รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : บางโพ
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : บางโพ
“สร้างคุณค่าใหม่ให้ถนนสายไม้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ ด้วยฝีมือของช่างไม้ไทยระดับตำนาน”
หากย้อนกลับไปพูดถึง ‘ย่านบางโพ’ ในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว หลายคนอาจเห็นภาพที่นี่เป็นย่านวัตถุดิบงานไม้และช่างฝีมือคุณภาพเยี่ยมที่น่าไว้วางใจหากจะเลือกประกอบเฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆ ใส่บ้านสักชิ้น
แน่นอนว่าในวันนี้ชื่อเสียงนั้นก็ยังมีอยู่เหมือนเคย แต่เพิ่มเติมมาด้วยคำสร้อยในฐานะ ‘ย่านสร้างสรรค์’ ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานย่านของใครหลายคน การันตีด้วยรางวัล Creative City Award ประเภท Branding Award จากงาน Creative Excellence Awards 2023 หรือ รางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์
ก้าวต่อไปของถนนสายไม้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วไม่น้อยจะเป็นอย่างไร ‘อาจารย์โจ้-เจนณรงค์ ทาคูมิ ซาก้า’ ผู้จัดการโครงการ ‘ถนนสายไม้บางโพ ตำนานที่มีชีวิต’ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาอัตลักษณ์ย่านบางโพให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจะมาอธิบายให้ฟัง
ย่านอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง
จุดศูนย์กลางของย่านบางโพ คือ ‘ถนนประชานฤมิตร’ หรือ ‘ถนนสายไม้’ ถนนเส้นไม่สั้นไม่ยาวที่เชื่อมต่อระหว่างถนนประชาราษฎร์ 1 กับถนนกรุงเทพ-นนทบุรี เข้าด้วยกัน ภายในอัดแน่นไปด้วยร้านเฟอร์นิเจอร์ โรงไม้ โรงเลื่อย ร้านหุ้มเบาะ ร้านแกะสลัก และอีกนานาสารพันศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานแปรรูปไม้ จึงเรียกได้อย่างเต็มปากว่าที่นี่คือศูนย์รวมงานไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร
ถึงแม้ว่าในอดีตชาวบางโพจะประกอบอาชีพแปรรูปไม้ขายมาแต่เดิม แต่บางโพพัฒนาตัวเองมาเป็นถนนสายไม้อย่างเต็มรูปแบบหลังการอพยพเข้ามาทำมาหากินของทั้งพ่อค้าไม้ชาวจีนจากย่านวัดญวนสะพานขาว และชาวบ้านที่เคยทำโรงไม้อยู่ในบริเวณถนนดำรงรักษ์ซึ่งขยับขยายออกมาเมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป ประสบการณ์ที่ส่งต่อผ่านหลากยุคสมัยหลายสถานที่หลอมรวมกันจนเกิดเป็นต้นทุนทางองค์ความรู้ที่สร้างให้อัตลักษณ์ของย่านบางโพชัดเจนแบบตะโกนจนไม่ต้องเสียเวลาค้นหา
แต่นอกจากวัตถุดิบดั้งเดิมที่มีอยู่ภายในย่านแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้บางโพยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคสมัยที่โรงงานค่อยๆ เข้ามาแทนที่งานฝีมืออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือการรวมกลุ่มกันของคนรุ่นใหม่ภายในย่านที่แข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ
“ที่นี่มีการรวมตัวของชาวชุมชนที่ชื่อว่า ‘ประชาคมประชานฤมิตร’ และตอนที่ทำงานถนนสายไม้บางโพ เราก็ได้ตั้งเป็น Committee ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Bangpo Wood Team หนึ่งคือเรามองว่าเราอยากสร้างชื่อที่มันพูดง่ายๆ และเป็น Committee ที่เป็น New gen คือทีมนี้จะมีอายุตั้งแต่ 20 ปลายๆ ถึง 40 ปลายๆ
เรามองว่าความร่วมมือของกลุ่มคนที่หลากหลายในบางโพ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ตรงนี้ยังขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อยู่ โดยกลุ่มที่สำคัญที่สุดที่เราสัมผัสได้คือกลุ่มที่เป็น Third Generation กลุ่มผู้อาวุโสหรือเถ้าแก่บางคนในย่านเขาอาจจะยังไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรกันอยู่ จนกระทั่งหลังจากนั้นเหล่าผู้อาวุโสเริ่มส่ง Third Generation มาช่วยเรา ประมาณว่าสามารถมาช่วยอาจารย์โจ้ทำอะไรได้บ้าง เราเลยได้รู้ว่าเขาก็เริ่มเปิดใจและเข้าใจมากขึ้น การทำงานอย่างนี้ต้องอาศัยเวลา เราต้องค่อยๆ ปูทางและคิดต่อยอดว่าปีหน้าจะทำอะไรต่อ”
รีแบรนด์เพื่อแนะนำตัวเองใหม่ในโลกที่เปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปในวันแรกที่อาจารย์โจ้เริ่มเข้ามาทำงานกับพื้นที่ย่านบางโพ อาจารย์อธิบายว่า สิ่งที่เขามองว่ายังคงขาดไปในสมการความสำเร็จของย่านบางโพคือ ‘การสร้างการมีตัวตนของย่าน’
