ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

Open Call for Design Research Day

Design Research Day Open Call for Particpantsเปิดรับสมัครผู้นำเสนอโปรเจ็กต์หรือผลงานวิจัยApply Now – 30 Sep 2022Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) หรือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ธีม “Urban ‘NICE’ zation เมือง-มิตร-ดี” โดยเป็นพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์จากสาขาต่างๆ ในการนำเสนอแนวคิดที่มีเป้าหมายในการ “ทำเมืองให้ดีขึ้น” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพัฒนาให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นสำหรับวันข้างหน้าเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่สะท้อนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการนำเสนอโปรเจ็กต์หรืองานวิจัยหลากหลายรูปแบบ บนเวทีการนำเสนอผลงานใน Design Research Day เทศกาลฯ จึงขอเชิญชวนนักสร้างสรรค์ทุกท่าน ร่วมส่งผลงานโปรเจ็กต์หรืองานวิจัย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ เพื่อโอกาสในการร่วมถ่ายทอดผลงาน ในรูปแบบการบรรยาย เป็นเวลา 20 นาที ใน Design Research Day ภายใต้เทศกาล Bangkok Design Week 2023                 _____Design Research Day คือ วันแห่งการนำเสนอผลงานด้านการออกแบบหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในผลงาน ผ่านการนำเสนอโปรเจ็กต์หรืองานวิจัยในรูปแบบการบรรยายที่เป็นกันเองภายในเวลา 20 นาที_____ร่วมส่งผลงานได้ตั้งแต่ วันนี้ – 30 กันยายน 2565สมัครได้ที่ (คลิกลิงก์นี้) >> https://shorturl.asia/0QlJs โปรดดูรายละเอียดการเข้าร่วมฯ เพิ่มเติมได้ตามด้านล่างนี้_____คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ นักสร้างสรรค์ หรือบุคคลทั่วไปมีผลงานโปรเจ็กต์หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทุกสาขา   ผลงานที่จะนำเสนอต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเนื้อหากิจกรรม   ผู้นำเสนอผลงานจะต้องเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่งไม่ลอกเลียนผลงานของบุคคลอื่น โดยข้อมูลที่ส่งเข้ามาจะต้องมีความถูกต้องและเป็นจริงทุกประการ ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้เข้าร่วมให้ข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นจริงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศกาลฯ ผู้เข้าร่วมยินยอมที่จะรับผิดชอบโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆคุณลักษณะของผลงานที่จะนำเสนอใน Design Research Dayการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างประสบการณ์ใหม่การสร้างโอกาสในการแก้ปัญหา หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชน หรือเมืองนวัตกรรมหรือความคิดสดใหม่สามารถต่อยอดหรือนำไปใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้กำหนดการและการพิจารณาคัดเลือกผลงานเปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และปิดรับสมัครผลงาน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมที่ผ่านการพิจารณา ในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ผ่านทาง facebook.com/bangkokdesignweekเทศกาลฯ จะติดต่อกลับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติม ภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2565การนำเสนอผลงาน จะจัดขึ้น ณ TCDC กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 (วันและเวลาที่นำเสนอผลงานจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง)สิทธิประโยชน์ได้รับการประชาสัมพันธ์ผลงาน/กิจกรรม ผ่านช่องทางของเทศกาลฯ เช่น เว็บไซต์ เฟชบุ๊ก หรือสื่อสิ่งพิมพ์โอกาสในการสัมภาษณ์โดยสื่อมวลชน หรือเผยแพร่ผลงานในสื่อประชาสัมพันธ์สื่อโฆษณาของเทศกาล ฯ และสื่อพันธมิตร ค่าสนับสนุนการนำเสนอผลงานในจำนวนที่เทศกาลฯ กำหนดหมายเหตุ : อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมโดยเทศกาล ฯสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวัชชพล หรั่งแพ  อีเมล watchapon@cea.or.th หรือ โทร. 02-105-7400 ต่อ 204 (จันทร์-ศุกร์ / 10.00-17.30 น.)#BKKDW2023 #BangkokDesignWeek#DesignResearchDay

