ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

Making of Re-Vendor เจริญกรุง 32

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

Re-Vendor เจริญกรุง 32

สร้างนิเวศสตรีทฟู้ดใหม่ให้เป็นมิตรกับทุกคน

สตรีทฟู้ดถือเป็นเสน่ห์และสีสันของกรุงเทพฯ ที่ดึงดูดใจนักชิมจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งยังเป็นแหล่งรวมอาหารราคาประหยัดสำหรับคนเดินถนน แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็ยังมีข้อถกเถียงด้านการบริหารจัดการพื้นที่ระหว่างร้านค้า คนกิน และคนเดิน รวมถึงการจัดการของเสียและความสะอาดที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและเมือง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA จึงคิดทำโมเดลทดลองการจัดการสตรีทฟู้ดริมทางย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอยเจริญกรุง 32 โดยร่วมกับ Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ ภาควิชา Communication Design หลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหาแนวทางในการจัดการสตรีทฟู้ดให้ดียิ่งขึ้นตามบริบทและข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่ 


ฟิวส์ – นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Cloud-floor เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “โครงการนี้ริเริ่มโดยทาง CEA ที่เห็นว่าพื้นที่ในซอยเจริญกรุง 32 ซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงาน คนในสำนักงานเองก็ไปกินข้าวกันอยู่บ่อยๆ ใช้ชีวิตเดินผ่านทุกวัน เรียกได้ว่าใช้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกัน เลยมีแนวคิดที่จะพัฒนาการจัดการสตรีทฟู้ดตรงนี้เพื่อให้มีระบบนิเวศที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านความสะอาด การจัดการพื้นที่ ทัศนียภาพ ไปจนถึงการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชนร้านค้าแห่งนี้ และเผื่อว่าจะเป็นโมเดลที่สามารถพัฒนาไปต่อได้ในการจัดการกับพื้นที่อื่นๆ ได้ในบางประเด็นอีกด้วย โครงการจึงทดลองดูว่าจะสามารถปรับปรุงปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้างเกี่ยวกับผู้ค้ารถเข็นที่อยู่ข้างซอย เราดึง Stakeholders ที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน ทั้งภาครัฐ ตัวแทนเทศกิจ ตัวแทนผู้ค้า และนิสิต CommDe จุฬาฯ กับคนของ CEA ที่เป็นตัวแทนผู้ซื้อ ผมเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเลยว่าสตรีทฟู้ดยังควรมีอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า ก็ได้คำตอบที่ค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ว่า “ควรมีอยู่” เพราะเป็นแหล่งอาหารราคาประหยัด หาซื้อง่าย แต่จะมีในรูปแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับบริบทที่เฉพาะเจาะจงของสถานที่นั้นๆ”

 

“พื้นที่ซอยเจริญกรุง 32 เป็นซอยตัน ปริมาณการเดินสัญจรของคนในซอยค่อนข้างน้อยมาก คนที่เข้ามาใช้พื้นที่หลักๆ คือเข้ามากินอาหารตอนกลางวัน หรือใช้เป็นทางลัดเดินทางไปย่านอื่นในซอยเจริญกรุง บริบทของพื้นที่จึงต่างจากฟุตพาทของถนนหลักที่มีผู้คนสัญจรค่อนข้างเยอะ แบบนั้นมักจะมีคอนฟลิกต์ว่าพื้นที่ตรงนี้ควรใช้สำหรับคนเดินเป็นหลัก ผู้ค้าควรจะเป็นรอง” ฟิวส์อธิบายถึงสภาพพื้นที่

 

Case Study น่าสนใจจากต่างประเทศ

“ถ้าทุกคนอยากให้สตรีทฟู้ดยังมีอยู่ เราลองมาดูว่ามี Case Study อะไรที่จะส่งเสริมพื้นที่ตรงนี้ได้บ้าง อย่างโมเดล Hawker Centres ประเทศสิงคโปร์ ซอยเจริญกรุง 32 ทำไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นที่เอกชนข้างเคียงที่สามารถทำกลไกในการเช่าได้ โดยหลักการเราต้องหาพื้นที่ที่ใกล้เคียงของเดิม ไม่งั้นถ้าไปไกลหรือเข้าซอยลึกขึ้น ผู้ซื้ออาจจะไม่สะดวก ผู้ขายก็ไม่มั่นใจในการขาย”

 

“ถัดมาคือของไต้หวัน เขาจัดการโดยการย้ายผู้ค้าจากถนนเส้นหลักไปอยู่ในซอยหรือถนนเส้นรองช่วงกลางคืนแทน เพื่อไม่ให้รบกวนการเดินสัญจรของคนทั่วไป เรารู้สึกว่าถ้าเอามาปรับใช้กับกรุงเทพฯ โมเดลนี้จะเป็นการผ่อนผันในช่วงรอยต่อระหว่างที่ภาครัฐหาพื้นที่ทำ Hawker Centres ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ก็ดันผู้ค้าทั้งหมดให้เข้าไปอยู่ในซอยและจัดระเบียบ”

 

