ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

ปลุกพลังบวกผ่านงานออกแบบ Visual Identity ใน Bangkok Design Week 2022

Key Visual คือส่วนสำคัญในการสร้างภาพจำและสื่อสารแนวคิดเบื้องหลังของ Bangkok Design Week มาตลอดทุกปี แต่สำหรับปีนี้ที่ผู้คนยังคงบอบช้ำและเมืองยังคงซบเซาจากวิกฤติโควิด-19 อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ Key Visual ต้องช่วย “ปลุกพลังบวก” ให้บรรยากาศที่แสนห่อเหี่ยวของปีที่ผ่านมากลับคืนสู่ความสดใสอีกครั้ง   เป็ด-ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ คือนักออกแบบกราฟิกที่ทางเทศกาลฯ มอบหมายให้เขารับผิดชอบโจทย์นี้ ก่อนหน้านี้เป็ดเคยไปใช้ชีวิตและทำงานกับบริษัทกราฟิกดีไซน์ในประเทศญี่ปุ่นนานถึง 12 ปี ก่อนจะบินกลับมาก่อตั้งสตูดิโอออกแบบของตัวเองในประเทศไทยในชื่อ Routine Studio และฝากผลงานในหลากหลายวงการอย่าง ปกหนังสือ อาคิเต็กเจอ, Untitled Case และอีกหลายเล่มจากสำนักพิมพ์ Salmon Books, โปสเตอร์ภาพยนตร์ Snap, ผลงานออกแบบ Visual Identity ให้หลากหลายเทศกาล เช่น Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2021 หลายคนจดจำงานกราฟิกของเป็ดได้จากความมีชีวิตชีวา สีสัน และจังหวะกราฟิกที่สนุก บวกการออกแบบคาแรกเตอร์ที่น่ารักละมุนใจ และนั่นคือเหตุผลที่เทศกาลฯ เลือกให้เขาเป็นผู้ออกแบบ Key Visual ชุบชูใจคนในปีนี้   แม้จะยืนระยะในวงการกราฟิกดีไซน์มายาวนาน แต่การได้มีส่วนร่วมกับ Bangkok Design Week 2022 ก็ยังสร้างความตื่นเต้นกับเจ้าตัวไม่น้อย เพราะการสื่อสารแนวคิด “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ออกมาเป็นภาพให้นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ไปจนถึงคนทั่วไปเข้าใจก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่เบา   เริ่มต้นจากปลุกพลังความสดใส 2 ปีที่ผ่านมาปัญหาโควิด-19 อยู่กับคนทั่วโลก ทำให้นักสร้างสรรค์หมดไฟจะสรรค์สร้างอะไรกันไปไม่น้อย ทั้งทีมงานเทศกาลฯ และเป็ดจึงเห็นตรงกันว่า เราต้องมอบความหวังและกระตุ้นบรรยากาศที่เหมาะกับการสร้างสรรค์ให้กลับมาเป็นอันดับแรก   “ตอนที่ได้รับแจกโจทย์ ได้รู้ธีมงานในปีนี้ก็คือ Co With Creation และเป้าหมายของเทศกาลฯ ที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดบรรยากาศสร้างสรรค์ เราก็มาทำการบ้าน คิดว่าทำอะไรกับงานได้บ้าง พอคิดจากชื่อที่อยากให้คนมาร่วมงาน นึกถึงประเด็น ‘การเชื่อมโยง’ และ ‘การช่วยเหลือกัน’ ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะฝั่งนักสร้างสรรค์ ชุมชน หรือฝั่งธุรกิจเอง ก็เลยอยากสร้างงานที่คนดูสามารถเห็นความหลากหลายใน Main Visual ของงาน”   “องค์ประกอบหลาย ๆ อันในงาน เช่น ตัวหนังสือ C O W I T H ที่นำมาทำเป็นภาพ ก็จะมีรูปแบบหลากหลาย แล้วค่อยมาจัดการกับพื้นที่ให้มีความกลมกลืน มีองค์ประกอบย่อย ๆ ที่แสดงการเชื่อมโยงต่อจุดกันในแบบต่าง ๆ เหมือนเป็นพลังงานด้านบวกที่มาสนับสนุนแพลตฟอร์ม Bangkok Design Week ปีนี้”   “ซึ่งพอคุยว่าโทนของงานน่าจะไปทางไหน ก็คิดว่าน่าจะอยากได้ความสดใส มีพลังบวกขึ้นมากกว่าปีก่อน ๆ ให้เป็นบรรยากาศที่เชียร์อัพคนที่ชมงาน คิดว่าการสร้างบรรยากาศนี้ก็น่าจะเป็นผลดีกับการสร้างสรรค์ด้วยหลังจากที่ขมุกขมัวกันอยู่นานเพราะโควิด ก็เลยเป็นที่มาของภาพรวมดีไซน์ต่าง ๆ ในโปสเตอร์ คืออยากให้คนดูรู้สึกเฟรช มีความสนุกเข้ามา และเปิดกว้างถ้าหากจะมีการต่อยอดพูดคุยหรือทำงานเรื่องจริงจังอื่น ๆ ”   โจทย์เรื่องสีและวัย  แบบสเก็ตช์ Graphic Elements องค์ประกอบ และชุดสีหลายชุด ก่อนจะเป็น Visual Identity เวอร์ชั่นจริงที่ถูกใช้ใน Bangkok Design Week 2022   “สีเหลือง” คือสีที่คนจดจำได้จาก Bangkok Design Week ปีที่ผ่านมา โจทย์ต่อมาคือการสร้างสรรค์ความสดใหม่และสดใส แต่ยังคงไว้ซึ่งสีที่เป็นภาพจำของเทศกาลฯ   “ในส่วนของการทำงานเรื่องสีหรือการเลือกสี พอได้รายละเอียดโจทย์มาว่าอยากจะให้งาน On-site ยังคงสีเหลืองเอาไว้ เพราะค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการบอกทิศทาง เลยเริ่มทำงานโดยยึดสีเหลืองเป็นหลัก และมีกรอบที่ใช้ Form ของตัว D จากคำว่า Design เข้าไปสร้างเป็นโลโก้หลักของเทศกาลฯ แล้วค่อย ๆ ปรับหาสีอื่นที่มาเข้าคู่กัน ต้องเป็นสีที่ไม่กวนกันและดูสบายตา คิดว่าเทา-ดำเป็นคู่สีที่ใช้กับเหลืองได้ดี โดยที่มีสีอื่นมาเพิ่มเติมไม่ยากมาก จุดหลักในการทำงานเรื่องสีคือคนดูแวบเดียวแล้วต้องเข้าใจว่าคืองานเดียวกัน ส่วนนี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและละเอียดไปบ้าง แต่คิดว่าเวลาใช้งานในสถานที่จริงที่เป็นตึกรามบ้านช่อง การเข้าคู่สีต่าง ๆ ที่เลือกไว้น่าจะช่วยให้งานเด่นออกมาได้”    “หนึ่งในโจทย์สำคัญน่าจะเป็นเรื่องของการทำให้งานดูสนุกสดใส แต่ต้องไม่ให้ความรู้สึกเด็กเกินไป เพราะว่า Visual นี้จะถูกเอาไปใช้ประกอบกับงานนิทรรศการของดีไซเนอร์หลากหลายท่านมาก อย่าง Object ต่าง ๆ ในงาน ถึงจะดูเป็นเอกเทศ เป็นคาแรกเตอร์ที่เหมือนมีชีวิตของตัวเองก็จริง แต่การดีไซน์ของเราจะไม่มีการใส่ลูกตาหรือกรอบใบหน้าที่ชัดเจนลงไป พยายามเน้นฟอร์มรูปร่างที่เป็นแนว Geometric ให้ดูเป็นเทศกาลงานดีไซน์อยู่”   ทุกรายละเอียดคือการเล่าเรื่อง หัวใจของการออกแบบกราฟิกคือการสื่อสารผ่านรูปภาพให้คนเข้าใจ ทั้งสิ่งที่อยู่บนภาพตรง ๆ และเหล่าความหมายที่ซ่อนอยู่ รายละเอียดทุกอย่างที่อยู่ในงานจึงมีเนื้อหาและสิ่งที่จะสื่อสารในตัวเอง   “มีการใส่รายละเอียด เพิ่มดีเทลให้งานมี Texture เพิ่มขึ้นกว่าฟอร์มตัวหนังสือเฉย ๆ อย่างตรงตัวอักษร C ก็ทำให้มันเป็นจุด ๆ ที่ดูเชื่อมต่อกันเพื่อล้อกับคอนเซปต์ของงานที่พูดเรื่องการเชื่อมต่อและการช่วยเหลือกัน คือถ้าเอาดีเทลพวกนี้ออกไป งานก็จะดูเหงามาก”   “แต่ไม่เชิงว่าคนดูจะต้องมาทำหน้าที่ถอดรหัสอะไรซับซ้อน เราแค่พยายามต่อยอดการทำงานจากภาพนิ่งให้เกิดความเคลื่อนไหวในจินตนาการคนดู และทำให้งานสามารถนำไปใช้ในงานเคลื่อนไหวต่อได้เวลาที่ต้องอยู่ในสื่ออื่น ๆ อย่างสื่อดิจิทัล อย่างส่วนจุดของตัว i ก็เป็นไอเดียออกมาจากกล่อง หรือตัว H ก็มีเส้นตารางขึ้นมาเป็นเเปลนแบบร่างดีไซน์ และที่สำคัญคือเราใส่องค์ประกอบรองที่ลอยไปลอยมา มาช่วยสร้างความเคลื่อนไหวและความรู้สึกให้กับงานด้วย”   Co with ความหวัง บรรยากาศใน Routine Studio ที่เป็ดใช้เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ ยูน-พยูณ วรชนะนันท์    สิ่งสำคัญที่สุดของคนทำงานก็คือการที่งานประสบความสำเร็จดังความคาดหมาย แต่ความสำเร็จของแต่ละคน รวมถึงแต่ละงานก็ต่างกันออกไป ในมุมของเป็ด ความสำเร็จของงานนี้คือ “พลังงานบวก” ที่เขาอยากส่งต่อให้เพื่อนร่วมวงการและใครก็ตามที่พบเห็น เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญที่คนขาดไม่ได้ ณ เวลานี้ก็คือความหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีรออยู่   “ปกติเวลาทำงานก็จะมีตั้งเป้าหมายในด้านอารมณ์ไว้เหมือนกัน เช่น อยากให้คนที่เห็นตัวงานเราแล้วเกิดความรู้สึกอะไร อยากให้คนอ่านจำหนังสือเล่มนั้นด้วยความรู้สึกแบบไหน สำหรับงานนี้ก็อยากจะให้เป็นงานที่ทำให้คนมางานหรือคนที่มาร่วมจัดงานได้รู้สึกถึงบรรยากาศแง่บวก ส่งพลังให้มองออกไปข้างหน้า หลังจากที่ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนจากเรื่องโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ งานนี้อยากจะชวนคนหันมาเริ่มมองเห็นภาพในอนาคตว่ามันมีอะไรทิศทางไหนที่เราไปกันต่อได้อีก และมีความหวังจากงานดีไซน์ได้บ้าง”      ผลงานการออกแบบชิ้นอื่น ๆ ของเป็ด มีทั้งปกหนังสือ สิ่งพิมพ์ ปกซีดี และ Visual Identity   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation

