ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

The Making of Urban Ally & Humans of Flower Market

The Making of Urban Ally & Humans of Flower Marketภารกิจของนักวิชาการที่ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาย่านพระนครและปากคลองตลาดคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ คืออาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่นำประสบการณ์และความรู้จากการทำวิจัย มาร่วมสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมพัฒนาย่าน ทั้งยังเป็นแกนหลักในการดึงนักศึกษารุ่นใหม่เข้ามาทำงานร่วมกับเทศกาลฯ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงขอพาไปพูดคุยกับอาจารย์พี – ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally ผู้ดูแลโปรเจกต์ ‘มิตรบำรุงเมือง’ และอาจารย์หน่อง – ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ดูแลโปรเจกต์ ‘ปากคลอง Pop-Up | Bangkok Flower Market Festival 2023’ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเมืองอย่างถึงแก่นมากยิ่งขึ้น‘มิตรบำรุงเมือง’ กับ 25 กิจกรรมจัดเต็ม‘มิตรบำรุงเมือง’ คือชื่อโปรเจกต์ของ Urban Ally (เออเบิ้น อัลไล) หรือศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สร้างสรรค์กิจกรรมหลักกว่า 25 กิจกรรมในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 โดยใช้ 3 พื้นที่หลักบริเวณถนนบำรุงเมืองและชุมชนข้างเคียง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และหอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ลานคนเมือง และประปาแม้นศรี รวมแล้วมีนักสร้างสรรค์และทีมงานเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองหลายสิบชีวิต ไฮไลต์ที่ใครๆ ต่างอยากไปเช็กอินคือการเปิดพื้นที่ ‘ประปาแม้นศรี’ ให้คนในย่านและนอกย่านได้ชื่นชมความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมหอเก็บน้ำเก่าที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 20 ปี ทั้งยังมีโครงการน่าสนใจอย่างศิลปินในถิ่นพำนัก (Creators in Residence) ที่เชิญศิลปินและนักออกแบบทั้งในและต่างประเทศ 8 กลุ่ม เข้ามาใช้ชีวิตคลุกคลีกับย่านพระนคร เพื่อสร้างผลงานศิลปะร่วมกับชุมชนในย่านเมืองเก่า และกิจกรรมอื่นๆ น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งดูแลภาพรวมโดยทีม Urban Ally  ‘ปากคลอง Pop-Up’ เทศกาลดอกไม้ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชุมชนส่วนอาจารย์หน่อง – ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ นำข้อมูลและประสบการณ์จากการลงพื้นที่สำรวจย่านปากคลองตลาดมาอย่างต่อเนื่อง มาเรียบเรียงใหม่เพื่อไฮไลต์ความน่าสนใจของตลาดดอกไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยขึ้นมาเป็นย่านเฉพาะกิจ โดยเป้าหมายสำคัญคือการนำเสนออัตลักษณ์ของย่านให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการภาพถ่าย Pop-up จัดแสดงงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกไม้ การนำเทคโนโลยี AR มาทำสื่อ Interactive สีสันสดใส นิทรรศการพับ จับ บัว ที่ทุกคนสามารถร่วมสนุกกับการทดลองพับกลีบบัว และหลังจากชมงานทั่วย่านจนเต็มอิ่มแล้วก็ยังซื้อดอกไม้สวยๆ กลับไปเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย จุดสมดุลระหว่างการรักษาอัตลักษณ์ของย่านเก่ากับการพัฒนาเมืองนอกเหนือจากกิจกรรมสนุกๆ ที่จัดขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทำความรู้จักย่านเมืองเก่าแล้ว เรายังอยากรู้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองทั้งสองมีความคิดเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์ City Gentrification ซึ่งใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านภายในย่านเก่าแก่ดั้งเดิม โดยการเข้ามาสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ จากกลุ่มคนที่มีทุนทรัพย์และความคิดสร้างสรรค์ที่เรียกกันว่า Creative Class ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก รวมถึงย่านพระนครของกรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายของการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ให้สามารถรักษาสมดุลระหว่างการรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของย่านเก่ากับการพัฒนาเมือง “เราอยากให้มองว่าสิ่งนี้มีทั้งด้านดีและด้านลบ” อาจารย์พีตอบก่อนจะอธิบายต่อ “ด้านดีมันกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Gentrification จะอยู่ในด้านดีก็ต่อเมื่อย่านยังมีความหลากหลายอยู่ ทั้งคนเก่าและคนใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ คนไม่ได้แห่แหนกันเข้ามาลงทุนและเปลี่ยนแปลงในเฉพาะบางย่านเยอะเกินไป ถ้าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คนใหม่ค่อยๆ ฝังตัวไปกับคนข้างเคียง ก็จะเกิดกระบวนการที่ทำให้มันผสมผสานกันได้อย่างลงตัวขึ้น แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเกินไปมีผลร้ายแน่นอน ในมุมมองของนักพัฒนาเมือง พีคิดว่าพระนครใหญ่พอที่จะกระจายผู้คนออกไป ความเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้กระจุกตัวอยู่บนถนนเส้นใดเส้นหนึ่งแล้วทำให้อัตลักษณ์หายไปหมด และย่านนี้ปรับตัวง่าย เพราะคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวและเผชิญการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด” อาจารย์หน่องเสนออีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันว่า “ข้อแรกคือคนข้างในต้องได้ประโยชน์ร่วมกับคนข้างนอก ไม่ว่าจะทางสังคม ความรู้สึก เศรษฐกิจ หรือทางกายภาพที่พื้นที่โดยรอบดูดีขึ้น คนในย่านควรจะรู้สึกพราวด์ได้ว่าเขาเป็นคนปากคลองตลาด เดี๋ยวนี้คนมองย่านเราเป็นย่านที่มีไดนามิกแล้วนะ ข้อสองคือยังไงการพัฒนาย่านก็ต้องมีคนข้างนอกเติมสิ่งใหม่ๆ เข้ามา และข้อสามเราควรทำให้ย่านมีคำว่า Sense of Place ที่ชัดเจน เคยมีชาวต่างชาติมาถึงปากคลองตลาดแล้ว แต่ถามแม่ค้าว่า Where is the flower market? เพราะเขาหาความเป็นตลาดดอกไม้ไม่เจอ เลยกลายเป็นโจทย์ว่าเราจะนำอัตลักษณ์ของย่านยังไงให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยคิดว่าจะทำยังไงให้การมาปากคลองตลาดสนุกและสร้างแรงบันดาลใจ ปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้การพัฒนาย่านยั่งยืนมากขึ้นในหลายๆ มิติ” บทบาทของการเป็นอาจารย์กับการทำงานพัฒนาเมืองเมื่อถามว่าบทบาทของการเป็นอาจารย์กับการทำงานพัฒนาเมืองส่งเสริมกันอย่างไรบ้าง อาจารย์หน่องตอบทันทีว่า “ช่วยมากเลยค่ะ ต้องขอบคุณคณะสถาปัตย์ ศิลปากร ที่เปิดกว้างมาก ให้อาจารย์เอา Live Project หรือโปรเจกต์ที่มีชีวิตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ทำให้เราได้ทั้งความสดใหม่ทางความคิดและกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ การที่เราลงพื้นที่ในฐานะสถาบันการศึกษา เราไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรในปากคลองตลาด การติดต่อประสานงานก็จะเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และสิ่งที่ย้ำมาตลอดคือเวลานักออกแบบทำงานเพื่อชุมชน เราไม่ได้เป็นเทวดานางฟ้า เราใช้ทักษะและประสบการณ์แบบเดียวกับที่ทำงานให้ลูกค้านั่นแหละ คือนำความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาแก้ปัญหา เป็นการบริหารวิชาชีพที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่น เราเรียนด้านดีไซน์มาก็เลยพยายามฟื้นฟูย่านด้วยความรู้ที่มี ซึ่งจะสนุกมากเลยถ้าอนาคตมีคนที่มีความรู้หลากหลายสาขาวิชากระโดดเข้ามาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ตรงนี้” อาจารย์พีเสริมในประเด็นนี้ว่า “ในฐานะนักวิจัย เราใช้เทคนิคหรือเครื่องมือทางวิชาการในการวิเคราะห์ความเป็นไปของเมือง แต่อีกมุมหนึ่งเราก็เป็นคนชอบเดินสำรวจความเป็นไปในเมืองมากเหมือนกัน ทีนี้พอทำทั้งงานวิจัยและงานออกแบบชุมชนเมืองด้วย การออกมามีประสบการณ์ทำงานร่วมกับชุมชน การสร้างโปรแกรมกิจกรรมให้เมือง การสร้างเครือข่าย การค้นหาเส้นทาง สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ทำงานสร้างสรรค์ที่สามารถเชื่อมโยงกลับไปสู่การสอนและพัฒนามุมมองของเราด้วย หรือแม้กระทั่งการชวนนักศึกษามาทำงานร่วมกัน ก็เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ได้นำประสบการณ์จากการลงพื้นที่มาแมตช์กับองค์ความรู้ในตำรา ช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ออกไปอีก”แม้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ภารกิจพัฒนาเมืองของทั้งอาจารย์พีและอาจารย์หน่องยังดำเนินต่อไม่รอแล้วนะ รอติดตามได้เลยว่าในโปรเจกต์ต่อๆ ไป Urban Ally และ Humans of Flower Market จะมีอะไรสนุกๆ ให้พวกเราได้ตื่นเต้นกันบ้าง –Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