“ต้องบอกว่าแบ็กกราวนด์ผมเป็นสถาปนิก เรียนสถาปัตย์จุฬาฯ และเป็นคนกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิด แต่ผมไม่เคยทราบเลยว่าในย่านนี้มีถนนที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไม้อยู่ จนกระทั่งได้มาทำงานและสัมผัสพื้นที่นี้จริงๆ เราเลยเริ่มมองว่าจริงๆ มันมีปัญหาในเชิงการมีตัวตนของชุมชนนี้ในกรุงเทพฯ รึเปล่า เพราะขนาดเราที่เป็นผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์งานไม้โดยตรงในอาชีพการงาน เรายังไม่รู้จักที่นี่เลย”
เมื่อพบว่าปัญหาคือการมองเห็นและการรับรู้ตัวตนของย่านจากสายตาคนนอก สิ่งที่อาจารย์เลือกมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบางโพในเฟสแรกจึงเป็นการ ‘Rebranding’ หรือการสร้างแบรนด์ใหม่ให้กับถนนสายไม้แห่งนี้
“ตอนนั้นเราเริ่มคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างการมีตัวตนของย่านนี้ ซึ่งตัวย่านมันมีตัวตนของ Community Identity ที่ชัดเจนมากอยู่แล้ว แต่ถ้าอนาคตไม่ช่วยทำอะไรสักอย่าง ชุมชนนี้ก็อาจจะหายไปและกลายเป็นว่ากรุงเทพฯ จะเหลือแค่ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์ค้าปลีก (Retail Center) เจ้าใหญ่ๆ ที่ขายไม้ เรามองว่าที่นี่เป็นย่านที่มีการขายสินค้าที่พิเศษ มีเอกลักษณ์และสามารถสร้างอัตลักษณ์ต่อได้อย่างน่าสนใจ
รวมถึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รองรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย คอนเซปต์แรกในการทำงานเราเลยใช้คำว่า Rebranding Community เพราะคำว่า Rebranding มันควรนำมาใช้กับชุมชนที่มันมีเชื้ออยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน
เรามองว่าเขามีองค์ความรู้เกี่ยวกับงานไม้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูไม้ คุณสมบัติพิเศษของไม้แต่ละชนิด การใช้งาน วิธีการเข้าเดือยในงานเฟอร์นิเจอร์ มี Craftmanship และองค์ความรู้ซ่อนอยู่ทุกองค์ประกอบ แต่ถ้าย่านนี้จะคงอยู่ต่อไปได้ มันจะต้องเปลี่ยนตัวเอง จะมาค้าขายไม้เหมือนเดิมอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนและวาง Position ตัวเองใหม่ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ (Learning hub) เกี่ยวกับไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อที่สุดท้ายแล้วพอ Rebrand และจับอัตลักษณ์ของย่านได้ นอกจากย่านจะเป็นที่สนใจมากขึ้นแล้ว การที่ทำให้พวกเขาเห็นว่านอกจากการค้าไม้มันมีอย่างอื่นที่มี Hype Value ในเชิง closure Identity สูงมาก และนำมาเล่าเรื่องและดึงคนนอกเข้ามาได้ มันก็เป็นการสร้างประโยชน์ในเชิง Business ให้กับเขาด้วย”
ก้าวต่อไปด้วยการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากขุมทรัพย์ภูมิปัญญา
จากความตั้งใจในวันนั้นจนถึงวันนี้ รางวัล Creative City Award ประเภท Branding Award ได้แสดงให้ทุกคนเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าความหมายของสิ่งที่อาจารย์โจ้ตั้งใจสร้างให้เกิดขึ้นคืออะไร วันนี้ความท้าทายที่ชาวบางโพมีมากกว่าย่านไหนๆ จึงเป็นการที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถต่อยอดจากความสำเร็จนี้และก้าวไปสู่อนาคตได้ในอีกระดับ
“กับคนในย่านบางโพเราก็คุยกันว่าสิ่งที่เราประสบความสำเร็จแล้วคือเราสร้างแบรนด์ บางโพถนนสายไม้ ได้แล้ว เราก็ถามเขาว่าสิ่งต่อไปที่อยากชูคืออะไร ทุกคนก็เห็นพ้องตรงกันว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราอยากจะชูคือ ‘งานฝีมือไม้ไทย’ เลยตกตะกอนมาเป็นธีม ‘Master of Craftmanship’ เพราะว่าจริงๆ เราขายงานฝีมือ เราไม่มีทางเน้นขายงานโปรดักชั่นใหญ่แบบ Ikea ได้ แต่เรามี Value ของเราเอง ซึ่งมันเป็นคนละแบบกัน”
ความตั้งใจนี้ไม่เพียงสำคัญในฐานะเป้าหมายใหม่ของย่าน แต่ยังส่งผลถึงภาพรวมการอนุรักษ์องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของงานช่างฝีมือไม้ไทยให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