2 ปีกับโควิด เปลี่ยนชีวิตเรายังไงบ้าง?

มองย้อนกลับไปในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนต่างถูกเงื่อนไขชีวิตบังคับให้ต้องปรับตัวในหลายมิติ เพื่อหาวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้ พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ประชากรโลกเริ่มมีวัคซีนเต็มแขน ไวรัสร้ายก็กลายพันธุ์ส่งเจ้า Omicron มาทักทายให้ชาวโลกได้ตื่นตระหนกอีกระลอก ในภาพรวมจึงยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์โรคระบาดนี้จะสิ้นสุดลงที่ตรงไหน แต่สิ่งที่เราทำได้ ณ วันนี้คือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาชนะความท้าทายของชีวิตวิถีใหม่ที่รออยู่เบื้องหน้า วันนี้เลยอยากพาทุกคนกระโดดขึ้นไทม์แมชชีนไปรีวิวคร่าวๆ กันสักหน่อยว่าในช่วงเวลาสู้รบ 2 ปีระหว่างชาวโลกและโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2021 ที่กำลังจะจบลง เกิดวิถีชีวิตใหม่อะไรที่น่าสนใจบ้าง   บ้านกลายมาเป็นศูนย์กลางของชีวิต หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงมหึมาที่เกิดในช่วงโควิด-19 คือเราต้องอยู่ติดบ้านกันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้น่าอยู่และสอดรับกับวิถีชีวิตของตัวเองยิ่งขึ้น ตลาดสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ เช่น ต้นไม้ในร่ม เทียนหอมบำบัด หรือเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านจึงมียอดขายสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยข้อมูลจาก bangkokbiznews.com ระบุว่าช่วง 2 เดือนที่มีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดในปี 2563 ยอดสั่งซื้อสินค้าของอิเกียประเทศไทยเติบโตสูงถึง 320%   นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดคอมมูนิตี้น่าสนใจในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวกับการตกแต่งและดูแลบ้าน อย่างกลุ่ม ‘จัดโต๊ะคอม’ และ ‘งานบ้านที่รัก’ สะท้อนให้เห็นว่าหลายๆ ครอบครัวพยายามจัดสรรออกแบบการใช้พื้นที่ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้งาน ‘บ้าน’ ให้ตรงกับความต้องการของชีวิต และเหมาะกับการรับมือสถานการณ์โควิดในรูปแบบของตนเอง   ปัญหาทางใจใหญ่ไม่แพ้สุขภาพกาย ในเดือนสิงหาคม 2564 ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก และพบยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวัน มีการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามของกรมสุขภาพจิตมีแนวโน้มเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูงถึง 10 เท่า! เมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาด โดยกรมสุขภาพจิตเผยข้อมูลว่าประชากรไทยมีภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6% และมีภาวะหมดไฟ 17.6% สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสุขภาวะทางใจในคนทุกช่วงวัยเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ในสถานการณ์นี้          ทั้งยังมีการสำรวจพบในหลายประเทศว่าพนักงานออฟฟิศเครียดสะสมมากขึ้นจากการ Work From Home ที่มีตารางประชุมออนไลน์แน่นเอี้ยด ชาวออฟฟิศทั้งหลายจึงพยายามมองหาลู่ทางปรับตัวเพื่อการทำงานออนไลน์อย่างเป็นสุขมากขึ้น ซึ่งก็มีแคมเปญน่าสนใจจากเอเจนซี่ TBWA London ที่ออกแบบเว็บไซต์สนุกๆ สีสันจัดจ้านชื่อว่า soundtheexcuse.com ขึ้นมา โดยในเว็บไซต์จะมีเสียงรบกวนหลายรูปแบบ เช่น สัญญาณไฟไหม้ เด็กร้องไห้ ท่อน้ำแตก ฯลฯ ให้คนที่กำลังเครียดกับการประชุมสามารถเปิดดังๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างปลีกตัวจากการประชุมชั่วคราวได้ ซึ่งไม่ได้ทำออกมาแค่ขายขำ เพราะจริงๆ แล้วแคมเปญนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง TBWA กับ The Book of Man แพลตฟอร์มสื่อสำหรับผู้ชาย ที่ต้องการสื่อสารว่าหากเริ่มรู้สึกเครียดกับการทำงานจนกระทบสุขภาพจิตก็ควรพักเบรกเป็นระยะๆ ไม่ควรรอให้เกิดผลกระทบทางลบกับตัวเองหรือบริษัทซะก่อน เรียกว่า “พักหายใจ ไหวเมื่อไรก็ไปต่อ” ได้เลย   วิถีชีวิตใหม่ส่งผลให้ขยะเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมหนึ่งที่เติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 คือธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ ความสะดวกที่สร้างปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีการเก็บสถิติจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ พบว่า ในเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 60% จึงมีความพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ซึ่งเราคงเห็นผ่านตากันไปบ้างพอสมควรแล้ว   ข้ามไปที่วงการยักษ์ใหญ่อย่างวงการแฟชั่นของโลกเองก็มีการพยายามชูประเด็นหลีกเลี่ยง Fast Fashion เพื่อลดขยะเหลือใช้โดยไม่จำเป็น และหันมาคำนึงถึงการซื้อเสื้อผ้ามือสอง มองการใช้งานที่ยั่งยืนของเสื้อผ้ามากยิ่งขึ้น เพราะหนึ่งในปัญหาขยะใหญ่ๆ ของโลกนั้นเกิดจากอุตสาหกรรมที่เป็น Fast Fashion ไม่น้อย ในประเทศไทยเองก็ตื่นตัวเรื่องนี้สักพักแล้วเช่นกัน อย่าง MORELOOP เองก็เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งมั่นสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าเหลือใช้ หรืออย่างเพจ Fashion Revolution Thailand เองก็ชวนให้ทุกคนมา Swap! แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าของตัวเองกับคนอื่นเพื่อค้นหาเสื้อผ้าชิ้นโปรดหรือแฟชั่นตัวใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างขยะใหม่ให้กับโลก   วัฒนธรรมคือสินค้าส่งออก หากพูดถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง แน่นอนว่า Netflix คือเบอร์หนึ่งที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ โดยมีปรากฏการณ์น่าสนใจในช่วงโควิด-19 คือความโด่งดังไปทั่วโลกของซีรีส์ Squid Game ที่ทำให้เกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ขึ้นมาอีกระลอกใหญ่ ตอกย้ำศักยภาพของ Soft Power เป็นคลื่นที่แผ่ขยายความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลีไปสู่ชาวโลกและยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเกาหลีอย่างมหาศาล เมนูอาหารเก่าแก่ของเกาหลีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เสื้อผ้าในหนังกลายเป็นแฟชั่นไอเท็มที่คนตามหา แม้แต่เพลงจากการละเล่นเก่าแก่ของเด็กเกาหลีที่ปรากฏในหนังก็กลายเป็นเพลงฮิตที่คนฮัมตามกันได้ทั้งบ้านทั้งเมือง    เมื่อกระแสการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านสื่อกลับมาบูมอีกครั้ง บวกกับการเติบโตของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่โตขึ้นเร็วมากๆ จากสถานการณ์ล็อกดาวน์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Disney+ Hotstar มีอัตราการเติบโตสูงถึง 210% ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี!) เราจึงคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ จะเกิดการแข่งขันกันผลิตสินค้าส่งออกที่ชื่อ ‘วัฒนธรรม’ จากประเทศต่างๆ อย่างดุเดือดแน่นอน   โลกเสมือน vs. โลกจริง การเว้นระยะห่างทางกายทำให้เทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ และการสร้างโลกเสมือนเข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างแอปพลิเคชันที่บูมสุดๆ เพราะโควิด-19 คือ Zoom ที่มีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงถึง 326% ในปี 2563 และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ Gather Town โปรแกรมประชุมออนไลน์ที่จำลองบรรยากาศออฟฟิศให้เราสร้าง Avatar เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้ นอกจากนี้ยังมีหลายโรงเรียนที่นำ Gather Town ไปดัดแปลงใช้กับการเรียนออนไลน์ด้วย นับเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้คนบนโลกดิจิทัลได้เป็นอย่างดี   และถ้าจำกันได้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดแรกๆ Animal Crossing เกมแนวจำลองวิถีชีวิตและสร้างชุมชน ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะตอบโจทย์เรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น ทำให้พอคลายเหงาหายคิดถึงเพื่อนไปได้บ้าง ไม่ได้เจอกันในชีวิตจริง อย่างน้อยเจอกันในเกมก็ยังดี แต่ถ้าจะให้สนุกยิ่งไปกว่านั้นก็นัดกันไปเจอในคอนเสิร์ตเลยสิ! เพราะศิลปินฮิปฮอป Travis Scott เขาจัดคอนเสิร์ตเสมือน หรือ Virtual Concert ขึ้นในเกมออนไลน์ Fortnite ช่วงล็อกดาวน์ ช่างเป็นความพีกที่น่าติดตามว่าในอนาคตเราจะข้ามโลกไปทำกิจกรรมร่วมกันที่ไหนได้บ้างโดยไม่จำเป็นต้องขยับตัวออกจากบ้านเลยสักนิด          จากสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดคงพอทำให้เห็นภาพว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากและการพยายามปรับตัวเรียนรู้ชีวิตวิถีใหม่นั้นทำให้เกิดวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เกิดงานออกแบบและนวัตกรรมที่มีประโยชน์มากมาย และเชื่อว่าในปี 2022 อันใกล้ที่เราอาจยังต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไปอีกสักพัก ก็น่าจะมีความท้าทายใหม่ๆ ให้เราได้ลองขบคิดสร้างสรรค์ทางออก คงมีเทรนด์ใหม่และนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตรอให้ค้นพบอยู่อีกไม่น้อย   แต่สำหรับใครที่อยากสำรวจความน่าสนใจหรืองานออกแบบใหม่ๆ ในปีนี้ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน เตรียมตัวให้พร้อมแล้วมาพบกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ที่รวมงานออกแบบน่าสนใจมากมายภายใต้ธีม ‘Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด’ จะจัดแสดงงานในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้เท่านั้น ห้ามพลาดเลยด้วยประการทั้งปวง!   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation       อ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/business/949194 https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31154 https://www.cnbc.com/2021/04/19/1-in-4-workers-is-considering-quitting-their-job-after-the-pandemic.html https://www.bbc.com/news/business-56247489 https://www.soundtheexcuse.com    

