ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

NICE FOR DIVERSITY ‘เป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย’

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

NICE FOR DIVERSITY ‘เป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย’

เมืองที่ดีต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง



สมาชิกทุกคนในเมืองคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองให้ก้าวไปข้างหน้า เมืองที่ดีจะต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร มีความพิเศษและแตกต่างแบบไหนก็ตาม ซึ่งกรุงเทพฯ ก็นับเป็นเมืองหนึ่งที่มีความหลากหลายของประชากรเป็นอย่างมาก เราจึงมีภารกิจร่วมกันในการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยแท้จริง


ความท้าทายสำคัญในการออกแบบเมืองให้ตอบโจทย์ Urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี ที่สามารถโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม อันดับแรกคือต้องทำความเข้าใจคนเหล่านั้นให้ถึงแก่นจริงๆ เสียก่อนที่จะออกแบบโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ให้กับกลุ่มเปราะบางในสังคม เช่น คนไร้บ้าน คนพิการ ผู้สูงอายุ คนว่างงาน ซึ่งจำเป็นต้องสื่อสารอย่างระมัดระวังและการขยายขอบเขตความร่วมมือออกไปในวงกว้าง ให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานเพื่อกลุ่มเปราะบางโดยตรงเท่านั้น



รู้จัก รู้ใจ เข้าใจความแตกต่างของคนในเมือง

วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำความรู้จักผู้คนคือการนั่งลงและเปิดใจพูดคุยกัน เพื่อให้การสนทนาอย่างมีคุณภาพและการรับฟังอย่างไม่ตัดสินนำพาเราไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน หลายครั้งที่การเปิดรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว รวมถึงการเลือกอยู่แต่ในแวดวงเพื่อนเดิมๆ ทำให้เราติดอยู่ใน Echo Chamber และมีมุมมองต่อโลกใบนี้แคบลงอย่างน่าเสียดาย คงจะดีกว่าถ้าเราได้ลองเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดประตูออกไปทำความรู้จักกับคนที่แตกต่างจากเราดูบ้าง 


แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งเพจมนุษย์กรุงเทพฯ www.facebook.com/bkkhumans โดยได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเพจดังระดับโลกอย่าง Humans of New York 


ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ออกไปพูดคุยกับผู้คนรอบเมืองบนความเชื่อว่ามนุษย์เราต่างเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่เรากลับไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสการมีอยู่ของคนที่อยู่นอกแวดวงสังคมของเราสักเท่าไรนัก เราจึงขาดโอกาสในการทำความรู้จักและบ่อยครั้งก็ขัดแย้งกันเพราะความไม่เข้าใจ ขวัญชายจึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตผู้คนที่หลากหลายในกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่ให้คนธรรมดามีโอกาสได้เล่าเรื่องของตนเอง ซึ่งหลายเรื่องราวก็สั่นสะเทือนหัวใจและสร้างแรงกระเพื่อมได้เกินความคาดหมายเลยทีเดียว



เติมเต็มโอกาสและความสุขในชีวิต

เราทุกคนต่างมีชีวิตในฝันแบบที่ต้องการ แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถพิชิตเป้าหมายได้อย่างราบรื่น ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสังคมถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ การครอบครองปัจจัยพื้นฐานเพื่อดำรงชีวิตประจำวันยังแทบจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในสังคมที่ขาดโอกาสและทางเลือก ซึ่งพวกเขาไม่ได้เรียกร้องความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องการโอกาสสำหรับการยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง 


ด้วยเหตุนี้มูลนิธิกระจกเงาที่ริเริ่มทำโครงการเพื่อสังคมมายาวนานตั้งแต่ปี 2534 จึงก่อตั้งโครงการ ‘จ้างวานข้า’ ขึ้นในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 ซึ่งทำให้คนจนเมืองที่เดิมทีก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอยู่แล้วยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีกจากการขาดรายได้ มูลนิธิกระจกเงาจึงเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างคนไร้บ้านและนายจ้างที่ต้องการพนักงานทำความสะอาด โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านและสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพวกเขาเหล่านั้น 


อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ STEPS Community วิสาหกิจเพื่อสังคมและศูนย์ฝึกทักษะอาชีพที่มุ่งเน้นการบำบัดและสร้างอาชีพให้กับเยาวชนที่มีความบกพร่องด้านการพูดหรือภาษา รวมถึงกลุ่มคนที่มีภาวะออทิสซึม ดาวน์ซินโดรม เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและมีทักษะในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน



ให้โอกาสทุกชีวิตในเมือง

เมื่อพูดถึงความแตกต่างหลากหลายในเมืองใหญ่ สมาชิกของเมืองไม่ได้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นอย่าง หมา แมว ตามท้องถนนที่เดินสวนกับเราในทุกๆ วัน และเราก็ไม่อาจทอดทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลังได้ ในระหว่างที่ขับเคลื่อนประเด็นการจัดระเบียบสุนัขจรจัดที่เป็นงานสเกลใหญ่ระดับภาครัฐและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาจารย์ยศพร จันทองจีน ในฐานะคนรักหมาที่คอยช่วยเหลือหมาจรจัดมาโดยตลอด จึงต่อยอดความรักมาเป็นงานวิจัยและออกแบบบ้านพักพิงริมทางสำหรับหมาจรจัดในชื่อโปรเจกต์ ‘จรจัดสรร’ ที่ทำขึ้นจากป้ายโฆษณาเก่า เพื่อให้หมาไร้บ้านได้มาอาศัยเป็นที่หลบแดดหลบฝน และทำให้พื้นที่บริเวณที่หมาจรจัดอยู่อาศัยดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น 


นอกจากนี้ยังมีโครงการสุนัขชุมชน ที่ดูแลสุนัขจรจัดในเขตพื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งนอกจากจะดูแลเรื่องการให้อาหาร อาบน้ำ ฉีดวัคซีนแล้ว ทางโครงการยังออกแบบปลอกคอสื่อสาร 3 สี ทำสัญลักษณ์แบ่งสุนัขออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ปลอกคอสีแดง สุนัขที่ไม่เป็นมิตร ต้องระมัดระวังในการเข้าใกล้ ปลอกคอสีเหลือง สุนัขขี้ระแวงที่จะเป็นมิตรกับคนคุ้นเคยเท่านั้น และปลอกคอสีเขียว สุนัขเฟรนด์ลี่พร้อมเล่นกับทุกคน เพื่อให้คนในชุมชนและคนนอกที่เข้ามาใช้งานพื้นที่มีความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกับสุนัขจรจัดมากยิ่งขึ้น 


นิยามของเมืองที่น่าอยู่ไม่ใช่แค่เมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเท่านั้น แต่ควรเป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชากรทุกชนชั้นหรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สามารถเข้าถึงทรัพยากรและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างทัดเทียม ขอเชิญมาร่วมออกไอเดียและสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคนไปด้วยกันที่งาน Bangkok Design Week 2023


Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation 

เมือง-มิตร-ดี

4-12 February 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation

แชร์