ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

Bangkok NFT Art Festival 2022 เทศกาลศิลปะดิจิทัลที่ยกขบวนไปโชว์ในย่านใกล้บ้านคุณ

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

หากพูดถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงสุด ๆ ในช่วงนี้ ก็คงหนีไม่พ้นความคึกคักของวงการศิลปะ NFT ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้กับศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น แต่หลายคนอาจยังงง ๆ เห็นภาพไม่ค่อยชัดเจนว่างานศิลปะดิจิทัลเหล่านี้คืออะไร เราจึงชวน จ๊อบ-นิษฐา พฤกษาชลวิทย์ ผู้กำกับโฆษณาที่เป็นหนึ่งในทีมผู้จัดงาน Bangkok NFT Art Festival 2022 มาพูดคุยสร้างความเข้าใจเรื่องศิลปะ NFT ให้มากขึ้น ก่อนที่เราจะไปชมผลงานเจ๋ง ๆ ของศิลปินมากหน้าหลายตาพร้อมกันในงานเทศกาลนี้


โควิดเป็นเหตุให้เข้าสู่วงการศิลปะ NFT


ก่อนหน้านี้จ๊อบวาดรูปเล่นเป็นงานอดิเรกยามว่างอยู่บ้าง แต่ไม่เคยคิดว่าจะทำเงินจากการวาดรูปแต่อย่างใด กระทั่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กิจกรรมกองถ่ายโฆษณาต้องหยุดชะงัก เธอจึงเริ่มหันมาสนใจงานศิลปะ NFT “ในช่วงที่ทำอะไรไม่ได้ เราก็อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ เลยเริ่มศึกษาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT ซึ่งพอเป็นงานศิลปะมันก็เข้าใจได้ง่ายสุดในบรรดา NFT ประเภทต่าง ๆ เพราะชิ้นงานศิลปะแต่ละชิ้นมีความเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ระบบเทคโนโลยี Blockchain เอื้ออำนวยให้เราสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ได้โดยมีหลักฐานปรากฏชัดว่าใครเป็นเจ้าของ ต่างจากระบบเก่าที่สามารถ Copy Paste ได้ เดิมทีงานศิลปะมันก็มีมูลค่าในตัวอยู่แล้ว ยิ่งเราตรวจสอบได้ด้วยว่าใครเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก”


“ในอดีตการที่ศิลปินคนหนึ่งจะทำให้คนเห็นผลงานได้ มันต้องผ่านกระบวนการมากมาย เช่น ต้องจัดแสดงผลงานในแกลเลอรี่ หรือต้องถูกสแกนผลงานโดยคนอื่นก่อน แต่พอมาเป็นศิลปะ NFT ศิลปินแต่ละคนสามารถสร้างตัวตนได้ด้วยตัวเอง เราเข้ามาในโลกนี้ได้เลย ไม่ต้องถูกสแกนโดยใครใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้วงการศิลปะกว้างขวางมากขึ้นไปอีก เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลย”

 

จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันจัดเทศกาล


ปัจจุบันศิลปินที่ทำงาน NFT ส่วนใหญ่ทั้งในไทยและทั่วโลกจะรวมกลุ่มกันอยู่ในทวิตเตอร์ ซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล โปรโมตผลงาน และนำมาสู่ความคิดที่จะจัดงาน Bangkok NFT Art Festival 2022 ขึ้น “ความคิดนี้เริ่มมาจากพี่โน้ต Dudesweet (พงษ์สรวง คุณประสพ) เขามีความคิดอยากจัดงานนี้ขึ้น แล้วก็เกิดการพูดคุยต่อยอดจนสเกลงานใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีคนสนใจเข้าร่วมมากขึ้น ก็เลยรวมตัวกันจากคนที่อาสามาช่วย ๆ กัน ทำให้เทศกาลของเราจัดแสดงผลงานหลายจุดมาก เนื่องจากคนที่อยู่ย่านนู้นย่านนี้เขาอยากมีส่วนร่วม และทีมงานก็เห็นพ้องกันว่าการจัดงานให้คนไปเดินดูตามย่านต่าง ๆ แบบนี้น่าสนใจ เราเลยตั้งใจมาร่วมแสดงงานพร้อมกับ Bangkok Design Week ซึ่งน่าจะทำให้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าใจศิลปะ NFT มากขึ้น อย่างในย่านตลาดน้อยที่เป็นจุดแสดงงานหลักของเทศกาล เราก็ประสานงานกับคาเฟ่ย่านนั้นไว้ 5 ร้าน นอกจากนี้ยังมีงานที่ตรอกข้าวสาร อารีย์ ท่าดินแดง รวมไปถึงอุบลราชธานีด้วย เราพยายามทำคอนเซปต์งานให้เหมือนโลก Metaverse ที่คนไม่ต้องมารวมกันที่ศูนย์กลางอย่างเดียวก็ได้ ใครอยากจัดงานตรงไหนก็จัดได้เลย”