หมุดหมายเพื่อการขับเคลื่อนเมืองผ่านงานออกแบบในหลากหลายมิติ

จบลงแล้วสำหรับงาน Bangkok Design Week 2022 กับโปรแกรมดี ๆ กว่า 200โปรแกรม อัดแน่นตลอด 9 วันเต็ม ตั้งแต่ 5-13 กุมภาพันธ์ ในหลากหลายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ทั้งเจริญกรุง – ตลาดน้อย, พระนคร, สามย่าน, อารีย์ – ประดิพัทธ์ และทองหล่อ – เอกมัย และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วเมือง นอกจากความสนุกสนานและประสบการณ์น่าประทับใจที่ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานทั้งออนไลน์และออนไซต์รวมกว่า 1 แสนคน ได้รับกลับไปอย่างเต็มอิ่มแล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ภายในเทศกาลฯ ยังช่วยเปิดมุมมองและกระตุกต่อมคิดให้เหล่านักสร้างสรรค์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น มองเห็นโอกาสในการต่อยอดสู่ความเป็นไปได้มากมายที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด-19 อีกด้วย   ส่งเสริมวงการสร้างสรรค์ สร้างรายได้ และปลุกชีวิตให้กับเมือง กิจกรรมภายในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ จัดเต็มทั้งการจัดแสดงนิทรรศการ งานทอล์ก เวิร์กช็อป ตลาดนัดสร้างสรรค์ และกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพนักสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อเชื่อมต่อผู้คนให้ได้มาร่วมกัน “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ภายใต้โจทย์ของการมู่งสู่วิถีชีวิตใหม่โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักสร้างสรรค์ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และชุมชน มากกว่า 500 ราย แต่ละภาคส่วนต่างงัดไอเดียเด็ดมาแชร์กันอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากซบเซาเพราะพิษโควิดไปพักใหญ่ งานสร้างสรรค์หลายชิ้นในเทศกาลฯ เลือกใช้เรื่องราวของชุมชนเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงชวนชุมชนมาร่วมเป็นนักสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่   ความท้าทายท่ามกลางโรคระบาด ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าเราจะได้มาเจอกันใน Bangkok Design Week 2022 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ การจัดงานเทศกาลฯ จึงต้องวางแผนอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น มีการเพิ่มมาตรการรักษาระยะห่างและให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองอย่างเคร่งครัด โดยนำนวัตกรรมอย่าง Crowd Check ที่ช่วยอัปเดตความหนาแน่นของจำนวนคนในพื้นที่แบบเรียลไทม์มาใช้ ทั้งยังเพิ่มสัดส่วนกิจกรรมออนไลน์และเน้นการทำกิจกรรมในพื้นที่กลางแจ้งเปิดโล่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค นอกจากนี้เรายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสีสันจากหลาย ๆ กิจกรรมตลอดทั้ง 9 วันจะช่วยฮีลใจให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น ยามได้ออกจากบ้านมาเปิดรับประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่   อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของงานออกแบบไทย ร่องรอยจากอดีตคือชิ้นส่วนสำคัญที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นชิ้นงานสร้างสรรค์ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็กำลังปูทางเพื่อพาเราไปสู่อนาคต ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านเทศกาล Bangkok Design Week ทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2018 ที่นำเสนอมุมมองสดใหม่ต่ออนาคตของกรุงเทพฯ ผ่านแนวคิด The NEW-ist Vibes…ออกแบบไปข้างหน้า ส่งต่อไปสู่ปี 2019 ที่พูดถึงจุดเด่นด้านความหลากหลายของกรุงเทพฯ ด้วยแนวคิด Fusing Forward ผสานสร้างสู่อนาคต จนมาถึงปี 2020 ที่นักออกแบบร่วมกันเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ บนโจทย์ Resilience: New Potential for Living ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต ส่วนในปี 2021 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กิจกรรมสร้างสรรค์จึงถูกปรับให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก ภายใต้แนวคิด Resurgence of Possibilities ก้าวต่อไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ก่อนจะมาถึง Bangkok Design Week 2022 Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด ที่เพิ่งจบลงและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี    แน่นอนว่าปีหน้าเราจะกลับมาอีกครั้งพร้อมกิจกรรมสุดพิเศษ ที่มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยให้เติบโต ด้วยการสร้างโอกาสและเปิดพื้นที่ให้คนทำงานสร้างสรรค์ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อตอกย้ำภารกิจของกรุงเทพฯ ในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบขององค์การยูเนสโก (Bangkok City of Design – UNESCO Creative Cities Network) ใครอยากปล่อยของเตรียมวอร์มอัพรอไว้ได้เลย! แล้วพบกันใน Bangkok Design Week 2023 4-12 กุมภาพันธ์ 2566  

พระนคร: ความดั้งเดิม ที่ไม่เคยซ้ำเดิม

ชวนรู้จักย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “พระนคร” ย่านที่เกิดมาพร้อมกับกรุงเทพมหานคร มีความคลาสสิกเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ พร้อมเปิดรับทุกความคิดสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์ ต่อยอด และสร้างเรื่องราวที่จะกลายเป็นบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 200 ปีของย่านนี้ จุดกำเนิดของกรุงเทพมหานครเริ่มต้นที่บริเวณราบลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ เวลากว่า 2 ศตวรรษ เปลี่ยนอดีตศูนย์กลางการปกครองของประเทศสู่ย่านเมืองเก่าอันเป็นหมุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ มีสตรีทฟู้ดเจ้าดังระดับตำนานหลายเจ้าเป็นอีกหนึ่งสิ่งดึงดูดใจ ย่านพระนครเป็นสักขีพยานของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายและอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ในยุคสร้างบ้านแปงเมือง จนกระทั่งในปี 2020 เมื่อโลกเราเกิดโรคระบาด ย่านเก่าแก่แห่งนี้ต้องเผชิญความท้าทายอีกครั้ง การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ร้านรวงหลายแหล่งปิดตัวลง แต่พระนครแห่งนี้ก็คงอยู่ ปรับตัว และหาทางรอดต่อไป ร่วมย้อนร่องรอยความคิดสร้างสรรค์บนย่านประวัติศาสตร์ ผ่านกิจกรรมหลากหลายที่ Co กันระหว่างผู้อยู่อาศัยและผู้หลงใหลในเมืองเก่า พร้อมชวนคุณมาสำรวจ เพื่อร่วมสร้างชีวิตและเพิ่มสีสันให้ย่านคลาสสิกแห่งนี้ ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้การจัดรูปแบบงานตามมาตรการรองรับโควิด-19 ติดตามความเคลื่อนไหว / Follow us www.bangkokdesignweek.comFB/IG : bangkokdesignweek Twitter : @BKKDesignWeekLine : @bangkokdesignweek #BKKDW2022#BangkokDesignWeek#CoWithCreation 

