The Making of Haroon Food Market
เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
เรียนรู้อดีต สานต่อปัจจุบัน พาอาหารฮารูณสู่อนาคต
จุดเริ่มต้นจากการเดินทางไปฟู้ดทัวร์ที่ภาคอีสาน แล้วพบกับเกลือท้องถิ่นรสชาติดีแต่ขายได้เพียงกิโลกรัมละไม่ถึงหนึ่งบาท ทำให้ โบ – สลิลา ชาติตระกูลชัย อดีตนักจัดอีเวนต์และปาร์ตี้ เริ่มตั้งคำถามถึงเหตุผลที่วัตถุดิบท้องถิ่นไทยถูกประเมินค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และคิดทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง NOSH NOSH ที่แปลว่าหม่ำๆ ขึ้นในปี 2018 โดยตั้งใจให้เป็น Educative Dining Experience พื้นที่ของการกินไปเรียนรู้ไป ให้คนเมืองหันมาสนใจแหล่งที่มาของอาหาร และให้คุณค่ากับผู้คนที่อยู่ในวงจรการผลิตวัตถุดิบอาหารท้องถิ่นมากขึ้น
Hidden Gems ที่ซุกซ่อนอาหารฮาลาลระดับตำนานไว้
งานล่าสุดของ NOSH NOSH คือการจับมือกับชุมชนมัสยิดฮารูณ ซอยเจริญกรุง 36 จัดงานตลาดนัดอาหารฮาลาลเวอร์ชันพิเศษสำหรับ Bangkok Design Week 2023 โดยภายในงานมีเมนูเด็ดให้เลือกชิมกว่า 30 ร้าน ส่วนใหญ่เป็นสูตรอาหารประจำครอบครัวที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยปี ชุมชนมัสยิดฮารูณเป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ในย่านถนนเจริญกรุง ซึ่งก่อนหน้านี้คนในชุมชนรวมตัวจัดงานตลาดนัดอาหารมาแล้วหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้คึกคัก และอยากเชิญชวนให้มิตรต่างถิ่นเข้ามาทำความรู้จักวัฒนธรรมอาหารในย่านนี้
ภารกิจแรกของโบคือการสำรวจชุมชนและพูดคุยกับคนในพื้นที่ ทำให้พบว่าคนในชุมชนฮารูณส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากทางอินเดียใต้ จึงมีอาหารหลายชนิดที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทว่าสูตรอาหารดั้งเดิมเหล่านี้กลับกำลังค่อยๆ สูญหายไปโดยไม่มีใครสืบทอด “สูตรอาหารประจำครอบครัวของแต่ละบ้านน่าสนใจมาก เป็นอาหารที่หาทานยาก บางอย่างโบไม่เคยทาน เพิ่งมาได้ทานที่นี่ครั้งแรก อย่างขนมบาเยีย ขนมซูยี หรือแกงกะหรี่ปลาที่ตามร้านอาหารอินเดียทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี บางเมนูเขาจะมีเคล็ดลับ เช่น เวลาทอดต้องมีสองกระทะ กระทะนี้ร้อนหน่อย กระทะนี้ไฟอ่อน ต้องทอดกระทะนี้ก่อนแล้วค่อยลงอีกกระทะถึงจะได้สีที่สวยงาม” โจทย์แรกในการออกแบบจึงเริ่มจากการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้สูตรอาหารเหล่านี้คงอยู่ต่อไป
เพิ่มเสน่ห์ให้ตลาดนัดอาหารด้วยงานออกแบบ
นอกจากนี้ ยังมีส่วนของงานอาร์ตส่วนต่างๆ ที่โบคิดว่าน่าจะปรับให้สื่อความหมายได้ดียิ่งขึ้นได้ “ก่อนหน้านี้แต่ละร้านเขาต่างคนต่างออกแบบ ไม่ได้มีดีไซเนอร์จริงจัง เราเลยเข้ามาช่วยดูเรื่องงานอาร์ตในภาพรวม ทำโลโก้ ทำสื่อต่างๆ เช่น วิดีโอโปรโมต หนังสือสูตรลับมรดกอาหาร The Haroon Cook Book เพื่อให้คนที่ยังไม่เคยมาตลาดนัดฮารูณเกิดความสนใจมากขึ้นว่า อาหารแต่ละอย่างปรุงยังไง มีประวัติความเป็นมายังไง ซึ่งอาจจะทำให้เขาสนใจมาเดินตลาดในครั้งหน้าได้”