BKKDW2022 Open Call

เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลฯ วันนี้ – 20 ตุลาคม 2564   Bangkok Design Week 2022 (BKKDW2022) หรือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 13 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ด้วยการให้ความสำคัญกับ 3 เป้าหมาย คือ 1) การส่งเสริมนักสร้างสรรค์ได้มีโอกาสคิดและทดลองเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ 2) การสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์และชุมชนในการสร้างรายได้ และ 3) การสร้างสีสันและชีวิตชีวาให้กับเมืองและผู้คนในย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย, สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์, ทองหล่อ-เอกมัย, พระนคร และพื้นที่อื่น ๆ ผ่านกิจกรรมทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์   BKKDW2022 จึงขอเชิญชวนนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ผลิต ศิลปิน หน่วยงาน และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอศักยภาพใหม่ให้กับเมือง เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทดลองไอเดียในการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ให้เป็นปฐมบทของการคิด การค้นหาโอกาสในการต่อยอดไปสู่การสร้างวิถีชีวิตใหม่ที่ทำให้พวกเราได้เดินหน้าและเตรียมตัวสำหรับอนาคต    ผ่านการเสนอโปรแกรมตามรูปแบบที่จะเกิดขึ้นใน BKKDW2022 นี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงาน (Showcase) การเสวนา (Talk) เวิร์กชอป (Workshop) อีเวนต์ (Event) ตลาด (Market) โปรโมชั่น (Promotion)   ผู้สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลฯ สามารถดูรายละเอียด ได้ที่  https://bit.ly/BKKDW2022_ParticipationHandbook_TH    สมัครเข้าร่วมจัดเทศกาลฯ ได้ที่ https://apply.bangkokdesignweek.com/apply/ ตั้งแต่วันนี้ – 20 ตุลาคม 2564   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าร่วมจัดเทศกาลฯ ได้ที่  program.bkkdw@cea.or.th  (66) 2 105 7400 ต่อ 126, 136 (จันทร์ – ศุกร์ / 9.30 – 17.30 น.)   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek

โรงละครสัตว์สุดแฟนตาซีที่มีแรงบันดาลใจจากหนังตะลุง โดย Jaime Hayon และ The Standard, Bangkok Mahanakhon

อินสตอลเลชั่นอาร์ตสีแดงขนาดใหญ่ที่แขวนลอยไว้กลางห้องของอาคารเก่าแก่อย่างชัยพัฒนศิลป์ ภาพของเหล่าสัตว์และใบหน้าตัวละครสุดแฟนตาซี ล้อเล่นกับแสงไฟจนเกิดเป็นเงามืดเคลื่อนไหวบนผนังในจังหวะที่แตกต่าง –  คงเป็นหนึ่งในภาพและคลิปที่ถูกแชร์ผ่านตาใครหลายคน ตลอดช่วงเวลา 9 วันของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ ผลงานศิลปะที่ดูสนุกสนานแต่แฝงไว้ซึ่งความลึกลับชิ้นนี้ดูไม่ธรรมดาเข้าไปอีก เมื่อรู้ว่ามันถูกสร้างสรรค์โดยศิลปินและนักออกแบบตกแต่งภายในแห่งยุคอย่าง ไฮเม ฮายอน (Jaime Hayon) นิทรรศการระดับโลกใจกลางย่านเจริญกรุงชิ้นนี้มีที่มาอย่างไร ? ขอชวนย้อนกลับไปดูเบื้องหลังที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวงานศิลปะตะวันตกผสานแรงบันดาลใจจากตะวันออกไฮเม ฮายอน คือศิลปิน-นักออกแบบจากมาดริด ประเทศสเปน ที่มีประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ผลงานของฮายอนมัก “เบลอเส้นแบ่ง” ระหว่างศิลปะ การตกแต่ง และงานออกแบบเข้าด้วยกัน โดยมีจุดเด่นที่การผสานความเป็นงานฝีมือที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังความมีชีวิตชีวาและความสนุกสนาน ด้วยเหตุผลนี้ ฮายอนจึงถูกเลือกให้เป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในให้กับ The Standard, Bangkok Mahanakhon โรงแรมแฟลกชิพแห่งแรกของเอเชีย ในโอกาสเดียวกันนี้ The Standard อยากนำเสนองานศิลปะของฮายอนให้คนไทยได้สัมผัสด้วย จึงเป็นที่มาของผลงาน “Shadow Theatre” นิทรรศการที่ฮายอนสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ด้วยคอนเซปต์ “Circus Fantasy” หรือโรงละครสัตว์ที่มีกลิ่นอายของความแฟนตาซี โดยมีจุดเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจของศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์ที่เป็นเอกลักษณ์ของฮายอน ผสมผสานแรงบันดาลใจจาก “หนังตะลุง” ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย เกิดเป็นงานรสชาติกลมกล่อมจากการผสมผสานวัฒนธรรมของโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันอีกหนึ่งความพิเศษของงานนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือรูปแบบการจัดวางที่ใช้องค์ประกอบหลักคือแสงและการเล่นเงา ที่นอกจากเป็นเอกลักษณ์ของหนังตะลุง ยังช่วยสร้างประสบการณ์แบบ Immersive ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ และเป็นส่วนหนึ่งในโลกของฮายอนที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ขี้เล่น พร้อมเพลย์ลิสต์ที่คัดสรรโดย The Standard ที่มาช่วยเติมความครื้นเครงให้บรรยากาศส่งต่อ “DNA ศิลปวัฒนธรรม” ให้คนไทย โดย The Standard“ศิลปะ” คือหนึ่งใน DNA หลักของแบรนด์ The Standard การสนับสนุนและนำเสนอประสบการณ์ทางศิลปะให้คนไทยจึงเป็นหนึ่งในภารกิจของแบรนด์ เช่น การสนับสนุนเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดนิทรรศการ “Shadow Theatre” ขึ้นมาด้วย นิทรรศการนี้นอกจากจะทำให้คนไทยและชาวต่างชาติในกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสสัมผัสผลงานศิลปะจากศิลปินระดับโลกที่เป็นต้นแบบของนักสร้างสรรค์มากมาย ยังเป็นโอกาสให้ผู้ชมงานได้เชื่อมโยงและสัมผัสกับสถาปัตยกรรมเก่าในกรุงเทพฯ ผ่านสถานที่จัดแสดงงานอย่างชัยพัฒนศิลป์ อาคารที่มีอายุร่วม 111 ปี ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว คุณค่าทางศิลปะ และเป็นเสมือนประตูเข้าสู่ย่านตลาดน้อยอีกด้วยชมและแชร์ภาพบรรยากาศจากนิทรรศการ The Standard Presents Jaime Hayon “Shadow Theatre” ได้จากอัลบั้มนี้

