ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

The Making of A49

49 & FRIENDS ชุมชนนักสร้างสรรค์ที่จับมือกันพัฒนาย่าน

 

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้มีย่านใหม่เพิ่มเข้ามาสร้างสีสันหลายย่าน หนึ่งในนั้นคือ ‘พร้อมพงษ์’ ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ที่มีชุมชนนักออกแบบซ่อนตัวอยู่ในซอยสุขุมวิท 26 โดยออฟฟิศของบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด หรือ A49 ก็ตั้งอยู่ที่นี่เช่นกัน ในปี 2566 A49 บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมแถวหน้าของเมืองไทยเดินทางมาถึงวาระครบรอบ 40 ปี จึงมีความคิดที่จะร่วมแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ ทั้งยังชักชวนมิตรสหายจากสตูดิโอข้างเคียง มารวมตัวกันจัดกิจกรรมในเทศกาลฯ ภายใต้ชื่อ 49 & FRIENDS

 

พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบและเทคโนโลยี

ดร.กอล์ฟ – ณรงค์วิทย์ อารีมิตร Executive Director บริษัท A49 และ Regional Manager A49 ขอนแก่น บอกเล่าถึงภาพรวมของโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ว่า ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป สิ่งที่ A49 ศึกษาและลงมือทำมาโดยตลอดคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ ซึ่งสอดคล้องกับธีมงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ที่โฟกัสกับประเด็น Urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายได้มาร่วมงานกัน

 

“ผมคิดว่า Vision ของบริษัทเรากับ Bangkok Design Week พูดตรงกัน การร่วมงานกันน่าจะช่วยดึงคนให้มาทำความเข้าใจกับเรื่องการพัฒนาเมืองได้มากขึ้น แต่ถ้าเราทำคนเดียว Impact อาจจะไม่ใหญ่ หากมีคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันเพิ่มมากขึ้น เราน่าจะได้เห็นอะไรที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งในซอยสุขุมวิท 26 นอกจากออฟฟิศของ 49 Group แล้ว เวิ้งนี้ยังมีกลุ่มดีไซเนอร์อีกเยอะตรงโกดังที่เรียกว่า Warehouse 26 มีคนเก่งๆ จากสตูดิโออื่นอีกมากมาย เราเลยชวนเพื่อนๆ นักออกแบบมาพูดคุยกันว่า เราจะช่วยกันทำย่านนี้ให้ดีขึ้นยังไงได้บ้าง”

 

Warehouse 26 ประกอบไปด้วยโกดังเก่าที่รีโนเวตอย่างสวยงามให้เป็นออฟฟิศ สตูดิโอ โชว์รูมสินค้าดีไซน์ และร้านอาหารน่านั่งหลายร้าน แต่เนื่องจากเป็นสถานที่ทำงานของกลุ่มนักออกแบบ คนภายนอกหรือนักท่องเที่ยวจึงไม่ค่อยมีโอกาสเข้ามาสัมผัสไลฟ์สไตล์ของผู้คนในเวิ้งนี้เท่าไรนัก การจัดงานเทศกาลฯ จึงเป็นเสมือนการเปิดบ้านต้อนรับผู้คนใหม่ๆ ให้เข้ามาทำความรู้จักกับชุมชนนักออกแบบใจกลางกรุง ผ่านหลากหลายกิจกรรม ทั้งนิทรรศการ เสวนา กิจกรรม Open House และทัวร์ชมพื้นที่ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจุดประกายให้ชุมชนนักออกแบบสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นย่านสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

 

ปรับปรุงระบบแสงสว่างเพื่อซอยที่น่าอยู่ขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์ทดลองน่าสนใจอย่าง 49 & FRIENDS: LUMINOUS 26 ที่เกิดขึ้นจากโจทย์ว่า ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบทำให้พื้นที่ที่เราอยู่อาศัยดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง โดยจุดเด่นของซอยสุขุมวิท 26 คือเป็นซอยที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เป็นข้อดีที่ทำให้หลายคนจดจำซอยนี้ได้ แต่ยามค่ำคืนทางเดินจะค่อนข้างเปลี่ยวและมืด เพราะระบบไฟส่องสว่างไม่ได้ออกแบบร่วมกับการมีอยู่ของต้นไม้ใหญ่มาตั้งแต่ต้น แสงจึงถูกบดบังด้วยกิ่งก้านของต้นไม้

