ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

NICE FOR MOBILITY 'เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง'

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

NICE FOR MOBILITY ‘เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง’

เคลื่อนปัญหาระบบขนส่งด้วยการเริ่มเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ



ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองย่อมเกี่ยวพันกับเรื่องการเดินทางและระบบขนส่งภายในเมือง ยิ่งระบบขนส่งสะดวกสบายและเข้าถึงง่ายมากเท่าไร คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ธีมในปีนี้ของ Bangkok Design Week 2023 อย่าง urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับไอเดียสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของคนเมืองให้สะดวกสบายและปลอดภัย รวมถึงการสร้างประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ที่ง่ายสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนป้ายสัญลักษณ์ของรถขนส่งสาธารณะ การจัดการทางเดินเท้าให้สวยงาม การตรวจสอบเส้นทางให้ง่ายต่อการเดินทาง ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในกรุงเทพฯ


ถึงระบบการขนส่งจะเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ต้องการฟันเฟืองตัวใหญ่อย่างหน่วยงานต่างๆ ช่วยผลักดัน แต่ในฐานะคนธรรมดาและฟันเฟืองตัวเล็กๆ ก็ใช่ว่าเราจะร่วมกันคิดและแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เลย วันนี้เลยอยากมาแนะนำเหล่านักสร้างสรรค์ หรือกลุ่มคนที่ตัดสินใจสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้ทุกคนมีประสบการณ์การเดินทางที่ดีมากยิ่งขึ้น



Mayday ผลักดันขนส่งสาธารณะ แก้ปัญหาหัวใจหลักเพื่อคนกรุงเทพฯ

ระบบขนส่งแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถขนส่งที่บริการผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ แต่รถเมล์ที่ผู้คนทุกระดับชั้นใช้ในการเดินทางก็ยังคงเป็นหัวใจหลักที่เมืองต้องให้ความสำคัญและพัฒนา แต่จากที่ใช้ชีวิตกัน ทุกคนคงทราบดีว่าเส้นทางและป้ายสัญลักษณ์การเดินรถของรถเมล์นั้นมีความเข้าใจยากและจำเป็นต้องใช้ความคุ้นชินในท้องที่สูง ถึงจะเดินทางได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เหตุการณ์ที่เราขึ้นรถเมล์แล้วไม่แน่ใจว่าเลือกเส้นทางได้ถูกต้องไหม พอจะอ่านป้ายศึกษาก่อนขึ้นก็มีข้อมูลไม่ค่อยครบถ้วน กลุ่มคนที่รักรถเมล์และระบบขนส่ง และเชี่ยวชาญในด้านพัฒนาผังเมืองอย่าง Mayday จึงตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมและใช้ไอเดียในการขับเคลื่อนประเด็นนี้


เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงระดับต้นที่ทีมงานได้พัฒนาป้ายข้อมูลเส้นทางการเดินรถไว้ที่ป้ายรถเมล์ และทำสติกเกอร์เส้นทางการเดินรถไว้ที่ตัวรถเมล์ เป็นข้อมูลภาพ (Infographic) ที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย อ่านเข้าใจได้ทุกเพศทุกวัย ผลักดันความสำคัญของการปรับปรุงรถสาธารณะเพื่อรองรับผู้คนที่มีงบประมาณการเดินทางจำกัด ไปจนถึงปัจจุบันที่เพจทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในช่องทางออนไลน์ช่วยแจกจ่ายข้อมูลเส้นทางการเดินรถเมล์ที่สนุกสนานให้ผู้คนเห็นความสำคัญและหันไปเดินทางด้วยรถเมล์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการเล่าข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการให้บริการหรือรูปแบบต่างๆ ของขนส่งสาธารณะในเมืองกรุงเทพฯ โดยพวกเขามีสโลแกนว่า Small Change, Big Move เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน จะสามารถทำให้วันหนึ่งคนกรุงเทพฯ ทุกคนสามารถเข้าถึง ‘ขนส่งสาธารณะ’ ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่ง Mayday กลายเป็นตัวอย่างของการลงมือทำอย่างมุ่งมั่นของคนตัวเล็กๆ ที่ผลักดันทำให้ภาครัฐนำงานออกแบบไปใช้จริง จนกลายเป็นป้ายรถเมล์ที่เราเห็นกันอย่างทุกวันนี้



Wayfinding Bangkok นักสำรวจป้ายเพื่อทุกคน

Wayfinding Bangkok เป็นเพจนักสืบป้ายที่ชอบพาทุกคนไปสำรวจป้ายในเส้นทางต่างๆ ของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ท้องถนน หรือแม้กระทั่งในห้างสรรพสินค้า เป็นการชี้ให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขสนุกๆ เพื่อให้เพื่อนร่วมถนนทุกคนได้รับประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้น โดยนำทักษะด้านการทำภาพกราฟิกเข้ามาเป็นเครื่องมือ ทั้งยังช่วยแนะนำและบอกเล่าเส้นทางการเดินทางให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ อีกด้วย ซึ่งในทางกลับกันเรื่องที่เพจหยิบมานำเสนอ บางทีก็ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นปัญหา และมาร่วมแก้ไขไม่มากก็น้อย



UDDC ผู้ปลุกไอเดีย ‘เมืองเดินได้ เมืองเดินดี’

