BANGKOK DESIGN WEEK 2024, 27 JAN–4 FEB

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

ExperienceScape โดย Urban Ally และ DecideKit ร่วมกับ LPN

ExperienceScape สร้างภาพจำใหม่ให้เมืองเก่า ‘พระนคร’ ต่อยอดสู่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย Urban Ally และ DecideKit ร่วมกับ LPNเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 3 ที่ศูนย์มิตรเมือง หรือ Urban Ally โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับหน้าที่เป็นโฮสต์ประจำย่านพระนคร โดยใช้ชื่อเทศกาลว่า ‘มิตรบำรุงเมือง LIVE’ ภายใต้แนวคิด Everyday-life Festival ซึ่งนำเสนอแนวทางการใช้พื้นที่เมืองเก่าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างภาพจำใหม่ให้ย่านพระนครคึกคักมีสีสันและน่าอยู่น่าเที่ยวมากยิ่งขึ้น  โดยไอเดียจุดประกายการพัฒนาพื้นที่ย่านพระนครเหล่านี้ สอดคล้องกับแนวคิด ‘Livable Living Experience’ ของ LPN ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมดี สังคมน่าอยู่ และสร้างสุขภาวะที่ีดีทั้งทางกายและทางใจ โปรเจกต์ ExperienceScape จึงเกิดขึ้นจากการจับมือกันระหว่าง Urban Ally, DecideKit และ LPN เชิญชวนศิลปินแถวหน้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาร่วมผลิตผลงานศิลปะ New Media Art และ Projection Mapping เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะ ฟื้นพื้นที่ที่เคยปิดร้าง และมรดกทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ประจำย่าน ให้กลายเป็นแหล่งรวมงานสร้างสรรค์ที่มอบประสบการณ์ใหม่ในการอยู่อาศัยให้กับผู้คนในย่านเก่า และนี่คือตัวอย่างผลงานบางส่วนที่เราจะได้พบภายในเทศกาลฯ ทั่วย่านพระนคร – Back to the Past โดย Kor.Bor.Vor ณ ประปาแม้นศรี ผลงาน Projection Mapping ที่เล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘แทงค์’ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ผ่านกาลเวลามายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ‘แทงค์’ สะสมความทรงจำล้ำค่าไว้มากมาย และวันนี้ พร้อมแล้วที่จะบอกเล่าให้เราได้รับรู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73204 – From Now to Future โดย DecideKit ณ ประปาแม้นศรี ผลงาน Projection Mapping ที่สื่อสารประเด็นการมองเห็นคุณค่าในตัวเองผ่านพื้นที่ของแทงค์ ที่กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการเปิดรับสิ่งใหม่ และเรียนรู้โลกใบนี้อีกครั้ง ผ่านการกลั่นกรองประสบการณ์ที่สั่งสม นำมาพัฒนา ‘แก่น’ ของเราให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืนดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73204 – Join (joy) together โดย The Motion House ณ ป้อมมหากาฬ เมื่อศิลปะของศิลปินท้องถิ่นออกมาเคลื่อนไหวด้วยเทคนิค Projection Mapping ในธีม ‘Living in a Color’ โดยใช้เทคนิคภาพลวงตาเป็นลูกเล่นดึงดูดใจ ประกอบด้วยพื้นที่หลากหลายโซนให้เดินชมได้อย่างจุใจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76265– Call Me Susan โดย Yellaban Creative Media Studio ณ สวนรมณีนาถ ประกอบไปด้วยผลงานสองส่วน ส่วนแรกคือ Projection Mapping ที่บอกเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมในพื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่กำลังจะเป็นไปในอนาคต ส่วนที่สองคือการนำอาคารเฝ้าระวังกลางน้ำ สัญลักษณ์ประจำสวนรมณีนาถ มาสร้างเป็นคาแรกเตอร์ ‘ซูซาน’ ที่จะมาเป็นไกด์นำเที่ยวย่านพระนคร สามารถติดตามเธอได้ที่ IG: callme.susannnดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/86893 – Night Blooming โดย Yimsamer ณ หอพระ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ผลงาน Projection Mapping ที่นำดอกบัวสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และการตื่นรู้ มาบอกเล่าเรื่องราวการเจริญเติบโตจากโคลนตมที่เปรียบเทียบได้กับการเดินทางของจิตวิญญาณตามความเชื่อของชาวตะวันออกดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/86918 เมืองจะ ‘น่าอยู่’ ได้ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในปีที่ผ่านๆ มาโครงการพัฒนาย่านพระนครโดย Urban Ally ประสบความสำเร็จและได้รับการพูดถึงผ่านสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลาย และเพื่อต่อยอดให้ผลงานที่เกิดขึ้นจากเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ นำพาย่านนี้ไปสู่การเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ พวกเขาจึงยังคงระดมไอเดียร่วมกับพาร์ตเนอร์มาสร้างสรรค์สิ่งใหม่กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในย่านและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการแต่งเติมสีสันและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ในย่านเก่าแก่นี้ LPN ในฐานะผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพมาตลอด 34 ปี และกำลังเข้าสู่ปีที่ 35 จึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในชุมชนย่านเมืองเก่า ด้วยการแบ่งปันแนวคิด ‘Livable Living Experience’ รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรให้แก่กลุ่มศิลปิน นักออกแบบ และนักวิชาการด้านการพัฒนาเมือง ให้สามารถปลดปล่อยจินตนาการออกมาผ่านผลงานได้อย่างเต็มที่ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่เล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะและไอเดียใหม่ๆ ในการก่อร่างสร้างเมือง–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : บางมด

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : บางมดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของธรรมชาติ ผู้คน และวัฒนธรรมอันหลากหลาย ที่เชื่อมผ่านกระแสน้ำของคลองบางมดถ้าหากถามถึงชื่อชุมชนสร้างสรรค์สักหนึ่งแห่งที่นอกจากจะมีความเข้มแข็งแล้วยังเริ่มก่อร่างสร้างตัวมาจากคนในชุมชนเอง ‘ย่านบางมด’ คงเป็นหนึ่งในคำตอบที่ใครหลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ไม่ผิดแน่ จากการทำงานพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 ปี และรายนามบรรดาเครือข่ายสร้างสรรค์หลากหลายกลุ่มที่ยาวเป็นหางว่าวและวันนี้ ในที่สุดย่านท่องเที่ยวชุมชนสุดแกร่งแห่งนี้ก็ตัดสินใจก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นด้วยการสมัครเข้าร่วมเป็นผู้จัดเทศกาล Bangkok Design Week อันเป็นเหมือนความฝันสูงสุดของใครหลายคนที่ทำงานพัฒนาชุมชนที่อยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลสักครั้งการออกแบบเมืองให้เป็น livable scape ในแบบชาวบางมดจะเป็นอย่างไร ตามไปหาคำตอบด้วยกันกับ ‘อาจารย์นิศากร เพ็ญสมบูรณ์’ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาเอกสตรีตอาร์ตและการออกแบบเชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ในฐานะ Co-Host ของเทศกาล Bangkok Design Week 2024 ย่านบางมดการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติและผู้คนอาจารย์นิศากร อธิบายว่า ‘บางมด’ คือหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ยังคงธรรมชาติดั้งเดิมของย่านและความอุดมสมบูรณ์เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตริมคลอง การสัญจรทางเรือ รวมถึงการปลูกพืชแบบร่องสวน เช่น สวนมะพร้าว และสวนส้มบางมด ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สำคัญของย่าน นอกจากนี้ยังเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรม ที่มีทั้งคนไทยเชื้อสายจีน คนไทยพุทธ และชาวมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันแต่ยิ่งไปกว่านั้น เสน่ห์ที่บางมดมีอยู่ไม่แพ้ใครคือ ‘ความน่ารัก’ ของผู้คนในย่าน“มิติกายภาพพื้นที่ของย่านบางมดจะเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในเชิงของธรรมชาติกับผู้คนที่เป็นลักษณะวิถีดั้งเดิม อย่างเช่น เมื่อเข้าไปในย่าน เราก็จะได้เห็นว่าที่นี่มีคลอง มีสวน มีธรรมชาติ การสัญจรทางเรือ เมื่อก่อนก็จะมีการทำนา และเคยมีการปลูกสวนส้ม ที่ดังๆ ก็จะมีส้มบางมด ซึ่งตอนนี้ก็จะก้าวเข้าสู่ 100 ปีแล้วของสวนส้มบางมดที่อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ก็มีการปลูกต้นมะพร้าว ซึ่งเป็นการปรับตัวจากที่ปลูกส้มได้ยากอีกทีนึงมิติในเชิงวัฒนธรรม