อารีย์ - ประดิพัทธ์: ชิคสุดไม่ตกเทรนด์

ชวนรู้จักย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “อารีย์ – ประดิพัทธ์” ย่านสุดชิคที่เป็นหมุดหมายของเหล่าคนรุ่นใหม่ รายล้อมไปด้วยคาเฟ่ ร้านอาหาร และธุรกิจสร้างสรรค์มากมายที่ทำให้ย่านนี้ไม่เคยตกเทรนด์   ผู้คนในย่านยังเป็นเสมือน “เพื่อนบ้าน” ที่เอื้ออารีกันสมชื่อ สัมผัสกลิ่นอายความน่ารักและความอบอุ่นที่อบอวลไปทั่วทั้งย่าน จากการจับมือกันระหว่างคนรุ่นเก่าที่เป็นรากฐานกับคนรุ่นใหม่ที่นำเข้าไลฟ์สไตล์ชิค ๆ เพื่อสร้างสรรค์ย่านให้น่าอยู่และยั่งยืน   ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ เคยเรียกกันว่าเป็นเมืองราชการ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ และชนชั้นสูงนับตั้งแต่อดีต และยังเป็นย่านที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนที่พักอาศัย ตั้งแต่บ้านเก่าแก่ที่อยู่คู่ย่านมานาน ชุมชนขนาดเล็ก ไปจนถึงคอนโด หรือที่พักใหม่ ๆ ที่เพิ่งเริ่มเป็นเพื่อนบ้านกันไม่นาน สู่การเข้ามาของธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร คาเฟ่สุดชิคมากมาย รวมถึงชุมชนของนักออกแบบทั้งหลาย ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีทั้งผู้ที่อยู่มาก่อนและผู้มาใหม่ที่หลงใหลเสน่ห์ของย่านนี้ กลายเป็นแหล่งจุดประกายไอเดีย เชื่อม connection เหล่านักสร้างสรรค์หลากหลายวงการ    นอกจากนี้อารีย์ยังเป็นย่านที่ความเป็น “เพื่อนบ้าน” แข็งแรงที่สุดย่านหนึ่ง ในย่านนี้คุณจะได้พบความหลากหลายที่พึ่งพาอาศัยและอยู่ด้วยกันได้ การเกื้อกูลกันของเพื่อนบ้านต่างวัย ร้านค้าเก่าแก่ในชุมชนที่สามารถอยู่ร่วมกับร้านอาหารหน้าใหม่สุดชิคได้อย่างลงตัว และพร้อมจับมือฝ่าฟันวิกฤตต่าง ๆ ไปด้วยกันทั้งย่าน    “อารีย์ – ประดิพัทธ์” เปิดประตูต้อนรับทุกคนให้ได้เข้ามาทำความรู้จัก และหลงรัก “เพื่อนบ้านในย่านอารีย์” ร่วมถอดบทเรียนจากย่านเข้มแข็ง ที่จับมือกันผ่านพ้นวิกฤตไปพร้อมกันจากการ “Co” กันระหว่างผู้คนทั้งย่าน ร่วมคิด สร้าง และหาทางรอดใหม่ ๆ ไปกับชาวอารีย์ ได้ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้การจัดรูปแบบงานตามมาตรการรองรับโควิด-19    ติดตามความเคลื่อนไหว / Follow us  www.bangkokdesignweek.com FB/IG : bangkokdesignweek  Twitter : @BKKDesignWeek Line : @bangkokdesignweek   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation    

สามย่าน: ครบสูตรย่านเรียนรู้ มาคู่ตำนานอร่อย

ชวนรู้จักย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “สามย่าน” ย่านที่ไม่เคยหยุดพัฒนา แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ทั้งแหล่งรวมการเรียนรู้ เคียงคู่ตำนานร้านอร่อย ศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ (Central Business District) และยังเป็นเหมือนสนามทดลองของคนสร้างสรรค์จากหลากหลายวงการที่ชวนกันมาระดมไอเดียเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้พื้นที่แห่งนี้   สามย่านคือศูนย์รวมความอร่อยของกรุงเทพฯ เราจะได้เห็นทั้งร้านอาหารเก่าแก่ประจำย่านที่เป็นแหล่งรวมตัวของนักศึกษา ภัตตาคารอาหารเหลาที่ประจำของเหล่าอากงอาม่า ร้านสตรีทฟู้ดที่ตอบโจทย์ชีวิตเร่งรีบของคนทำงาน ไปจนถึงคาเฟ่ฮิป ๆ ที่เหล่าวัยรุ่นแวะเวียนมาเช็กอิน ตลอดเส้นทางตั้งแต่สวนหลวงสแควร์ยาวไปถึงถนนบรรทัดทอง   นอกเหนือจากการเป็น “Learning Space” หรือพื้นที่การเรียนรู้ที่มีทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำและโรงเรียนมากมาย ทุกวันนี้พื้นที่ในสามย่านยังมีการ “Co” กับฟังก์ชั่นและความเป็นไปได้อื่น ๆ เพื่อให้เหมาะต่อการใช้งานของทุกคนและทันต่อยุคสมัยมากขึ้น เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบผสมผสาน หรือ “โครงการมิกซ์ยูส” เพื่อรองรับการใช้งานหลายรูปแบบอย่างเป็นมิตรแบบ “สามย่านมิตรทาวน์”, พื้นที่สาธารณะผืนใหญ่ใจกลางเมืองใน “อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ” หรือพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการในวงการสตาร์ตอัปอย่าง “BLOCK 28” ไปจนถึงพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของคนยุคนี้   สามย่านยังเป็นพื้นที่ทดลองที่คนเจเนอเรชั่นใหม่พากันมาปลุกปั้นธุรกิจ ทั้งสานต่อธุรกิจครอบครัว และเริ่มต้นกิจการของตนเอง ไปจนถึงการริเริ่มโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในกรุงเทพฯ เช่น โมเดลการใช้รถ EV เพื่อให้บริการในย่าน ไปจนถึงพื้นที่สร้างสรรค์อย่างศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล หรือ FAAMAI และ Art4C Gallery เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างอิสระ   สัมผัสย่านหมุดหมายแห่งความเจริญของทุกด้านในทุกยุคสมัย และประสบการณ์ทางรูป รส กลิ่น เสียง แห่งสามย่าน เดือนกุมภาฯ นี้ ! ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้การจัดรูปแบบงานตามมาตรการรองรับโควิด-19    ติดตามความเคลื่อนไหว / Follow us  www.bangkokdesignweek.com FB/IG : bangkokdesignweek  Twitter : @BKKDesignWeek Line : @bangkokdesignweek   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation  