เพื่อให้งานนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โบจึงชักชวนสองดีไซเนอร์มาร่วมโปรเจกต์ คนแรกคือ แม่น – จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย เจ้าของแบรนด์ The Only Market Bangkok ช่วงโควิดเขาใช้เวลาว่างเรียนรู้เทคนิคการเขียนตัวหนังสือไทยด้วยปากกาหัวตัด และรวบรวมผลงานไว้ในอินสตาแกรม thaipologic โบซึ่งเป็นแฟนคลับงานออกแบบของแม่นอยู่แล้ว จึงชักชวนให้เขามาร่วมออกแบบคำว่า ‘ฮารูณ’ เพื่อนำไปใช้ประกอบร่างเป็นโลโก้ตลาดนัดชุมชน
“แม่นรู้สึกว่าอะไรที่สร้างออกมาจากมือเรา โดยที่เป็นซิกเนเจอร์หรือเป็นลายเซ็นของเรามัน endless สมมติจะเขียนคำว่ารัก แม่นสามารถเขียนได้ร้อยครั้งโดยไม่ซ้ำกันเลยแล้วยังดูเป็นตัวเราอยู่ ต่างกับการใช้ฟอนต์ทั่วไปพิมพ์คำว่ารักออกมา ซึ่งก็แล้วแต่ผู้รับสารว่าเขาจะชอบแบบไหน แต่ในฐานะที่ต้องเป็นคนสร้างสิ่งใหม่เสมอ แม่นรู้สึกว่าฉันต้องสร้างอะไรของฉันขึ้นมาเอง เลยรู้สึกว่าตัวหนังสือที่เขียนด้วยตัวเองมัน unique” ดีไซเนอร์ชื่อดังอธิบายถึงที่มาของความหลงใหลในการเขียนตัวหนังสือไทยด้วยมือ
จากสูตรประจำบ้านสู่ The Haroon Cook Book
อีกคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในโปรเจกต์นี้คือ ต้น – อาสาศักดิ์ อัศวหิรัญสิริ สถาปนิกฟรีแลนซ์ไฟแรง ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มการออกแบบหนังสือ The Haroon Cook Book และอุปกรณ์ตกแต่งสถานที่ให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น “ตอนลงพื้นที่สำรวจตลาดนัดฮารูณ สิ่งที่ต้นชอบคืออาหารที่เขาทำขายเป็นอาหารแบบเดียวกับที่เขาทำกินที่บ้าน บางอย่างใส่เครื่องเยอะมากแต่ขายไม่แพงเลย ยิ่งได้สัมภาษณ์คนในชุมชนยิ่งทำให้รู้สึกว่ากระบวนการกว่าจะได้อาหารแต่ละเมนูมันน่าทึ่งมาก”
โบเสริมเพิ่มเติมว่า ความพิถีพิถันคือเสน่ห์ของอาหารในชุมชนฮารูณ บางเมนูต้องตื่นมาเตรียมตั้งแต่ตี 3 และคนทำจะมีชื่อเรียกว่าช่างแกง “เวลาทำข้าวหมกหรือทำแกง เขาทำเป็นหม้อใหญ่ๆ ใส่ไก่ประมาณ 200 ชิ้น ต้องออกแรงเยอะเลยเป็นหน้าที่ของผู้ชาย การทำอาหารแต่ละอย่างมีความละเอียดประณีตมากๆ ทั้งในการเตรียมเครื่องปรุง ทำความสะอาด หนึ่งในกฎของอาหารฮาลาลคืออาหารต้องสะอาดมากๆ ต้องล้างยังไง ตัดส่วนไหนออกจากเนื้อ ห้ามกินส่วนไหน จะมีคนที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ เลยเป็นที่มาของคำว่าช่างแกง”
นอกจากลงพื้นที่ชุมชนแล้ว โบและต้นยังค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะเก่าแก่ของทางอินเดียใต้เพิ่มเติม เพื่อนำมาออกแบบ Key Visual โดยนำดีไซน์ของช่องหน้ามัสยิดต่างๆ มาจัดวางในลักษณะของ Geometric Graphic Art และเลือกใช้สีหลักที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวที่หมายถึงพระเจ้าและความอุดมสมบูรณ์ สีน้ำเงินที่สะท้อนถึงความลึกของจักรวาล สีทองที่สื่อถึงพระจันทร์และเป็นสีหลังคามัสยิดด้วย สีขาวคือความสะอาดบริสุทธิ์ สีดำเป็นขั้วตรงข้ามเพื่อเตือนสติว่าทุกอย่างมีสองด้าน และสีแดงเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่
“งานทุกชิ้นที่ออกแบบในโปรเจกต์ NOSH NOSH เราจะคิดเผื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้งานต่อได้ อย่างสารคดีที่เล่าเรื่องราวของอาหารและถ่ายทอดบรรยากาศของตลาด ถ้าเผื่อมีงานครั้งต่อๆ ไปแล้วอยากโปรโมต ก็เปิดหรือโพสต์ลงโซเชียลให้คนเห็นภาพแล้วอยากมาเดินได้” โบกล่าวทิ้งท้าย
–
Bangkok Design Week 2023
urban‘NICE’zation
เมือง-มิตร-ดี
4 – 12 FEB 2023
#BKKDW2023
#BangkokDesignWeek
#urbanNICEzation