รูปแบบหลากหลาย กระจายตัวทั่วกรุงเทพฯ


ในงานก็จะมี Exhibition ศิลปินมาโชว์งานให้ดูกันในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนั้นเราก็มีกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น งาน Talk โดยศิลปิน NFT มาร่วมพูดคุยกัน ให้ความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ที่สำหรับคนที่สนใจจะมาทำ NFT ก็เหมาะมาก ๆ ที่จะมาฟัง มาถามตอบกันได้อย่างใกล้ชิดในงานนี้ และส่วนที่สำคัญที่มีศิลปินเข้าร่วมค่อนข้างมากคือ AR (Augmented Reality) เพราะเป็นงานศิลปะที่เล่นผ่านโทรศัพท์มือถือจากตรงไหนก็ได้ และสามารถใส่ลูกเล่นที่ล้อเลียนไปกับโลกเสมือนและโลกจริง เช่น เอามือถือไปส่องแล้วเห็นงานศิลปะ NFT ขึ้นมาในย่านต่าง ๆ ได้ ซึ่งเรามีครีเอเตอร์เข้าร่วมเกือบร้อยคน โดยในส่วนของงาน AR นั้น ผู้สนับสนุนหลักด้านเทคโนโลยีคือ Keen Collective ดิจิทัลเอเจนซี่ผู้เชี่ยวชาญด้าน Creative Advertising Tech และด้วยความที่เป็นการจัดงานครั้งแรกของ Bangkok NFT Art Festival ซึ่งมีจุดประสงค์ในการถ่ายทอดเรื่องราวของศิลปะ NFT ไปในวงกว้าง ทีมผู้จัดงานจึงเปิดโอกาสในการจัดแสดงงานให้กับครีเอเตอร์ทุกคนที่ส่งผลงานเข้ามาภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่จำกัดสาขาอาชีพและไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ “เท่าที่เห็นคือมีศิลปินหน้าใหม่ส่งผลงานเข้ามาเยอะมาก คนที่ไม่ได้ทำงานศิลปะเป็นประจำ เช่น วิศวกร นักบัญชี ครู แอร์โฮสเตส เขาก็กระโดดมาทำกัน เทศกาลนี้จึงรวมผลงานศิลปะ NFT ของคนหลากหลายวงการมาก ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงผลงานที่จัดแสดงในเทศกาลไปสู่ช่องทาง Marketplace ด้วย”

 

เปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้ความท้าทายในโลกใหม่


“สิ่งที่ยากสุดในการเริ่มเข้าสู่วงการศิลปะ NFT คือการเริ่มลงมือสมัคร สำหรับมือใหม่จะรู้สึกว่าต้องสมัครโน่นนี่ดูยุ่งยาก แต่ก็มีคนสอนผ่าน YouTube ไว้เยอะ และพอทำได้ปุ๊บก็ไม่ยากแล้ว จะมายากอีกทีก็คือเรื่องการทำการตลาดหรือการ PR งานของเราออกไป ซึ่งตรงนี้ในงานก็มีศิลปินที่มีประสบการณ์มาแชร์ความรู้กันด้วย  แพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมลงงานกันก็มี OpenSea, Hic et Nunc (HEN), Foundation ซึ่งควรเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับสไตล์งานของเรา อย่าง Foundation เขาจะนิยมลงงานศิลปะชิ้นเดียวที่มีความเลอค่า ศิลปินไทยแต่ละคนจะทำกันแบบอลังการสวยงาม น่าซื้อน่าเก็บมาก เวลาลงงานในแพลตฟอร์มนี้เราต้องเสียเงินค่าแก๊สต่อชิ้น ส่วน OpenSea เสียค่าแก๊สครั้งเดียวแล้วลงงานเท่าไหร่ก็ได้ เลยเหมาะกับงานศิลปะที่ทำออกมาเป็นคอลเล็กชันไปโดยปริยาย”


“สำหรับคนที่รู้สึกขี้เกียจรับรู้หรืออัปเดตเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยากบอกว่าจ๊อบก็เคยเป็นมาก่อน แต่เราก็พยายามเปิดใจและศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นโลกใหม่ที่มาถึงแน่ ๆ เราจึงควรเรียนรู้ไว้ มันไม่ได้หยุดอยู่แค่ในวงการศิลปะหรอก เทคโนโลยีพวกนี้มันขยายไปได้อีกกว้างมาก ๆ งานศิลปะ NFT เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง ยังมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่สามารถนำเทคโนโลยีไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของคนเราได้อีกเยอะมาก”


หากอยากอัปเดตแวดวงศิลปะ NFT ในไทย และสนุกไปกับการสำรวจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สร้างความเป็นไปได้ไม่รู้จบ เชิญพบกับงาน Bangkok NFT Art Festival ในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์นี้ ตามจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยมีหมุดหมายหลักอยู่ที่ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย ซึ่งจัดงานร่วมกับเทศกาล Bangkok Design Week 2022


Bangkok NFT Art Festival

Facebook : facebook.com/TheNFTBKK





แชร์