 

“ถ้ามีโอกาสเข้ามาที่ซอยสุขุมวิท 26 จะเห็นว่ามีความแตกต่างกับซอยข้างเคียงค่อนข้างมาก ซอยนี้มีต้นไม้เต็มไปหมดทั้งสองฝั่งจนเขาเรียกกันว่าอุโมงค์ต้นไม้ เป็นเอกลักษณ์ที่ชุมชนอยากรักษาไว้ให้ดีที่สุด แต่การที่ต้นไม้แผ่กิ่งก้านออกมาเยอะมันก็บดบังแสงสว่างตอนกลางคืน ทำให้บางโซนในซอยมืดกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการบอกว่ามืดหรือไม่มืดไม่ได้ใช้แค่ความรู้สึก แต่ทีมของเรามีเครื่องมือวัดปริมาณแสงออกมาเป็นตัวเลขเลย เพราะเราเชื่อเรื่องข้อมูลที่แท้จริง”

 

“ประเด็นถัดมาคือเราจะเพิ่มแสงสว่างยังไงได้บ้าง ทุกคนคงคิดว่าแค่เอาไฟติดเข้าไปมันก็ช่วยแล้ว แต่ในมุมมองของบริษัทสถาปนิกที่มีแผนกเทคโนโลยี เราตั้งคำถามต่อว่าการติดตั้งไฟมีเรื่องอะไรที่ควรระมัดระวังบ้าง เช่น แสงอาจรบกวนสายตาคนขับรถจนเกิดอุบัติเหตุได้ หรือถ้าเปิดไฟทั่วพื้นที่ตลอดเวลาจะสิ้นเปลืองหรือเปล่า จึงนำไปสู่การตั้งโจทย์ว่าเป็นไปได้ไหมที่ไฟจะเปิดเฉพาะตอนคนเดินผ่าน แล้วให้ตำแหน่งของไฟเคลื่อนที่ตามจุดที่คนเดินไปด้วย เพื่อทำให้การเปิดไฟไม่รบกวนคนอื่น และควรเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ปริมาณไฟฟ้าไม่มากนัก”

 

จากไอเดียดังกล่าว 49 & FRIENDS: LUMINOUS 26 จึงถูกพัฒนาออกมาเป็น Tracking & Object Recognition ระบบแสงสว่างที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของคนเดินถนนและรถยนต์ยามค่ำคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบแสงจะถูกติดตั้งไว้ใต้เลเยอร์ของต้นไม้ เมื่อมีคนเดินผ่านจะปรากฏคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนน่ารักๆ ทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทาง จึงได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของฟังก์ชันและยังช่วยเติมสีสันให้ย่านมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย

 

“จะเห็นว่าการออกแบบทางเดินไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยอย่างเดียว แต่มีเรื่องบรรยากาศและความสวยงามด้วย ถามว่าสิ่งที่เราทำเป็นทางแก้ปัญหาที่ภาครัฐสามารถนำไปใช้ได้โดยตรงไหม ก็อาจจะยังไม่ใช่เสียทีเดียว แต่เป็นตัวอย่างความพยายามในการแก้ปัญหาชุมชนด้วยงานออกแบบ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต ถือเป็นโปรเจกต์ทดลองที่เราทำขึ้นเพราะอยากรู้ว่าอะไรดีไม่ดี จากนั้นเราจะเก็บข้อมูลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีประเด็นไหนที่ดีอยู่แล้ว ประเด็นไหนนำไปปรับปรุงได้ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์อีกทีก่อนนำไปขยายผลเพื่อใช้แก้ปัญหาสังคมในวงกว้าง” ดร.กอล์ฟกล่าวทิ้งท้าย




Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation

เมือง-มิตร-ดี

4 – 12 FEB 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation

แชร์