BANGKOK DESIGN WEEK 2024, 27 JAN–4 FEB

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : วงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู

เผยแพร่เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู

“ต่อยอดวัฒนธรรมฝั่งธนฯ ด้วยการเชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่บนพื้นที่สองย่านที่เชื่อมกันด้วยเส้นทางรถไฟ”


‘วงเวียนใหญ่’ ย่านประวัติศาสตร์อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทยและชาวจีนบริเวณพื้นที่ฝั่งธนบุรีมาอย่างยาวนาน และ ‘ตลาดพลู’ ย่านอาหารการกินเก่าแก่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดและสถานีรถไฟซึ่งคึกคักไปด้วยร้านเด็ดตลอด 24 ชั่วโมง สองพื้นที่เชื่อมต่อที่โดดเด่นในเรื่องของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของคนในย่าน คือหนึ่งในสนามโชว์ฝีมือของนักออกแบบในงาน Bangkok Design Week ในครั้งนี้


ความท้าทายที่ย่านสร้างสรรค์เก่าแก่อย่างวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู กำลังเผชิญอยู่คืออะไร และพวกเขามีแผนในการออกแบบงานเทศกาลในปีนี้ในรูปแบบไหน ‘ดร.ณัฐฐา สววิบูลย์’ จากคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม Co-host ของ Bangkok Design Week ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู จะมาเล่าให้ฟัง


ดินแดนแห่งการอยู่อาศัยที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมอาหาร


“จริงๆ ย่านวงเวียนใหญ่กับตลาดพลู เรื่องราวที่เป็นเรื่องเด่นๆ จริงๆ ในพาร์ตของตลาดพลู จะเป็นวัฒนธรรมในเรื่องของอาหาร ความเชื่อ วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน ความเชื่อของศาลเจ้า วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาต่างๆ ส่วนวงเวียนใหญ่ปีที่แล้วเราพูดถึงเรื่องเครื่องหนัง การถลกหนัง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ปีนี้ก็เลยคิดว่าจะเล่ามิติของเรื่องหนังต่อไปเพื่อขยายผล”


‘ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู’ คือย่านวัฒนธรรมอาหารแห่งฝั่งธนฯ ที่โดดเด่นด้วยประวัติศาสตร์การตั้งรกรากอยู่อาศัยที่ยาวนาน สารพันร้านอาหารเจ้าดัง รวมไปถึงการเดินทางที่สะดวกสบาย ง่ายต่อการตะลุยกิน จากการเป็นที่ตั้งของวงเวียนใหญ่ที่มีถนนสำคัญมากถึง 4 สาย คือ ถนนประชาธิปก ถนนลาดหญ้า ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และถนนอินทรพิทักษ์ มาบรรจบกัน นอกจากนี้ยังมีทั้งสถานีรถไฟฟ้า BTS MRT และรถไฟไทยผ่านอีกด้วย


ด้วยองค์ประกอบที่ครบครันพร้อมทั้งการรวมกลุ่มของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตลาดพลูดูดี, ถามฉันสิ ดิฉันคนตลาดพลู, ยังธน ฯลฯ ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลูจึงถือเป็นอีกหนึ่งย่านสร้างสรรค์ที่มีการทำงานทำพื้นที่ในทุกๆ ระดับอย่างสม่ำเสมอ


รักน้อยๆ แต่รักนานๆ


จะเรียกตลาดพลู – วงเวียนใหญ่ว่าเป็นย่านที่ ‘เนื้อหอม’ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะที่นี่มีผู้คนมากมายสนใจเข้ามาให้ความช่วยเหลือและทำงานด้วยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายภาคประชาชน องค์กร และมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่อาจารย์ณัฐฐาอธิบายว่าสิ่งนั้นมองในอีกแง่มุมกลับไม่ได้ส่งผลดีต่อย่านมากอย่างที่คิด เพราะยิ่งคนมากมายอยากเข้ามาทำงานในย่าน ความยากคือการทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถรันโปรเจกต์ต่างๆ เหล่านั้นต่อด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน


“จริงๆ ในชุมชนก็อยากทำงานต่อเนื่องนะ แต่บางทีกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มที่เข้ามาช่วย เขาก็เข้ามาเฉพาะแล้วแต่โครงการแต่ละโครงการไป พอหมดช่วงเวลาโครงการ คนในชุมชนก็ต้องหาทางดูแลกันต่อเอง แต่พอโครงการเยอะกว่าปริมาณที่คนในชุมชนเองดูแลไหว ชุมชนก็อาจจะขาดแรงงานหรือคนที่เข้าไปรันงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นเรื่องของงบประมาณด้วย อาจจะเป็นการรอจากภาครัฐ ความต่อเนื่องก็เลยหายไป แต่พอมีอีเวนต์ปีละหน หรือการที่เราเข้าไปทำเวิร์กช็อปเป็นระยะๆ ก็กระตุ้นได้เป็นครั้งเป็นคราว”


เชื่อมชุมชนเข้ากับรายวิชา เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ของนักศึกษาอย่างยั่งยืน


สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ทำงานร่วมกับย่านตลาดพลูมายาวนาน อาจารย์ณัฐฐาอธิบายว่าทางทีมพยายามออกแบบการทำงานร่วมกับย่านให้เป็นระบบและมีกระบวนการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือเริ่มต้นจากการเข้าไปรับโจทย์จากชุมชน ดีไซน์ออกมาเป็นหลักสูตรในรายวิชาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำงานในพื้นที่จริงๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการประเมินฟีดแบ็กหลังวิชาจบเพื่อนำไปปรับปรุงรายวิชาในครั้งต่อไป และทำวนซ้ำไปเช่นนี้เรื่อยๆ


“ในส่วนของนักศึกษา การเข้าไปส่วนใหญ่คือการที่เราเข้าไปรับโจทย์ก่อน เราก็มีวิชาดีไซน์ทำนิทรรศการ (exhibition) อยู่แล้ว และมีเรื่องของการทำเฟอร์นิเจอร์ เราคิดว่าเราน่าจะใช้ความรู้ที่เรามี สอนนักศึกษาด้วย เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานจริงด้วย เพราะเดี๋ยวนี้นักศึกษาก็ชอบเรียนนอกสถานที่มากกว่าในห้องเรียน ชอบที่จะลงมือทำ


ส่วนชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะบางทีเขาอยากทำ แต่ไม่รู้จะทำยังไง อย่างทัวร์ในย่านเขาก็เคยมีแต่ไม่ได้ถูกทำให้ต่อเนื่อง พอเรารับโจทย์มาเราก็มาดูว่า เราจะเอาเด็กกลุ่มไหนเข้าไป หรือจะบูรณาการกับวิชาไหน จะบริหารเวลาในการนำนักศึกษาไปช่วยทำอย่างไร แต่ด้วยความที่เราทำพื้นที่นี้ต่อเนื่องมาหลายปี จึงได้รับความร่วมมืออย่างดี คุ้นเคยกับคนในย่านดี ชาวบ้านในชุมชนค่อนข้างเห็นประโยชน์ของการจัดกิจกรรม ค่อนข้างได้รับความร่วมมือที่ดี และทางเขตก็น่ารัก การทำงานก็เลยค่อนข้างราบรื่น”


ชวนมา ‘ทัวร์ลง’ ที่วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู


อาจารย์ปิดท้ายด้วยการสปอยล์คอนเซปต์ของงาน Bangkok Design Week ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู ในครั้งนี้ว่ามาในธีม ‘ทัวร์ลง’


