ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

AP MAK OMKOI

Omkoi Lacquer Bamboo Waving.

ภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเขินกะเหรี่ยงโปว์ Omkoi Lacquer Bamboo Weaving เรียนรู้ภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเขินกะเหรี่ยงโปว์ เครื่องเขินของชาวกะเหรี่ยงโปว์มีอัตลักษณ์และความหลากหลายตามหน้าที่การใช้สอยที่แตกต่างกัน ทั้งถ้วย จาน ถาด และแอ็บหมาก ยังคงนิยมใช้อยู่ทุกครอบครัว มีลักษณะเรียบง่าย ทารักสีดำเพื่อให้กันน้ำหรือของเหลวได้ ผลิตภัณฑ์เครื่องเขินส่วนใหญ่จะผลิตใช้เองในครอบครัวและขายให้กับหมู่บ้านใกล้เคียง การพัฒนารูปทรงส่วนใหญ่เน้นที่ขนาดของภาชนะให้มีขนาดต่างๆ ส่วนบรรจุภัณฑ์ใช้ใบไม้ตระกูลคล้าขนาดใหญ่ห่อหุ้ม กระบวนการจักสานงานเครื่องเขินและลงรัก ขั้นตอนการจักสาน 1. วัสดุอุปกรณ์ 1.1 ไม้ไผ่ ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ต๋อม ใช้ไม้ไผ่บงที่มีอายุ 2-3 ปี โดยเลือกลำที่มีข้อยาวในการนำมาจักสาน เนื่องจากไม้ที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปเป็นช่วงที่เนื้อไม้มีความเหนียว แข็งแรง และยากต่อการกัดกินของแมลง 1.2 มีดตัดและมีดจักตอก มีดตัดต้องเป็นมีดขนาดใหญ่ คมและหนักเพื่อใช้ตัดลำต้น ผ่า ฝานเนื้อไม้ให้ได้ขนาดตามต้องการ มีดจักตอกเป็นมีดขนาดเล็ก สั้น และมีด้ามยาวเพื่อให้ถนัดต่อการหนีบใกล้ตัว มีดจักตอกจะมีความบางเพื่อให้จักตอกออกมาได้บาง เส้นเล็ก ง่ายต่อการจักสาน 1.3 ต้นแบบไม้หรือโมเดล ต้นแบบสร้างจากไม้กลึง กลึงเป็นรูปทรงภายนอกของรูปทรงภาชนะหรือผลิตภัณฑ์ 2. ขั้นตอนการจักสาน 2.1 เส้นหลักหรือเส้นแกน ไม้ไผ่เส้นนี้จะเป็นไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นหนาและแข็งแรง เนื่องจากจะเป็นเส้นที่คอยพยุงรูปทรงของเครื่องจักสานให้คงรูป ส่วนใหญ่เส้นแกนจะมีจำนวนคู่และวางทับกันตั้งแต่ 8 เส้นขึ้นไปก่อนที่จะสานเส้นนอน ความยาวของเส้นแกนนับจากจุดศูนย์กลางจะเป็นตัวกำหนดความกว้างและความสูงของภาชนะหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ หากต้องการผลิตภัณฑ์หรือภาชนะที่มีขนาดใหญ่ เส้นแกนต้องใหญ่ขึ้นและมีขนาดความยาวที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 2.2 เส้นรองหรือเส้นนอน เส้นนอนจะเป็นตอกเส้นที่มีขนาดเล็กและละเอียด ยิ่งเล็กเท่าไหร่จะทำให้เครื่องจักสานสวยงามและมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การใช้เส้นนอนในการสานของบ้านแม่ต๋อมจะใช้เส้นนอนสานสลับและไขว้กันทั้งหมด 3 เส้นเพื่อยึดให้เส้นตอกไม่หลุดหรือดีดออกจากวงของภาชนะ จนถึงด้านบนของตัวภาชนะจะเป็นการสานด้วยลวดลายที่ละเอียดขึ้นเพื่อคุมไม่ให้ปากของภาชนะเสียหายจากการใช้งาน ขั้นตอนการผลิตงานเครื่องเขิน 1. การกรองยางรัก การกรองยางรักจะใช้ตาข่ายไนลอนในการแยกเศษเปลือกและใบหลังจากเทน้ำยางออกจากกระบอกรองน้ำยาง หลังจากนั้นจะกรองน้ำยางโดยใช้ขาตั้งที่มีการสร้างขึ้นมาเฉพาะ โดยมีขั้นลำดับของการขึงผ้า ชั้นบนสุดนำมาผ่านตาข่ายไนลอน ชั้นกลางผ้าไหมแก้ว ชั้นล่างผ้าชีฟองหรือผ้าต่วน