ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

เปิดโลก / เรียนรู้ / เตรียมลงสนาม NFT ไปกับ SC Asset

ปี 2021 ในวันที่อุตสาหกรรมและวงการต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังอยู่ในขาลงจากสถานการณ์โควิด วงการหนึ่งที่ดูเหมือนจะพุ่งสวนกระแส แซงหน้าไปไกลจนใครก็ตามไม่ทันคงหนีไม่พ้น NFT (Non-Fungible Token) ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นดั่งสนามรวมผู้เล่นหลากหลายไว้ด้วยกัน ทั้งนักสร้างสรรค์ นักลงทุน นักสะสม หรือแม้แต่แบรนด์ถึงตรงนี้หลายคนที่ยังไม่รู้จัก NFT อาจคิดถอดใจเพราะไม่รู้จะไปหาความรู้ที่ไหน เราขอบอกว่ายังไม่สายเพราะวันนี้แบรนด์ที่พร้อมเป็นพื้นที่สนับสนุนไอเดียคนรุ่นใหม่อย่าง SC Asset มองเห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องนี้สำหรับทุกคนจึงได้รวบรวมผู้เล่นระดับเซียนในตลาด NFT มาไว้ที่เดียว เพื่อแบ่งปันความรู้ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงเส้นทางในการเติบโตไปในตลาด NFT ผ่านชั้นเรียนออนไลน์ภายในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ ที่ชื่อว่า “NFT 101 presented by SC​ Asset เปิดชั้นเรียนกับเซียน NFT” “NFT” เวทีของความคิดสร้างสรรค์จุดเริ่มต้นชั้นเรียน NFT เกิดจากการที่ SC Asset มองเห็นว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมางานออกแบบในไทยคึกคักขึ้นมาก แต่สิ่งที่ขาดกลับเป็นเวทีสนับสนุน ทั้งในด้านความรู้และพื้นที่ ทำให้ความครีเอทีฟและพลังของงานดีไซน์ไทยยังไม่ถูกแสดงออกมามากเท่าที่ควร ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เชื่อมั่นว่างานดีไซน์ของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างแน่นอน ในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Cryptocurrency จนถึง NFT ที่เป็นเหมือนเวทีที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ทำให้นักสร้างสรรค์ได้แสดงฝีมือกันอย่างเป็นรูปธรรม การเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นเพื่อต่อยอดโอกาสได้ จึงเป็นภารกิจที่ SC Asset ต้องการลงมือทำให้เกิดขึ้นทุกมิติความรู้ จากหลากหลายผู้เล่นด้วยความที่ NFT เป็นที่รู้จักในวงกว้างในรูปแบบของศิลปะ หลายคนจึงอาจคิดว่าผู้เล่นในตลาด NFT มีเพียงกลุ่มศิลปินนักสร้างสรรค์และนักสะสมผู้ชื่นชอบงานศิลปะเท่านั้น  แต่ในความเป็นจริง ตลาดแห่งนี้ประกอบด้วยตัวละครที่หลากหลาย มีทั้งนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในการสร้างกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดนี้ ไปจนถึงแบรนด์หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่สนใจ NFT ในฐานะเครื่องมือใหม่ในการสร้างแบรนด์และทำการตลาด การเรียนรู้ NFT ผ่านผู้เล่นหลากหลายบทบาทจึงทำให้เราเข้าใจมันแบบรอบด้าน และมองเห็นพื้นที่ที่ตัวเองจะลงไปเล่นได้ชัดเจนขึ้นชั้นเรียนแห่งนี้ SC Asset จึงชวนทั้งศิลปินดังแห่งยุค 90 ที่ผันตัวเป็นศิลปินที่สร้างรายได้จาก NFT อย่างคุณติ๊ก ชิโร่-ดร.มนัสวิน นันทเสน มาแชร์ประสบการณ์ในฝั่งนักสร้างสรรค์, ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานและเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex Thailand ที่มาเสริมมุมมองในด้านการหาโอกาสสร้างกำไรจาก NFT, คุณเอ็ดดี้-ภราดร ไชยวรศิลป์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand ที่จะมาแชร์เคล็ดลับที่จะทำให้นักสร้างสรรค์ขายงานได้ในตลาดนี้จากมุมมองของนักลงทุน โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ คุณหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ จากแบไต๋ เป็นตัวแทนถามตอบจากมุมมองของผู้เรียนอย่างเราด้วยภาษาง่าย ๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เข้าใจหรือซับซ้อนตามไม่ทันเมืองจะพัฒนา เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าใจงานออกแบบในมุมมองของผู้สนับสนุนเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ SC Asset มองเห็นความสำคัญของงานออกแบบในฐานะเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาและช่วยควบคุมการเติบโตของเมืองให้ไปในทางที่ตอบโจทย์ผู้คนมากขึ้น เปรียบได้กับการออกแบบบ้านที่มอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีและช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้อยู่อาศัย เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจงานออกแบบมากขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะ เพื่อนำวิธีคิดของงานออกแบบไปใช้ในชีวิตประจำวัน เปิดโลก NFT และเรียนรู้ไปพร้อมกันใน NFT 101 presented by SC​ Asset “เปิดชั้นเรียนกับเซียน NFT” วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16:00-18:00 รับชมได้ทางเพจ Facebook Bangkok Design Week และ SC ASSET

Design PLANT Express งานดีไซน์ที่ส่งตรงถึงหน้าประตูบ้านคุณ

Design PLANT คือกลุ่มนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2013 เพื่อทำงานขับเคลื่อนวงการออกแบบร่วมกัน และแน่นอนว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับงาน Bangkok Design Week มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสตูดิโอหลักที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นโฮสต์ และในงานเทศกาลฯ ปี 2022 นี้ โฮสต์หลักผู้รับผิดชอบนิทรรศการ Design PLANT Express คือ ดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง PDM แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่แปลงโฉมเสื่อแบบไทย ๆ ให้กลายเป็นสินค้าสุดคูล ดิวจะมาเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปและความเคลื่อนไหวของโปรเจกต์สนุก ๆ ในงานนี้  จุดเริ่มต้นของ Design PLANTดิวเล่าถึงที่มาของการรวมกลุ่มว่า “Design PLANT เริ่มรวมตัวกันจาก 5-6 สตูดิโอที่ทำงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ถ้าพูดถึงวงการดีไซเนอร์เมืองไทย สเกลมันจะไม่ได้ใหญ่เหมือนวงการสถาปนิกหรือวงการอินทีเรียร์ แต่ในแง่ของจำนวนคือเรามีสตูดิโอและบริษัทออกแบบเล็ก ๆ เยอะไปหมด บางสตูดิโอมีทีมงาน 2-5 คน เต็มที่ก็ 10 คน และในอีกมุมหนึ่งเมืองไทยก็เป็นฐานการผลิตสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่สุดยอดแห่งหนึ่งของโลก คนในวงการจะรู้กันว่าช่างฝีมือเมืองไทยผลิตสินค้าให้แบรนด์ระดับโลกเยอะมาก”“และกลุ่มผู้ก่อตั้ง Design PLANT ส่วนใหญ่ก็ทำงานกับโรงงานเหล่านี้ เราเลยเกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างให้วงการพัฒนาและทำให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดโชว์เคสหรือจัดนิทรรศการร่วมกันก็เป็นวิธีหนึ่งที่สร้าง Vibe ในวงการและพัฒนาต่อยอดด้านการค้าได้”นอกจากนี้เขายังเสริมอีกว่า “ชื่อของ Design PLANT ต้องการสื่อถึงการปลูกนักออกแบบรุ่นใหม่ อันนี้เป็นคีย์หลักในการรวมกลุ่มเลย เพราะดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ๆ จะเติบโตได้เขาต้องมีเวทีในการแสดงงาน การรวมกลุ่มจึงเป็นทั้งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในแง่ธุรกิจและผลักดันวงการออกแบบให้เติบโตด้วย เราไม่เน้นการส่งผลงานเข้ามาประกวดหรือมีข้อจำกัดอะไรมากมาย เราเปิดโอกาสให้ทั้งนักออกแบบที่เพิ่งเรียนจบหรือแม้กระทั่งนักศึกษาที่ยังเรียนอยู่ ก็สามารถมาแสดงงานบนเวทีเดียวกันกับนักออกแบบมืออาชีพได้”ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันลักษณะนี้ จุดประกายให้นักออกแบบหน้าใหม่จำนวนไม่น้อยได้รับไอเดียและแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำมาจัดแสดงในปีถัดไป เพราะเห็นแบบอย่างจากรุ่นพี่ในวงการการผลิดอกออกผลของงานดีไซน์ปีนี้นักออกแบบทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ที่รวมกลุ่มกันในนามของ Design PLANT นำผลงานมาจัดแสดงร่วมกันที่งาน Bangkok Design Week 2022 มากถึง 44 สตูดิโอ เทียบกับครั้งแรก ๆ ที่ Design PLANT มาจัดแสดงงานร่วมกับทางเทศกาลฯ และมีสตูดิโอเข้าร่วมไม่ถึง 20 แห่ง ก็นับเป็นการเติบโตที่น่าจับตามองทีเดียว “คนเริ่มรู้จักเรามากขึ้นและงานของเราก็กลายเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ได้รับความสนใจแบบล้นทะลัก ด้วยความที่ดีไซเนอร์ที่เข้ามาจอยเขาพาเพื่อนมาด้วย ในวันเปิดนิทรรศการครั้งหนึ่งเราเคยมีคนมาร่วมงานพร้อมกันสองสามร้อยคน ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพลอยได้มาจากการที่งาน Bangkok Design Week ทำให้คนรู้สึกว่าดีไซน์เป็นเรื่องปกติที่เข้าถึงได้ ป้าสามารถเข็นรถมาขายลูกชิ้นหน้างานได้ เพื่อนที่ไม่ใช่นักออกแบบก็มาเดินดูงานกัน ต่างจากเมื่อก่อนที่คนนอกวงการรู้สึกว่างานดีไซน์จับต้องยาก ผมรู้สึกว่ามันเป็นงานที่เจ๋งอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย” เบื้องหลังแนวคิด “Express” : ไม่ใช่แค่ส่งไว แต่ต้องส่งให้โดนใจลูกค้าด้วยคอนเซปต์ในการจัดแสดงงานของกลุ่ม Design PLANT จะเปลี่ยนไปทุกปี ขึ้นอยู่กับโฮสต์ในปีนั้น ๆ เป็นคนตั้งโจทย์ อย่างเช่นปี 2021 ที่ผ่านมา พวกเขาจัดนิทรรศการภายใต้โจทย์ Domestic ซึ่งกำหนดให้นักออกแบบสร้างสรรค์ผลงานจากสิ่งที่มีอยู่ภายในประเทศ เพื่อสะท้อนถึงข้อจำกัดและความท้าทายในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนในปีนี้ที่โควิดก็ยังไม่จากเราไปไหน โจทย์การออกแบบจึงยังคงเกี่ยวพันกับภาวะโรคระบาด แต่มีแง่มุมบางอย่างที่ต่างออกไป“ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราแทบไม่ได้จัดงานแฟร์เลย นั่นหมายความว่าคนไม่สามารถมาเห็นสินค้าของจริงได้ ถ้าคุณทำของบางอย่างที่ไม่สามารถขายผ่านรูปหรือวิดีโอได้ โอกาสในการขายก็จะน้อยลง นักออกแบบที่สร้างสรรค์งานจากแพสชั่นตัวเอง อันนี้ถือเป็นเรื่องยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ก็จะมีนักออกแบบอีกกลุ่มที่ทำงานจาก Pain Point ทางการตลาดหรือปัญหาของผู้บริโภค อย่างหลังเป็นสิ่งที่โลกยุคปัจจุบันต้องการมาก ช่วงโควิดนี่เห็นชัดเจนเลยว่าความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน วิธีการซื้อของก็เปลี่ยน คนเดินห้างน้อยลง”“ในปีนี้ที่ PDM Brand เป็นโฮสต์ ผมเลยอยากให้นักออกแบบทำสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกระแสโลกที่ทุก ๆ อย่างต้องเดลิเวอรี่ได้ในช่วงโควิด จึงคิดออกมาเป็นนิทรรศการ Design PLANT Express 2022 ให้ทำสินค้าพร้อมส่งไปรษณีย์ที่จะขายได้ดีบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเปิดรับผลงาน 5 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ สินค้ากลุ่มแม่และเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สุขภาพความงาม ของใช้ในบ้าน และสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นหมวดหมู่ที่เราทำการรีเสิร์ชจากเทรนด์การตลาดแล้วว่ามันขายดีที่สุดบนแพลตฟอร์ม Market Place และมีข้อกำหนดว่างานออกแบบนั้นต้องใส่ลงกล่องขนาด S, M, L ขนาดใดขนาดหนึ่งได้พอดี”“เราอยากให้งานออกแบบในปีนี้เป็นชิ้นงานที่ดีไซเนอร์ทำออกมาแล้วมีกลุ่มลูกค้ารออยู่บ้างแล้ว ไม่เหมือนงานโชว์เคสอื่น ๆ ที่เน้นนำเสนอไอเดียผลิตภัณฑ์ใหม่ ผมมองว่ามันน่าจะดีถ้าของที่เราออกแบบขึ้นมามีคุณค่ากับตลาด เป็นชิ้นงานที่คนทั่วไปสามารถซื้อไปใช้และชื่นชมมันได้ด้วย ผมจึงเอาโจทย์นี้มาจับเพื่อให้นักออกแบบคิดถึงตรงนั้นด้วย ไม่ใช่ทำของสวยว้าวอย่างเดียวแต่ขายไม่ได้ ซึ่งการกำหนดโจทย์ Express ไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งของทางไปรษณีย์ แต่เราอยากกระตุกต่อมคิดให้นักออกแบบมองไปถึงการนำเสนอข้อมูลทางการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ด้วย”หากสนใจงานสร้างสรรค์ในเชิงธุรกิจและต้องการกระตุกต่อมคิดกระตุ้นไอเดียใหม่ ๆ Design PLANT Express คือโปรแกรมที่คุณไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง พบกับผลงานสุดครีเอตจาก 44 สตูดิโอ ที่ Creative Space ชั้น 5 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 11.00-22.00 น.Design PLANTWebsite : design-plant.comFacebook : facebook.com/Design-PLANT-141504359340956

เปิดประตูสู่ “จักรวาลใจ Mental-verse” เพื่อเข้าใจโลกของคนซึมเศร้า

ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่ ส่งผลให้คนไทยป่วยเป็นโรคทางใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คนทำงานด้านสื่อที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมมาโดยตลอดอย่าง เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill จึงทำโปรเจกต์ Conne(x)t ขึ้นมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็น Conne(x)t “โลก” ซึมเศร้า ที่เล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายที่สะท้อนสภาวะของโลกภายในใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ด้วยรูปแบบวิดีโอสารคดีอินสตอลเลชัน ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “จักรวาลใจ Mental-verse”ก่อนหน้านี้ทีม Eyedropper Fill เคยใช้กระบวนการทางศิลปะเป็นเครื่องมือในการทำโปรเจกต์ Conne(x)t Klongtoey ที่สื่อสารปัญหาด้านการศึกษาและความเหลื่อมล้ำ โดยนำผลงานศิลปะของเยาวชนคลองเตยจากคลาสถ่ายภาพ แฟชั่น แร็ป และการสักลาย มาจัดนิทรรศการในงาน Bangkok Design Week 2019 ก่อนจะต่อยอดไปสู่การผลิตภาพยนตร์สารคดี School Town King ที่ได้รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2020 จากเวทีคมชัดลึกจุดเริ่มต้นเปิดประตูสู่จักรวาลใจ“ไอเดียของโปรเจกต์นี้เริ่มมาจากเรื่องส่วนตัวของเราเองที่เห็นเพื่อน ๆ และคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บางคนจากที่เคยแฮปปี้ดีก็กลายมาเป็นคนป่วย ในฐานะคนทำงานด้านสื่อและการออกแบบ เราเลยมาคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง เป็นไปได้ไหมที่เราจะสื่อสารเสียงของคนเหล่านี้ออกมา โปรเจกต์นี้อยากพาผู้ชมที่อาจจะมีเพื่อนหรือคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้าเข้าไปทำความรู้จักต้นตอปัญหาของโรคนี้มากขึ้น”“สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเราค้นพบว่าคนคนหนึ่งจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ มันไม่ได้เกิดจากปัจเจก พอเรารู้ว่าใครเป็นโรคซึมเศร้า บางทีเราจะโทษว่าเพราะเขามีนิสัยแบบนี้หรือเปล่า แต่พอได้สัมภาษณ์คนเป็นโรคซึมเศร้าสามคนที่อยู่ต่างวัยกัน เราพบว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบจากสภาพสังคมกันหมดเลย ยกตัวอย่างเช่น เด็กเจนซีที่โตมาในยุค 2540 ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยล่มสลาย ทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกและเขาต้องเจอกับปัญหาครอบครัวมากมาย หรืออย่างเบบี้บูมเมอร์ที่ซับเจกต์คือแม่ของเบสท์เอง เขาโตมากับครอบครัวคนจีนที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แต่งงานแล้วเจอสามีไม่ดีก็ต้องอดทน