ทองหล่อ - เอกมัย: ย่านดีไซน์ผู้มาก่อนกาล

ชวนรู้จักย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “ทองหล่อ – เอกมัย” ย่านใจกลางกรุงที่เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ระดับตำนานหลากหลายแขนง ที่มักจะต่อยอดโลกดีไซน์ไปสู่โลกธุรกิจได้อย่างลงตัว ชวนมาสัมผัสสีสันและความสนุกของบรรยากาศความสร้างสรรค์ที่แฝงอยู่ในย่านผ่านธุรกิจมากมายที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งย่าน   ย่าน “ทองหล่อ – เอกมัย” เป็นดั่งศูนย์กลางการออกแบบใจกลางเมือง เป็นที่ตั้งของสตูดิโอออกแบบมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นย่านแห่งธุรกิจและการค้าที่ล้วนเกี่ยวข้องกับงานออกแบบ เช่น ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ขายของดีไซน์ เรียกได้ว่า คนที่หลงรักทั้งงานดีไซน์และเรื่องราวเบื้องหลังธุรกิจจะต้องหลงเสน่ห์ทองหล่อ – เอกมัยเป็นแน่ ดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยากจะมาพักอาศัยหรือเยี่ยมเยียนย่านแห่งนี้    เมื่อการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์บรรจบเข้าหากันกับธุรกิจ จึงทำให้ย่านนี้เต็มไปด้วยหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจออกแบบ กราฟิกดีไซน์ สถาปัตยกรรม เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการออกแบบประสบการณ์ผ่านรสชาติ เสียงเพลง และความบันเทิงต่าง ๆ อย่างธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯแทบทุกช่วงเวลา ธุรกิจที่นี่ไม่เคยหยุดนิ่ง และย่านนี้ก็ไม่เคยหลับใหลเช่นกัน    พบการปรับตัวที่รวดเร็วของย่านธุรกิจที่ปีนี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในโลกจริง แต่ชาว “ทองหล่อ – เอกมัย” จะพาคุณไปท่องโลกเสมือนในอนาคตอย่างโลก Metaverse ที่จะจับมือชวนร้านค้าเก่าแก่ในย่าน คาเฟ่ชื่อดัง และสตูดิโอนักออกแบบ ปรับตัวหาทางรอดใหม่ ๆ ให้ธุรกิจไปพร้อมกัน และยังรับชมผลงานที่มีทั้งรูปแบบ Online และ On ground ได้ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้การจัดรูปแบบงานตามมาตรการรองรับโควิด-19      ติดตามความเคลื่อนไหว / Follow us  www.bangkokdesignweek.com FB/IG : bangkokdesignweek  Twitter : @BKKDesignWeek Line : @bangkokdesignweek   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation    

เจริญกรุง - ตลาดน้อย: ยิ่งเก่า ยิ่งเจ๋ง

ชวนรู้จักย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “เจริญกรุง-ตลาดน้อย” ย่านการค้าที่สำคัญตั้งแต่กำเนิดพระนคร และเป็นชุมชนแห่งความหลากหลายของผู้คน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เป็นรากฐานหลักในการพัฒนาความเจริญที่ไม่มีวันเก่าของพื้นที่นี้จนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบของกรุงเทพฯ   พื้นที่เก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก นั่นคือต้นแบบของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่สำคัญของไทย ตั้งแต่การมีถนนตัดผ่านและใช้นามว่า “เจริญกรุง” นอกจากจะเป็นเส้นทางสัญจรทางบกแล้ว ยังมีความเจริญที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ซึ่งถูกสื่อสารออกมาอย่างชัดเจนผ่านสถาปัตยกรรม สิ่งของ หรือแม้แต่อาหารท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนย่านการค้าที่สำคัญแห่งนี้มาตั้งแต่กำเนิดพระนคร จนเกิดพื้นที่ค้าขายในย่านของชาวจีนอย่างสำเพ็ง และขยับขยายความคึกคักออกมาถึง “ตลาดน้อย” หรือตลาดที่ชาวจีนเรียกว่า “ตะลักเกี้ยะ” ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี    ด้วยเสน่ห์ของความเก่าแก่และวัตถุดิบท้องถิ่นมากมายในย่านนี้ ทำให้มีนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาเล็งเห็นคุณค่าและเข้ามาหยิบจับผสมไอเดียใหม่ ๆ ต่อยอดมรดกดั้งเดิมให้มีคุณค่าและเพิ่มมูลค่ามากขึ้น แต่งแต้มสีสันและช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นย่านสร้างสรรค์ให้เด่นชัด จนทำให้ย่านนี้ถูกเลือกเป็นย่านหลักในการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ทุกปี   ปัจจุบันย่านเก่าแห่งนี้จึงถูกพัฒนาให้เป็นต้นแบบของ “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่ได้รับการปรับปรุงทั้งเชิงกายภาพ ภาพจำใหม่ ๆ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และการให้บริการที่ทันต่อยุคสมัยมากขึ้นในย่าน โดยมี CEA และภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงกลุ่มคนในชุมชนจำนวนมากเป็นผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนนี้ เพื่อเติมเต็มความเจริญให้ย่านนี้อยู่ตลอดแบบไม่มีวันเก่า   พบการ “Co” กันระหว่างพื้นที่ ผู้คน รวมถึงความ “Heritage” ที่มากไปด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่พร้อมให้คุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของย่านได้ในเดือนกุมภาฯ นี้ ! ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้การจัดรูปแบบงานตามมาตรการรองรับโควิด-19    ติดตามความเคลื่อนไหว / Follow us  www.bangkokdesignweek.com FB/IG : bangkokdesignweek  Twitter : @BKKDesignWeek Line : @bangkokdesignweek   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation    