“ปีนี้เรามาในคอนเซปต์ ‘ทัวร์ลง’ แต่เป็นคำว่าทัวร์ลงในเชิงบวก คือเราอยากจะให้มีเรื่องการเดินทางของผู้คนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ เช่น คนรุ่นเก่า คนที่อยู่ในย่าน คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามา และหลักๆ เลยเราอยากจะต่อยอดทุนวัฒนธรรมเดิมที่ชุมชนมีอยู่แล้ว และเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านงานออกแบบสร้างสรรค์ และในส่วนของเวิร์กช็อปเองก็จะช่วยในเรื่องของการสร้างรายได้และปลุกชีวิตให้พื้นที่ตรงนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น” 


โดยกลุ่มของกิจกรรมจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 


“หนึ่งคือ กลุ่มนิทรรศการ Exhibition Intallation รวมไปถึงพวก Street Furniture ที่ตอนจบงานแล้วเราก็ยังสามารถวางไว้ให้คนในพื้นที่ใช้ต่อได้ ในพวกนิทรรศการก็จะเป็น นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวพาร์ตตลาดพลูก็จะเล่าเรื่องวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งตัวนิทรรศการจะอยู่ในพื้นที่ของสถานีรถไฟ เป็นแนวคิดของ ทัวร์ลงรถไฟ มาเชื่อมระหว่างตลาดพลูกับวงเวียนใหญ่ จากสถานีรถไฟก็จะมาเชื่อมกับส่วนตลาดพลู ซึ่งก็จะมีในส่วนของ Exhibition / Installation Art และ Street Furniture เลยจากส่วนตลาดพลู ก็จะเป็นส่วนของศาลเจ้า ก็จะมี Installation Art ที่พูดถึงเรื่องความเชื่อ ความมูนิดๆ ที่สามารถมาเช็กอินถ่ายรูปกันได้ ฝั่งวงเวียนใหญ่ก็จะมี Installation Art ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหนัง ตรงนี้เราใช้พื้นที่ตรงอุโมงค์ทางลอดที่ขึ้นมาบริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่คนจะชอบไปถ่ายรูป เราก็จะไปบอกเล่าเรื่องราวตรงนั้นเพื่อที่จะเชื่อมมาถึงบริเวณถนนเจริญรัถ ที่เป็นถนนสายหนัง ซึ่งตรงนี้จะมาควบคู่กับทริปเดินทัวร์ย่านที่เราได้ถามสิ อิฉันคนตลาดพลูมาเป็นคนนำเอง


สองคือ กลุ่มการประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ที่เราจะร่วมกับพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และใช้พื้นที่ของ มจธ. ในส่วนของ KX innovation 


และสุดท้ายคือ กลุ่มเวิร์กช็อปที่ส่วนใหญ่จะเป็นเวิร์กช็อปที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว เช่น ในส่วนของเวิร์กช็อปของเล่นไม้ / การทำว่าวจุฬา / เวิร์กช็อปการทำหัวสิงโต ซึ่งค่อนข้างได้รับฟีดแบ็กที่ดี ซึ่งก็จะเป็นส่วนที่ชุมชนเข้ามาเป็นวิทยากร ซึ่งทางชุมชนก็ยินดีที่จะมาทำตรงนี้ ยินดีมากๆ ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก็จะเป็นเวิร์กช็อปสมุดทำมือ หรือว่า craft beer ที่ได้วัตถุดิบมาจากโลคอล และฝั่งวงเวียนใหญ่ก็ยังคงมีเวิร์กช็อปเครื่องหนังและทำดอกไม้แห้ง”


นั่งรถไฟเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารและงานฝีมือที่หลากหลายในย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู ได้ที่ Bangkok Design Week 2024 


รู้จักกับ ‘วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน


ทัวร์ลงตลาดพลู

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73705 


ทัวร์ศาลเจ้า: 7 8 9 ไฟ ถึง ไฟ

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73672 


DIY: เครื่องหนังทำมือ 

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/74031 


DIY: ว่าวบางสะแกลุงเบื้อก

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73880 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู ที่นี่ :

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49829 


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape


แชร์