หน่วยงาน UDDC หรือ Urban Design and Development Center ทำหน้าที่เป็นภาคีที่เชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและนักพัฒนาเมืองทุกท่านมาร่วมศึกษาปัญหาและพัฒนาผังเมืองไปด้วยกัน เพราะเชื่อว่าการฟื้นฟูเมืองเป็นภารกิจสำคัญของทุกคน และสิ่งที่ UDDC ให้ความสำคัญมาก นั่นคือการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนเดินเท้ามากยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในโครงการที่ทำคือ ‘Good Walk’ หรือ ‘เมืองกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี’ หวังเอาชนะปัญหาที่คนเมืองกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคมนาคมขนส่ง การจราจรติดขัด รวมถึงขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง และสามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดย่านเศรษฐกิจใหม่ๆ การท่องเที่ยวและฟื้นฟูวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นขึ้นมาทดแทน


กลยุทธ์ของ UDDC คือการออกแบบให้เกิดพื้นที่นำร่องย่านเดินได้-เดินดีขึ้นมาก่อน นั่นคือ อารีย์-ประดิพัทธ์, ทองหล่อ-เอกมัย และ กะดีจีน-คลองสาน เพราะเนื้อแท้ล้วนเป็นย่านที่มีศักยภาพทางสภาพแวดล้อมและกายภาพแต่เดิมที นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้จริงยังวางแผนการประสานภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ภาคเอกชน หรือภาครัฐ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อนำไปสู่การเกิดพื้นที่ที่สามารถเดินเท้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป



Rabbit Crossing ดูแลและผลักดันกฎหมายทางข้ามเพื่อความปลอดภัย

ประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ‘รถ’ มากกว่า ‘คนข้าม’ มักหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่างๆ ที่บริเวณทางข้าม หรือบนท้องถนน หนึ่งในเหตุการณ์อันน่าเศร้าที่ครอบครัวและผองเพื่อนต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียคนรัก อย่างคุณหมอกระต่าย-พญ.วราลัคน์ จากอุบัติเหตุรถชน ทำให้เพื่อน #หมอกระต่าย ตัดสินใจที่จะรวมกลุ่ม Rabbit Crossing เพื่อทำหน้าที่ผลักดันกฎหมายทางข้าม สนับสนุนให้เกิดทางม้าลายที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงขึ้นในสังคม และสร้างวินัยการจราจรที่เข้มแข็งขึ้นมา หวังส่งเสริมให้ทุกคนกำกับตัวเองอย่างมีสติ และขับขี่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้คนที่อยู่ตามท้องถนน


นอกจากนั้นในเพจยังมีระบบรับแจ้งทางม้าลายที่ไม่ปลอดภัยด้วย เพราะปัญหาเล็กๆ แบบนี้อาจก่อให้เกิดความสูญเสียที่ใครก็ไม่อยากเจอได้ ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นใคร แต่หากเจอกับทางข้ามที่ดูอันตราย หรือสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ก็สามารถแจ้งเข้าไปให้ Rabbit Crossing ช่วยประสานดูแลได้ทันที เรียกว่ามีประโยชน์ต่อสังคมมากๆ เลย



ยานพาหนะทางเลือก ทางออกของคนเมืองและสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการคมนาคมขนส่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองได้เช่นกัน นั่นจึงทำให้ปัจจุบันมีหลายกลุ่ม ทั้งประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดกันมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่อุตสาหกรรมและบุคคล


หนึ่งในนั้นคือแพลตฟอร์ม Muvmi บริการรถตุ๊กๆ ไฟฟ้าที่เรียกได้ผ่านแอปพลิเคชัน ยานพาหนะที่มาให้บริการจะเป็นรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังเป็นระบบ Ridesharing system รถจะแวะรับคนที่ต้องการไปในเส้นทางเดียวกันกับเรา ถึงจะเพิ่มเวลาของผู้เดินทางนิดหน่อย แต่ลดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมไปได้เยอะมาก นอกจากนั้นระบบแชร์แบบนี้ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของผู้เดินทางได้อีกด้วย


หรืออย่าง ETRAN สตาร์ตอัปรุ่นใหม่ที่พัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดขึ้นในประเทศไทย ใช้สโลแกนว่า Drive The Better World โดยตั้งใจให้ทุกคนสามารถมีประสบการณ์การขับขี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องยนต์รองรับการนำไปใช้ในเชิงการทำงานและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังราคาไม่สูงเพราะต้องการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตประจำวันแบบคิดคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แถมยังมีจุดบริการ ETRAN Power Station ที่เปิด 24 ชั่วโมงเพื่อดูแลเรื่องของการเปลี่ยนแบตเตอรี่ ไม่ต้องเสียเวลารอชาร์จ สามารถเปลี่ยนแบตก้อนใหม่เพื่อวิ่งต่อได้ในทันที  


การเปลี่ยนแปลง ระบบขนส่งสาธารณะและปัญหาการจราจรต่างๆ ในกรุงเทพฯในพริบตาเดียวอาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงทีละน้อยย่อมต้องสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินทางของคนเมืองขึ้นมาได้แน่นอน ซึ่งผู้อาศัยอย่างเราทุกคนก็สามารถช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาการเดินทางทั้งหลายให้ทุกคนสามารถมีเมืองที่เดินทางได้ดีขึ้นได้เช่นกัน


ถ้าใครคิดไม่ออกก็เริ่มง่ายๆ จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของตัวเอง ลองสำรวจปัญหาและพื้นที่รอบๆ ด้วยการเดินเท้าและขับขี่อย่างปลอดภัย เข้าร่วมคอมมูนิตี้ที่สนใจประเด็นนี้เพื่อหาแนวร่วม 


หรือถ้าต้องการไอเดียเพิ่มเติมก็สามารถมารับชมกันได้ที่งาน Bangkok Design Week 2023 ธีม urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี ที่จะถึงนี้เลย รับรองมีแรงบันดาลใจ มีทางแก้ปัญหาแบบใหม่แน่นอน


Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation 

เมือง-มิตร-ดี

4-12 February 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation

แชร์