ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เทรนด์การออกแบบพื้นที่ ในวันที่โควิดยังไม่มีวี่แววจะหาย

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ห้วงเวลานี้หลายคนอาจยังวาดหวังถึงการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 แต่ความจริงแล้วโลกไม่มีวันหมุนย้อนกลับสู่ช่วงเวลานั้นอีกต่อไป และถึงแม้วิกฤตินี้จะผ่านพ้นไปได้ก็ยังมีความท้าทายใหม่ ๆ รอเราอยู่เบื้องหน้าอีกมากมาย การวางแผนมุ่งสู่ทางเดินใหม่ในอนาคตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่นักออกแบบทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะแวดวงการออกแบบพื้นที่ทั้งระดับพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ที่มีการชูเรื่องความปลอดภัย การลดจุดสัมผัส และการเว้นระยะห่างขึ้นมาเป็นโจทย์หลัก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคระบาด และเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจถูกค้นพบเพิ่มเติมในอนาคต เราจึงอยากชวนคุณมาสำรวจเทรนด์เกี่ยวกับพื้นที่กันสักหน่อยว่าตอนนี้มีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อะไรบ้างที่กำลังเกิดขึ้น

 

 

ย่อโลกทั้งใบมาใส่ไว้ในบ้าน

ทุกวันนี้นิยามของบ้านในใจหลาย ๆ คนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง จากเมื่อก่อนที่เรามีบ้านไว้พักผ่อนหลับนอนเป็นหลัก แต่ในช่วงเวลาที่การออกไปนอกบ้านยากลำบากและมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค หลายคนจึงหันมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำงาน ดูหนัง ช้อปปิ้ง ฯลฯ การออกแบบมุมโปรดในบ้านยุคใหม่จึงต้องลงลึกถึงไลฟ์สไตล์ที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัยอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น มีมุมสำหรับออกกำลังกาย โรงหนังขนาดย่อม ครัวที่มีอุปกรณ์ครบครัน ห้องทำงานที่ส่งเสริมความโปรดักทีฟ เป็น Multifunctional Home ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตอย่างรอบด้าน และช่วยจุดประกายความสุขในแต่ละวัน

 

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจโดยลุมพินี วิสดอม บริษัทวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท LPN ที่ระบุว่า บ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Residence มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 40% ต่อปี โดยบ้านเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีฟังก์ชันตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการอยู่อาศัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพิ่มความทันสมัยสะดวกสบาย รวมถึงมีการออกแบบที่ส่งเสริมความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เช่น มีระบบไหลเวียนอากาศที่ดี มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์ ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคหลังโควิดให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

 

 

มุมมองใหม่ของพื้นที่สาธารณะ

นวัตกรรมการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์ความธรรมดานิยามใหม่ ไม่ได้หมายถึงการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพียงอย่างเดียว แต่การนำ “การคิดเชิงระบบ” (System Thinking) มาปรับใช้ในการจัดสรรพื้นที่เดิมด้วยมุมมองใหม่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน อย่างสวนโดมิโนพาร์ก (Domino Park) ย่านบรูคลิน กรุงนิวยอร์ก ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่แรก ๆ ของโลกที่ประชากรได้รับวัคซีนคุณภาพดีในสัดส่วนมากพอ จึงสามารถคลายล็อกดาวน์ให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติอีกครั้ง แต่ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2020 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในนิวยอร์กยังไม่อาจวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่จึงขีดเส้นวงกลมไว้บนพื้นหญ้าและออกกฎเกณฑ์ให้ทุกคนดื่มด่ำสายลมแสงแดดกันแบบห่าง ๆ ไม่ล้ำเส้นเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน เป็นอีกไอเดียหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ที่ต้องการมีความสุขกับกิจวัตรประจำวัน แต่ก็ไม่ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสให้ได้