“แบบที่สามคือโมเดลของเกาหลีใต้ที่ใช้เรื่องการจัดการกับการออกแบบเข้ามาแก้ปัญหา สตรีทฟู้ดที่นั่นจะตั้งเป็นเต็นท์บาร์เรียกว่า โพจังมาจา ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนมากๆ คือเขาจะกำหนดรูปแบบ สี และจุดที่สามารถตั้งได้ หน้าหนาวเอาผ้าใบลงมาปิดกันหนาวได้ หน้าร้อนก็เอาขึ้นไป คนที่จะมาขายของบนท้องถนนต้องลงทะเบียนกับรัฐก่อนเพื่อให้ติดตามได้ และผ่านการอบรมผู้ค้าก่อน 1 ปี เพื่อให้มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตัวต่อพื้นที่สาธารณะ”

 

นำโมเดลที่ศึกษามาปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่

“ทีมเรารู้สึกว่าโมเดลของเกาหลีใต้น่าสนใจ เพราะรูปแบบคล้ายเดิมที่พ่อค้าแม่ค้าในไทยทำกันอยู่แล้ว เต็นท์สำเร็จรูปหาซื้อได้ง่าย ผู้ค้าสามารถบำรุงรักษาเองได้ ส่วนผ้าใบที่เขาใช้กันหนาว เราก็เอามาใช้สำหรับการปิดร้านให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ประเด็นแรกที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องการสื่อสาร เพราะปัญหาที่เจอจากการคุยกับผู้ค้าและภาครัฐคือกฎระเบียบในไทยค่อนข้างกำกวม บางทีมีคนใหม่เข้ามาค้าขายก็ใช้วิธีบอกต่อๆ กัน ซึ่งมันมีโอกาสคลาดเคลื่อน เราเลยลองออกแบบ ‘คู่มือผู้ค้าริมทาง’ ขึ้นมา ด้านในจะมีรายละเอียดของข้อตกลงร่วมกันและข้อปฏิบัติเพื่อชุมชนที่เป็นมิตรยิ่งขึ้น ข้อมูลการรักษาสุขอนามัย ข้อมูลการแยกขยะ ข้อมูลการจัดเก็บร้านเพื่อทัศนวิสัยของสาธารณะ”

 

จัดระเบียบความสะอาดและส่งเสริมอัตลักษณ์

“ถัดมาเป็นเรื่องการจัดการความสะอาดของพื้นที่ ปัญหาที่พบคือผู้ค้าส่วนใหญ่ล้างจานโดยเทลงพื้นเลย ไม่มีการบำบัดน้ำเสียหรือดักไขมันก่อน เราจึงเข้าไปให้ความรู้ในการลดและคัดแยกขยะ ให้ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อช่วยกันแยก ไม่ได้ผลักภาระไปที่ผู้ค้าอย่างเดียว มีการติดตั้งบ่อดักไขมันและที่กรองเศษอาหารเพื่อไม่ให้ท่ออุดตัน และส่วนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องของกายภาพ เช่น ร่ม เต็นท์ จะทำยังไงให้ผู้ค้ารักษากฎร่วมกันได้ ไม่วางล้ำเขตที่กำหนดไว้ รถจะได้วิ่งสวนกันได้”

 

“สุดท้ายเป็นเรื่องการปรับปรุงบริการและส่งเสริมอัตลักษณ์ด้วยงานออกแบบ เพื่อช่วยให้ร้านค้าพัฒนาตนเองได้ เช่น ใบรายการเมนูภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติ ทำจุดยืนรอคิวให้ชัดเจน และเพิ่มการตกแต่งสถานที่ สร้างจุดเด่นส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับซอยเจริญกรุง 32 เพื่อเสริมการท่องเที่ยวและเสริมบรรยากาศ ซึ่งสิ่งที่เราทำก็คือการตกแต่งกำแพงและสกรีนผ้าใบ โดยงานออกแบบทั้งหมดมาจากนิสิต CommDe จุฬาฯ ที่มาร่วมทำโครงการกับเรา”

 

สิ่งที่ Re-Vendor เจริญกรุง 32 ลงมือทำช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ถือเป็นเฟสแรกของโปรเจกต์เล็กๆ กึ่งทดลองที่ทำภายใต้ข้อจำกัดของระยะเวลาและงบประมาณ โดยในเฟสแรกได้ทำเรื่องการจัดการพื้นที่ให้ร้านค้าเข้าใจกติกาตั้งร้านและเก็บร้านให้อยู่ในขอบเขตที่ตกลงร่วมกัน มีการติดตั้งถังดักไขมันให้กับ 9 ร้านค้า เกิดพื้นที่ซักล้างร่วมกัน 1 จุด มีการเริ่มต้นให้แยกขยะทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจทีเดียว พ่อค้าแม่ค้าหลายคนเล่าว่าลูกค้าชมว่าร้านดูดีและสะอาดขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ส่วนทางสำนักงานเขตที่รับผิดชอบพื้นที่ก็มีนโยบายจะผลักดันการจัดระเบียบสตรีทฟู้ดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชุมชน เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘เมือง-มิตร-ดี’ ที่ร้านค้าริมทางอยู่ร่วมกับเมืองได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย



Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation

เมือง-มิตร-ดี

4 – 12 FEB 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation

แชร์