ที่นี่เป็นพหุวัฒนธรรม มีทั้งคนไทยเชื้อสายจีน คนไทยนับถือศาสนาพุทธ มีวัดดังๆ ที่อยู่ในพื้นที่ริมคลองเยอะ เช่น วัดพุทธบูชา วัดบัวผัน รวมไปถึงมีมัสยิดที่อยู่บริเวณริมคลองหลายแห่ง ผู้คนก็มีการอยู่ร่วมกันในเชิงพหุวัฒนธรรมแต่สุดท้ายความโดดเด่นของย่านบางมดเนี่ย มันคือความน่ารักของผู้คนที่อยู่ในย่าน วิถีของคนที่เขาอยู่จริงๆ เหมือนเป็นเครือญาติพี่น้องร่วมกัน รวมไปถึงบรรยากาศที่ทำให้การแข่งขันหรือลักษณะที่มีความเร่งรีบมันดูลดน้อยลง พอเข้าไปในพื้นที่เราจะรู้สึกถึงความ slow life พื้นที่เองก็ทำให้ผู้คนรู้สึกได้พักผ่อน เหมือนพอเราเดินทางมาถึงย่านบางมด เราจะรู้สึกผ่อนคลาย”จากความร่วมมือของคนในย่าน ต่อยอดความฝันสู่ Bangkok Design Weekอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าบางมดเป็นย่านเก่าแก่ที่มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายและลงมือทำงานพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยมีหลายภาคส่วนที่เข้ามาร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันอาศรมศิลป์ เซฟติสท์ฟาร์ม (SAFETist Farm) บ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์ และบ้านไร่อารียาเมตายา กลุ่มพหุวัฒนธรรมตลาดมดตะนอย รวมไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในย่าน และอื่นๆ อีกมากมาย โดยอาจารย์นิศากรอธิบายว่าเบื้องหลังในการพัฒนาบางมดให้เข้มแข็งเหมือนอย่างทุกวันนี้ก็มีที่มาจากการที่เครือข่ายภาคการศึกษาเข้ามาทำงานกับชุมชนและร่วมต่อยอดผลลัพธ์ไปสู่การจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั่นเอง“มันเป็นการทำอย่างต่อเนื่องค่ะ เหมือนกับว่าเราไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วหยุดไป เราลองเปลี่ยนวิธีการ ให้ผู้คนเข้ามาในตัวชุมชนหรือพื้นที่ที่มันมีประสบการณ์ที่ดูแตกต่างกันบ้าง หลายๆ ครั้งก็จะมีโปรแกรม One Day Trip หรือมีการล่องเรือ มีการพาวอล์กกิ้งทัวร์ในเชิงพหุวัฒนธรรม มีการพูดคุยกันไปด้วย ลองทำหลายๆ รูปแบบเหมือนกับความเข้มแข็งของย่านมันก็มาจากการที่สถาบันการศึกษาเข้าไปให้ข้อมูล เข้าไปกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการตระหนักว่าสินทรัพย์ที่ตัวเองมีมันมีมูลค่า และพอลองเอาไปทดลองทำจริงซ้ำๆ เขาก็เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ เริ่มมองเห็นว่ามันสามารถกระตุ้นรายได้และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้จริง เขาก็เห็นศักยภาพในตัวเอง”เมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว ก้าวต่อไปของบางมดจึงเป็นการ Step up ตัวเองในฐานะย่านสร้างสรรค์ไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ และความท้าทายที่ว่าก็คือการเข้าร่วมกับเทศกาล Bangkok Design Week นั่นเอง“บางมดมีการรวมกลุ่มและทำงานกันมาตลอดอยู่แล้ว อย่างบางมดเฟสนี่ทำมา 5 ครั้งแล้วนะคะ 4 ครั้งที่ผ่านมาชุมชนเป็นผู้ผลักดันให้เกิดกิจกรรม และอีกหนึ่งครั้งก็เป็นการเข้าร่วมกับตัว กทม. ก็คือเป็นย่านสร้างสรรค์เมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็จะนับว่าเป็นครั้งที่ 6 แล้วที่จะเข้าไปอยู่ใน Bangkok Design Weekคือหลังจากปีที่แล้วที่เราได้ไปเข้าร่วมเป็นย่านสร้างสรรค์ของ กทม. เราก็ได้มาพูดคุยกันว่า เรารู้สึกว่าการทำงานร่วมกันของเรา ประสบการณ์ของเรา เครือข่ายของเรามันพร้อมแล้วประมาณนึง ดังนั้นปีนี้เรามาลองเข้าร่วม Bangkok Design Week กันดีไหม เพราะว่าเรามีทีมที่เข้มแข็ง และทำงานกับพื้นที่อยู่แล้ว ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะลองมาเข้าร่วม Bangkok Design Week ในครั้งนี้ค่ะ” พลิกปัญหาให้กลายเป็นอัตลักษณ์ย่านด้วยความคิดสร้างสรรค์หลักใหญ่ในกระบวนการออกแบบกิจกรรมของย่านบางมดในครั้งนี้คือการผสมผสานระหว่างการ ‘แก้ปัญหาเมือง’ และ ‘ความน่าสนใจของพื้นที่’ เข้าไว้ด้วยกัน พวกเขาจึงพยายามนำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงภายในย่านมาเป็นตัวตั้ง และออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ให้สามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้จริง พร้อมกับต่อยอดอัตลักษณ์ของย่านไปในเวลาเดียวกัน“พอมีเรื่องคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี เรื่องของกายภาพดี ดีต่อใจ ดีไซน์ดี รวมไปถึงย่านบางมดเอง เราไปจับประเด็นของ Hack BKK เพิ่มเติม คือประเด็น ‘หน้าบ้านน่ามอง เปลี่ยนคลองเป็นหน้าบ้าน’ ประเด็นนี้มันมีเรื่องราวว่า พอเราเข้าไปดูในการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ สมัยก่อนจริงๆ ปกติเขาก็จะเดินทางด้วยเรือกัน แต่พอเมืองขยาย มันก็ลดน้อยลง แต่ตัวพื้นที่บางมดเองยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตในรูปแบบนี้ค่อนข้างมาก เช่น การเดินทางทางเรือ ถามว่าตรงนี้เป็นจุดเด่นไหม ถือว่าเป็นจุดเด่น แต่ในทางกลับกันก็เป็นจุดด้อยด้วยเหมือนกัน เพราะกลายเป็นว่าการเข้าถึงย่านก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น เราก็เลยเอามาเป็นประเด็นในการแก้ปัญหาในโปรแกรมต่างๆ ด้วยหรือการที่ในย่านมันมีวิถีชีวิตที่เป็นคนเมืองแนวชนบท คือช่วงเย็นๆ ก็จะค่อนข้างเงียบแล้ว พอมืดแล้วทุกคนก็ปิดบ้าน ซึ่งก็จะแตกต่างจากย่านอื่นๆ ที่อยู่ใจกลางเมือง รวมถึงเรื่องแสงสว่างที่มันไม่ได้มีมากอยู่แล้ว เราก็จะพบว่าในชุมชนก็ค่อนข้างที่จะมืด คือเกือบๆ มืดสนิทเลยน่ะค่ะ ดังนั้นลักษณะของตัวโปรแกรม เราก็มุ่งไปที่เรื่องของการทำให้ตัวพื้นที่มันสว่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การเดินทางไปยังแต่ละจุดของเราในเทศกาล หรือแม้กระทั่งการเดินทางในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนเองก็จะมีแสงสว่างเพิ่มมากขึ้น”Grow with the Flow‘Grow with the Flow’ (งอกงามตามกระแส) คือชื่อคอนเซปต์ของโปรแกรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในงาน Bangkok Design Week ในครั้งนี้ ซึ่งงดงามสมกับความเป็นบางมดเป็นอย่างยิ่ง เพราะคอนเซปต์นี้กำลังพูดถึงการพัฒนาย่านให้เติบโตงอกงามโดยไม่เร่งรัดและเร่งเร้า แต่เป็นการเติบโตในจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับตัวเองเสมือนการไหลไปตามกระแสของน้ำในคลองบางมดที่พวกเขาคุ้นเคย“Grow ในที่นี้เป็นเรื่องของความเติบโต งอกงาม เราก็คิดว่า ลักษณะพื้นที่ของเราเนี่ย คนเข้ามาเราก็อยากให้มันเป็นเรื่องของกระแสน้ำ เพราะเราอยู่ริมน้ำ เรียบๆ ง่ายๆ เลยรู้สึกว่าตัวคอนเซปต์ Grow with the Flow งอกงามตามกระแสเนี่ย เราอยากพูดถึงโลกภายนอกที่มันอาจจะบีบบังคับให้เราต้องเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่พอเข้ามาในพื้นที่นี้ เราจะรู้สึกว่าเหมือนเรา slow life ลง โดยเราจะคิดโปรแกรมให้คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ชั้นใน หรือพื้นที่ต่างๆ ที่เข้ามาได้รู้สึกว่าพื้นที่บางมดเป็นเหมือนพื้นที่ต่างจังหวัดในกรุงเทพฯ ที่ทุกคนได้เข้ามาพักผ่อนและปล่อยวางความเครียดลงไป”สำหรับสถานที่ในการจัดงาน อาจารย์นิศากรบอกว่าจะตั้งอยู่ในจุดต่างๆ ตลอด 7 กิโลเมตรสองฝั่งคลองบางมด ซึ่งจะมีทั้งจุดที่สามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ และจุดที่มีเรือโดยสารให้บริการ และเรือโดยสารที่ว่านี้ก็เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ทางทีมออกแบบเอาไว้เช่นกัน โดยมีกิจกรรมไฮไลต์ต่างๆ อย่างเช่น“โปรแกรมกำแพงเรืองแสง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาความมืดในชุมชน ก็จะเป็นกำแพงหนึ่งที่เราซึ่งเป็นคนทำงานสตรีตอาร์ตอยู่แล้ว ปกติเราจะเห็นสีสันสดใสที่อยู่บนกำแพง แต่ตอนนี้เราจะใช้ผงสีเรืองแสงเพิ่มเข้าไป โดยตัวผงสีเรืองแสงมันก็ส่องสว่างในช่วงพลบค่ำ ก็คือช่วงที่บรรยากาศค่อนข้างมืด เสร็จแล้วกลางวันก็จะเห็นเป็นอีกลวดลายนึง กลางคืนก็จะเห็นเป็นอีกลวดลายนึง ซึ่งนอกจากจะสร้างสีสันให้กับตัวพื้นที่แล้ว มันก็ยังเข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องของความมืดบางส่วนด้วย โปรแกรมล่องเรือง จริงๆ แล้วเป็นโปรแกรมล่องเรือนี่แหละค่ะ แต่เราเล่นคำว่าเรืองด้วย มาจากเรืองแสง คืออย่างที่บอกว่าเรามีปัญหาเรื่องระยะทางและการเชื่อมต่อกันระหว่างแต่ละจุดของตัวโปรแกรม ซึ่งมันมีระยะทางถึง 7 กิโลเมตรเลย เราเลยคิดว่าเรือนี่แหละคือประสบการณ์นึงที่น่าสนใจ ดังนั้นเราก็เลยทำโปรแกรมในเรื่องของการประดับหลังคาเรือ ตรงผ้าใบเรือให้เป็นลวดลายวิถีชีวิต ดึงเอางานศิลปะที่อยู่ในพื้นที่มาใส่ในตัวลวดลายที่อยู่ข้างบน รวมถึงมีการประดับไฟด้วย ก็คือนอกจากจะเป็นเรือที่ใช้เดินทางระหว่างจุดโปรแกรมแล้ว คนที่เข้ามานั่งเรือเขาก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะด้วยนอกจากนี้ก็มีโปรแกรมของน้องๆ จาก KMUTT (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) เป็นงานโปรเจกต์ของน้องๆ ที่จะเล่นเรื่องของการนำเอาวิทยาศาสตร์ ระดับน้ำ ความหนาแน่นของน้ำ มาแก้ปัญหาเรื่องน้ำเพื่อให้ปลาสามารถอยู่ได้ เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักออกแบบคลอง โดยนอกจากการแก้เชิงวิทยาศาสตร์แล้ว ก็จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงาน Installation ในตัวพื้นที่ในประเด็นเดียวกันนี้ด้วย และเราก็ยังมีอีกหนึ่งโปรแกรมที่เชื่อมโยงกันคืองานจากศิลปินเซรามิกที่โตมาในย่านบางมด โดยเขาบอกว่าจริงๆ ในคลองบางมดมันมีอะไรที่อยู่ใต้น้ำเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์จริงๆ สิ่งของ หรือความทรงจำที่อยู่ร่วมกันในกระแสน้ำ ซึ่งเขาก็เอามาทำเป็นตัวเซรามิกที่เป็นรูปทรงต่างๆ แล้ว exhibit ไว้ที่ใต้สะพานหนึ่งที่อยู่ในคลองบางมด เหมือนกับว่าเรายกสิ่งที่มีคุณค่าใต้น้ำขึ้นมาข้างบนให้คนได้เห็น”“ปิดท้ายที่เซฟติสท์ฟาร์ม ซึ่งเขาเป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ มีบ่อน้ำที่อยู่ตรงกลาง มีเลี้ยงปลา มีทำเกษตรอย่างเต็มรูปแบบเลย ในครั้งนี้เขาคิดมาเป็นการดูหนังกลางบ่อ ก็จะเป็นการฉายหนังกลางแปลง แต่เรามีบ่อน้ำตรงกลาง ก็เรียกหนังกลางบ่อรวมถึงไฮไลต์อีกอย่างของเซฟติสท์ฟาร์มเองก็จะเป็น ‘นากน้อยแห่งคลองบางมด’ คือบางมดยังมีตัวนากอยู่นะคะ ตัวนากเนี่ย เขาเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของความสมบูรณ์นะ คือมีเขาแสดงว่าเรามีความอุดมสมบูรณ์ในตัวพื้นที่ ฉะนั้นเราก็เหมือนเอาเขามาเป็นคาแรกเตอร์นึงในการนำเสนอตัวพื้นที่บางมดที่ยังคงสมบูรณ์ไปด้วยวิถีธรรมชาติอยู่ค่ะ ใครที่แวะมาดูหนังก็อาจจะได้มาเจอน้องนากตัวเป็นๆ ด้วย”เข้ามาพักผ่อนใจไปกับกระแสน้ำของคลองบางมดและติดตามก้าวต่อไปในฐานะย่านสร้างสรรค์ในงาน Bangkok Design Week ครั้งแรกของย่านบางมดไปด้วยกันได้วันที่ 27 ม.ค. – 4 ก.พ. นี้รู้จักกับ ‘ย่านบางมด’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านGrow and Glowwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70777 ล่อง-เรือ(ง)​www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70848 ความร่วมมือนักวิทยาศาสตร์-นักออกแบบ:ซัสตาโลมwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71570 นากน้อยแห่งคลองบางมดwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71157 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านบางมด ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=84251 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : สยาม - ราชเทวี

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : สยาม – ราชเทวีเปิดประตู-รับรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนสร้างสรรค์ที่ซุกซ่อนไว้ใจกลางกรุงเทพฯเมื่อพูดถึง ‘สยาม – ราชเทวี’ สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงย่อมเป็นภาพของทำเลทองระดับพันล้านซึ่งเป็นจุดนัดพบสำคัญของเหล่าวัยรุ่นมาแล้วทุกยุคทุกสมัย จากการเติบโตของห้างสรรพสินค้า ครีเอทีฟสเปซ ร้านค้าและร้านอาหาร ที่ผลัดเปลี่ยนกันทั้งเปิดขึ้นใหม่และล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว ขนาดที่ว่าถ้าคุณไม่ได้แวะมาที่สยามสักหนึ่งปี กลับมาอีกทีอาจจำที่นี่แทบไม่ได้แล้วท่ามกลางบรรยากาศที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วในระดับวินาที สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้คือที่นี่ยังมีชุมชนหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางพื้นที่ไม่ต่างจากไข่แดงท่ามกลางไข่ขาว โดยรักษาความสงบ วิถีชีวิต และบรรยากาศที่เนิบช้าเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ราวกับว่านาฬิกาของชุมชนแห่งนี้เดินคนละ Speed กับพื้นที่โดยรอบ และชุมชนที่ว่านี้ก็คือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ นั่นเองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของชุมชนบ้านครัว รวมถึงแผนในการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างไข่แดงและไข่ขาว ภายในงาน Bangkok Design Week ในครั้งนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ชวนไปตามหาคำตอบกับ ‘อาจารย์อ้น-ธนสาร สุทธาบัณฑิตพงศ์’ และ ‘อาจารย์มาร์ค-ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์’ ตัวแทนจากเครือข่ายนักพัฒนาเมืองและชุมชนบ้านครัว และ ‘คุณแอน-อิสริยา ปุณโณปถัมภ์’ ตัวแทนจากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้ร่วมกันเป็นแกนนำในการเป็น Co-host ประจำย่าน สยาม – ราชเทวี ความสงบนิ่งของวิถีมุสลิมเชื้อสายจาม ท่ามกลางย่านที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาทีสถานที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางในการออกแบบเทศกาล Bangkok Design Week ย่านสยาม – ราชเทวีในครั้งนี้ คือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ ชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจาม ซึ่งอาจารย์อ้นและอาจารย์มาร์คให้คำนิยามว่าเป็น ‘ชุมชนไข่แดงท่ามกลางไข่ขาว’ ที่นอกจากจะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและอัตลักษณ์ที่ชัดเจนแล้ว ที่นี่ยังสามารถคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าผ่านความเปลี่ยนแปลงทั้งทางวัฒนธรรมและกายภาพมาแล้วหลากหลายรูปแบบ“บ้านครัวมีฐานความเป็นชุมชนเก่าแก่ริมคลองแสนแสบที่แข็งแรง มีประวัติศาสตร์อยู่เดิม คือเป็นกองอาสาจามที่อพยพมาจากกัมพูชาตั้งแต่สมัยอยุธยา และมาตั้งรกรากอยู่ริมคลองแสนแสบใกล้กับจิม ทอมป์สัน โดยชุมชนบ้านครัวก็เป็นแหล่ง Supply ผ้าไหมที่ทอผ้าเป็นผืนให้ทางจิม ทอมป์สันมานานแล้ว เลยมีประวัติศาสตร์ชุมชนที่เกี่ยวพันกับการทอผ้าอยู่เดิมเดิมชุมชนเป็นชุมชนใหญ่ชุมชนเดียว แต่กายภาพมีการตัดคลองแสนแสบ และตัดถนนบรรทัดทอง ปัจจุบันก็เลยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก บ้านครัวเหนือ บ้านครัวใต้ ตามถนนกับคลองที่ตัด การพัฒนาทำให้ชุมชนเขาถูกแบ่งแยกออกไป แถมยังอยู่คนละเขตอีกต่างหาก” “เราสนใจบ้านครัวในฐานะที่เป็นไข่แดงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง คือเป็นชุมชนที่มีระดับความเร็ว ช้ากว่าสิ่งแวดล้อมโดยรอบ คือสยามมีรถไฟฟ้า มีย่านพาณิชยกรรม มีกิจกรรมที่มีคนต่างชาติเข้าไปในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ แต่ทำไมความเปลี่ยนแปลงด้านนอกทำอะไรเขาไม่ได้เลย เหมือนจะเป็นที่นาฬิกาของชุมชนเดินคนละสปีดกับพื้นที่โดยรอบ เราเลยสนใจว่าทำไมพื้นที่ตรงนี้มันปิดตัว และมีความเปลี่ยนแปลงช้ากว่า” เปิดบ้านสู่การเป็นครัวอาหารฮาลาลใจกลางกรุงจากความสนใจแรกเริ่มในครั้งนั้น สู่แรงบันดาลใจในการเข้ามาเรียนรู้และทำความรู้จักกับชุมชนบ้านครัวอย่างจริงจัง อาจารย์ทั้งสองพบว่าสิ่งที่ทำให้บ้านครัวกลายมาเป็นชุมชนที่ปิดตัวและแยกตัวเองห่างจากโลกภายนอก มีปัจจัยสำคัญอยู่สองประเด็นด้วยกัน คือความไม่ชัดเจนของที่อยู่อาศัย และแง่มุมทางศาสนา“พอเข้าไปศึกษาจริงๆ เราเลยได้รู้ว่าชุมชนตรงนี้เป็นชุมชนที่มีความเทาๆ คือมีสภาพแบบกึ่งแออัดและเป็นชุมชนดั้งเดิมผสมอยู่ ก็คือจะมีบ้านเช่าอยู่พอสมควร และบ้านบางส่วนก็จะมีเรื่องของความไม่ถูกต้องเรื่องของที่อยู่อาศัย คือการไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง ประกอบกับพื้นที่ชุมชนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เอกชนคั่นกับพื้นที่ของกรมธนารักษ์เล็กๆ น้อยๆ ทำให้การพัฒนายังคงไว้ได้อยู่เพราะว่ามันไม่ใช่พื้นที่แปลงใหญ่ผืนเดียวที่ใครจะซื้อไปได้และอีกส่วนหนึ่งก็คือการที่บ้านครัวเป็นสังคมมุสลิม ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นระบบปิด มีปฏิสัมพันธ์กับคนศาสนาอื่นได้ลำบาก และไม่ได้สะดวกมากนัก เนื่องจากมีข้อห้ามทางศาสนาและระเบียบปฏิบัติที่ค่อนข้างเคร่ง เมื่อมาผสมรวมกับพื้นที่ที่เป็นที่ปิด เป็นตรอกซอยแคบ ที่นี่เลยเหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก”เมื่อได้โจทย์ที่สำคัญมาแล้ว ทางทีมก็ตัดสินใจลองเข้าไปพูดคุยกับเครือข่ายที่ทำงานอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานอย่างสถาบันอาศรมศิลป์ จึงได้ทราบว่าความพยายามในการเปิดย่านให้เชื่อมต่อกับพื้นที่พาณิชยกรรมภายนอก เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเล็กๆ ภายในชุมชนนั้นเริ่มต้นขึ้นหลายปีมาแล้ว“ทางอาศรมศิลป์ที่ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัย เขาทำมา 4-5 ปีแล้ว คือพยายามเปิดพื้นที่และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจให้เขาเห็น เช่น ทำอาหารขาย Grab การเอาเรื่องของวัฒนธรรมมาต่อยอดทางเศรษฐกิจ หลักๆ จะเป็นเรื่องอาหาร และบางพื้นที่ยังมีไปถึงการทำโฮมสเตย์เลย”เมื่อภายในชุมชนเคยมีการริเริ่มเอาไว้อยู่แล้ว การชวนมาร่วมในเทศกาล Bangkok Design Week จึงไม่ใช่เรื่องยาก และเป้าหมายที่เครือข่ายนักพัฒนาเมืองและชุมชนบ้านครัวอยากพาชุมชนที่เคยปิดตัวอย่างสงบนี้ไปถึงให้ได้ผ่านการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ คือการเปลี่ยนให้ ‘บ้านครัว’ กลายมาเป็นครัวอาหารมุสลิมใจกลางเมืองที่สำคัญของกรุงเทพฯ ให้ได้“เราอยากทำให้การเปลี่ยนแปลงภายนอกเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เขารู้สึกได้โอกาสทางเศรษฐกิจ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย (Housing) ให้ถูกต้อง นี่คือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ในเชิงกระบวนการ เราจะหยิบเรื่องอาหารมุสลิมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนอยู่มาใช้คนภายนอกก็จะมีแหล่งอาหารเพิ่ม คนมุสลิมก็จะมีแหล่งอาหารขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ ย่านใจกลางเมือง นักท่องเที่ยว คนแถวนั้น ก็จะมีแหล่งอาหารอยู่ไม่ไกล รวมถึงยังเป็นโอกาสที่ทำให้ทุกคนได้สังเกตและเข้าใจเพื่อนบ้านรอบตัวที่อาจจะมีวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเราด้วย”เติมความร่วมสมัยในชุมชนเดิม สัมผัสตำนานดั้งเดิมในพื้นที่ใหม่เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ทางทีมอธิบายว่าสิ่งที่พวกเขาอยากทำให้เกิดขึ้นภายในเทศกาล Bangkok Design Week คือ ‘กระบวนการแลกเปลี่ยนถ่ายเทวัฒนธรรม’ ระหว่างชุมชนดั้งเดิมภายในย่านอย่างชุมชนบ้านครัว และโลกภายนอก โดยเฉพาะพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่อย่าง GalileOasis “อย่างที่บอกว่าเราสนใจแง่มุมความช้าและความเร็ว ความเก่าและความใหม่ที่มันเชื่อมโยงกับบ้านครัวและพื้นที่รอบๆ ในครั้งนี้เราเลยพยายามมาคิดว่าแล้วการถ่ายเทกันระหว่างบ้านครัวกับพื้นที่ใหม่ๆ ที่มันเดินทางด้วยคนละสปีด มันจะทำงานผ่านดีไซน์วีคยังไง เราก็เลยไปชวน GalileOasis ซึ่งเป็น Lifestyle & Art Space สมาชิกใหม่ของย่านที่กำลังฮิตมากๆ มาคุยกันสิ่งที่เราพบก็คือในช่วงเวลาแค่ปีกว่าๆ ที่มาอยู่ที่นี่ เขาเองก็พยายามมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และพยายามที่จะเป็นเพื่อนบ้านใหม่ที่ดีอยู่ตลอด เราก็เลยรู้สึกว่า GalileOasis เป็นสเปซที่ทำให้คนใหม่ๆ เข้ามาในย่านนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของที่นี่ บางทีเขาอาจจะไม่เคยรับรู้เลยก็ได้ว่ามันมีชุมชนในลักษณะนี้อยู่ เราเลยจะหยิบยืมองค์ประกอบบางอย่างของชุมชนบ้านครัว เข้ามาใส่ใน GalileOasis และเอาลักษณะบางอย่างของการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เป็นสมัยใหม่ใส่เข้าไปในชุมชนบ้านครัว คือพยายามจะสร้างการรับรู้ที่มันถ่ายเทกันระหว่างการปรากฏตัวของโลกอีกหนึ่งใบในสเปซนั้นเช่น พอเราอยู่ใน GalileOasis เราสามารถรับรู้การมีอยู่ของชุมชนบ้านครัวได้อย่างไร ซึ่งแต่เดิมเขาไม่ได้รับรู้หรอก เขาก็จะมากินกาแฟ ถ่ายรูป แล้วกลับไป เหมือนกับว่ามันเป็น theme park อันหนึ่งของการท่องเที่ยวที่คนมาและจากไป ซึ่งเราพยายามที่จะทำภาพสะท้อนบางอย่างของพื้นที่บ้านครัวให้เข้าไปใน GalileOasis เพื่อทำให้คนรับรู้ถึงการ coexist การอยู่ร่วมกันของลักษณะบุคลิกอื่นที่มีอยู่ในย่านที่ปรากฏตัวเข้ามาในพื้นที่ที่เขาสนใจ คนที่มาก็จะสัมผัสถึงความเป็นชุมชนมุสลิม ในขณะเดียวกันคนในชุมชนมองกลับไปก็อาจจะมองเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น”ชวนแลกเปลี่ยนมุมมองของ ‘บ้านเรา’ และ ‘บ้านเพื่อน’“โดยพื้นฐานเรารู้จักโลกมุสลิมน้อยมาก ได้ยินแต่ว่ามีกำแพงบางอย่างที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำแบบนั้นแบบนี้ หรือมีข้อกำหนดต่างๆ ผมคิดว่าตัวผมเองก็มารู้จักกับโลกของมุสลิมตอนที่เข้ามาทำงานนี้นี่เอง แล้วก็มองเห็นว่ามีความท้าทายหลายระดับมาก”ความท้าทายหลักของการทำงานกับชุมชนที่วิถีชีวิตมีความเกี่ยวพันกับหลักศาสนาคือการบาลานซ์การสร้างความเป็นไปได้ในการเกิดสิ่งใหม่ในพื้นที่โดยไม่ยัดเยียดและทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่แรงต้านและความรู้สึกไม่สบายใจในการทำงานร่วมกัน โปรแกรมที่เกิดขึ้นในงาน Bangkok Design Week ในครั้งนี้จึงถูกคิดโดยไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการผสานแนวคิดเก่า-ใหม่เข้าด้วยกัน แต่อาจารย์มองว่าเป็นการทำให้ชุมชนบ้านครัว และ GalileOasis มองเห็นอีกฝ่ายเป็น ‘เพื่อนบ้าน’ ที่เราสามารถแวะเวียนไปทักทายได้เป็นครั้งคราว และกลับบ้านได้ทุกเมื่อยามที่เริ่มรู้สึกไม่สบายใจ“ตอนพยายามดีไซน์โปรแกรม เราไม่ได้มองว่าชุมชนกับ GalileOasis ต้องผสานเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อยากให้เป็นเหมือนกับว่าเรามี ‘บ้านเรา’ และ ‘บ้านเพื่อน’ คือเราไม่ต้องอยากไปก็ได้ หรือเพื่อนไม่ต้องอยากมาบ้านเราก็ได้ เพราะว่าบ้าน 2 หลังไม่มีทางทุบรวมเป็นหลังเดียวได้อยู่แล้ว แต่ว่าจะทำยังไงให้บ้านเราและบ้านเพื่อนอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวได้ยาวๆ” โดยภายในงานก็จะมีตั้งแต่ เวิร์กช็อป, การจัดทริป, ตลาดอาหาร, นิทรรศการ ฯลฯ ที่สามารถแบ่งโครงสร้างง่ายๆ ได้เป็นการนำวิถีชีวิตแบบบ้านครัวออกมาทดลองตีความใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นที่ GalileOasis และการนำความคิดสร้างสรรค์เข้าไปทำงานร่วมกับพื้นที่ย่านซึ่งจะเกิดขึ้นภายในชุมชนกิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นที่ GalileOasis“โปรแกรม​โยคะสำหรับผู้หญิงมุสลิม จริงๆ แล้วเป็นข้อสงสัย เราคุยกันว่า มันมีลานกีฬาพัฒน์ เราก็เห็นวัยรุ่นมาวิ่งอยู่ แต่ผมไม่เห็นผู้หญิงมุสลิมออกกำลังกายเลย สุดท้ายก็ได้มารู้ว่ามันมีประเด็นว่าผู้หญิงมุสลิมไม่สามารถถอดฮิญาบออกต่อหน้าคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัวได้เลย และพอไปทานอาหารก็มีขนม ของกินเยอะมาก มันอุดมสมบูรณ์มาก อาหารรสชาติหวาน มีโอกาสที่ทำให้เพิ่มน้ำหนักได้มาก ก็เลยมีไอเดียว่าอยากสร้างให้มีพื้นที่ที่ผู้หญิงมุสลิมสามารถมาออกกำลังกายได้ เป็นฟิตเนสสำหรับผู้หญิง ซึ่งก็เป็นโปรแกรมที่เรารู้สึกว่าท้าทายหรือว่าอีกอันที่เป็นโปรแกรมที่เกี่ยวกับการนวด เป็นการสัมผัส การแตะตัวกันที่ท้าทายในเชิงที่ว่าชุมชนมุสลิมค่อนข้างมีระยะห่างระหว่างบุคคลสูง เขาไม่ได้แตะตัวกันง่ายๆ ก็เป็นความท้าทายว่าถ้าเราลองทำให้เกิดขึ้น คนในบ้านเองเขาจะสัมผัสกันแบบไหนบ้าง เขากอดกันมั้ย ให้ความรักกันมั้ย เราก็มองว่าถ้ามีกิจกรรมนวดผ่อนคลายแบบนี้ มันอาจจะทำให้ช่องว่างระหว่างวัยจากช่วงอายุที่หลากหลายในชุมชนลดลง และมีการถ่ายทอดความรู้สึกที่ดีต่อกันผ่านการสัมผัส ทำลายข้อกำหนดบางอย่างของศาสนาไปบ้าง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็จะมีเวิร์กช็อปภาษาอารบิกร่วมสมัยที่เราพยายามเปิดพื้นที่ให้กับคนข้างนอกเข้าไปทำเวิร์กช็อปเขียนตัวอักษรอารบิก คือตอนที่เราเห็นข้อมูล เรารู้สึกว่าตัวอักษรอารบิกมันสวยมากในเชิงกราฟิก และในต่างประเทศมีการพัฒนาตัวอักษรนี้ไปในเชิงกราฟิกดีไซน์เยอะมาก ก็จะมีคนในชุมชนบ้านครัวที่เป็นศิลปินไปสอนเวิร์กช็อปที่ GalileOasis ด้วยตัวเอง”กิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นที่ ชุมชนบ้านครัว “อาหารกับการท่องเที่ยว อันนี้เป็นสิ่งที่ชุมชนอยากทดลองทำที่สุด สิ่งที่คุยกันแล้วชุมชนสนใจมากๆ คือการทำเวิร์กช็อปอาหารกับคนในชุมชนที่เป็นสูตรโบราณ ได้แก่ เวิร์กช็อปเนื้อสะเต๊ะ สูตรโบราณดั้งเดิม, เวิร์กช็อปปั้นกะหรี่ปั๊บ, การตีแผ่นโรตี ทางชุมชนอยากให้คนที่มาได้ทดลองทำ และอยากทดลองทำ cuisine หรือ chef table ในบ้านครัวด้วย มี 3 หลังที่สนใจมากอยากลองทำมีไอเดียการทดลอง เครื่องแกงส้มเขมร แกงชื่อแปลกๆ หลายแกง ที่เราไม่ค่อยรู้จัก เลยรู้สึกว่าชุมชนมีความสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็น DIY ได้ สามารถทำเป็นแพ็ก ready-to-eat ได้ นอกจากประวัติศาสตร์พื้นที่ สถาปัตยกรรมแล้ว จะมีประวัติศาสตร์อาหารด้วยที่รู้สึกว่าน่าสนใจ มีความแตกต่างทางวัตถุดิบ ที่มา และการถ่ายทอดสูตรที่เป็นรุ่นสู่รุ่น มีคุณค่าบางอย่างที่หากนำไปพัฒนาหรือต่อยอดให้เป็นสินค้า อาจจะไปไกลในระดับที่สามารถเลี้ยงดูชุมชนได้ เป็นความท้าทายของโลกสมัยใหม่ว่าชุมชนจะยอมเปิดเผยสูตรไหม จะทำยังไง ผลิตภัณฑ์นี้จะมีคนช่วยแล้วไปสู่เซเว่นฯ เลยไหม แล้วก็จะมีทริปเดินเที่ยวย่าน 2 เส้นทางในธีมประวัติศาสตร์ที่กินได้ โดย route แรกจะเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ คือจาก Jim Thompson การทอผ้าไหมของชุมชน แวะไปทานอาหารที่บ้าน 100 ปี ก่อนจะมาจบที่มัสยิดเพื่อเรียนรู้ประวัติเรื่องราวของชุมชน ส่วน route ที่ 2 จะเป็นเรื่องการพัฒนาชุมชน เริ่มต้นที่ลานกีฬาพัฒน์ แลนด์มาร์กติดชุมชนที่ครั้งหนึ่งเคยต้านทางด่วนเอาไว้ได้ เข้ามาบริเวณบ้านเก่า ไปที่มัสยิดและมาจบที่บ้าน 100 ปี และจะมีเรื่องของการฟื้นฟูชุมชนผ่านศิลปะเข้ามาเกี่ยวด้วย โดยจะจบทริปของเส้นทางที่ 2 ด้วยการไปแปะเซรามิกที่ทำงานเศษกระเบื้องแตกที่ผนังบ้านที่ทำผ้าไหมบ้านลุงวิพลเพื่อเล่าเรื่องราวของชุมชน ก็จะเป็น 2 เส้นทางที่เป็นคนละทาง ตั้งใจให้เป็นต้นแบบงาน ให้หลังจบงานชุมชนสามารถนำไปทำทัวร์ต่อเองได้และสุดท้ายที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ ช่วงดีไซน์วีคจะจัดตรงกับงาน อศบ. ซึ่งเป็นงานใหญ่ของชุมชนที่ 1 ปีจัดหนึ่งครั้งเพื่อระดมทุนการศึกษาให้เด็กที่เรียนที่มัสยิดด้วย เหมือนเป็นวันรวมญาติของบ้านครัว ซึ่งก็สามารถเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตแบบชุมชนแท้ๆ ได้ รวมถึงในชุมชนก็จะมีการใช้ดีไซน์มาปรับปรุงกายภาพพื้นที่ที่เป็นทางผ่านเข้าไปที่งานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการติดไฟ, Lighting Installation หรือนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวชุมชน ก็อยากชวนให้ลองเข้ามาเที่ยวกัน”เตรียมตัวเข้ามาสัมผัสกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเปิดบ้านครั้งใหญ่ของชุมชนบ้านครัวได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านสยาม – ราชเทวีรู้จักกับ ‘ย่านสยาม – ราชเทวี’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านสำรับบ้านครัว : มุสลิม มุ-สลิม YOGAwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/72015 สำรับบ้านครัว : อาราบิก แฮนบุ๊คwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/89031 สำรับบ้านครัว : ต้นแบบ เครื่องแกงส้มเขมร พร้อมปรุงwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71250  สำรับบ้านครัว : ทัวร์ประวัติศาสตร์ทานได้ 01www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71192 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านสยาม – ราชเทวี ที่นี่ : ย่านสยาม www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=50629 ย่านราชเทวี www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=84248 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พระโขนง - บางนา

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พระโขนง – บางนาสำรวจส่วนผสมในการอยู่ร่วมกันของชาวสุขุมวิทใต้ ก่อร่างสร้างย่านให้น่าอยู่ด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมหลายพื้นที่ที่เคยถูกใช้เป็นสนามทดลองไอเดียสร้างสรรค์ในเทศกาล Bangkok Design Week มักจะเป็นย่านเก่าแก่ที่มาพร้อมอัตลักษณ์เก่าแก่และต้นทุนทางวัฒนธรรมมากมาย แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าย่านแห่งนวัตกรรมใหม่ๆ และศูนย์รวมนักสร้างสรรค์อย่าง ‘พระโขนง – บางนา’ กระโดดลงมาเล่นในสนามนี้ด้วยตามไปหาคำตอบด้วยกันกับตัวแทนจาก ‘Cloud 11’ ฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งเป็น Co-host ประจำย่านพระโขนง – บางนา ในการจัดงาน Bangkok Design Week ปีนี้การผสมผสานของวิถีชีวิตและนวัตกรรม‘พระโขนง – บางนา’ คือย่านอยู่อาศัยและทำงานบริเวณสุขุมวิทใต้ซึ่งจะถูกใช้เป็นอีกหนึ่งสนามทดลองงานออกแบบในเทศกาล Bangkok Design Week ในครั้งนี้ โดยตัวแทนจากโครงการ Cloud 11 ให้ได้คำจำกัดความของย่านเอาไว้ว่า ที่นี่คือส่วนผสมที่ลงตัวของ ‘Local Charm’ และ ‘Innovation Hub’“อย่างแรกคือ คุณจะยังได้เห็นตลาดสด ยังได้เห็นเสน่ห์ของชุมชน พวก Local Charm ความเป็นร้านโชห่วย Maker ที่อยู่ในซอยก็ยังตัดเย็บเสื้อผ้า ทำกระเป๋าหนัง ทำรองเท้า แต่ในขณะเดียวกันที่นี่ก็มีผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง มีบริษัทใหญ่ๆ ที่ชอบทำงานในเรื่องของการพัฒนาเมืองค่อนข้างเยอะ มันคือกลุ่มคนที่เป็นผู้ประกอบการที่พูดถึงเรื่องของนวัตกรรม เพราะฉะนั้นที่นี่เลยเหมือนเป็นส่วนผสมระหว่างความเป็นย่านนวัตกรรมและความเป็นโลคอลชาร์มที่ยังมีอยู่ในพื้นที่”ความสามารถที่แตกต่างร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืนเมื่อภายในย่านมีผู้ประกอบการรายใหญ่หัวใจอินเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่ทุกคนต่างก็ตั้งใจลงมือทำในแบบของตัวเอง โดยที่อาจจะไม่ได้มีการหารือร่วมกันล่วงหน้า Cloud 11 จึงมองว่า Bangkok Design Week คือโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการและชุมชนต่างๆ ในย่านจะได้เข้ามา Connect และทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างภาพฝันของย่านพระโขนง – บางนาที่ทุกคนอยากเห็นให้เกิดขึ้นจริง“ทุกวันนี้มีผู้ประกอบการหลายเจ้ามากที่กำลังพยายามทำให้ย่านนี้น่าอยู่มากขึ้น มีทิศทางในการพัฒนาที่น่าสนใจ อย่างตัว Bitec เอง เขาก็พูดถึงเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ, บางจากพูดเรื่อง Sustainability, True Digital Park พูดถึงเรื่องนวัตกรรม ฯลฯ หรืออย่าง Cloud 11 เอง MQDC เองเราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาย่านอยู่แล้ว เพราะเราเข้าใจดีว่าการจะทำให้ Eco System สมบูรณ์ได้ มันต้องประกอบไปด้วยทั้งคนตัวใหญ่และคนตัวเล็กหลายๆ คนปัญหาคือจริงๆ แล้วตอนนี้เราต่างคนต่างทำ เราเลยคิดว่า BKKDW น่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เขาบอกคนอื่นด้วยนะว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ในขณะเดียวกันก็ เฮ้ย เราทำสิ่งนี้ อ้าว คุณก็ทำสิ่งนี้เหรอ งั้นเรามาทำร่วมกันไหม เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองอย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน ดีกว่าจะแยกๆ กันทำ”เพราะทุกคนคือ ‘Curator’Cloud 11 อธิบายว่า ต่อยอดจากความสนใจ ความสามารถ และแนวทางการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกันออกไปของทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ บทบาทของการเป็น Co-host ในครั้งนี้จึงไม่ใช่การเป็น Curator ที่เลือกเฟ้นและออกแบบเรื่องราว แต่คือ Connector ที่ประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน และยกโอกาสในการต่อเติมความเป็นไปได้ในชิ้นงานให้กับพาร์ตเนอร์ต่างๆ อย่างเต็มที่“จริงๆ แล้วพระโขนง – บางนาคือส่วนผสมของการมีส่วนร่วมของทุกคน เพราะผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่นี้ เขาอยากร่วมกันเองทุกคน เราแค่บอกเขาว่า มาทำอะไรใน Bangkok Design Week ไหม ทุกคนจะบอกว่า เออ อยากทำ และทุกคนพร้อมจะหาแง่มุมในการตอบโจทย์ Livable Scape ในรูปแบบของตัวเองเช่น ร้านหนังสือ Books & Belongings เขาก็เล่าเรื่อง Livable Scape ในมุมมองของเขาว่าเป็นเรื่องของอาหาร หรืออย่างบางคนก็มองว่า Livable Scape สำหรับเขามันคือการต้องอยู่แล้วมีความสุข ก็จะทำออกมาเป็น exhibition ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับประเด็นความสุขทุกคนมีแง่มุมในการตอบโจทย์ของคอนเซปต์ Livable Scape ในแบบของตัวเขาเอง มาจากมุมมองของผู้ประกอบการที่เขาตีโจทย์เรื่องนี้เองจริงๆ” เตรียมตัวสำรวจสุขุมวิทใต้ผ่านมุมมองที่หลากหลายใน BKKDW 2024สำหรับงาน Bangkok Design Week ปีนี้ ชาวสุขุมวิทใต้ยกขบวนสิ่งที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้สำรวจกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการ เสวนา ประสบการณ์ งานออกร้าน ฯลฯ “จริงๆ เราจะมีกิจกรรมทั้งหมดเกือบๆ 20 กิจกรรมเลยค่ะ แต่ไฮไลต์หลักงานหนึ่งก็จะเป็นการเปิดตัวบ้านต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะที่ทาง INDA, ร้าน Books & Belongings และ 85mm. Studio & House และสำนักงานเขตพระโขนงตั้งใจสร้างให้เป็นสนามเด็กเล่นของชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็ได้มีการปรับปรุงพื้นที่นี้จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากที่เดิมเคยเป็นป่ากล้วยที่รกร้างเลยมีการเปิดบ้านของ Vaslab Architecture ซึ่งเขาจะเป็นตัวพ่อในเรื่องออกแบบเลย แล้วตัวออฟฟิศเขาเองก็จะหน้าตาเท่ๆ ฟีลเหมือนเป็นลูกศิษย์ Zaha Hadid อย่างนั้นเลย ครั้งนี้ก็จะมาเปิดบ้านครั้งแรกพร้อมจัด Lighting Show และก็จะมีการเปิดตลาดที่รวบรวมผู้ประกอบการสร้างสรรค์เอาไว้ด้วยกันต่อมาคือตรง True Digital Park ก็จะมีไฮไลต์เป็น Cloud 11 Pavilion ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่เราอยากชวนทุกคนมาเป็นนักสร้างสรรค์ด้วยกัน เพราะเราคิดว่า everyone is a creator และในพื้นที่นี้ก็จะมีเรื่องของการทดลองสร้างสรรค์ผลงานอะไรต่างๆ โดยข้างในจะมีลักษณะเป็นเหมือน pavilion ที่พอเดินเข้ามาแล้วจะมี experience ให้ทุกคนได้ลองลงมือทำและแสดงออก”อีกอันนึงที่น่าสนุกมากๆ คืองาน Paint your park ของทีม AI-Deate ที่เขามีไอเดียจากการอยากเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้เรื่องการออกแบบ สามารถออกแบบเมืองได้ด้วยตัวของเขาเองผ่านการใช้ AI Generator เข้ามาเป็นตัวช่วย ก็จะมีการเตรียมเครื่องมือเอาไว้ให้คนได้ลองถ่ายรูปเมืองตรงที่อยากพัฒนามาวงแล้วใส่ prompt เข้าไปเพื่อเจนออกมาเป็นภาพไอเดียการพัฒนาย่าน แล้วก็เอามาประกวดชิงรางวัลกัน หลังจากนั้นก็จะมีการเอาผลงานที่ได้มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในงานนี้ด้วยอันต่อมาคือ SUNA Market ก็จะเป็นการรวบรวมผู้ประกอบการในย่าน ร้านเบเกอรี่ ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือร้านของกินต่างๆ ที่อยู่ในย่านมาเปิดร้าน แล้วใช้ชื่อว่า สุนา มาร์เก็ต ก็คือ สุขุมวิท บางนา อันนี้จะจัดอยู่ที่ไบเทคค่ะและก็จะมี Talk ที่เราจะพูดเรื่องจริงจัง ซีเรียส เรื่อง Design Thinking เรื่อง Service Design เรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือ entrepreneurship เราคิดว่าเราคือความคิดสร้างสรรค์แบบสายเนิร์ดน่ะ ไม่ทำอะไรเล่นๆ คือทำแบบซีเรียส เพราะฉะนั้นฟอรั่มอันนี้ก็จะเล่าเรื่องความเป็นเด็กเนิร์ดของคนในย่านนี้ได้ดีเหมือนกัน อันนี้จัดที่ True Digital Park ค่ะ”ตามมาสำรวจ ทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไปกับชาวสุขุมวิทใต้ได้ที่ Bangkok Design Week ย่านพระโขนง – บางนา!รู้จักกับ ‘ย่านพระโขนง – บางนา’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านSouth Sukhumvit: ล้านเล่น 95www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83882 South Sukhumvit: Vaslab Convergencewww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83893 South Sukhumvit: PAINT YOUR PARK คนตัวเล็กออกแบบเมืองใหญ่www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/84226 South Sukhumvit: TALK: Experience Scape: Code + Craftwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/69350 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านพระโขนง – บางนา ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=84250 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : บางกอกใหญ่ - วังเดิม

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : บางกอกใหญ่ – วังเดิมหยิบวัฒนธรรมเดิมมาเพิ่มเติมความหมายใหม่ บอกเล่าวิถีชีวิตริมคลองบางกอกใหญ่ จากอรุณรุ่งถึงช่วงอรุณลับท่ามกลางการเติบโตขึ้นของหลากหลายซอฟต์พาวเวอร์ภายในย่าน ไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์ หรือธุรกิจร้านเช่าชุดไทยที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด อัตลักษณ์ของย่าน ‘บางกอกใหญ่ – วังเดิม’ นอกเหนือไปจากการเป็นที่ตั้งของวัดอรุณราชวรารามอันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติคืออะไร และจะถูกต่อยอดไปเป็นงานออกแบบในเทศกาล Bangkok Design Week ในรูปแบบไหนวันนี้เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันกับ ‘คุณเมฆ สายะเสวี’ กรรมการบริษัท CROSSs and Friends และสมาชิกกลุ่มยังธน เจ้าทัพมือเก๋าที่ทำงานพัฒนาเมืองในฝั่งธนมานานกว่า 7 ปี ซึ่งตัดสินใจขยับมาเป็น Co-host ของย่านใหม่แห่งนี้เพื่อขยายความเยาว์วัยแบบ ‘ยังธน’ สู่พื้นที่วังเดิมเมืองเก่าฝั่งธนบุรีและวิถีที่รอการค้นพบ‘บางกอกใหญ่ – วังเดิม’ ย่านเขตอนุรักษ์เมืองเก่าแห่งฝั่งธนบุรีที่มากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมโบราณ และวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง คือหนึ่งในสนามทดลองแห่งใหม่ของเทศกาล Bangkok Design Week ในครั้งนี้ โดยเสน่ห์ที่คุณเมฆมองว่าวังเดิมมีดีไม่แพ้ใคร คือความเป็นย่านที่มีการผสมผสานอย่างลงตัวของเมืองเก่าที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและย่านอยู่อาศัยที่น่ารักและน่าอยู่“ย่านบางกอกใหญ่มีภาพลักษณ์ของการเป็นทั้งย่านเมืองเก่าที่มีสถานที่ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความน่าอยู่และมีความน่ารักเป็นทุนเดิม ซึ่งวิถีชีวิตในนั้นก็จะมีทั้งวิถีชีวิตที่เป็นเชิงประเพณี รวมถึงถ้าขยับออกไปหน่อยก็จะเห็นว่าวิถีที่เป็นชีวิตคนสวนริมคลองเลยก็มี แต่พื้นที่ที่เราเลือกมาเป็นโจทย์ในครั้งนี้จะโฟกัสแค่ระยะที่มันพอเดินถึงได้ เดินเที่ยวได้ เราเลยเลือกหั่นชิ้นย่านวังเดิมซึ่งจริงๆ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของบางกอกใหญ่มานำเสนอเป็นพื้นที่แรกให้คนที่มาเที่ยวได้ลองสัมผัส”อัตลักษณ์ใหม่หลังอรุณลับหนึ่งในความท้าทายที่ทีมยังธนค้นพบจากการทำงานร่วมกับย่านวังเดิม คือความแข็งแรงของแบรนดิ้งวัดอรุณฯ ที่ฉายแสงเจิดจ้าจนเรื่องราวของชุมชนและย่านอยู่อาศัยที่ตั้งอยู่รายรอบถูกเจือจางอัตลักษณ์ให้พร่าเบลอ การต่อยอดจากความสำเร็จเดิมที่มีและขยายผล รวมถึงดึงคนที่เดินทางมาเที่ยววัดอรุณฯ ให้ได้ลองสำรวจย่านใกล้เคียงเพิ่มเติม จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของพวกเขา“เอาจริงๆ ในเขตบางกอกใหญ่มีของดีอยู่เยอะแต่ไม่ได้ถูกเกลาต่อ คำถามของใครหลายคนเลยเป็นว่า แล้วจริงๆ ที่นี่นอกจากวัดอรุณฯ มีอัตลักษณ์อะไร ความท้าทายที่ทีมจับเป็นประเด็นมันเลยกลับมาเป็นเรื่องการ explore character ของย่านอยู่อาศัยที่มีความน่ารักซึ่งอยู่รอบๆ วัดคือตามความเป็นจริงหลัง 6 โมงครึ่ง ทุ่มนึง แถวนี้มันจะเริ่มเงียบแล้ว เราที่เป็นคนเจนฯ นี้ ที่มืดๆ อยากออกไปหาของกินข้างนอก ก็เลยตั้งคำถามว่ามันจะดีไหมถ้าช่วงเวลาตั้งแต่ 6 โมงครึ่งเป็นต้นไป หลังจากที่วัดอรุณฯ ปิดแล้ว เราสามารถสร้างเป็นรูทบางอย่างที่นำทางฝรั่งหรือนักท่องเที่ยวที่ไม่รู้ว่าจะต้องกลับทางไหน หรือจะไปไหนต่อ ให้เดินตามทางมาที่ MRT อิสรภาพ แล้วระหว่างทางก็ได้สำรวจย่านผ่านเทศกาลที่เกิดขึ้นมา เพื่อให้ย่านยังมีชีวิตชีวาอยู่หลังพระอาทิตย์ลับไปแล้วประมาณชั่วโมงสองชั่วโมง เหมือนเราอยากให้คนอยู่ในพื้นที่นี้นานขึ้นอีกหน่อย มีปฏิสัมพันธ์กันต่อในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตก” คนฝั่งธนฯ จับมือกันทำถึงแม้ว่าวังเดิมจะเป็นย่านใหม่ในเทศกาลดีไซน์วีค แต่การทำงานในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ ด้วยความที่กลุ่มยังธนทำงานอยู่ในพื้นที่ฝั่งธนมานานถึง 7 ปี หลายๆ ตัวละครที่น่าสนใจและเครือข่ายที่เคยสร้างไว้ต่างก็เป็นสิ่งที่บันดาลใจให้พวกเขาลงมือขยับมาทำงานกับย่านวังเดิม“ก่อนหน้านี้ ยังธนเคยไปช่วยจัด BKKDW ที่เจริญรัถ คลองสาน และวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่เราทำงานมาตลอด เราก็จะมีพาร์ตเนอร์หลักๆ อยู่แล้วที่เป็นสถาบันศึกษาซะเยอะ เช่น บางมด สถาบันเรสเปค ม.ศรีปทุม ม.