จดหมายรักถึงกรุงเทพฯ จาก Sundae Kids และ centralwOrld

การล็อคดาวน์หลายระลอกที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ของคนกับคนด้วยกันห่างเหิน การล็อคตัวเองอยู่แต่บ้านยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมืองเหินห่างไปด้วย งานศิลปะชิ้นล่าสุดของศิลปิน Sundae Kids – โป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ และ กวิน เทียนวุฒิชัย จึงเลือกหยิบเมืองกรุงเทพฯ มาเป็นแรงบันดาลใจในภาพวาด  ‘Love Letter to Bangkok’ ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อส่ง ‘จดหมายรัก’ มอบกำลังใจให้คนกรุงเทพฯ และเปลี่ยนบรรยากาศเมืองใหญ่ที่เพิ่งผ่านช่วงเวลาหงอยเหงาจากการล็อคดาวน์ให้กลับมามีสีสันอีกครั้งในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้เชื่อว่าหลายคนอาจคุ้นตากับผลงานภาพวาดสไตล์ Comic Essay เล่าเรื่องความสัมพันธ์ชวนอมยิ้มของตัวละครหนุ่มสาวจาก Sundae Kids กันมาบ้าง เพราะพวกเขาเคยฝากผลงานการสร้างสรรค์เอาไว้หลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพประกอบเล่าเรื่องทางออนไลน์  หนังสือการ์ตูน หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ และในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ผลงานภาพวาดสีหวานละมุนใจของพวกเขาได้มาอวดโฉมอยู่ในพื้นที่สุดพิเศษอย่าง Groove Gallery Walk ชั้น 3 และบริเวณ Zone I ห้างสรรพสินค้า centralwOrld ซึ่งเป็นจุดที่เคยจัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินระดับโลกและระดับประเทศมากมายเรื่องราวของคู่รักที่แยกกันไม่ขาด บนฉากของเมืองอันเป็นที่รัก Sundae Kids เริ่มต้นสร้างผลงานตั้งแต่ปี 2014 โดยนำทุกอย่างรอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจ ทั้งการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง และในผลงาน ‘Love Letter to Bangkok’ แรงบันดาลใจของพวกเขาก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเช่นเคย เพราะมาจากเมืองที่ศิลปินอาศัยอยู่อย่าง ‘กรุงเทพฯ’ ที่ทั้งสองหยิบมาเป็นฉากหลัง สร้างสรรค์เรื่องราวความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวที่พบรักกันในเมืองแห่งนี้ ที่ไม่ว่าจะผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งอินเลิฟ เหินห่าง แยกทางกันสักกี่รอบก็ยังโคจรมาพบกัน เปรียบเปรยกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมืองกรุงเทพฯ ที่เคยผ่านกันมาทั้งทุกข์และสุข แต่ก็แยกจากกันไม่ขาด นอกเหนือจากเนื้อเรื่องหลัก เรายังจะได้เห็นบรรยากาศของเมืองแห่งนี้ในมุมน่ารักๆ แฝงรายละเอียดของความสุขที่หลายคนอาจหลงลืมไปในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากโควิด ที่ศิลปินตั้งใจถ่ายทอดออกมาเพื่อให้คนกรุงเทพฯ ที่แวะเวียนมาดูได้ชุบชูกำลังใจ โดยเรื่องราวทั้งหมดนี้ ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ผ่านรูปแบบของ Vertical Art Exhibition ที่จัดเต็มพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1-5 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ส่งพลังบวกจากเดสติเนชั่นใจกลางเมืองเบื้องหลังผลงานศิลปะแจกความสดใสชิ้นนี้มาจากความตั้งใจของ เซ็นทรัลพัฒนา ผู้สนับสนุนและผู้ให้พื้นที่จัดแสดงผลงาน เพราะการส่งพลังบวกเพื่อสร้างพลังใจให้คนไทยในทุกสถานการณ์คือภารกิจที่เซ็นทรัลพัฒนาทำมาเสมอตลอดการดำเนินธุรกิจกว่า 40 ปี ยิ่งในช่วงเวลาหลายปีมานี้ คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ คงรู้สึกได้ถึงความสุขที่ลดน้อยลงจากหลายๆ สถานการณ์ ศูนย์กลางแห่งความสุขและไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่นแลนด์มาร์กระดับโลกอย่างเซ็นทรัลเวิลด์จึงจับมือกับศิลปินรุ่นใหม่เพื่อร่วม Co with Mental Health ด้วยผลงานศิลปะที่ชวนให้เราสร้างความสุขในทุกๆ วัน ผ่านการมองเรื่องเล็กๆ รอบตัวนอกจากนั้นการจัดแสดงงานศิลปะในศูนย์การค้าใจกลางเมืองที่คนทั่วโลกต้องเดินทางมาอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ยังช่วยทำให้คนเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายขึ้น และทำให้เซ็นทรัลเวิลด์กลายเป็น Instagrammable Photo Landmark แห่งใหม่ที่ต้องมาเช็คอิน มาชมเรื่องราวน่ารักๆ จาก Sundae Kids ได้ที่ Groove Gallery Walk ชั้น 3 และบริเวณ Zone I ห้างสรรพสินค้า centralwOrld  ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2022 เวลา 10.00-22.00 น.

Bangkok NFT Art Festival 2022 เทศกาลศิลปะดิจิทัลที่ยกขบวนไปโชว์ในย่านใกล้บ้านคุณ

หากพูดถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงสุด ๆ ในช่วงนี้ ก็คงหนีไม่พ้นความคึกคักของวงการศิลปะ NFT ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้กับศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น แต่หลายคนอาจยังงง ๆ เห็นภาพไม่ค่อยชัดเจนว่างานศิลปะดิจิทัลเหล่านี้คืออะไร เราจึงชวน จ๊อบ-นิษฐา พฤกษาชลวิทย์ ผู้กำกับโฆษณาที่เป็นหนึ่งในทีมผู้จัดงาน Bangkok NFT Art Festival 2022 มาพูดคุยสร้างความเข้าใจเรื่องศิลปะ NFT ให้มากขึ้น ก่อนที่เราจะไปชมผลงานเจ๋ง ๆ ของศิลปินมากหน้าหลายตาพร้อมกันในงานเทศกาลนี้โควิดเป็นเหตุให้เข้าสู่วงการศิลปะ NFTก่อนหน้านี้จ๊อบวาดรูปเล่นเป็นงานอดิเรกยามว่างอยู่บ้าง แต่ไม่เคยคิดว่าจะทำเงินจากการวาดรูปแต่อย่างใด กระทั่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กิจกรรมกองถ่ายโฆษณาต้องหยุดชะงัก เธอจึงเริ่มหันมาสนใจงานศิลปะ NFT “ในช่วงที่ทำอะไรไม่ได้ เราก็อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ เลยเริ่มศึกษาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT ซึ่งพอเป็นงานศิลปะมันก็เข้าใจได้ง่ายสุดในบรรดา NFT ประเภทต่าง ๆ เพราะชิ้นงานศิลปะแต่ละชิ้นมีความเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ระบบเทคโนโลยี Blockchain เอื้ออำนวยให้เราสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ได้โดยมีหลักฐานปรากฏชัดว่าใครเป็นเจ้าของ ต่างจากระบบเก่าที่สามารถ Copy Paste ได้ เดิมทีงานศิลปะมันก็มีมูลค่าในตัวอยู่แล้ว ยิ่งเราตรวจสอบได้ด้วยว่าใครเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก”“ในอดีตการที่ศิลปินคนหนึ่งจะทำให้คนเห็นผลงานได้ มันต้องผ่านกระบวนการมากมาย เช่น ต้องจัดแสดงผลงานในแกลเลอรี่ หรือต้องถูกสแกนผลงานโดยคนอื่นก่อน แต่พอมาเป็นศิลปะ NFT ศิลปินแต่ละคนสามารถสร้างตัวตนได้ด้วยตัวเอง เราเข้ามาในโลกนี้ได้เลย ไม่ต้องถูกสแกนโดยใครใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้วงการศิลปะกว้างขวางมากขึ้นไปอีก เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลย” จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันจัดเทศกาลปัจจุบันศิลปินที่ทำงาน NFT ส่วนใหญ่ทั้งในไทยและทั่วโลกจะรวมกลุ่มกันอยู่ในทวิตเตอร์ ซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล โปรโมตผลงาน และนำมาสู่ความคิดที่จะจัดงาน Bangkok NFT Art Festival 2022 ขึ้น “ความคิดนี้เริ่มมาจากพี่โน้ต Dudesweet (พงษ์สรวง คุณประสพ) เขามีความคิดอยากจัดงานนี้ขึ้น แล้วก็เกิดการพูดคุยต่อยอดจนสเกลงานใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีคนสนใจเข้าร่วมมากขึ้น ก็เลยรวมตัวกันจากคนที่อาสามาช่วย ๆ กัน ทำให้เทศกาลของเราจัดแสดงผลงานหลายจุดมาก เนื่องจากคนที่อยู่ย่านนู้นย่านนี้เขาอยากมีส่วนร่วม และทีมงานก็เห็นพ้องกันว่าการจัดงานให้คนไปเดินดูตามย่านต่าง ๆ แบบนี้น่าสนใจ เราเลยตั้งใจมาร่วมแสดงงานพร้อมกับ Bangkok Design Week ซึ่งน่าจะทำให้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าใจศิลปะ NFT มากขึ้น อย่างในย่านตลาดน้อยที่เป็นจุดแสดงงานหลักของเทศกาล เราก็ประสานงานกับคาเฟ่ย่านนั้นไว้ 5 ร้าน นอกจากนี้ยังมีงานที่ตรอกข้าวสาร อารีย์ ท่าดินแดง รวมไปถึงอุบลราชธานีด้วย เราพยายามทำคอนเซปต์งานให้เหมือนโลก Metaverse ที่คนไม่ต้องมารวมกันที่ศูนย์กลางอย่างเดียวก็ได้ ใครอยากจัดงานตรงไหนก็จัดได้เลย”รูปแบบหลากหลาย กระจายตัวทั่วกรุงเทพฯในงานก็จะมี Exhibition ศิลปินมาโชว์งานให้ดูกันในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนั้นเราก็มีกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น งาน Talk โดยศิลปิน NFT มาร่วมพูดคุยกัน ให้ความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ที่สำหรับคนที่สนใจจะมาทำ NFT ก็เหมาะมาก ๆ ที่จะมาฟัง มาถามตอบกันได้อย่างใกล้ชิดในงานนี้ และส่วนที่สำคัญที่มีศิลปินเข้าร่วมค่อนข้างมากคือ AR (Augmented Reality) เพราะเป็นงานศิลปะที่เล่นผ่านโทรศัพท์มือถือจากตรงไหนก็ได้ และสามารถใส่ลูกเล่นที่ล้อเลียนไปกับโลกเสมือนและโลกจริง เช่น เอามือถือไปส่องแล้วเห็นงานศิลปะ NFT ขึ้นมาในย่านต่าง ๆ ได้ ซึ่งเรามีครีเอเตอร์เข้าร่วมเกือบร้อยคน โดยในส่วนของงาน AR นั้น ผู้สนับสนุนหลักด้านเทคโนโลยีคือ Keen Collective ดิจิทัลเอเจนซี่ผู้เชี่ยวชาญด้าน Creative Advertising Tech และด้วยความที่เป็นการจัดงานครั้งแรกของ Bangkok NFT Art Festival ซึ่งมีจุดประสงค์ในการถ่ายทอดเรื่องราวของศิลปะ NFT ไปในวงกว้าง ทีมผู้จัดงานจึงเปิดโอกาสในการจัดแสดงงานให้กับครีเอเตอร์ทุกคนที่ส่งผลงานเข้ามาภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่จำกัดสาขาอาชีพและไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ “เท่าที่เห็นคือมีศิลปินหน้าใหม่ส่งผลงานเข้ามาเยอะมาก คนที่ไม่ได้ทำงานศิลปะเป็นประจำ เช่น วิศวกร นักบัญชี ครู แอร์โฮสเตส เขาก็กระโดดมาทำกัน เทศกาลนี้จึงรวมผลงานศิลปะ NFT ของคนหลากหลายวงการมาก ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงผลงานที่จัดแสดงในเทศกาลไปสู่ช่องทาง Marketplace ด้วย” เปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้ความท้าทายในโลกใหม่“สิ่งที่ยากสุดในการเริ่มเข้าสู่วงการศิลปะ NFT คือการเริ่มลงมือสมัคร สำหรับมือใหม่จะรู้สึกว่าต้องสมัครโน่นนี่ดูยุ่งยาก แต่ก็มีคนสอนผ่าน YouTube ไว้เยอะ และพอทำได้ปุ๊บก็ไม่ยากแล้ว จะมายากอีกทีก็คือเรื่องการทำการตลาดหรือการ PR งานของเราออกไป ซึ่งตรงนี้ในงานก็มีศิลปินที่มีประสบการณ์มาแชร์ความรู้กันด้วย  แพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมลงงานกันก็มี OpenSea, Hic et Nunc (HEN), Foundation ซึ่งควรเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับสไตล์งานของเรา อย่าง Foundation เขาจะนิยมลงงานศิลปะชิ้นเดียวที่มีความเลอค่า ศิลปินไทยแต่ละคนจะทำกันแบบอลังการสวยงาม น่าซื้อน่าเก็บมาก เวลาลงงานในแพลตฟอร์มนี้เราต้องเสียเงินค่าแก๊สต่อชิ้น ส่วน OpenSea เสียค่าแก๊สครั้งเดียวแล้วลงงานเท่าไหร่ก็ได้ เลยเหมาะกับงานศิลปะที่ทำออกมาเป็นคอลเล็กชันไปโดยปริยาย”“สำหรับคนที่รู้สึกขี้เกียจรับรู้หรืออัปเดตเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยากบอกว่าจ๊อบก็เคยเป็นมาก่อน แต่เราก็พยายามเปิดใจและศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นโลกใหม่ที่มาถึงแน่ ๆ เราจึงควรเรียนรู้ไว้ มันไม่ได้หยุดอยู่แค่ในวงการศิลปะหรอก เทคโนโลยีพวกนี้มันขยายไปได้อีกกว้างมาก ๆ งานศิลปะ NFT เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง ยังมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่สามารถนำเทคโนโลยีไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของคนเราได้อีกเยอะมาก”หากอยากอัปเดตแวดวงศิลปะ NFT ในไทย และสนุกไปกับการสำรวจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สร้างความเป็นไปได้ไม่รู้จบ เชิญพบกับงาน Bangkok NFT Art Festival ในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์นี้ ตามจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยมีหมุดหมายหลักอยู่ที่ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย ซึ่งจัดงานร่วมกับเทศกาล Bangkok Design Week 2022Bangkok NFT Art FestivalFacebook : facebook.com/TheNFTBKK

