ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

“เมืองดี-ชีวิตดี สร้างได้”

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

“เมืองดี-ชีวิตดี สร้างได้”

ชวนสำรวจ 6 โปรเจกต์สนุกทั่วโลกที่พิสูจน์ว่า เมือง-มิตร-ดี สร้างได้ 


สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมรอบข้างล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการหล่อหลอมและเติบโตของมนุษย์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ‘เมือง’ จะมีผลทั้งทางบวกและทางลบกับความสุขและการเติบโตของคนเมือง ปัจจุบันการที่ผู้คนต่างย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมืองหลวงหรือเมืองสำคัญมากขึ้น ทำให้คนเมืองเริ่มพบเจอกับปัญหาความวุ่นวายเร่งรีบ รวมถึงความขาดแคลนบางอย่าง แต่ไม่ใช่ว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขไม่ได้ซะเลย 

วันนี้จะชวนสำรวจ 6 โปรเจกต์ทั่วโลก ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่สนุกและท้าทาย เน้นการปรับปรุงปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ภายในเมือง เจาะลึกและแก้ไขปัญหามิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการขนส่ง หรือแม้กระทั่งปัญหาด้านเศรษฐกิจชุมชน ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันแก้ปัญหาของผู้คนตัวเล็กๆ และหน่วยงานน้อยใหญ่ในระดับต่างๆ พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองเป็นมิตร อยู่แล้วแฮปปี้ได้ 

ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันว่าโปรเจกต์เหล่านี้ พวกเขาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงกันได้อย่างไรบ้าง



Project 1 : Solar-Powered Farmers Market  

ตลาดสดที่ยิงนกตัวเดียวได้ทั้งสิ่งแวดล้อมที่ดีและพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน


โปรเจกต์ตลาด Grower’s Market นี้อยู่ที่เมือง Albuquerque ในประเทศ New Mexico โดยปกติตลาดชุมชนหรือ Farmers Market เกิดขึ้นก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนสนับสนุนเกษตรกรหรือผู้ค้ารายย่อยในชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งยังเน้นที่การบริโภคแต่พอดี เลือกใช้ของสดใหม่ตามฤดูกาล การที่เมืองมีตลาดลักษณะนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านหารายได้ พัฒนาธุรกิจรายย่อยของตัวเอง นำไปสู่การเกิดแหล่งท่องเที่ยวได้ท้ายที่สุด 

ตลาดนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่สร้างประโยชน์มหาศาลด้านสิ่งแวดล้อมด้วย  เพราะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งหมดโดยใช้แค่พลังงานธรรมชาติ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คิดเงินไปจนถึงอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงอย่างลำโพงและเครื่องเสียงประกอบเวทีต่างๆ แถมยังมุ่งมั่นลดขยะพลาสติกหรือขยะบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกนโยบายให้ลูกค้าสามารถนำถุงผ้า หรือ บรรจุภัณฑ์สำหรับการใส่สินค้ามาที่ร้านได้เอง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับจุดบริการจอดรถและอำนวยความสะดวกของลูกค้าที่ใช้จักรยานโดยเฉพาะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานแทนการขับรถยนต์มาที่ตลาด เรียกได้ว่าแก้ปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วน 



Project 2 : Oslo เมืองที่ให้ความสำคัญกับระบบการขนส่งสีเขียว

การแก้ปัญหาแบบร่วมมือจากคนตัวใหญ่สู่คนตัวเล็ก


ต้องเกริ่นก่อนว่าในปี 2019 ออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียวของภูมิภาคยุโรปแล้ว แต่หลังจากที่ได้รับเลือกรัฐบาลยิ่งจริงจังกับการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงอุตสาหกรรมหรือภาพใหญ่ในสังคม ลดผลกระทบที่คาร์บอนไดออกไซด์มีต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่เมืองไร้พิษอย่างสมบูรณ์ในปี 2050 ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ออสโลให้ความสำคัญมากคือการผลักดันระบบขนส่งให้ Eco-Friendly มากที่สุด มีการออกนโยบายสนับสนุนให้คนเลิกใช้รถส่วนตัวหรือ หันมาใช้รถไฟฟ้าแทน และระบบขนส่งสาธารณะก็ปรับเปลี่ยนยกเครื่องใหม่เพื่อลด Digital Footprint ต่างๆ ให้มากที่สุด