เทรนด์เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนชีวิตเราในทุกมิติ

การตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแสนรวดเร็วในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ดีแค่ไหน เราก็ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะอนาคตอันใกล้สิ่งเหล่านี้จะยิ่งมีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Virtual World โลกเสมือนที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน การเกิดขึ้นของ Metaverse ที่ส่งผลต่องานสร้างสรรค์ในหลากมิติ NFT สินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนวิธีคิดที่คนมีต่อมูลค่างานศิลปะไปโดยสิ้นเชิง รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อศิลปะและงานออกแบบหลายแขนง วิกฤติโควิด-19 ทำให้ธุรกิจหลายประเภทชะลอตัวหรือถึงขั้นหยุดชะงัก แต่สำหรับวงการเทคโนโลยีบอกเลยว่าทุกอย่างกำลังพุ่งไปข้างหน้าไม่แผ่วไม่พัก เราจึงอยากชวนคุณมาอัปเดตกันหน่อยว่านาทีนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง   โลกเสมือนที่กำลังจริงขึ้นเรื่อย ๆ การเติบโตของอุตสาหกรรมเกมที่นับวันจะยิ่งมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เทคโนโลยีเกี่ยวกับ Digital Avatar พัฒนาตามไปด้วย จนทุกวันนี้โลกของเรามีอินฟลูเอนเซอร์เสมือน (Virtual Influencer) ที่เป็น AI ตบเท้าเข้าวงการกันมากมาย ทั้งยังมีหลากหลายธุรกิจที่มองหาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความไวต่อเทรนด์เป็นที่สุด ย่อมไม่พลาดกระโดดเข้ามาร่วมจอย Virtual World ในรูปแบบต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก เช่น  Levi’s ที่ออกแบบเสื้อผ้า 3D สุดเท่สำหรับอวตารในเกม QQ Dance และวางขายเสื้อผ้าจริงดีไซน์เดียวกันควบคู่ไปด้วย บอกเลยว่าเทรนด์นี้ไม่ได้มาเล่น ๆ แต่กำลังเติบโตจริงจัง อย่าง Ravensbourne University London สถาบันด้านสื่อดิจิทัลและการออกแบบ เขาก็เปิดสอนสาขา Digital Technology for Fashion Pathway แล้วนะ ใครพร้อมลุยก่อนก้าวนำคู่แข่งไปอีกขั้นแน่นอน   โอกาสใหม่ในพรมแดน Metaverse  คำที่เราควรรู้จักไว้ในนาทีนี้คือ Metaverse ซึ่งคนแวดวงไอทีอาจพอคุ้นหูกันบ้างแล้ว แต่คำนี้มาบูมสุด ๆ ช่วงปลายปี 2021 เมื่อมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าพ่อ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองภาพอนาคตไว้ว่าบริษัทของเขาต้องเติบโตไปไกลกว่าการเป็นแค่แพลตฟอร์มสื่อโซเชียล การขยับตัวของยักษ์ใหญ่ทำให้สปอตไลต์ฉายไปที่ Metaverse ทันที คำนี้ถูกผสมขึ้นมาจากคำว่า Meta และ Universe ใช้นิยามถึงการสร้างชุมชนที่ผสมผสานตัวตนในโลกจริงเข้ากับสภาพแวดล้อมในโลกเสมือน อย่างเช่น อาณาจักรในเกม Roblox ที่ผู้คนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การประชุม และมีจุดเด่นคือเป็นแพลตฟอร์มที่มีเครื่องมือสำหรับสร้างเกมให้ พื้นที่นี้จึงจุดประกายให้เกิดนักพัฒนาเกมหน้าใหม่ขึ้นมามากมาย   เวลานี้คนนอกวงการไอทีอาจเข้าใจคอนเซปต์ของ Metaverse ยังไม่ค่อยกระจ่างนัก แต่นักการตลาดที่มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ เริ่มขยับตัวเปิดเกมรุกกันแล้ว แบรนด์กีฬาชื่อดังอย่าง Nike ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่เคลื่อนไหวในสนามนี้ด้วยการสร้างโลกเสมือน Nikeland ขึ้นมาในเกม Roblox เป็นดินแดนที่มีสนามแข่งขันเกมต่าง ๆ และโชว์รูมให้ลองสวมใส่เสื้อผ้าดิจิทัลของแบรนด์ด้วย นอกจากนี้เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมายังมีรายงานว่า Nike ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพิ่มเติมสำหรับสินค้าดิจิทัลโดยเฉพาะ และประกาศรับสมัครงานตำแหน่ง Virtual Material Designer ด้วย ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไร้ขีดจำกัดกำลังสร้างอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย หากลองถามเด็ก ๆ ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำตอบของเด็กบางคนอาจเป็นอาชีพที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนก็เป็นได้   NFT