เรารู้สึกว่าแนวคิดและสภาพสังคมเหล่านี้ส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน”ภาพสะท้อนจากโลกภายในใจผลงานหลักที่จัดแสดงในนิทรรศการจักรวาลใจ Mental-verse คือวิดีโอสารคดีอินสตอลเลชันที่เปิดโอกาสให้ซับเจกต์ทั้งสามคนได้เล่าเรื่องของตัวเองอย่างเต็มที่ “เราแจกกล้องให้กับซับเจกต์ทั้งสามคน เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องของตัวเอง เราจะได้รู้ว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเขามองเห็นอะไรต่างไปจากเรามากน้อยแค่ไหน ท้องฟ้าเดียวกันเราเห็นแล้วรู้สึกแฮปปี้ แต่เขาอาจจะเศร้าก็ได้ วิดีโออินสตอลเลชันนี้จะฉายอยู่ในห้องที่มีที่นั่งและบรรยากาศเหมือนเรานอนอยู่บนเตียงแล้วมองเข้าไปในจักรวาลของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”กระบวนการทำสารคดีโดยให้ซับเจกต์เล่าเรื่องตัวเองของ Conne(x)t เกิดขึ้นจากความเชื่อว่าเรื่องเล่าที่ดีคือเรื่องเล่าที่ออกมาจากตัวคนคนนั้นจริง ๆ โดยเบสท์อธิบายเพิ่มเติมว่า “เราใช้เครื่องมือทางศิลปะในการทำความเข้าใจพวกเขา พลังในการเล่าเรื่องส่วนตัวออกมามันมีผลต่อคนดูมาก มันทำลายเส้นแบ่งระหว่างคนนอกที่ไม่ได้เข้าใจเขาขนาดนั้นกับคนในที่เป็นเจ้าของเรื่องเอง วิธีการแบบนี้ทำให้เรื่องเล่ามีพลังและมีแง่มุมบางอย่างลึกซึ้งกว่า เพราะไม่มีอคติจากคนทำ ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่ได้เข้าใจเขาขนาดนั้น”การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใจเมื่อถามถึงขั้นตอนการทำงานกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนว่ามีอะไรแตกต่างจากการทำสารคดีทั่วไปบ้าง เบสท์ให้คำตอบว่า “เรามีการทำ Pre-workshop กับซับเจกต์ก่อน โดยมีนักศิลปะบำบัดเป็นที่ปรึกษาและคอยดูแลกระบวนการตรงนี้ ส่วนเซตคำถามที่คุยกับซับเจกต์และตัวหนังสารคดีที่ตัดต่อออกมา ก็มีจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้ามาเป็นที่ปรึกษาและช่วยดูเนื้อหาด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจกระตุ้นประสบการณ์ที่ไม่ดีให้คนดูและตัวซับเจกต์ ซึ่งในเบื้องต้นก่อนที่จะคัดเลือกซับเจกต์เข้ามา เราก็สืบประวัติมาก่อนแล้วว่าเขามีหมอดูแลและอยู่ในสเตจของโรคที่พอจะเล่าเรื่องตัวเองได้”ส่งเสียงสะท้อนสู่สังคมที่ต้องการการเยียวยานอกจากจัดฉายวิดีโอสารคดีอินสตอลเลชันแล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งที่ทีม Eyedropper Fill เตรียมไว้ คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้มาสะท้อนเรื่องราวของตัวเอง เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเยียวยาบาดแผลทางใจท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก “สภาพสังคมแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะคนเป็นโรคซึมเศร้าที่แย่นะ คนปกติก็ยังแย่ ปีที่แล้วเจอปัญหาโควิดแล้วคนตกอับยากจน ปัจจัยพวกนี้มีผลต่อภาวะสุขภาพจิตโดยรวมมาก ๆ เราเลยคิดว่างานชิ้นนี้พูดถึงคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็จริง แต่มันไม่ได้แบ่งแยกเราออกจากกัน เราเองก็อาจมีครอบครัวที่ประสบปัญหาบางอย่างเหมือนกับซับเจกต์เหล่านี้ สุดท้ายแล้วเราค้นพบว่างานชิ้นนี้ไม่ได้ทำเพื่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างเดียว เพราะคนจำนวนมากในสังคมก็ล้วนประสบปัญหาแบบนี้อยู่เหมือนกัน”นิทรรศการจักรวาลใจ Mental-verse จัดแสดงงานที่ชั้น 2 ศูนย์การค้า River City Bangkok ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 11.00-22.00 น. บางทีการได้ลองมาสัมผัสและทำความเข้าใจโลกภายในของคนซึมเศร้า อาจทำให้คุณค้นพบบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายในใจของตนเองEYEDROPPER FILLWebsite : eyedropperfill.comFacebook : facebook.com/eyedropperfillInstagram : @eyedropperfill