ศิลปากร อาชีวะธนบุรี รวมถึงพี่ๆ ตำรวจในพื้นที่ และพี่ๆ ที่สำนักงานเขต เช่น เขตธนบุรี และเขตบางกอกใหญ่ อย่างเมื่อสองปีที่แล้วเราทำโปรเจกต์ที่บางกอกใหญ่ ก็จะสนิทกับเขตบางกอกใหญ่ค่อนข้างมาก ทั้งผู้นำชุมชน อาจารย์สถาบันต่างๆ ในบางกอกใหญ่ ทุกคนเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญมากอย่างโปรเจกต์ Bangkok Design Week นี้ ต้องยอมรับว่าเกิดจากตอนที่เขาประกาศมาแล้วเราก็รู้สึกสนุกเฉยๆ อยากส่งจังเลย เราเลยลองมัดคนที่เรารู้จักและทำงานอยู่ในย่านอยู่แล้ว แล้วนำเสนอออกไป ซึ่งจริงๆ ก็เป็นต้นทุนจากพี่ๆ ที่เคยทำงานด้วย เรามองว่าดีไซน์วีคเหมือนเป็นโอกาสในการ open house งานของทุกคนในย่าน ใน 9 วันนี้ สิ่งสำคัญคือเราจะร้อยเรียงทุกอย่างให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ยังไง”เมื่อปีนี้ถือเป็นการเข้าร่วมงานใน Bangkok Design Week เป็นปีแรก คุณเมฆอธิบายว่าทีมยังธนเริ่มทำงานด้วยการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ที่สุดก่อน คือการ target ไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในงานออกแบบ“กลุ่มเป้าหมายที่เล็งไว้ในปีแรกนี้ก็จะเป็นนักท่องเที่ยว หรือดีไซเนอร์ที่เคยดูงานผ่านดีไซน์วีค หรืออาจจะมีคนที่ตามมาจากเพจในฝั่งธน หรือคนฝั่งธนที่มาเที่ยวกันเอง มันอาจจะไม่ได้ถึงขั้นเข้าไป tackle ปัญหาในชุมชน หรือว่ามีชุมชนมาเป็นคนต้นเรื่องในการผลิตงานขนาดนั้น แต่เราก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นการเริ่มต้นให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าพื้นที่นี้ยังมีความเป็นไปได้ในแง่มุมไหนบ้าง”เส้นทางสำรวจย่าน จากอรุณรุ่งจนถึงอรุณลับเมื่อศูนย์กลางของย่านอย่าง ‘วัดอรุณราชวราราม’ เป็นสถานที่ที่มีเวลาเปิดปิดแน่นอน คือตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น แล้วหลัง 6 โมงเย็นล่ะ คนจะไปไหนต่อดี?” โจทย์ที่ว่านี้ คือคอนเซปต์หลักที่กลุ่มยังธนเลือกใช้ในการร้อยเรียงเรื่องราวของย่านวังเดิมเข้าด้วยกันในงาน Bangkok Design Week ปีนี้“เราอยากส่งต่อวิถีชีวิตของย่านตั้งแต่ ‘อรุณรุ่งจนถึงอรุณลับ’ ให้คนที่มาเยือนได้รู้จักและเข้าใจต้นทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการเล่นคำกับ signature ของพื้นที่ ก็คือวัดอรุณฯ ซึ่งมีหลายมุมมอง เช่น ตอนคุยกับนักท่องเที่ยวหรือคนที่อาศัยอยู่แถวนี้ มันจะมีโมเมนต์ที่ทุกคนอยากมาดูพระอาทิตย์ตกที่วัดอรุณฯ ตามชื่อ แต่ช่วงเวลาที่วัดต้องดูแลมันจบที่ 18.30 น. พอดี เราเลยรู้สึกว่าช่องว่างตรงนี้มันน่าเล่น น่าเอาเส้นทางการเดินตั้งแต่ MRT อิสรภาพ จนถึงวัดอรุณในช่วงอรุณลับมาใช้เป็นหนึ่งในคอนเซปต์ของการจัดเทศกาล “Bangkok Design Week รอบนี้เราก็ขอความร่วมมือพี่เจ้าของธุรกิจ เช่น อพาร์ตเมนต์ที่มองเห็นวิวพระปรางค์วัดอรุณฯ สวยๆ เลยจะเปิดเป็นฟลอร์เต้นรํา ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่จะจัดขึ้น หรือมีน้องที่อยากพาคนมาทัวร์วัดอรุณฯ และบางกอกใหญ่ผ่านสายตาของนักโบราณคดี มีการเสวนาเรื่องผลิตภัณฑ์บางกอกใหญ่กับกลุ่มนักออกแบบ มีโปรแกรม Time Machine Boat ที่จะพาคนย้อนอดีตผ่านเรือ มีงาน Sound บางกอกใหญ่ที่จะเล่าถึงเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบางกอกใหญ่ตั้งแต่เช้าจนเย็น มีกิจกรรมท่องธนที่ต่อยอดมาจากเกมออฟธนที่จะทำแผนที่ให้คนมาเดินเพื่อหาของหรือทำภารกิจในย่าน ฯลฯ โดยมีทาง CROSSs และยังธนเป็นคนเชื่อมให้เกิดโปรแกรมเพื่อสร้างให้เกิดเป็นเส้นทางเดินตั้งแต่ช่วงอรุณยังอยู่บนฟ้าจนถึงลับฟ้า เมฆรู้สึกว่าเราจะมีการแตะเบื้องหลังประวัติศาสตร์มาใส่ในทริปในกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้เยอะ และมีประเด็นการตั้งคำถามที่ว่า แล้วอะไรคืออัตลักษณ์ของวังเดิมกันแน่ เพราะเอาจริงๆ ในเขตบางกอกใหญ่เขามีของดีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ถูกเกลาต่อและเล่าต่อ”มาร่วมตามหาอัตลักษณ์ใหม่ยามอรุณลับที่ย่านวังเดิมไปกับยังธนได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านบางกอกใหญ่ – วังเดิมรู้จักกับ ‘ย่านบางกอกใหญ่ – วังเดิม’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านฟังฟลอร์ อรุณลับwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70244 เรือล่องเวลาwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70337 Sound of Bangkok Yaiwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70349 แผนที่ท่องธน ณ ย่านวังเดิมwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70329 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านบางกอกใหญ่ – วังเดิม ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=84249 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : ย่านอื่นๆ

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : ย่านอื่นๆอีกหลากหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ที่เริ่มลงมือ ‘ทำ’ เพื่อสร้างสรรค์ให้เมืองยิ่งดี‘กรุงโรม’ ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ‘ย่านสร้างสรรค์’ ก็ไม่ได้สร้างเสร็จได้ในปีเดียวเช่นกัน ดังนั้นอีกหนึ่งกลุ่มโปรแกรมที่ถึงแม้จะไม่ได้รวมตัวกันเป็นย่าน แต่เราอยากชวนให้จับตามองไม่แพ้กัน ก็คือกลุ่มโปรแกรมที่ 16 หรือ ‘ย่านอื่นๆ’ ซึ่งเป็นการรวบรวมโปรแกรมจากหลากหลายศิลปิน นักสร้างสรรค์ สตูดิโอ ผู้ประกอบการ และสถานที่ต่างๆ ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นตบเท้าเข้าสู่สนามทดลองแห่งนี้เพื่อเปลี่ยนไอเดียมากมายให้กลายเป็นจริงเพราะโปรแกรมที่คุณจะได้เห็นในครั้งนี้ อาจเป็น day one ที่สำคัญของหลายๆ โปรเจกต์ สิ่งที่นักสร้างสรรค์ทุกคนจากทุกๆ พื้นที่ต้องการมากที่สุด ในช่วงเวลานี้ ก็คือ Feedback จากผู้ชมที่พวกเขาสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาผลงานต่างๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้นได้นั่นเอง ดังนั้นหลังจากที่ได้ไปทำความรู้จักกับเบื้องลึกเบื้องหลัง แรงบันดาลใจ และโปรแกรมต่างๆ ของย่านสร้างสรรค์ทั้ง 15 ย่านกันไปแล้ว วันนี้เราอยากชวนมาปิดท้ายกันที่นี่เพราะ Bangkok Design Week คือสนามทดลองไอเดียสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนคลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านอื่นๆ ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=284 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

ข่าว PR งานเปิด

เริ่มแล้ว!! “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567”ชูแนวคิด ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ยกระดับต้นแบบการพัฒนาเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศเปิดอย่างเป็นทางการแล้วกับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) ภายใต้ธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกิจกรรมกว่า 500 โปรแกรม คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 300,000 คน ผ่านงานออกแบบหลากหลายศาสตร์ ซึ่งถูกคิดมาเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ยิ่งขึ้น พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างต้นแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครต่อไปโดยในพิธีเปิดเทศกาลฯ (27 มกราคม 2567) ได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมเปิดงานนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การได้เห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และพลังสร้างสรรค์ของคนจากหลากหลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากกว่า 2,000 คน มาร่วมมือกันจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ ด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อันจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของธุรกิจไทยในระดับสากล“การจัดเทศกาลฯ ในปีที่ 7 นี้ ทำให้เราได้เห็นภาพของการใช้เทศกาลงานออกแบบสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตและขยายไปสู่ต่างประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนกระบวนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ทำให้ผู้บริโภคในตลาดโลกมีความสนใจและต้องการซื้อสินค้าและบริการสร้างสรรค์ของไทยมากขึ้น ฉะนั้นงานนี้จะเป็นพลังให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อไป” นายเศรษฐา กล่าวดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดเทศกาลฯ ในทุก ๆ ปีที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนำไปสู่การพัฒนาองค์ประกอบสำคัญของการสร้างนิเวศแห่งความสร้างสรรค์ อันได้แก่ ธุรกิจ ผู้คน และพื้นที่ โดยการจัดงานทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,948 ล้านบาท นอกจากนี้ เทศกาลฯ ยังได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการผลักดันให้กรุงเทพฯ เติบโตในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ หรือ Bangkok City of Design อีกด้วย“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงทำหน้าที่เป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่สื่อสารเรื่อง ‘คน ธุรกิจ ย่าน และเมืองสร้างสรรค์ ไม่ใช่ ‘อีเวนต์’ ที่จัดขึ้นแล้วจบไป แต่มีการนำเสนอความคิดและการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยรวมไอเดียจากนักสร้างสรรค์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ CEA ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร กับการมอบโจทย์จริง ‘HACK BKK’ เพื่อให้กลุ่มนักสร้างสรรค์ได้ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยหวังว่าแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดและปรับใช้งานจริงในเมืองต่อไป” ดร. อรรชกา กล่าวเสริมด้านนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ภายใต้แนวคิด ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่กำลังชวนทุกคนมาร่วมกันลงมือทำ เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไปสู่ตลาดโลก “เทศกาลฯ จึงเป็นเสมือนแหล่งรวมแนวคิดและผลผลิตใหม่ ๆ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของเมือง ที่เป็นเหมือนวัตถุดิบให้ภาครัฐและเอกชน ได้นำไปส่งเสริมและต่อยอดให้เข้มแข็ง และเมื่อสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีพลังดึงดูดผู้คนให้สนใจและกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อตั้งแต่ระดับการค้า การลงทุน ไปจนถึงการเดินทางมาท่องเที่ยวและอยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้น” นางสาวแพทองธาร กล่าว“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมือง ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ที่ ‘น่ารัก’ กับทั้งผู้คนในเมือง นักลงทุน และผู้มาเยี่ยมเยือน ผ่านหัวใจสำคัญ 3 มิติ ได้แก่Hard Matters เมืองดีต่อกาย กายภาพดี เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน ให้อยู่สบาย มีสุขภาพดีHeart Matters เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรงDesign Matters เมืองออกแบบดี ชีวิตดี หัวใจในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และเศรษฐกิจเทศกาลฯ นำเสนอกิจกรรมกว่า 500 โปรแกรมที่ครอบคลุมทั้งในรูปแบบการจัดแสดง (Exhibition) เสวนา (Talk) เวิร์กช็อป (Workshop) อีเวนต์ (Event) ดนตรีและการแสดง (Music & Performing) ทัวร์ (Tour) ตลาด (Market) และโปรโมชัน (Promotion) ใน 15 ย่านและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ (1) เจริญกรุง – ตลาดน้อย (2) พระนคร (3) ปากคลองตลาด (4) นางเลิ้ง (5) เยาวราช (6) หัวลำโพง (7) อารีย์ – ประดิพัทธ์ (8) บางโพ – เกียกกาย (9) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู (10) เกษตรฯ – บางบัว (11) พร้อมพงษ์ (12) สยาม – ราชเทวี (13) บางกอกใหญ่ – วังเดิม (14) พระโขนง – บางนา (15) บางมด และพื้นที่อื่น ๆ ดังนี้ 1. Exhibitor Program ผลงานออกแบบในสาขาที่หลากหลายที่แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งยังสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริงอย่าง Special Project: ‘HACK BKK’ โจทย์จริงที่ท้าทายความสามารถนักออกแบบร่วมกันเสนอแนวทางและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยมีผู้คนเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น 2. Academic Program กิจกรรมที่ส่งเสริมการแสดงศักยภาพและเตรียมความพร้อมนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ได้ก้าวสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเต็มตัว 3. Business Program กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และการจ้างงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง Partnership Program และ Creative Market & Promotion ตลาดนัดสร้างสรรค์ ทั้งทางออนไซต์และออนไลน์ 4. International Program กิจกรรมสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักออกแบบไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการเชื่อมต่อเพื่อขยายโอกาสให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย 5. Local Community Program โครงการพัฒนาย่านที่เน้นการลงมือทำร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ 6. Lively Program อีเวนต์สร้างความเคลื่อนไหว เติมเต็มบรรยากาศสร้างสรรค์ และเพิ่มสีสันให้กับพื้นที่ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าถึงเทศกาลฯ มากขึ้น ทั้ง Music & Performing Tour และ Open House

นวัตกรรมการออกแบบพื้นที่เพื่อชีวิตดีๆ โดย AP Thailand

เปิดผัสสะทั้งห้า สัมผัส Experiential Space จากนวัตกรรมการออกแบบพื้นที่เพื่อชีวิตดีๆ โดย AP Thailand คุณต้องการอะไรจากบ้านหรือพื้นที่อยู่อาศัยบ้าง? แน่นอนว่าฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ชีวิต อยู่ กิน นอนหลับสบาย คงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือที่อยู่อาศัยนั้นต้องช่วยเติมเต็มความสุขและมอบประสบการณ์ชีวิตดีๆ ในแบบที่เราเลือกเองได้ด้วย หากคุณยังนึกไม่ออกว่า ‘ชีวิตดีๆ’ แบบที่ว่าเป็นอย่างไร เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ครั้งนี้ เอพี ไทยแลนด์ ได้สร้างสรรค์พื้นที่เชิงประสบการณ์และนำเสนอนวัตกรรมการออกแบบพื้นที่ ที่มอบความรู้สึกและประสบการณ์ใหม่ๆ ของการมี ‘ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้’ ให้ทุกคนได้มาสัมผัสไปด้วยกัน ที่หน้าลานไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ภายใต้คอนเซปต์ ‘LIVE WELL SPACE’เปิดประสบการณ์ ‘ชีวิตดีๆ’ กับ LIVE WELL SPACEอยากชวนคุณมาสัมผัสประสบการณ์ชีวิตดีๆ บนพื้นที่ ‘LIVE WELL SPACE’ ที่ถ่ายทอดมาจากนวัตกรรมการออกแบบพื้นที่ของเอพี ผ่านประสาทสัมผัสรอบด้าน ทั้งการฟัง จ้องมอง รู้สึก และสัมผัส ภายใต้สภาพแวดล้อมที่จะทำให้คุณสุขกาย สบายใจ พร้อมกิจกรรมไฮไลต์ที่ชวนค้นหาความหมายของชีวิตดีๆ ในแบบที่คุณต้องการ พร้อมออกแบบความเป็นตัวเองลงไปในธรรมชาติ ซึ่งนำติดมือกลับบ้านไปสร้างแรงบันดาลใจต่อได้อีกด้วย นอกจากนี้ พื้นที่ในงานยังออกแบบมาให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้ เพื่อสานสัมพันธ์และเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ ไปด้วยกันหยิบไอเดีย ‘ชีวิตดีๆ’ ต่อยอดสู่ชีวิตจริงนอกจากเราจะได้สัมผัสประสบการณ์ชีวิตดีๆ ในแบบเอพี ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในพื้นที่ LIVE WELL SPACE เอพียังมีของที่ระลึกสุดพิเศษให้คุณติดมือกลับบ้าน เพื่อนำไอเดียในพื้นที่นี้กลับไปสร้างมิชชั่นสนุกๆ ค้นหารูปแบบการใช้ชีวิตที่สุขทั้งกายสบายทั้งใจไปด้วยกันกับคนที่คุณรักที่บ้านของคุณเองอีกด้วยเพราะชีวิตที่ดี เกิดขึ้นได้จาก ‘นวัตกรรมการออกแบบพื้นที่ ที่ดี’เพราะชีวิตที่ดีเกิดขึ้นจากหลากหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่การอยู่อาศัยที่ดี ความปลอดภัย สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้สุขภาพดี รวมไปถึงการมีพื้นที่ที่เข้าใจและเอื้อให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบตัวได้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้คือ ‘นวัตกรรมการออกแบบพื้นที่ ที่ดี’ในมุมมองของเอพี เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่เปิดโลกการออกแบบ ให้ผู้คนเห็นความเป็นไปได้ในการนำงานออกแบบมาพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้านให้ดีในแบบที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เอพีเชื่อมั่นเสมอมา–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape#APLiveWellSpace#นวัตกรรมออกแบบพื้นที่ #APSpaceInnovationsDesign#ชีวิตดีๆที่เลือกเองได้ #apthai