โลกใหม่ของการซื้อขายศิลปะ ในอดีตหากพูดถึงนักสะสมงานศิลปะ เราคงนึกถึงเศรษฐีที่มีบ้านช่องใหญ่โตและมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บชิ้นงานโดยเฉพาะ แต่ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้การประเมินมูลค่าและกระบวนการสะสมงานศิลปะยุคใหม่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การถือกำเนิดขึ้นของ NFT หรือ Crypto Art ทำให้ครีเอเตอร์และนักสะสมจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเชื่อมต่อกันง่าย ๆ เพียงปลายนิ้ว ทั้งยังยกระดับวงการศิลปะให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยระบบ Blockchain ที่ช่วยยืนยันความเป็นเจ้าของงานศิลปะ ป้องกันการทำซ้ำดัดแปลง และยังตรวจสอบได้ว่างานชิ้นนี้สร้างขึ้นเมื่อไหร่ ปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ซื้อขายมาแล้วกี่ครั้ง ทำให้งานศิลปะดิจิทัลที่มีชิ้นเดียวในโลกสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากมายมหาศาลผ่านการซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดิจิทัล ที่ผ่านมามีมบนโลกออนไลน์บางชิ้นทำเงินได้เป็นหลักล้านบาทเลยทีเดียว ผู้ซื้องานศิลปะ NFT มีทั้งคนที่ชื่นชอบผลงานจึงอยากสนับสนุนศิลปินและต้องการรันวงการให้เติบโตไปข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีนักเก็งกำไรจำนวนไม่น้อยที่เน้นซื้อมาขายไป และนำส่วนต่างมาเป็นทุนในการกว้านซื้องานศิลปะเพิ่มเติม NFT จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่น่าจับตามองทีเดียว    AI คือนักสร้างสรรค์คนใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คือการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างเครื่องจักรขึ้นมาทำงานแทนมนุษย์ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็เช่น หุ่นยนต์ปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ เทคโนโลยี AI สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกวงการ แม้กระทั่งสานต่อและคืนชีวิตให้กับเพลงคลาสสิกที่ยังแต่งไม่จบก็สามารถทำได้ เพลงที่ว่านั้นคือ ซิมโฟนีหมายเลข 10 ที่คีตกวีบีโธเฟนทิ้งโครงร่างไว้ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1827 เวลาผ่านไปเกือบ 200 ปี สถาบัน The Eliette and Herbert von Karajan Institute ประเทศออสเตรีย ได้ระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ทั้งนักประวัติศาสตร์ดนตรี นักดนตรี นักประพันธ์เพลง และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ให้ช่วยกันพัฒนาโปรเจ็กต์พิเศษเพื่อสอน AI แต่งเพลงคลาสสิกตามแบบฉบับของบีโธเฟน และสร้างสรรค์ซิมโฟนีหมายเลข 10 ขึ้นใหม่ โดยริเริ่มโปรเจ็กต์ตั้งแต่ปี 2019 และจัดแสดงรอบปฐมทัศน์ที่บ้านเกิดของบีโธเฟน เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ในเดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา (ฟังซิมโฟนีหมายเลข 10 ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=RESb0QVkLcM&t=21s) ทีมนักพัฒนาให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาไม่ได้มองว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์ แต่มันคือเครื่องมือที่เปิดประตูให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่ ๆ ได้ ซึ่งเราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง   ใจความสำคัญของการก้าวทันโลกดิจิทัล คือการอัปเดตความเคลื่อนไหวต่าง ๆ แล้วรู้จักหยิบจับเทคโนโลยีน่าสนใจมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และอีกเรื่องที่อยากชวนขบคิดคือเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565   #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation   อ้างอิง https://www.cnbc.com/2021/11/02/nike-is-quietly-preparing-for-the-metaverse-.html?utm_content=Main&utm_medium=Social&utm_source=Facebook&fbclid=IwAR0ev0RVT6XA5UtW6IFSPsDYgHb7KiqttCXcFLHRC9vQCl6kvtXUY1QHqzU#Echobox=1635869155 https://www.classicfm.com/composers/beethoven/unfinished-tenth-symphony-completed-by-artificial-intelligence/