Future Paradise: นิทรรศการชวนมองอนาคตงานออกแบบไทยในโรงพิมพ์ยุค ร.5

การจินตนาการถึงอนาคตเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และผลักดันให้นักออกแบบมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในหลากหลายมิติ ป๋อง-อมรเทพ คัชชานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (Design & Objects Association) นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผู้ก่อตั้ง AMO ARTE แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติและมีแนวคิดในการส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน จึงหยิบเอาแนวคิดที่ชวนนักออกแบบจินตนาการถึงอนาคตมาเป็นธีมหลักของการจัดแสดงงานโชว์เคส Future Paradise โดยสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ในงาน Bangkok Design Week 2022 ครั้งนี้ งานออกแบบไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า“สมาชิกของสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ส่วนใหญ่เป็นดีไซเนอร์ที่ทำเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ และของตกแต่งบ้าน ซึ่งในปีนี้เรามีการพูดคุยกันว่าลองมามองกันไหมว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า งานออกแบบของแต่ละคนจะมีแนวโน้มเป็นยังไง มีความแตกต่างจากปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน” โดยมุมมองต่อคำว่า ‘อนาคต’ ในการจัดแสดงงานโชว์เคสครั้งนี้ ทางสมาคมฯ ไม่ได้มุ่งไปที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการผลิตสุดล้ำเกินจินตนาการแต่อย่างใด แต่พวกเขากลับคิดในอีกแง่มุมว่า ในยุคสมัยที่ความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง สินค้าแฮนด์เมดที่เกิดจากการประดิษฐ์ด้วยมือของมนุษย์อย่างพิถีพิถัน สามารถจับต้องได้และเต็มไปด้วยความรู้สึก มีที่มาที่ไป มีเรื่องราวเบื้องหลังผลงาน น่าจะมีคุณค่าทางใจและสร้างมูลค่าได้มากกว่าสินค้าที่ผลิตครั้งละจำนวนมาก ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม แข่งขันด้วยอัตลักษณ์ไทยที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้“แนวคิดที่เป็นจุดเชื่อมโยงของแต่ละแบรนด์ในสมาคมของเราคือ เรามองอนาคตข้างหน้าว่าเป็นการเติบโตของงานคราฟต์ การใช้วัสดุท้องถิ่น วัสดุรีไซเคิล วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ของไทยได้ ในอนาคตเทรนด์เหล่านี้น่าจะเติบโตมากขึ้นในวงการออกแบบ เราจึงพยายามสะท้อนเรื่องราวของงานฝีมือจากช่างท้องถิ่น ให้คนหันกลับมาคิดถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น”นอกจากนี้ป๋องยังขยายความเพิ่มเติมว่า คงยากที่นักออกแบบไทยจะแข่งขันกับประเทศโซนยุโรปด้วยนวัตกรรมการผลิตที่ล้ำหน้า เพราะทางนั้นเขามีความพร้อมด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีมากกว่าหลายเท่าตัว แต่เราก็มีจุดแข็งและจุดเด่นแบบไทย ๆ ที่โดดเด่นบนเวทีระดับโลกได้เช่นกัน “จุดแข็งและจุดเด่นของงานเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในเมืองไทยที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้คือเรื่องของงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น งานที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นพวกงานที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับงานฝีมือและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยแนวคิดในการออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เทียบกับหลาย ๆ ประเทศต้นทุนการผลิตของไทยอาจจะสูงกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ลูกค้ายอมรับคือฝีมือและเอกลักษณ์ของช่างท้องถิ่นไทยที่ช่างฝีมือชาติอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้”พื้นที่ปล่อยของทดลองทำสิ่งใหม่“งานโชว์เคสเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้แต่ละแบรนด์ได้ปล่อยของและใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ โดยสามารถเลือกทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจากสินค้าปกติที่เคยทำขายก็ได้ เช่น แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อาจจะหันมาทำของตกแต่ง หรือทำเฟอร์นิเจอร์แนวทดลองเพื่อการใช้ชีวิตแบบมีระยะห่างในยุคหลังโควิด เป็นการมองไปสู่อนาคตข้างหน้าว่าสินค้าที่ทำออกมาต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป”“ครั้งนี้เรามีสตูดิโอส่งผลงานมาเข้าร่วมประมาณเกือบ 30 แบรนด์ บางแบรนด์เน้นเรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ไม้พื้นถิ่นของไทย บางแบรนด์ใช้วัสดุที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน เช่น วัสดุรีไซเคิล เศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน ผลงานที่นำมาจัดแสดงค่อนข้างหลากหลาย เป็นงานที่แต่ละสตูดิโอสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ มีทั้งเฟอร์นิเจอร์เพื่อการใช้งาน เฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่ง โคมไฟ งานกึ่งอินสตอลเลชัน เฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง เฟอร์นิเจอร์สำหรับพื้นที่สาธารณะ บางแบรนด์ที่ทำจิวเวลรี่เขาก็นำจิวเวลรี่มาดัดแปลงเป็นงานตกแต่งภายใน”สัมผัสประวัติศาสตร์ในโรงพิมพ์เก่าสถานที่จัดงาน Future Paradise คือตึกเก่าบริเวณถนนบำรุงเมืองที่เคยเป็นโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมาก่อน นอกจากความเหมาะสมในแง่ของพื้นที่ที่สามารถจัดแสดงงานเฟอร์นิเจอร์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ที่นี่ยังมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาน่าสนใจหลายประการ โดยภายในนิทรรศการจะมีส่วนที่บอกเล่าเรื่องราวของโรงพิมพ์แห่งนี้ด้วย “ตึกนี้มีความพิเศษตรงที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และสามารถเชื่อมโยงกับคอนเซปต์อดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่ทางกลุ่มของเราพยายามนำเสนอ ผลงานออกแบบของเราเน้นการพูดถึงอนาคต แต่มาจัดแสดงอยู่ในตึกเก่าที่เป็นตัวแทนของอดีต ซึ่งเราพยายามเชื่อมโยงว่าก่อนที่จะเดินทางไปสู่อนาคต เราต้องมองย้อนดูอดีตก่อน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตย่อมส่งผลถึงปัจจุบัน และขณะเดียวกันสิ่งที่เราทำในปัจจุบันมันก็จะส่งผลถึงอนาคต”ป๋องกล่าวทิ้งท้ายถึงการจัดแสดงงานโชว์เคสที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า “แม้ทุกวันนี้เราแทบไม่ต้องพูดคุยกันแบบเจอหน้าแล้ว แต่มันมีช่องว่างเล็ก ๆ ในความรู้สึกที่เราอยากให้คนมาสัมผัสชิ้นงานที่ไม่สามารถแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล เป็นงานคราฟต์ที่ทุกคนควรมาสัมผัสในสถานที่จริง มาแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน ซึ่งเรามองว่าในอนาคตคนจะโหยหาความรู้สึกเหล่านี้กันมากขึ้น” มาร่วมสัมผัสงานคราฟต์ท่ามกลางบรรยากาศตึกเก่าในอดีตที่จะพาเรามองไกลไปสู่อนาคตกันได้ที่นิทรรศการ Future Paradise โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 11.00-22.00 น.Name : อมรเทพ คัชชานนท์Tel. : 0868984635LINE ID : pongo28The Design & Objects AssociationWebsite : designandobjects.comFacebook : facebook.com/TheDesignAndObjectsAssociation