CEA จับมือ Live4Viva และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชวนเที่ยวแบบสร้างสรรค์ พาไปฟังเสียง “เจริญกรุง”

หากมองย้อนไปในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดสองปีมานี้ กลุ่มอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนหลังการระบาดทุก ๆ ระลอกคงหนีไม่พ้น “นักดนตรี” ด้วยกิจกรรมสังสรรค์ทุกประเภทที่ถูกงด ทุกเวทีแสดงสดถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด ร้านรวงที่เคยเป็นสถานที่โชว์ของและแหล่งรายได้หลักไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ ปัญหานี้เป็นเหตุให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ริเริ่มโครงการ “CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์…ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย” เพื่อช่วยเยียวยาอาชีพสร้างสรรค์กลุ่มนี้ รวมถึงสาขาอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ และ Sound of Charoenkrung ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์พิเศษในโครงการที่ว่านี้ เพื่อช่วยผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีที่กำลังซบเซาให้เดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเป็นพื้นที่ให้นักดนตรีเหล่านี้ได้มีช่องทางแสดงผลงานผ่านทางออนไลน์และในพื้นที่จริงเมืองบันดาลใจให้บรรเลงเพลงโปรเจกต์สนุก ๆ นี้เริ่มต้นจากการเปิดรับสมัครนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรี ชวนมาระดมไอเดียสร้างสรรค์ผลงานภายใต้โจทย์ของการสะท้อนความเป็นเมืองหรือท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่อาศัยหรือได้รับแรงบันดาลใจโดยไม่จำกัดรูปแบบ และย่านแรกที่เราเลือกใช้เป็นโจทย์เพื่อจุดประกายคือ “เจริญกรุง” ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบของกรุงเทพฯ ที่รายล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แลนด์มาร์ก และพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เช่น วงเวียน 22, อาคารไปรษณีย์กลาง, โรงภาพยนตร์ปรินซ์, สำเพ็ง, บรรยากาศของเซียงกงในย่านตลาดน้อย, เยาวราช, ถนนทรงวาด, ซอยนานา และอีกมากมาย ศิลปินทั้ง 25 คนในโปรเจกต์ได้ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวของสถานที่ต่าง ๆ ผ่านบทเพลงหลากหลาย มีทั้งเพลงที่ฟังแล้วยิ้มตาม เพราะรู้สึกร่วมกับความเป็นย่านที่คุ้นเคย ฟังแล้วได้รู้จักย่านหรือตรอกซอกซอจากเสียงสู่แสง ต่อยอดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่หลังจากเสียงเพลงเล่าเรื่องย่านถูกสร้างสรรค์จนเสร็จสมบูรณ์ ภารกิจต่อไปของโปรเจกต์คือการเชื่อมโยงผู้คนเข้ามาสัมผัสย่านโดยใช้เพลงเป็นสื่อกลาง แต่ลำพังแค่บทเพลงเพียงอย่างเดียวอาจดึงดูดผู้คนได้เพียงระดับหนึ่ง บทเพลงทั้ง 25 เพลงจึงถูกนำมาตีความและออกแบบเป็น Lighting Installation โดยทีมนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญงานแสงสร้างประสบการณ์อย่าง Live4Viva และนำไปติดตั้งในพื้นที่ย่านเจริญกรุงเพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในย่าน ช่วยกระตุ้นทั้งความคึกคักและเศรษฐกิจในย่านให้ฟื้นคืนได้อีกทางใครอยากฟังสำเนียงเสียงของย่านเจริญกรุง พร้อมสนุกและตื่นตาไปกับ Interactive Lighting Installation ด้วยตัวเอง ไปเยือน 4 พิกัดนี้ได้เลย1.  The Pulse ด้านข้างกำแพงโบสถ์กาลหว่าร์เส้นเสียงและเส้นสีของแสงแสดงถึงจังหวะชีวิตของซอยชุมชมโบสถ์กาลหว่าร์ที่คึกคักและครึกครื้น รวมถึงสงบนิ่งและสุขุมในเวลาเดียวกัน โดยมีโบสถ์กาลหว่าร์เป็นเสาหลักขับเคลื่อนในชุมชนแห่งนี้ แสงสีที่ออกแบบสะท้อนถึงเสียงระฆังของโบสถ์ การร้องเพลง เสียงมอเตอร์ไซค์ เสียงการสัญจร ที่สามารถ Co – with ร่วมกันมาโดยตลอด2. The Bulletin ด้านหน้าโรงพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนการผสมผสานระหว่าง Traditional และ Digital ของสื่อที่ใช้ในงานออกแบบ แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบันว่าในความใหม่ก็ยังมีความเก่าและในความเก่าก็ยังมีความใหม่ ดังเช่นโรงพิมพ์แห่งนี้ที่เบื้องหลังของความดั้งเดิมก็ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดังเช่นจอที่ฝังอยู่ใต้กองหนังสือพิมพ์ ในความทันเรื่องทันเหตุการณ์นั้นก็ได้ถ่ายทอดจากโลกดิจิทัลแบบทันทีสู่หนังสือพิมพ์ร้อน ๆ จากโรงพิมพ์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเคลื่อนไหวสู่สังคมผู้ใช้ภาษาจีน3. Floating Lanterns พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย ท่าน้ำภาณุรังษีโคมไฟที่ลอยขึ้นลอยลง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโคมเต็งลั้งที่มักใช้ประดับบ้านเรือนตลอดจนกิจการ โดยใช้จังหวะของการเคลื่อนไหวเพื่ออำนวยอวยพรชัยให้เกิดความมิ่งมงคลโชคดีทวีสุข4. The Gateway ท่าเรือด่วนสี่พระยาการออกแบบแสงที่ใช้การสะท้อนของแสงซึ่งสื่อถึงการเดินทางด้วยเรือข้ามฟากที่แวะเปลี่ยนตามท่าน้ำต่าง ๆ รอบคุ้งน้ำเจ้าพระยา เป็นการเชื่อมต่อที่แสนสะดวกสบาย นำมาซึ่งการค้าขาย ธุรกิจ สังคมอันหลากหลาย สร้างความสำเร็จ โดยจัดแสดงด้วยการเคลื่อนไหวของแสงและสีแบบรวดเร็วทันสมัย เพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ในการเปิดประตูเพื่อเชื่อมต่อสู่การค้าขายกับนานาประเทศมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล——ฟังเพลย์ลิสต์ของ Sound of Charoenkrung ทั้งหมดได้ที่นี่ shorturl.at/luDIKการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมสัมพันธ์กับชุมชนจากการริเริ่มโดย CEA สู่การสร้างสรรค์โดยศิลปินนักดนตรี ต่อยอดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยศิลปะแสงจาก Live4Viva อีกหนึ่งพลังสำคัญที่ทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นได้คือผู้สนับสนุนหลักอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วยความมุ่งหวังให้เกิด “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ที่นอกจากจะได้สัมผัสประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ยังเกิดความเชื่อมโยงและการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับท้องถิ่น ศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรม และความพิเศษของพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงผู้คนที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นทั้งเจ้าบ้านและผู้สรรค์สร้างให้พื้นที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ฟังเสียงเพลงเล่าเรื่องย่าน ดื่มด่ำผลงานศิลปะจัดวางผสมผสานอินเตอร์แอ็กทีฟประกอบเสียงเพลง Sound of Charoenkrung สำเนียงเสียงของย่านเจริญกรุง ได้ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 18.00-21.00 น. 