เพราะการกรองแบบไล่ระดับความละเอียดของผ้าเพื่อให้ได้น้ำยางที่มีความละเอียดและเก็บเข้าภาชนะปิดสนิทและบันทึกปริมาณน้ำยางบริสุทธิ์ ข้อควรระวัง การกรองยางรักจะกรองในวันที่มีแสงแดดจัดเพื่อให้แสงแดดช่วยในการไหลของน้ำยางผ่านผ้ากรองและช่วยในการขจัดน้ำฝนที่เจือปนมากับยางรักอีกด้วย อย่างไรก็ตามก่อนนำยางรักมาใช้จะต้องผ่านการกรองด้วยผ้าที่มีความละเอียดหรือกระดาษกรองเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้น้ำยางที่มีคุณภาพและดีที่สุดเพื่อนำมาสร้างผลิตภัณฑ์ ยางรักเมื่อถูกเปิดในขั้นตอนกระบวนการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ เมื่อสัมผัสอากาศจะเกิดตะกอนเป็นเกร็ดเล็กๆ ที่มองไม่เห็นจึงต้องมีการกรองใหม่เสมอก่อนนำมาใช้ โดยช่างจะคำนวณปริมาณการใช้ในแต่ละครั้ง โดยจะไม่มีการกรองเผื่อไว้ ที่ผ่านมาชาวบ้านจะกรองยางรักด้วยผ้ามุ้ง 1 ชั้น และนำไปเคลือบภาชนะ ซึ่งเนื้อยางรักที่ได้ยังมีเศษทรายและตะกอนเล็กๆ ปะปนอยู่ แต่เนื่องจากภาชนะที่ใช้งานต้องการเพียงแค่ความสามารถในการกันน้ำและเพิ่มความทนทาน ชาวบ้านจึงทายางรักลงบนภาชนะจักสานโดยตรง ลักษณะของผิวภาชนะจึงยังคงความหยาบของไม้ไผ่และเศษตะกอนจากยางรัก วัสดุและอุปกรณ์ 1.1 ตาข่ายไนลอนสีฟ้าตาห่าง 1.2 ตาข่ายไนลอนตาละเอียด 1.3 ผ้าไหมแก้ว ผ้าชีฟองหรือผ้าต่วน อย่างใดอย่างหนึ่ง 1.4 สำลีหรือกระดาษสาสุโขทัย 1.5 ถังสำหรับใส่ยางรักบริสุทธิ์ 1.6 ไม้ไผ่หรือเหล็กเพื่อทำโครงขึงตาข่ายและผ้า 1.7 เชือกผ้าหรือเชือกฟาง 1.8 ไม้กวนยางรัก 1.9 ถุงมือยางแบบหนา การจัดเก็บยางรักหลังการกรองจะต้องจัดเก็บอย่างรวดเร็ว โดยให้สัมผัสอากาศน้อยที่สุดเพื่อลดการเกิดภาวะยางรักเป็นเกร็ดจากการสัมผัสอากาศ 2. การเตรียมสมุกรัก สมุกรักมีหน้าที่ปกปิดจุดด้อยของพื้นผิว เช่น รูรั่ว รอยยุบตัว เส้นลายไม้หรือข้อบกพร่องอื่นๆ ที่จะทำให้พื้นผิววัสดุไม่เรียบเนียน สมุกรักมีทั้งหมด 2 ระดับ คือ สมุกหยาบ และสมุกละเอียด สมุกหยาบเกิดจากการนำรักขี้หมูหรือรักขี้ไก่ซึ่งเราเรียกว่า รักพื้น รักพื้นจะมีสีเทาหรือเหลืองแล้วแต่ฤดูกาลในการเจาะกรีด ในเชิงช่างจะไม่นำรักพื้นมาทาเคลือบเด็ดขาด เนื่องจากยางรักจะไม่ดำสนิทและไม่มีความดำเงา นำมาผสมกับอิฐ ดินนา เผาไฟแล้วบดหรือตำให้ละเอียดแล้วนำมาคลุกกับรักให้เป็นเนื้อเดียวกัน ใช้เกรียง ไม้ฉาบ หรือวัสดุที่มีลักษณะแบน ฉาบบริเวณพื้นผิวที่จะใช้สร้างชิ้นงาน หลังจากฉาบพื้นผิวทั้งหมดแล้วทิ้งไว้ในที่แห้งไม่มีแสงแดดเป็นเวลา 3 วันแล้วนำมาขัด ขัดเสร็จให้ทิ้งไว้อีก 1 วัน สมุกละเอียดเป็นสมุกที่ใช้ใบตองแห้ง หญ้าคาแห้ง หรือแกลบจากเปลือกข้าว นำไปเผาเพื่อให้ได้เถ้าสีดำซึ่งเรียกว่าเถ้าดิบ แล้วนำมาบดหรือตำให้ละเอียดผสมกับรักขี้หมูหรือรักขี้ไก่ฉาบชั้นบนของพื้นผิวต่อจากสมุกหยาบ หลังฉาบเสร็จทิ้งไว้ 3 วัน ตากไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกแสงแดดแล้วจึงมาขัดให้เรียบเนียน หลังจากการขัดเสร็จทิ้งไว้ 1 วันเตรียมนำมาลงพื้นในขั้นตอนต่อไป ปัจจุบันส่วนผสมของสมุกได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยมีส่วนผสมได้แก่ ยางรัก ดินสอพอง และน้ำสะอาด