 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจยิ่งขึ้น คือโปรเจ็กต์ “Brief Encounters” ในฮ่องกง ที่พยายามตอบสนองความอยากมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ แต่ขณะเดียวกันความกังวลเรื่องโรคระบาดก็ยังมากโขอยู่ การพบปะกันของเราจึงควรมีฉากกั้นสักหน่อยเพื่อความอุ่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยนักออกแบบเลือกใช้โครงเหล็กและพลาสติกใสหลากสีมาประกอบเข้าด้วยกันในลักษณะคล้ายหีบเพลง เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายไปติดตั้งตามที่ต่าง ๆ นอกจากนี้การจัดวางในรูปแบบที่คดเคี้ยวยังสร้างมิติใหม่ให้พื้นที่นั้นดูสนุกสนานมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ประกอบกับความโปร่งแสงของวัสดุที่มองทะลุถึงกันได้ ทำให้ผู้คนไม่ถูกปิดกั้นจากบรรยากาศรอบตัว นับเป็นอีกเทรนด์หนึ่งของงานออกแบบพื้นที่สมัยใหม่ในยุคโควิด-19 ที่เราจะได้เห็นงานลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตแน่นอน 

 

 

ผสานธรรมชาติเข้ากับการออกแบบพื้นที่

การใช้ชีวิตในจังหวะเร่งรีบและไล่ตามเทคโนโลยีของโลกสมัยใหม่ตลอดเวลา ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เร่งปฏิกิริยาความเครียดสะสม ทำให้มนุษย์เราต้องหาหนทางเยียวยาจิตใจกันอย่างเร่งด่วน การฟื้นฟูใจด้วยพลังธรรมชาติบำบัดและนำพื้นที่สีเขียวกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมือง จึงเป็นหนึ่งในเทรนด์งานออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุคโควิด-19 เช่น โปรเจ็กต์ Skylines ของบริษัท Lissoni Casal Ribeiro ที่ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวด Skyhive 2020 Skyscraper Challenge แนวคิดของงานออกแบบนี้คือการเนรมิต “สวนป่าแนวตั้ง” ขึ้นมาบนตึกระฟ้าใจกลางเมืองใหญ่ เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นไม้ทั้งในแง่ฟังก์ชันการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยฟอกอากาศ และการหมุนเวียนพลังงานมาใช้ ส่วนอีกมิติหนึ่งก็แน่นอนว่าพื้นที่สีเขียวนั้นช่วยปลอบประโลมจิตใจมนุษย์ได้อย่างมากมายมหาศาล 

 

 

ชุบชูเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์

หลังจากเมืองและเศรษฐกิจซบเซาไปนาน กลยุทธ์หนึ่งที่หลายเมืองในโลกทำเพื่อฟื้นฟูชีวิตชีวาของเมือง ชุบชูใจคน และกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการนำงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มาดึงดูดคน หลายประเทศกลับมาจัดนิทรรศการศิลปะอีกครั้ง โดยเฉพาะในรูปแบบ Public Art นำงานศิลปะไปจัดวางตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้คนออกมาใช้ชีวิต และเน้นจัดในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโควิด เช่น การกลับมาจัดงาน Luma Festival เทศกาล Projection Mapping งานสร้างสรรค์ที่แต่งแต้มสถาปัตยกรรมด้วยแสง สี และแอนิเมชันน่าตื่นตาตื่นใจ บนเงื่อนไขใหม่คือจำกัดจำนวนผู้เข้าชมและเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย หรืองานศิลปะในพื้นที่สาธารณะอย่าง การห่อคลุมประตูชัยในกรุงปารีส 16 วัน ตั้งแต่ 18 กันยายนถึง 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลงานนี้เป็นไอเดียของคริสโต ศิลปินนักห่อหุ้มที่วางแผนจะทำโปรเจ็กต์นี้ร่วมกับภรรยามานานกว่า 60 ปี แต่เขาเสียชีวิตลงในปี 2020 หลานชายและทีมงานจึงเข้ามาช่วยกันสานต่อชิ้นงานสำคัญที่สร้างความเคลื่อนไหวให้แวดวงศิลปะในกรุงปารีสอีกครั้ง

 

เชื่อว่าอนาคตข้างหน้าเราคงได้เห็นงานออกแบบพื้นที่บนโจทย์ของโควิดและปัญหาใหม่ ๆ อีกมากมาย เพราะความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ทำงานไม่เคยหยุดนิ่ง อย่างเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ที่กำลังจะจัดขึ้นภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งในการโชว์ศักยภาพของการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่ที่น่าสนใจเอามาก ๆ ควรค่าแก่การแวะเวียนมาเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง

 

#BKKDW2022

#BangkokDesignWeek

#CoWithCreation

แชร์