collectable Design Thailand ครั้งแรก รัฐเล่าว่าเขาคอยติดตามผลงานนักออกแบบในประเทศไทยอยู่เสมอ คอยสังเกตความต่อเนื่องและพัฒนาการของแต่ละคน เมื่อถึงเวลานิทรรศการครั้งนี้ จึงเริ่มต้นจากการสรุปแนวคิดหลัก จากนั้นจึงติดต่อพูดคุยกับนักออกแบบแต่ละคน ลิสต์ออกมาเป็นรายชื่อนักออกแบบที่น่าสนใจ แล้วคัดเลือกออกมา 10 คนสุดท้ายที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงาน มีความสนใจในศาสตร์ที่แตกต่างกันไป

“เวลาที่เราปล่อยให้ศิลปิน-นักออกแบบได้ลงมือทำ จะเห็นว่าจิตใจข้างในของแต่ละคนมีอะไรอยู่บ้าง สัญชาตญาณหรือสิ่งที่เก็บไว้ในตัวจะแสดงออกมา เวลาเราปล่อยให้เขาสร้างอะไรก็ได้ขึ้นมาโดยไม่มีคำจำกัดความ” รัฐเล่าถึงข้อสังเกตที่เขาพบเห็น ในฐานะผู้ก่อตั้งโครงการ คิวเรเตอร์และผู้ร่วมแสดงผลงาน

 

พินิจศิลปิน-นักออกแบบ

10 งานออกแบบศิลปะที่ทำงานกับภายในของผู้สร้างผลงานและผู้ชมผลงานไปพร้อมกัน มีดังนี้

 “Ni” โดยจูน เซกิโน แห่ง Junsekino Architect ร่วมกับพิษณุ นำศิริโยธิน ผู้เชี่ยวชาญงานไม้ สื่อสารพื้นที่ว่างของตัวตนภายในผ่านชิ้นไม้มะค่าที่ประกอบกันเป็นพระพุทธรูป

 

“so far – so close โดย ภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา นักออกแบบเครื่องประดับแห่ง Trimode Studio สื่อสารความรู้สึกเชื่อมโยงกันแม้ถูกกักขัง ผ่านทักษะการบัดกรีโลหะเด็กแว้น เชื่อมต่อขึ้นรูปแจกันสองใบที่มีขนาดแตกต่างกันแต่เชื่อมไว้ด้วยห่วงโซ่

“TARA  (ตฺฤา)” โดย วาสนา x สาวิน ช่างหัตถกรรมงานไม้ไผ่ชั้นครูแห่งเมืองเชียงใหม่ ร่วมงานกับลูกชายเป็นครั้งแรก ทั้งคู่นำงานไม้ไผ่มาสานเป็นรูปทรงของมันดาลา ที่สื่อถึงการเวียนว่ายตายเกิดตามความเชื่อของศาสนาพุทธ

 

“EYELIDS ON THE CITY” โดย ปิยพงศ์ ภูมิจิตร นักออกแบบกราฟิกที่หยิบจับภาพนับพันของอรุณ ภูริทัต ช่างภาพที่สังเกตการณ์พื้นที่ในเมืองกรุงเทพฯ ระหว่างช่วงการระบาดของโควิด 19 นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือชุดเมืองบนเปลือกตา จากนั้นส่งต่อให้ธนพล แก้วพริ้ง ช่างภาพอีกคนมาตีความต่อเป็นนิทรรศการภาพถ่ายอีกที

“Lose Track watch” โดย กฤษณ์ เย็นสุดใจ นักออกแบบแฟชั่น และผู้อำนวยการออกแบบของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เขาสังเกตเห็นว่าในช่วงล็อกดาวน์ผู้คนหันมาสะสมสิ่งของมากขึ้น เขาจึงขายนาฬิกาที่สะสมไว้ แล้วสร้างชิ้นงานโลหะขึ้นรูปกรอบสี่เหลี่ยมทำจากทองคำครอบนาฬิกาไว้อีกที สื่อสารถึงความสำคัญของปัจจุบันขณะ

 

