ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อยากขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า อย่าแช่แข็งวัฒนธรรม

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้คือมูฟเมนต์ของคนเจนใหม่ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามท้าทายสังคมในหลายประเด็น แน่นอนว่ารวมถึงประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มีมาแต่ดั้งเดิม เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม การจะรักษาวัฒนธรรมให้ยืนระยะอยู่ได้ยาวนานจึงไม่ใช่การคงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ควรทำให้วัฒนธรรมยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และเปิดพื้นที่ให้ความคิดของผู้คนเติบโต ผู้คนสามารถหยิบสิ่งเก่ามาปัดฝุ่น ตีความ หรือปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องไปกับสังคมได้ วัฒนธรรมนั้นจึงจะสามารถมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตตามไปด้วย เช่นตัวอย่างที่เราหยิบยกมาต่อไปนี้

 

ล้าสมัยกลายเป็นล้ำ

ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวที่เราซึมซับ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ หลายอย่างที่ดูล้าสมัยกลับกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่หยิบจับมาเป็นไอเดียในการออกแบบได้อย่างไม่มีใครคาดคิด เหมือนอย่าง “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ไวรัลดังทางโซเชียลช่วงปี 2020 ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่คนสังเกตเห็นว่ารูปปั้นสัตว์หิมพานต์บางวัดโดยเฉพาะแถบภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง ไม่ได้มีหน้าวิจิตรบรรจงมากนัก เพราะทำขึ้นง่าย ๆ ด้วยฝีมือช่างท้องถิ่นที่มีจิตศรัทธา ทว่าไม่ได้ร่ำเรียนวิชามาเหมือนช่างหลวง แต่มองไปมองมาก็น่ารักน่าเอ็นดูไปอีกแบบ ชาวเน็ตจึงกระหน่ำวาดแฟนอาร์ตน้อง ๆ กันอย่างคึกคัก และเกิดการต่อยอดนำไปผลิตเป็นคุกกี้ สติกเกอร์ พวงกุญแจ โมเดล ฯลฯ ที่ปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเที่ยวชมวัดวาตามรอยน้อง หรือบางคนอินถึงขั้นไปศึกษาความเป็นมาของสัตว์หิมพานต์เพิ่มเติมเลยก็มี ทุกวันนี้แม้กระแสจะไม่ได้แรงเท่าช่วงพีก แต่ในกรุ๊ปหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ก็ยังมีคนนำภาพน้องตามที่ต่าง ๆ มาแบ่งปันกันอยู่เรื่อย ๆ และทำให้เราไม่หยุดที่จะสังเกตวัตถุดิบรอบตัวที่ดูธรรมดามาทำให้เกิดคุณค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์

 

หยิบของใกล้ สร้างสรรค์ให้ไกล

หนึ่งในฟังก์ชั่นสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ คือการชุบชีวิตให้ของบางอย่างที่อาจไม่เคยมีมูลค่า กลับกลายเป็นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยเฉพาะของที่เป็นวัตถุดิบและภูมิปัญญาเฉพาะตัวของท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีคนให้คุณค่าและกำลังจะเลือนหาย  

 

ร้านค้าอย่าง Citizen of Nowhere คือร้านขายของดีไซน์ร่วมสมัย ด้วยสโลแกนที่ว่า “Artisanal Products made by local craftsmen” เน้นของที่ผลิตโดยวัตถุดิบท้องถิ่นหรือช่างฝีมือท้องถิ่นในประเทศไทย อย่างกระเป๋าถือที่นำ “สาดกก” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเฉพาะตัวของช่างในจังหวัดจันทบุรีมาอยู่ในดีไซน์ที่แสบสันและร่วมสมัย นอกจากจะทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของภูมิปัญญาดั้งเดิม ยังช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังไอเดียของร้านค้าที่ว่าก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบที่ถนัดการหยิบของใกล้ตัวที่เห็นได้ตามท้องถนนมาเล่าเรื่องใหม่ผ่านงานออกแบบที่หลากหลาย แต่มีจุดร่วมคือความแสบสันแกมน้ำเสียงประชดประชัน อย่างที่หลายคนอาจจะรู้จักเขาจากผลงาน “Cheap Ass Elites” ที่นำตะกร้าพลาสติกใส่ผลไม้ที่เห็นได้ตามตลาดสดมาดัดแปลงเป็นเก้าอี้ดีไซน์หรูนั่นเอง

 

สื่อบันเทิงสอดไส้วัฒนธรรมที่ทั้งปังและทำเงิน

หากยังจำซีรีส์ดังอย่าง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” กันได้ คงพอนึกออกว่าอิทธิพลของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้จากซีรีส์เรื่องนั้น ขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวและวงการอาหารเกาหลีเฟื่องฟูมากขนาดไหน ตัดภาพมาในปี 2021 ซีรีส์จากเกาหลีใต้ยังคงเป็นเครื่องมือชั้นยอดที่สอดไส้วัฒนธรรมเกาหลีไปนำเสนอสู่คนทั่วโลกเช่นเคย และยังคงฟอร์มดีไม่มีแผ่ว 

 

ซีรีส์อย่าง Squid Game ที่จู่ ๆ ก็ทำให้ขนมน้ำตาลแผ่นเก่าแก่ของเกาหลีใต้ที่ไม่มีใครเหลียวมองมาร่วมทศวรรษอย่าง “ขนมทัลโกนา” ให้กลับมาระเบิดระเบ้ออีกครั้งจนมีคนทดลองทำตามกันเต็มยูทูบ หรือซีรีส์ที่ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง Hometown Cha-Cha-Cha เรื่องราวของหมอฟันสาวที่ตัดสินใจย้ายจากกรุงโซลไปอยู่กงจิน หมู่บ้านชายทะเลเล็ก ๆ ที่อบอวลไปด้วยความโรแมนติกและอบอุ่นของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากขายความอบอุ่นชวนฝันของตัวละครอย่าง “หัวหน้าฮง” ไปครองใจสาวทั่วโลก เนื้อหาของซีรีส์ยังช่วยผลักดันการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ให้ขยายออกไปนอกกรุงโซลที่กำลังอยู่ในจุดอิ่มตัว ซึ่งก็ดูจะประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะมีรายงานว่าช่วงวันหยุดชูซอก มีนักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวเมืองโพฮังที่เป็นโลเคชันหลักของซีรีส์เรื่องนี้มากเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว 

 

หากสนใจความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลากหลายมิติ ต้องไม่พลาดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 เรามีงานออกแบบน่าสนใจที่นำวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นมาตีความและนำเสนอใหม่ให้เลือกชมเพียบ รับรองว่าชิ้นงานสร้างสรรค์เหล่านี้จะทำให้คุณได้รับแรงบันดาลใจกลับไปเต็มเปี่ยมแน่นอน

 

#BKKDW2022

#BangkokDesignWeek

#CoWithCreation

 

 

 

 

 

 

แชร์