ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

READY made : New normal of culture เตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวสู่ชีวิตปกติใหม่ จากไอเดียนักศึกษาออกแบบหลากหลายมหาวิทยาลัย

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทุกคนต่างต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ก็ทำให้วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จนนำไปสู่คำถามว่าเอกลักษณ์ของย่านที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจะถูกปรับเปลี่ยนและส่งต่ออย่างไรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ 

 

Academic Program โปรแกรมโชว์เคสผลงานออกแบบจากนักศึกษาในปีนี้จึงมาพร้อมโจทย์ที่ชื่อว่า READY made : New normal of culture  ซึ่ง หมี-พิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Plural Designs มีบทบาทเป็นคิวเรเตอร์ของ Academic Program 2022 จะมาบอกเล่าที่มาที่ไปของคอนเซปต์ รวมถึงความพิเศษและน่าสนใจที่เขาพบจากการทำงานร่วมกับทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงจาก 9 มหาวิทยาลัย

 

จุดเริ่มต้นของ Academic Program

 

“ปกติเทศกาล Bangkok Design Week เปิดโอกาสให้นักออกแบบส่งผลงานโชว์เคสเข้ามาร่วมจัดแสดงอยู่แล้ว ทุกปีจะมีการนำเสนอผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทางมหาวิทยาลัยจะส่งงานที่นักศึกษาทำระหว่างปีเข้ามา เมื่อก่อนใช้ชื่อโปรแกรมนี้ว่าปล่อยแสง ทีนี้พอเอางานที่มีอยู่แล้วมาจัดแสดง มีตั้งแต่งานสถาปัตย์ อินทีเรียร์ เฟอร์นิเจอร์ โปรดักต์ กราฟิก เรื่องราวของชิ้นงานมักจะโฟกัสไปคนละทางและไม่สอดคล้องกับธีมหลักของเทศกาลฯ เราจึงพูดคุยกับทีมเทศกาลฯ ว่าควรตั้งโปรเจกต์พิเศษขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยทำงานบนโจทย์เดียวกัน เวลาเอามาจัดแสดงร่วมกันจะได้ดูเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความเชื่อมโยงกับธีมหลักของเทศกาลฯ มากขึ้น และส่งสารออกไปได้มีพลังมากกว่าการทำงานแยกส่วนกัน ความคิดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Academic Program ที่ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สามแล้ว”

 

กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน

 

“เราเริ่มจากการส่งโจทย์ให้แต่ละมหาวิทยาลัยดูว่าช่วงเวลาจัดงานประมาณนี้ ธีมเป็นแบบนี้ มีสถาบันไหนสนใจเข้าร่วมบ้าง ซึ่งกระบวนการทำงานก็ไม่ง่ายเพราะต้องทำชิ้นงานขึ้นมาใหม่ แล้วช่วงนี้แต่ละมหาวิทยาลัยเปิด-ปิดภาคเรียนไม่พร้อมกัน ต้องขอบคุณทุกมหาวิทยาลัยจริง ๆ ที่ตั้งใจส่งผลงานเข้ามามีส่วนร่วม ปีก่อนหน้านี้ภาควิชาที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นหลัก แต่ปีนี้เพิ่มคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้ามา เพราะเรามองไปถึงพื้นที่สาธารณะหรืองานสถาปัตยกรรมสเกลเล็ก ๆ อย่างเช่น พื้นที่กักตัว Home Isolation ด้วย หลังจากแจกโจทย์ไปแล้วก็จะมีวันนัดประชุมรวมให้แต่ละมหาวิทยาลัยพรีเซนต์งาน หลังจากนั้นเราก็ช่วยดูภาพรวมของงานไปเรื่อย ๆ ตลอดทาง บางทีก็มีคอมเมนต์ให้เขาไปปรับหรือให้คำแนะนำในเชิงการติดตั้งบ้าง เพราะสเกลงานค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่เขาเคยทำกันในวิชาเรียน”

 

“จากแนวทางการทำงานที่ผ่านมา บางทีงานของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยจะมีความเฉพาะทางหรืออิงกับงานวิจัยมาก ๆ และลงลึกไปในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่คนทั่วไปอาจจะเข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก พอมาทำงานที่จัดแสดงในเทศกาลฯ มีธีมของเทศกาลและโจทย์ที่เฉพาะเจาะจง ผลงานของนักศึกษาก็มีทิศทางการสื่อสารชัดเจนมากขึ้น มีรูปแบบที่เข้าใจง่ายมากขึ้น”

 

“โจทย์ของปีนี้คือ READY made : New normal of culture คำว่า READY made ความหมายแรกคือความพร้อมของพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่ ธรรมชาติไม่เคยมีแบบสอบถามส่งมาถึงเรา ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเราต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ซึ่งการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ บางทีต้องอาศัยการนำสิ่งของที่อยู่รอบตัวมาปรับใช้ในงานออกแบบ คล้าย ๆ กับแนวคิด READY made ในงานศิลปะ ความหมายที่สองจึงสื่อถึงการปรับเปลี่ยนบริบทรอบ ๆ ตัวของเราให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ Work from home หรือ Home isolation”

 

 

ปักหมุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในชุมชนเก่า

 

พื้นที่หลักในการจัดแสดง Academic Program 2022 อยู่ที่ชุมชนฮารูณและชุมชนตลาดน้อย ซึ่งต่างก็เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่คู่กับถนนเจริญกรุงมานานกว่าร้อยปี การสะท้อนแนวคิด Co With Creation ที่พูดถึงการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งเป็นธีมหลักของเทศกาลฯ โดยในปีนี้เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน จึงเน้นไปที่การดึงเอาจุดเด่นของย่านมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน  โดยมีทั้งงานสเกลใหญ่และสเกลเล็กกระจายอยู่ในพื้นที่

 

“ซึ่งปกติโปรเจกต์ของนักศึกษาส่วนใหญ่ก็มักเป็นงานเชิงทดลองที่มีความสดใหม่ของไอเดียอยู่แล้ว ปีนี้ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับทีม Creative District จึงมีการจัดทริปพาลงพื้นที่เดินสำรวจย่านชุมชนตลาดน้อยและชุมชนฮารูณ แล้วมาเลือกกันว่าแต่ละมหาวิทยาลัยสนใจพื้นที่ไหน แต่ละย่านจะมีจุดเด่นและคาแรกเตอร์ของตัวเอง มีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ในย่าน ชุมชนฮารูณเขาจะเป็นชุมชนมุสลิม ส่วนตลาดน้อยเป็นชุมชนจีน เราอยากให้นักศึกษาดึงองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้มาเป็นส่วนประกอบในงานออกแบบเพื่อสะท้อนความเป็นย่านนั้นออกมา”

 

“ตอนนี้มี 1 โปรเจกต์อยู่ที่ชุมชนฮารูณ ส่วนอีก 8 โปรเจกต์อยู่ที่ตลาดน้อยเป็นหลัก ระหว่างกระบวนการทำงาน เราก็จะพูดคุยกับตัวแทนชุมชนในพื้นที่ ซึ่งงานที่ตลาดน้อยจะมีทั้งงานที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะของชุมชน เช่น ศาลเจ้าโรงเกือก ท่าน้ำภาณุรังษี นอกจากนี้ยังมีบางงานที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ร้านค้า คาเฟ่ เราก็จะคุยกับเจ้าของพื้นที่เป็นหลัก”

 

หากมีโอกาสได้มาเดินชม Academic Program สิ่งที่คุณจะได้พบคือผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่สะท้อนถึงความพร้อมในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในย่านเก่าอย่างชุมชนฮารูณและชุมชนตลาดน้อยให้เติบโตไปพร้อมกับโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ ๆ มากมาย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ไม่ควรพลาดในงาน Bangkok Design Week วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022

 

Academic Program

Website : bangkokdesignweek.com

Facebook : facebook.com/BangkokDesignWeek

Instagram : @bangkokdesignweek

 

Plural Designs

Website : pluraldesigns.net

Facebook : facebook.com/pluraldesigns

 

 

 

แชร์