ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

ผูกมิตรกับเมืองด้วย Key Visual ประจำเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ผูกมิตรกับเมืองด้วย Key Visual

ประจำเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566


เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เราก็เริ่มเห็นผู้คนออกมาใช้พื้นที่ของเมืองกันอย่างเป็นปกติมากขึ้น Key Visual ของ BKKDW2023 ในธีม urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี เราจึงเห็นภาพผู้คนที่หลากหลาย กำลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างคึกคักตามพื้นที่ต่างๆ ของเมือง 


นัด-ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร หรือที่รู้จักกันในชื่อ Nut Dao นักวาดภาพประกอบอิสระ ผู้ร่วมก่อตั้ง Practical School of Design และเจ้าของแบรนด์ Lig ที่เรามักเห็นภาพ ‘คน’ เป็นส่วนประกอบหลักในงานของเขาเสมอ รับหน้าที่ถ่ายทอด urban‘NICE’zation ผ่านภาพประกอบในสไตล์นัดดาว ยิ่งเมื่อรูปร่าง รูปทรง ชุดสีที่เลือกมาประกอบกันก็ยิ่งทำให้ Key Visual ในปีนี้เป็น urban ที่น่าอยู่ และ ‘NICE’ ตั้งแต่แรกเห็น


โจทย์สำคัญในปีนี้คือต้องการชวนนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขามาช่วยกันหาความเป็นไปได้ในการผูกมิตรกับเมือง Key Visual จึงเป็นเหมือนการ์ดเชิญใบสำคัญที่จะส่งไปยังหน้าบ้านของนักสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเชิญชวนให้ออกมาเริ่มทำเมืองให้น่าอยู่ร่วมกัน


เริ่มจากเข้าใจ ‘เมือง-มิตร-ดี’ 

การทำความเข้าใจเมือง โดยเฉพาะกับเมืองที่เป็นมิตร เป็นขั้นตอนแรกที่นัดดาวให้ความสำคัญก่อนลงมือออกแบบ

ผมเริ่มต้นจากการหานิยามของเมืองที่ดี เพื่อทำความเข้าใจว่าเมืองที่ดีต้องมีอะไรบ้าง แล้วพบว่าเมืองที่ดีไม่จำเป็นต้องมีถนนที่ใหญ่ หรือการคมนาคมอย่างเดียว แต่เมืองต้องมีความหลากหลาย มีการกระจายตัวของสิ่งอำนวยความสะดวก และคนสามารถใช้การเดินในชีวิตประจำวันไปละแวกที่ใกล้ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้รถ

“อีกประเด็นที่ทำให้เมืองโตแบบน่าอยู่ก็คือการมีพื้นที่ Mixed Use ให้คนไปใช้สเปซ จัดกิจกรรม หรือทำอะไรก็ได้ ถ้ามีพื้นที่ตรงนี้ก็ทำให้คนในเมืองไม่ต้องมีต้นทุนในการใช้ชีวิตเยอะ และผมคิดว่าหัวใจของเมืองที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘คน’ การสร้างเมืองต้องสอดรับกับผู้คน ต้องมีคนเป็นศูนย์กลาง”



แนวทางการออกแบบไดเรกชันที่ 1 และ 2 ที่นัดดาวนำเสนอในครั้งแรก ก่อนจะนำเอาข้อดีของสองเวอร์ชันมาปรับใช้กับเวอร์ชันจริง




ภาพเป็นมิตรด้วย ‘เมือง’ + ‘คน’

เมือง-มิตร-ดี หมายถึงเมืองที่เป็นมิตรกับคน คนเป็นมิตรกับเมือง และเมืองจะน่าอยู่เมื่อมีมิตรที่ดี สามนิยามนี้คือสารตั้งต้นสำหรับการก่อร่างสร้างเมือง-มิตร-ดี

“งานผมจะชอบวาดคน หรือภาพที่มีองค์ประกอบของมนุษย์อยู่แล้ว เลยคิดว่าโจทย์นี้น่าจะเหมาะกับตัวเอง ผมนำเสนอสองไดเรกชันในครั้งแรก ไดเรกชันแรกไม่พูดถึงเมืองเลย เน้นเฉพาะคนและกิจกรรมที่คนใช้ชีวิตในเมือง เพื่อใช้สะท้อนกลับไปว่า เมืองต้องมีสิ่งที่ทำให้คนเกิดกิจกรรมเหล่านี้ ถึงเป็นเมืองที่ดี 

“อีกดีไซน์ที่นำเสนอจะโฟกัสที่เมืองมากขึ้น เล่นกับรูปทรงของพื้นที่ Mixed Use และการวางเลย์เอาต์ของตัวอักษร โดยการสร้างพื้นที่ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเอาคนไปประกอบในเมือง เพื่อให้เห็นความหลากหลายในการใช้สเปซผ่านพื้นที่สาธารณะ 

           “ซึ่งแบบไฟนอลก็เอาข้อดีของสองแบบมารวมกัน คนที่ตัวเล็กในแบบที่สองก็ถูกขยายให้เห็นกิจกรรมมากขึ้น ทำให้เห็นเมืองและเห็นคนไปพร้อมๆ กัน โดยโจทย์ที่ผมให้ความสำคัญก็คือความเป็นมิตรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเข้าใจงานออกแบบนี้ได้ไม่ยากจนเกินไป



ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบส่วนตัวหรือคอมเมอร์เชียล ผลงานภาพประกอบของนัดดาวก็มักจะมีภาพคนเป็นองค์ประกอบให้ได้เห็นอยู่เสมอ



‘คน’ หัวใจของเมือง-มิตร-ดี

เมืองคงเคลื่อนไปแบบไร้ชีวิตหากขาด ‘คน’ ซึ่งเป็นหัวใจของ ‘เมือง’ นัดดาวตั้งใจออกแบบคาแรกเตอร์เพื่อสะท้อนถึงพลเมืองทุกคน และบอกเล่าถึงมิตรภาพระหว่างผู้คนในเมืองผ่านองค์ประกอบในงานออกแบบ

          “ผมให้ความสำคัญกับคาแรกเตอร์ที่มีความหลากหลาย อยากให้ภาพนำเสนอทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก นักธุรกิจที่มาจอยกัน โดยพยายามใช้รูปร่าง รูปทรง ที่เชื่อมหรือทับซ้อนกันเพื่อเปรียบเปรยถึงการอยู่ร่วมกัน ทั้งความสัมพันธ์ของคนสองคนหรือเป็นกลุ่มคน 

“บางเชปก็ใช้ดอกไม้มาเป็นหัวบ้าง มาเป็นตัวของคนบ้าง ความไม่เหมือนจริงทำให้เราสามารถเล่นสนุกกับอีกเลเยอร์ของความหมายได้ ผมพยายามมิกซ์ส่วนประกอบต่างๆ ในเมืองไว้ด้วยกัน”



แบบสเกตช์คาแรกเตอร์คนในเมืองที่เขาทดลองใช้เส้นหลายรูปแบบเพื่อสร้างลักษณะของผู้คนที่มีความแตกต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้



เป็นมิตรด้วยสีโทนเย็น

สีเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างความสดชื่นและทำให้เมืองเป็นมิตรขึ้น

“พอนึกถึงเมืองที่ดีก็จะนึกถึงพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นสีที่สบายตา ภาพรวมของงานจึงออกเป็นโทนสีเขียว แต่นอกเหนือจากความหมายเรื่องเมืองเป็นมิตรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเด่นชัดเมื่อต้องนำไปใช้สื่อสารในงานสิ่งพิมพ์ งานป้าย และงานออนไลน์ด้วย ผมเลยเพิ่มสีเขียวสดเข้ามาอีกสี ส่วนสีอื่นๆ เช่น สีฟ้า สีเขียวตุ่นก็เป็นการเพิ่มน้ำหนักของสีอื่นๆ เข้ามาเพื่อทำให้ภาพรวมดูกลมกลืน ไม่กวนสายตามากเกินไป”



ตัวอักษรซ่อนย่าน

ย่านสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ BKKDW ในปีนี้ขยายขอบเขตออกไปอีกหลายพื้นที่มากขึ้น นัดดาวจึงออกแบบ Key Visual โดยตั้งใจซ่อนความเป็นย่านนั้นๆ เอาไว้อย่างช่างคิด

“BKKDW2023 มีการจัดงานในหลายย่านทั่วกรุงเทพฯ ผมจึงออกแบบโดยคำนึงถึงการนำไปใช้สื่อสารแต่ละย่านด้วย ซึ่งแต่ละย่านมีจุดเด่นที่ทับซ้อนกัน ถ้าจะดึงบางสถานที่มาเป็นตัวแทนทั้งย่านก็อาจจะทำให้สื่อสารยาก เลยเลือกใช้ตัวอักษรย่อจากชื่อของย่านนั้นๆ แล้วมาตัดทอนแบบตัวอักษร จัดองค์ประกอบร่วมกันกับสเปซและสี ซึ่งเชปตัวอักษรที่ถูกย่อจะถูกซ่อนเอาไว้ คนดูอาจจะมองไม่เห็นในทีแรก แต่ถ้าเห็นแล้วก็จะเห็นไปตลอด”



เมืองจะน่าอยู่ เพราะเราทุกคน

นอกจากการใช้งานกราฟิกเพื่อสื่อสารให้คนจดจำภาพของ Bangkok Design Week 2023 แล้ว เทศกาลฯ และนัดดาวยังเห็นตรงกันว่าการทำให้เมืองน่าอยู่เป็นเรื่องของทุกคน และเราสามารถทำให้เมืองดีขึ้นได้จากการลงมือทำเรื่องเล็กๆ เพื่อส่งแรงกระเพื่อมไปยังการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ 

อยากให้ Key Visual ในปีนี้แสดงภาพกว้างที่เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนโดยหวังว่าคนที่เห็นรู้สึกได้ถึงการมีส่วนร่วมแม้จะเป็นเพียงหน่วยย่อยเล็กๆ ก็มีความสำคัญในภาพใหญ่”

Art Director & Illustrator: Nuttapong Daovichitr (Nut)

Assistant: Ployjaploen Paopanlerd (Bamie)

Graphic Designer: Nayada Sangnak (Da)

Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation 

เมือง-มิตร-ดี

4-12 February 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation

แชร์