เพราะเหตุนี้จึงเกิด GreenCharge ในออสโล เป็นสถานีชาร์จไฟที่เกิดจากความร่วมมือในหลายภาคส่วนและหลายเมืองของยุโรป พุ่งเป้าให้จุดชาร์จไฟนี้กลายเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะภายในอพาร์ตเมนต์หรือลานจอดรถสาธารณะ แหล่งไฟฟ้าจะมาจากพลังงานธรรมชาติอย่างแสงอาทิตย์และการจ่ายไฟฟ้าสาธารณะ และในอนาคตไม่ถึง 10 ปีนี้ ออสโลกำลังจะปรับเปลี่ยนแท็กซี่สาธารณะทุกคันให้กลายเป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้าที่สามารถชาร์จงานแบบไร้สายได้ด้วย 

นอกจากนี้รัฐบาลยังผลักดันให้เกิดการปรับพื้นที่บางส่วนในเมืองเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการเดินเท้าของผู้คนแทนรถยนต์อีกด้วย เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม เปิดให้จักรยานและรถขนส่งสาธารณะเท่านั้นที่เข้าพื้นที่ย่านใจกลางเมืองได้ ก่อเป็นแรงกะเพื่อมสู่คนในเมือง ให้สามารถเดินเท้าใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ แข็งแรงขึ้นจากการออกกำลังกาย แต่ก็ยังเข้าถึงระบบขนส่งต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายเช่นเดิม


Project 3 : Restart Project จัดการขยะดิจิทัลแบบ “don’t despair, just repair!”

 โปรเจกต์ที่ทำความเข้าใจบริบทอออนไลน์และดีลกับขยะอิเล็กทรอนิกส์


หนึ่งในประเภทขยะที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากๆ ทั่วโลกช่วงหลังก็คือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เพิ่มมากขึ้นตามการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ของประชากรโลก แต่ขณะเดียวกันความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธีนั้นน้อยมาก บางคนเมื่อต้องการทิ้งก็โยนทิ้งเฉยๆ โดยไม่นึกถึงการนำกลับมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์แง่อื่น จุดบอดตรงนี้ทำให้เกิดโปรเจกต์ Restart Project ที่ประเทศอังกฤษขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา

Restart Project เป็นแคมเปญที่เกิดในปี 2013 จากพลังของเหล่าบุคคลธรรมดาในลอนดอนที่รู้สึกว่าภูเขาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำจัดไม่ได้กำลังจะกลายเป็นปัญหาสังคมขนาดใหญ่ พวกเขาอยากสร้างวัฒนธรรมดิจิทัลในชุมชนแบบใหม่ ที่ผู้คนไม่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียงเพราะชำรุด แต่ซ่อมเพื่อนำกลับมาใช้ หรือ สร้างความสัมพันธ์ สร้างสิ่งของแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยเขาเริ่มทำงานจากการเปิดสอนในชุมชนเล็กๆ ทีละชุมชนเพื่อขยายความรู้ความเข้าใจ สร้างมุมมองใหม่ให้คนเมืองได้เห็นประโยชน์ของชิ้นส่วนเล็กๆ พวกนี้ และมีความมั่นใจที่จะนำวัฒนธรรมแบบใช้ซ้ำ หรือ รีไซเคิลมาใช้ในชีวิตกันมากยิ่งขึ้น 

ตอนนี้กลุ่ม Restart Project ก็ขยายตัวใหญ่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยในปี 2018 มีนักเคลื่อนไหวเพื่อการซ่อมแซมเข้าร่วมเป็นสมาชิกประจำเพื่อการสอนถึง 59 ราย ที่สำคัญคือพวกเขาไม่ได้จำกัดพื้นที่การทำงานอยู่ภายในอังกฤษเท่านั้น แต่ยังจับมือกับเครือข่ายนักเคลื่อนไหวเพื่อการซ่อมแซมในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเปิดอีเวนท์ซ่อมแซมพร้อมให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี สเปน สวีเดน หรือ นิวซีแลนด์ หลักการทำงานไม่ได้โฟกัสเฉพาะในประเทศใหญ่ๆ แต่ให้ความสำคัญกับการไปให้ความรู้ในเมืองเล็กๆ ด้วยเช่นกัน เพราะเชื่อว่าตราบใดที่คนเราเรียนรู้ที่จะซ่อมแซมสิ่งของ ยืดอายุการใช้งานขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ โลกก็จะปลอดภัยจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น



Project 4 :  Rainbow Village ไทจง จากหมู่บ้านทหารผ่านศึกสู่แลนด์มาร์คอันดับหนึ่ง! 

สุดยอดความคิดสร้างสรรค์ Make over บ้านเกิดให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจ


ไอเดียบรรเจิดนี้เกิดขึ้นจากบุคคลคนเดียว นั่นคือคุณปู่ชาวไต้หวัน หวง หย่ง ฟู่ (Huang Yung-Fu) ที่เริ่มเห็นว่าหมู่บ้านทหารผ่านศึกในพื้นที่ห่างไกลที่ตัวเองอยู่นั้นเริ่มเงียบเหงาและทรุดโทรม เพราะคนวัยทำงานเริ่มย้ายถิ่นฐานไปสู่ย่านเศรษฐกิจมากขึ้น นายทุนเริ่มต้องการซื้อและทุบทำลายหมู่บ้านนี้เพื่อปรับปรุงใช้ประโยชน์จากพื้นที่ แต่คุณปู่คิดว่าหมู่บ้านนี้ควรถูกอนุรักษ์และสามารถสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้ คุณปู่ใช้ความสามารถทางศิลปะและเวลาว่างทุกวันเพื่อวาดรูปและระบายสีสันสดใสบนกำแพง แรกเริ่มแค่บ้านของเขาเพื่อแสดงเจตจำนงการรักษาบ้านเอาไว้ แต่หลังจากที่เพื่อนบ้านเห็นก็สนับสนุนให้คุณปู่ระบายสีบ้านทุกหลังที่เหลืออยู่ให้สวยเหมือนกันไปเลย 

สุดท้ายเหตุการณ์นี้ก็นำมาสู่การที่คุณปู่สามารถรักษาบ้านและพื้นที่เหลืออยู่ได้สำเร็จ และไม่ใช่ในนามของหมู่บ้านอันรกร้างทรุดโทรม แต่เป็นในนามของ ‘หมู่บ้านสายรุ้ง’ Rainbow Village ที่ถือว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางวัฒนธรรมด้วย นอกจากนั้นสถานที่นี้ยังกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ป๊อปที่สุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการต่อยอดธุรกิจเชิงท่องเที่ยว รวมถึงร้านสินค้าและงานศิลปะในชุมชนต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต 



Project 5 : The Goods Line สวนที่เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์เชื่อมคนในเมืองไว้ด้วยกัน

ส่งเสริมการเกิดชุมชนและสีสันในเมือง ด้วยการสร้าง Creative Space ประโยชน์จัดเต็ม 


‘คนเมืองมักเงียบเหงาและห่างเหินกว่าคนชนบท’ เหตุที่เรามักคิดแบบนั้นเป็นเพราะการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมักจะส่วนตัวและต่างคนต่างอยู่มากกว่า ดังนั้นเมืองสมัยใหม่จึงมักมีโปรเจกต์ที่ผลักดันและเอื้ออำนวยให้ผู้คนมีพื้นที่สังสรรค์เปิดกว้างด้านกิจกรรมและวัฒนธรรม เพิ่มโอกาสในการรวมกลุ่มสร้างคอนแนคชั่นและเพิ่มสีสันให้กับชีวิต ไม่ให้คนเมืองรู้สึกโดดเดี่ยวหรือเหี่ยวเฉามากไปนัก