“เสน่ห์ของงานไม้คือไม้ทุกชิ้นจะมี Identity ที่ต่างกัน รวมทั้งน้ำหนักมือที่ไม่เท่ากันของช่างไม้ จึงทำให้เกิดความยูนีคในตัวมัน แต่พอมีเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามา ทุกอย่างจะกลายเป็น Mass Production ที่เหมือนกันไปหมด ซึ่งเรามองว่าถ้าเราสามารถรักษาความเป็นยูนีคเอาไว้ได้ เราก็จะสามารถรักษาอาชีพของกลุ่มช่างฝีมือไม้เอาไว้ได้ด้วย”
การจะไปสู่สิ่งนั้น อาจารย์โจ้อธิบายว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘การสร้างองค์ความรู้’ ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการให้ความรู้ (Educate) กับทั้งคนในชุมชนและคนนอกซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา
“ผมมองว่าการ Educate กลุ่มคนต่างๆ มันจะเป็นการ Close loop ของการเข้าใจว่าไม้มันมีมูลค่ามากกว่าแค่เป็น Product Material แต่ลงไปถึงรากเหง้าของประเทศไทยที่มีการใช้ไม้มาอย่างยาวนาน และเรายังเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับงานไม้เยอะมาก
สิ่งสำคัญคือเราต้องพูดกับคน 2 กลุ่มนี้ให้ได้ หนึ่ง Educate คนภายในให้เข้าใจว่าตัวเองมีของดี มีองค์ความรู้ที่คนอื่นไม่มี และคุณต้องเรียนรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปและจะต้องรู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร และสองคือ Educate กลุ่มคนภายนอก ให้รู้ว่าถ้าต้องการจะซื้อชิ้นไม้ชิ้นหนึ่ง เขาต้องรู้ว่ามันมี Value มากกว่าการเป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานได้ เพราะถ้าคุณเลือกซื้องานฝีมือจากไม้ธรรมชาติ เท่ากับว่าคุณได้สนับสนุนทั้ง Sustainable Product, Local remade และยังส่งเสริมให้มีการว่าจ้างอาชีพกลุ่มช่างไม้ต่อไปด้วย”
Immersive Workshop ที่อยากเปลี่ยนช่างไม้หนึ่งครั้ง ให้เป็นช่างไม้ตลอดไป
สำหรับกิจกรรมในเทศกาล Bangkok Design Week ปีนี้ อาจารย์อธิบายว่าอยากขยายขอบเขตของการสร้างประสบการณ์ไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้และสร้างโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพงานไม้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น จึงตั้งใจเปลี่ยนรูปแบบของการเดินทัวร์ภายในย่านให้กลายเป็น Immersive Workshop ที่ผู้เข้าร่วมจะได้ทดลองทำงานไม้และเรียนรู้เทคนิคอย่างจริงจัง โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายเอาไว้เป็นเหล่านักออกแบบที่สามารถนำความรู้ด้านงานไม้ไปต่อยอดได้ในชีวิตจริง
“ปีที่แล้วเรามาในคอนเซปต์ Living Museum ที่พาคนนอกมาเรียนรู้เรื่องไม้ผ่านการเดินสำรวจในย่าน ให้เขาได้รับรู้กระบวนการตั้งแต่ตัดต้นไม้จนถึงการแปรรูปว่าเป็นยังไง แต่ปีนี้เรามองว่าการที่จะรักษาองค์ความรู้เอาไว้ให้ได้ เราอยากดึงกลุ่มคนที่สนใจเรื่องช่างไม้จริงๆ มาเข้าร่วม เลยไปโฟกัสที่กลุ่มนักออกแบบเพื่อดึงคนกลุ่มนี้มาเรียนรู้การเป็นช่างไม้จริงๆ
จากแค่การเดินทัวร์ เราทำเป็น Station ว่าแต่ละจุดต้องทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้ทำและเข้าใจการสร้างไม้จริงๆ เช่น การเลือกไม้ ลักษณะของไม้มีกี่แบบ และอีกอย่างคือ ให้คนมาทำ Interlocking Wood เป็น Experience Day ที่คนที่เข้ามาไม่ได้แค่ดูอย่างเดียวแต่ได้ทดลองทำ มีประสบการณ์กับไม้ต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง เพื่อให้เขาได้มีทักษะเกี่ยวกับการทำงานดีไซน์จริงๆ และสามารถรักษาองค์ความรู้นั้นต่อไปได้”
เส้นทางบนถนนสายไม้ที่ทอดยาวต่อไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ตามมาพิสูจน์กันได้ด้วยตาตัวเองที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านบางโพ
รู้จักกับ ‘ย่านบางโพ’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน
Bangpho Phenomenon
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/93452
สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์จากไอเดียของคุณ
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/93435
Taste of Bangpho
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/93727
คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านบางโพ ที่นี่ :
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49831
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape