ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เมื่องานออกแบบช่วยชุบใจที่พังหลังโควิด

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

การแพร่ระบาดยาวนานไม่จบสิ้นของโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสุขทางใจของผู้คนในสังคมถดถอย ไม่ว่าจะวัยรุ่น วัยทำงาน วัยเกษียณ ต่างเครียดสะสมกันทั้งนั้น เพราะต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าและวิตกกังวลกับข่าวร้าย นอกจากนี้ยังมีหลายคนสูญเสียสมาชิกในครอบครัว จนเกิดความบอบช้ำในจิตใจยากจะเยียวยา โดยในปี 2020 Gallup หน่วยงานที่สำรวจเรื่องอารมณ์ของประชาคมโลกมาอย่างต่อเนื่อง เผยว่าผู้คนส่วนใหญ่มีระดับอารมณ์แง่ลบสูงที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมาในรอบ 15 ปี

 

อาการป่วยทางกายมักมีสัญญาณบ่งบอกให้รับรู้ได้ชัดเจน แต่อาการป่วยทางใจมักก่อตัวขึ้นช้า ๆ และสะสมอยู่ภายในโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องหมั่นเช็กอารมณ์ความรู้สึก และประคับประคองใจให้มั่นคงในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพก็ได้พยายามหาหนทางปลอบประโลมสังคม ด้วยการผสานงานออกแบบเข้ากับศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการฟื้นฟูความสุขสงบทางใจของผู้คนให้เป็นไปได้รู้จบ ลองมาดูกันว่ามีนวัตกรรมใดน่าสนใจบ้าง

 

แอปดูแลใจที่เข้าใจหัวอกเรา

สตาร์ตอัปเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้รับการพัฒนามาพักใหญ่ และยิ่งเติบโตเป็นเท่าตัวในห้วงเวลาที่คนทั่วโลกเกิดความรู้สึกทางลบกันมากขึ้น นักวิจัยของ ORCHA เผยว่าในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ มีการใช้แอปสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นราว 200% โดยเหตุผลหลักที่หลายคนหันมาพึ่งพาแอปเหล่านี้คือเพื่อรองรับภาวะซึมเศร้าที่ทวีความรุนแรง และป้องกันการทำร้ายตัวเอง

 

มองผ่านเลนส์ของนักออกแบบและนักลงทุน แม้ตลาดเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพจะมีผู้เล่นมากมาย แต่ก็ยังมีช่องว่างของความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น Exhale แอปฟื้นฟูสุขภาวะทางอารมณ์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงผิวดำ ผู้หญิงผิวสี ผู้หญิงพื้นเมืองโดยเฉพาะ ฟังก์ชันต่าง ๆ จึงเป็นการบำบัดด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบาดแผลที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงผิวสีสามารถวางใจได้ว่าการเดินทางภายในจิตใจของพวกเธอจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม Exhale ชนะรางวัล Webby Award ในหมวดหมู่ Apps and Software Health & Fitness 2021 และในอนาคตทีมผู้พัฒนายังมีแผนเปิดตัวแอปสำหรับคอมมิวนิตี้อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

 

ใจหนูโอเคไหมให้มอนสเตอร์ช่วยบอก

มีการสำรวจพบว่าเด็กไทยเครียดและกังวลใจเพราะต้องเรียนออนไลน์มากถึงร้อยละ 74.6 และจากข่าวที่เห็นตามสื่อก็มีเด็กหลายคนเครียดจัดถึงขั้นตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย จึงมีความพยายามจากผู้ใหญ่หลายกลุ่มที่ช่วยกันหาหนทางเยียวยาเด็ก ๆ เหล่านี้ หนึ่งในนั้นคือโปรเจ็กต์ Meet Your Monster ผลงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, Glow Story และทีมนักจิตวิทยา MASTERPEACE ที่นำเครื่องมือทางจิตวิทยามาปัดฝุ่นใหม่ให้ดูเป็นมิตร และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น ด้วยการครีเอต “มอนสเตอร์” 4 ประเภทที่สะท้อนบุคลิกและความกังวลใจที่แอบแฝงอยู่ขึ้นมา เพื่อส่งต่อกำลังใจและช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจตัวเองดีขึ้น จะได้หาวิธีรับมือกับภาวะอารมณ์อย่างเหมาะสม

 

โปรเจ็กต์นี้เพิ่งได้รับรางวัลหมวด Creative for Sharing จากเวที Adman Awards & Symposium 2020-2021 มาหมาด ๆ วัยรุ่นทั้งหลายลองคลิกเข้าไปเช็กสุขภาพจิตเบื้องต้นกันได้เลยที่ https://meetyourmonster.paperform.co

 

บำบัดวิถีใหม่ ไม่ต้องจับไม่ต้องทัช

Mindbody ศึกษาแนวโน้มการดูแลสุขภาพของชาวอเมริกันในปี 2021 พบว่า 31% สนใจลองใช้บริการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องสัมผัสตัวกันท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ตัวอย่างบริการในกลุ่มนี้ เช่น การบำบัดด้วยความเย็น บำบัดด้วยการกดทับ บำบัดด้วยไฮเปอร์บาริก ถ้ำเกลือ ห้องซาวน่าอินฟราเรด และอ่างลอยน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ และเริ่มมีผู้ให้บริการมากขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน

 

ในเมืองที่เต็มไปด้วยอะไรล้ำ ๆ อย่างนิวยอร์ก มีสตูดิโอชื่อ ReCOVER ที่เน้นผนวกเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับศาสตร์การฟื้นฟูสุขภาพ ก่อตั้งโดย Rick Richey และ Aaron Drogoszewski ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการฟิตเนสมากว่า 40 ปี พวกเขาเห็นช่องว่างระหว่างการสปาเพื่อผ่อนคลายและการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู จึงทดลองนำสองสิ่งนี้มารวมเข้าด้วยกัน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เครื่องมือบำบัดสุขภาพจิตที่น่าสนใจคือ NuCalm ที่ช่วยลดความเครียด คลายความวิตกกังวล และปรับปรุงคุณภาพการนอน ด้วยกระบวนการกระตุ้นสมองควบคู่ไปกับซาวนด์แทร็กบำบัด เสริมสารบำรุงสมองกาบา และปิดตาเพิ่มความผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายรู้สึกเหมือนได้งีบหลับลึก 2-3 ชั่วโมงภายในระยะเวลา 30 นาที ก่อนจะตื่นมาด้วยความสงบผ่อนคลาย

 

ฟื้นฟูใจทางไกล อยู่ที่ไหนก็ทำได้

การล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้สถานที่หลายแห่งปิดทำการชั่วคราว แต่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนต่างทำงานไม่เคยหยุดนิ่ง จึงมีโปรเจ็กต์น่าสนใจมากมายผุดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเราขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ โปรเจ็กต์แรกเป็นของ The Rubin Museum of Art ที่สร้างโปรแกรมการบำบัดวิถีพุทธขึ้นมาเยียวยาจิตใจผู้คน โดยนิทรรศการออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือคลิปวิดีโอห้องสวดมนต์ของพระทิเบตความยาว 2 ชั่วโมง ที่ทางมิวเซียมตั้งใจให้ผู้คนใช้เป็นที่หลบภัยมาทำสมาธิในยามเคร่งเครียดวิตกกังวล

 

โปรเจ็กต์ถัดมาเป็นของ Monterey Bay Aquarium ที่ชวนคนรักมหาสมุทรมาผ่อนคลายจิตใจและทำสมาธิผ่าน MeditOcean ซีรีส์คลิปวิดีโอความยาวประมาณคลิปละ 10-15 นาที ที่มีทั้งเสียงคลื่นซัดสาด แมงกะพรุนลอยน้ำ เต่าทะเลแหวกว่ายไปมา ฝูงปลากำลังเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ภาพสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่ถ่ายทอดอย่างมีศิลปะมองแล้วเพลิดเพลินชวนผ่อนคลาย ประกอบกับเสียงบรรยายนุ่มละมุนที่ช่วยไกด์เรื่องการฝึกสมาธิ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการพาใจกลับสู่สภาวะสมดุล ซึ่งสามารถทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน มันจึงเวิร์กมากสำหรับช่วงกักตัว และเป็นไอเดียน่าสนใจสำหรับการนำไปต่อยอดสร้างสรรค์กิจกรรมออนไลน์ใหม่ ๆ ในอนาคต

 

หากสนใจศึกษาศาสตร์การบำบัดและเยียวยาจิตใจด้วยงานออกแบบให้ถึงแก่นยิ่งขึ้น ขอเชิญชวนมาร่วมชมงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ซึ่งกำลังจะจัดแสดงในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ เรามีหลากหลายแง่มุมของงานออกแบบเพื่อเยียวยาสุขภาพจิตที่อยากชวนมาดูและ “Co” กันคิด เพื่อวางแผนรับมือกับความท้าทายในอนาคตด้วยใจที่แข็งแกร่งดุจหินผากันถ้วนหน้า !

 

#BKKDW2022

#BangkokDesignWeek

#CoWithCreation

 

 

อ้างอิง

https://www.creativethailand.org/new/magazine/187/Design-to-De-stress

https://www.facebook.com/EEFthailand

https://www.exhalesite.com

https://rubinmuseum.org/landing/rubin-care-package-art-and-practices-for-navigating-your-world

https://www.montereybayaquarium.org/stories/guided-mindfulness-meditations

 

แชร์