นั่นคือไอเดียสำคัญในโปรเจกต์ The Goods Line เมือง Sydney ประเทศออสเตรเลีย ที่ปรับปรุงพื้นที่เลียบทางรถไฟรกร้างเสียใหม่ ให้กลายเป็นสวนและพื้นที่สาธารณะของคนเมือง โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานแบบจัดหนักจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งสำหรับการพูดคุย ไวไฟฟรีสำหรับการทำงานและสังสรรค์ สนามเด็กเล่นที่รองรับเด็กเล็ก ไปจนถึงการโซนสำหรับการเล่นกีฬาและกิจกรรมสันทนาการของคนทุกช่วงวัย กลายเป็นพื้นที่สำหรับความสร้างสรรค์เหมาะกับการจัดกิจกรรมและเทศกาลต่างๆ ผู้คนสามารถพักผ่อนหย่อนใจ หรือ ชักชวนกันมาสร้างกิจกรรม ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ที่สวนแห่งนี้ เรียกว่าเพิ่มความน่าอยู่ของเมืองและต่อยอดพัฒนาได้แบบไม่รู้จบ โครงการนี้จึงไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์พื้นที่ที่ถูกลืมเสียใหม่เท่านั้น แต่เป็นการสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมาเพื่อ Connect ผู้คนในเมืองด้วยเช่นกัน



Project 6 : Superkilen สถานที่ที่โอบรับทุกความหลากหลาย 

Space ใจกลางเมืองที่เกิดมาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม


จะดีกว่ามั้ย ถ้าในเมืองของเรามีพื้นที่ที่สอนให้คนโอบอุ้มและเข้าใจความสวยงามในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์และทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย นี่คือประโยชน์ของโปรเจกต์ Superkilen ในเมือง Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก ที่สร้างและดีไซน์พื้นที่สาธารณะกลางเมืองความยาวกว่าครึ่งไมล์เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นถึงไอเดียที่ว่า “ความงดงามในความแตกต่าง” แท้จริงเป็นอย่างไร 

ในพื้นที่สีชมพูแดงสีสันสะดุดตานั้นจะมีการจัดวางสิ่งของต่างๆ อย่างชาญฉลาด โดยเป็นการนำ 60 ชิ้นงานดีไซน์จากหลากหลายเมืองบนโลกที่มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่แตกต่างกัน มาสร้างพื้นที่พักผ่อนและเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม โดยเน้นเป็นงานศิลปะแบบเซอร์เรียลที่ผู้คนสามารถจับต้องและสัมผัสได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น นำต้นปาล์มพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศจีนมาตกแต่ง มีการจัดแสงไฟนีออนแบบฉบับกาตาร์ตามตึกรอบข้างต่างๆ ม้านั่งในพื้นที่ดังกล่าวก็เป็นม้านั่งที่คุ้นชินจากเมืองลอสแองเจอลิส ทั้งหมดก็เพื่อให้ผู้คนในเมืองเข้าถึงและเห็นความสวยงามของการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในประเทศอื่น 


นี่เป็นเพียง 6 ตัวอย่างของเมืองและพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างน่าสนใจ สามารถช่วยแก้ปัญหามิติต่างๆ ภายในเมืองได้ เชื่อว่าใครหลายคนน่าจะพอเห็นภาพและมีไอเดียคร่าวๆ แล้วว่าจะนำมาปรับใช้หรือออกแบบกรุงเทพฯ ของเราอย่างไรได้บ้าง อย่าลืมส่งเสียงมาบอกกันได้ที่งาน Bangkok Design Week 2023 ที่จะถึงนี้น้า มาช่วยกันสร้าง ‘เมือง-มิตร-ดี’ ในฝันของทุกคนกัน


Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation 

เมือง-มิตร-ดี

4-12 February 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation


แชร์