สร้างสังคมที่แข็งแรงในแบบ AP จากเรื่องเล็ก ๆ อย่างการ “นั่งด้วยกัน”

จำได้มั้ยว่าครั้งล่าสุดที่คุณนั่งในที่สาธารณะด้วยความรู้สึกปลอดภัยและสบายใจคือเมื่อไหร่ ? ช่วงเวลากว่า 2 ปีของ “ยุคโควิด” สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือรูปแบบการใช้ชีวิตกับเพื่อนร่วมสังคม –  ภาพแผ่นพลาสติกใสที่กั้นคนออกจากกัน เครื่องหมายรูปเท้าบนพื้นที่เตือนให้เราเว้นระยะห่าง ไปจนถึงภาพเก้าอี้สาธารณะติดเครื่องหมายห้ามนั่ง กลายเป็นภาพชินตาของเราไปโดยปริยายในช่วงเวลานี้ หากมองอย่างผิวเผิน ความสัมพันธ์ที่เหินห่างระหว่างคนกับคนเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ทว่าเมื่อมองลึกลงไป ในช่องว่างขนาดสองเมตรที่เราเว้นให้กันเพื่อความปลอดภัยนั้นแฝงไว้ด้วย “ระยะห่างทางใจ” ที่เรามีต่อเพื่อนร่วมสังคม และการที่คนในสังคมขาดกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กัน คือจุดเริ่มต้นของความรู้สึกโดดเดี่ยวและปัญหาทางใจที่กำลังจะตามมาอีกมากมาย ปัญหานี้คือจุดตั้งต้นที่ทำให้ เอพี ไทยแลนด์ คิดหาทางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน จนเกิดเป็น “SIT/VID/ME” ออกแบบพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ในยุคใหม่ ภายใต้สถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ผลงานออกแบบที่เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กประจำเทศกาลฯ ปีนี้สังคมเริ่มต้นจากความสัมพันธ์หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ SIT/VID/ME คงต้องเล่าย้อนไปถึงแนวคิด “EMPOWER LIVING” ของเอพี ไทยแลนด์ ที่มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมการอยู่อาศัยที่ช่วยเติมเต็มเป้าหมายและการใช้ชีวิตของทุกคน สำหรับเอพี ความสัมพันธ์ของคนในสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่าบ้าน ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าคุณภาพการก่อสร้างของบ้านเลย ในปีนี้แบรนด์จึงขับเคลื่อนในเรื่องการสร้างสังคมที่มีความหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรือ “COMMUNITY OF THE FUTURE” มา “นั่งด้วยกัน” มั้ย ?ซุ้มโค้งสีแดงหลากหลายขนาดตั้งตระหง่าน ณ ลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง สะดุดตาแม้คนที่นั่งรถผ่านจากบนถนนเจริญกรุง หากเข้าไปใกล้อีกนิดจะพบว่าทั้งโครงสร้างและวัสดุล้วนถูกคิดวางแผนมาอย่างไม่ธรรมดา เพราะนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ คือสตูดิโอออกแบบไทยที่มีชื่อเสียงไกลถึงระดับโลกอย่าง Supermachine Studio ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบพาวิลเลียนเอพีในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ความน่าตื่นเต้นของ SIT/VID/ME ไม่ได้หยุดอยู่แค่ภาพลักษณ์ภายนอก แต่คือประสบการณ์ภายใน เพราะภายในพื้นที่พาวิลเลียนออกแบบให้เป็น Community Space ที่ทุกคนสามารถเข้ามานั่งพักผ่อน ถ่ายรูป เช็กอิน โดยสามารถเลือกที่จะรักษาระยะห่างและเลือกรูปแบบในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ เพื่อถ่ายทอดแนวคิด “COMMUNITY OF THE FUTURE” ของเอพีออกมาผ่านประสบการณ์ นอกจากนั้นตลอด 9 วันที่พาวิลเลียนแห่งนี้ตั้งอยู่ ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมพิเศษและของที่ระลึกสุดครีเอตมอบให้คนที่แวะเวียนไปอีกด้วยชีวิตดีเพราะดีไซน์เอพี ไทยแลนด์ คือผู้สนับสนุนหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ด้วยคุณค่าหลักที่ทั้งเอพีและเทศกาลฯ ยึดถือร่วมกันมาเสมอคือการเป็น “คอมมูนิตี้” ที่รวมคนจากทั้งในและต่างประเทศ เป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนและการ “Co” กันของนักสร้างสรรค์หลากหลาย ภารกิจของเทศกาลฯ ที่ส่งเสริมและขับเคลื่อนงานออกแบบ ยังไปสอดคล้องกับคีย์สำคัญในการออกแบบบ้านของเอพีคือ Design Thinking ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้งานออกแบบเพื่อตอบโจทย์เรื่องความสวยงาม แต่คือแนวคิดในการทำความเข้าใจผู้อยู่อาศัย เพื่อส่งมอบชีวิตที่ดีในแบบที่เลือกได้ และเติมเต็มเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างของแต่ละคนสัมผัสประสบการณ์การสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ และการถ่ายทอดแนวคิดของเอพีในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครได้ที่ SIT/VID/ME นั่งด้วย/กัน ณ ลานจตุรัสไปรษณีย์ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 11.00-22.00 น.