วิธีผสม นำดินสอพองผสมน้ำเล็กน้อยให้พอเป็นครีมแล้วคนให้ละลายจนทั่วเป็นเนื้อเดียวกัน โดยดินสอพอง 500 กรัม ใช้น้ำ 150 กรัม นำยางรักปริมาณ 250 กรัมลงผสม คนให้เข้ากัน แล้วพักไว้ 30 นาที ก่อนนำไปใช้งาน 3. การทารักสมุก หลังจากผสมรักสมุกเรียบร้อยแล้ว รักสมุกจะมีเนื้อเนียนละเอียดสามารถนำมาทาพื้นได้ โดยใช้แปรงขนสัตว์หรือแปรงทากาวหรือไม้ฉาบ การทารักสมุกจะทาครั้งละด้านเท่านั้น เช่น ทาด้านนอกแล้วพักไว้ 3 วันให้แห้งแล้วอีก 3 วันถึงจะทาด้านในแล้วพักไว้ 7 วันเพื่อให้แห้งสนิทจึงจะนำมาขัดได้ หากรักสมุกไม่แห้งสนิทจะขัดไม่ได้ เหนียวติดมือ ขั้นตอนการทารักสมุกจะต้องทาให้เรียบเนียนเพื่อให้ใช้เวลาขัดให้น้อยที่สุดเพื่อประหยัดเวลาและกระดาษทรายที่ใช้ 4. การขัดรักสมุก สมุกรักเมื่อแห้งแล้วจะมีความแข็ง การขัดจะต้องใช้กระดาษทรายเบอร์ 280 ขัดร่วมกับน้ำเพื่อลดแรงเสียดทาน และทำให้ขัดได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถขัดพร้อมกันได้ทุกส่วน เมื่อขัดแล้วให้ผึ่งทิ้งไว้ 1 คืน จึงลงพื้นด้วยยางรักขั้นต่อไป 5. การทารัก หลังจากได้ชิ้นงานที่ฉาบด้วยสมุกรักเป็นที่เรียบร้อย จะเป็นการเตรียมการลงรักกลาง รักกลางในที่นี้จะต้องทำการกรองเอาสิ่งสกปรกออกและกรองให้มีความละเอียดทาลงให้ทั่วด้วยแปรงขนสัตว์ ทิศทางในการทาให้ทาไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ทาวนหรือทาสลับบนล่างเป็นอันขาด เนื่องจากจะทำให้เกิดริ้วรอยที่ไม่เรียบ ไม่สวยงาม คุณสมบัติของรักกลางไม่ได้ทำให้เกิดความเงางามดำขลับของงานรัก จึงมีความจำเป็นต้องลงรักกลาง 2-3 ครั้งขึ้นไป และรักกลางมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือประสานยึดเกาะสมุกรักไว้ให้แข็งแรงมากขึ้น การลงรักกลางในแต่ละชั้นจะต้องรอให้แห้งสนิทและมีความแข็งอย่างน้อยชั้นละ 3 วัน จึงจะนำมาขัดด้วยกระดาษทราย โดยใช้น้ำเป็นตัวสร้างความลื่นลดแรงเสียดทานระหว่างการขัด โดยครั้งสุดท้ายของการลงรักกลางจะเป็นตัวบอกได้ว่าพื้นผิวเรียบเนียนจนสามารถลงรักเงาได้ ข้อสังเกตคือพื้นผิวจากการลงรักกลางหลังขัดจะต้องไม่มีรอยตามดหรือรอยหลุมใดๆ ดังที่กล่าวในเบื้องต้น รักกลางจะช่วยประสาน สมานพื้นผิวให้มีความเรียบเนียน อาจจะต้องยางรักกลาง 2 ครั้งขึ้นไปเพื่อให้พื้นผิวมีความสวยงามก่อนลงรักเงา รักเงา การทารักเงาจะเรียกว่าการชักรักหรือการชักเงาซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายและต้องระมัดระวังมากที่สุดเนื่องจากจะไม่มีการขัดพื้นหลังจากนี้อีกแล้ว ความเงางามและดำขลับจะอยู่ในขั้นตอนนี้เท่านั้น ข้อควรระวังคือห้ามโดนฝุ่นหรือแสงแดด การชักรักจะต้องมีความชำนาญหากยางรักมากเกินไปจะทำให้รักย้อยเป็นเส้น หากน้อยเกินไปจะทำให้พื้นผิวผลิตภัณฑ์ไม่เรียบเนียน ในทุกขั้นตอนจะต้องระวังการโดนแสงแดด การโดนฝุ่นเพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่มากขึ้น 📍 Creative Market (โซน DIY Workshop) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง, ลานจตุรัสไปรษณีย์
ผู้จัดรายการ/วิทยากร
  • นายภูมิรพี คงฤทธิ์
  • นางเทพี ปู่จันทร์
  • นายจำลอง ปู่จันทร์