“SEA  AND  ME” โดย o-d-a นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งร่วมงานกับพิษณุ นำศิริโยธิน สื่อสารความรู้สึกโหยหาทะเลของมนุษย์ในระหว่างที่การเดินทางกลายเป็นข้อจำกัด โดยคัดเลือกแผ่นไม้ที่ถูกตัดไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วนำมาประกอบเข้ากับกระจก สร้างความรู้สึกเหมือนกับได้ยืนอยู่เบื้องหน้าผืนทรายและท้องทะเล แต่สะท้อนกลับมาเป็นภาพของผู้ชมแทน

“MUJO” โดย รัฐ เปลี่ยนสุข เลือกย้อนกลับไปหาความสุขที่ในวัยเด็ก หยิบเอาระยับน้ำสะท้อนขึ้นมาในเรือนไทยของบ้านตายายในฤดูน้ำหลาก เป็นความสวยงามที่ไม่อาจครอบครองได้ เช่นเดียวกับช่วงเวลาในชีวิต นำมาถ่ายทอดด้วยก้อนดีบุกหล่อเคลือบแว็กซ์และครอบด้วยแก้วที่หล่อเป็นริ้วน้ำกระเพื่อม

 

“Time” โดย สุมนัสยา โวหาร อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความถนัดเครื่องรัก เครื่องเขิน จึงนำเครื่องสังคโลกจากจังหวัดสุโขทัยที่แตกหักเสียหายเนื่องจากความไม่สมบูรณ์แบบของงานฝีมือช่างท้องถิ่น ใช้ยางรักของจีน ไทย ญี่ปุ่นมาประสานชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยเทคนิคคินสึงิ เพื่อทำความเข้าใจเวลาและตัวตนของเธอเอง

 

“HAPPINESS | TIME” โดย เดชา อรรจนานันท์ แห่ง THINKK Studio เลือกสื่อสารความเลื่อนไหลของความรู้สึกที่มีต่อเวลาที่สั้นยาวไม่เท่ากัน ผ่านชุดของเล่นที่มีลูกบอลเล็กๆ กลิ้งไปมา โดยทำงานร่วมกับร่วมกับช่างนาฬิกา จึงออกแบบได้อย่างท้าทายมากพอที่ผู้เล่นจะใช้เวลาจดจ่ออยู่กับสิ่งนี้ได้อย่างยาวนาน

 

“No Smoke without Fire” โดย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แฟชันดีไซเนอร์ แห่ง WISHARAWISH ที่บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำ ความสุขระหว่างร่วมโต๊ะอาหารผ่านจาน 16 ใบ แต้มสีสันสดใสที่สื่อถึงความสนุกสนานร่าเริงแต่ก็เจือด้วยสีเทาสะท้อนความวิตกกังวลของตัวนักออกแบบเอง

พินิจพิจารณา       

ด้วยความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เกิด Art & Design Gallery เกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริง รัฐจึงร่วมมือกับ SAC Gallery เพื่อวางแผนการประชาสัมพันธ์นิทรรศการและการขายงานออกแบบศิลปะเหล่านี้ “ถือว่ายากในตอนแรก แต่เมื่อกลไกนี้ทำงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องใช้คนหมุนก็จะไปต่อได้ของมันเอง เป็นโปรเจ็กต์ชิมลางที่หากแกลเลอรีศิลปะเริ่มสนใจแล้วต่อไปก็จะสนับสนุนดีไซเนอร์ที่ทำงานคราฟต์ และขายได้มากขึ้นจริงๆ” รัฐย้ำถึงความตั้งใจของเขาอย่างมั่นใจอีกครั้ง

 “เมื่อได้เข้ามาดู ได้พินิจ ได้อ่านแนวความคิดของผู้สร้างผลงานแล้ว จะพบว่าเราล้วนแชร์ประสบการณ์งดงามหรือเลวร้ายร่วมกัน ทุกคนจะเชื่อมโยงเข้าหากันได้ เพราะศิลปะคือการสื่อสารที่สร้างผลกระทบด้านอารมณ์ ผลงานเหล่านี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจ พยายามหาทางออก มอบทางเลือกที่ไม่ใช่สำหรับร่างกาย แต่ทำงานกับความรู้สึกภายในของเราด้วย”

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Collectible Design Thailand ได้ที่ facebook.com/collect.thai

 

#TheMakingOfBKKDW2021 

#PINIJ

#BKKDW2021 #BangkokDesignWeek

 

แชร์