CEA จับมือพันธมิตร คิกออฟ Bangkok Design Week 2023

CEA จับมือพันธมิตร คิกออฟ Bangkok Design Week 2023 พร้อมปลุก 9 ย่านในกรุงเทพฯ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ 4 – 12 กุมภาพันธ์นี้วันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดงานแถลงข่าวเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 9 ย่านสร้างสรรค์ตลอด 9 วันเต็มในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมี ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนเขตผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ ภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหาร CEA ร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยเทศกาลฯ ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ภายใต้ธีมหลัก “urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี” ที่มีโจทย์หลักให้การออกแบบสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ผลักดันกรุงเทพฯ ให้ ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’ สร้าง ‘เมืองที่เป็นมิตรต่อคน’ สร้าง ‘คนที่เป็นมิตรต่อเมือง’ สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม เปิดพื้นที่ให้ร่วมกันค้นหาแนวทางแก้ปัญหาใน 6 มิติของเมือง พร้อมผลักดันให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สามารถพัฒนาบนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง รับมือกับความท้าทายใหม่ได้ตลอดเวลา ร่วมสัมผัสบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ ปลุกกรุงเทพฯ ให้มีชีวิตชีวาไปกับเทศกาลงานออกแบบสุดยิ่งใหญ่ ผ่านการจัดกิจกรรม 4 รูปแบบ ทั้ง Showcase & Exhibition, Talk & Workshop, Event & Program และ Creative Market & Promotion ที่นำเสนอกว่า 530 กิจกรรม ใน 9 ย่านทั่วกรุง ได้แก่ 1) เจริญกรุง – ตลาดน้อย 2) เยาวราช 3) สามย่าน – สยาม 4) อารีย์ – ประดิพัทธ์ 5) พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง 6) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน 7) บางโพ 8) พร้อมพงษ์ 9) เกษตรฯ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ต้อนรับการเปิดเมือง ได้ตั้งแต่วันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11:00 – 22:00 น. ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่:Website : www.bangkokdesignweek.comFB : BangkokDesignWeekIG : bangkokdesignweekTwitter : @BKKDesignWeekLine : @bangkokdesignweek–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

มัดรวม 30 โปรแกรมไฮไลต์จาก BKKDW2023

มัดรวม 30 โปรแกรมไฮไลต์จากกว่า 500+ โปรแกรมใน BKKDW2023เตรียมพร้อมตั้งนาฬิกา ปักหมุด ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม เคานต์ดาวน์สู่ 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงงาน Bangkok Design Week 2023 โพสต์นี้คัดมาเน้นๆ 30 ไฮไลต์จากกว่า 500+ โปรแกรมที่จัดเต็มอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ในธีม ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’ ทั้งทอล์ก เวิร์กช็อป โชว์เคส ทัวร์ นิทรรศการ และตลาดนัดสร้างสรรค์ จากเหล่านักสร้างสรรค์ทั่วเมืองไม่จำกัดแค่นักออกแบบเท่านั้น ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’ คือการตอบโจทย์ผู้คน เมือง เเละสังคม ผ่าน 6 มิติจากภาพใหญ่สู่หัวใจของมนุษย์Nice for Environment เราจะฟื้นฟูและสร้างเมืองที่มีสีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างไรNice for Mobility ไอเดียสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของคนเมืองให้สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้นอย่างไรได้บ้างNice for Culture การเปิดโอกาสให้ผู้คนในเมืองสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกหรือชื่นชมวัฒนธรรมได้โดยไม่แช่แข็งได้อย่างไรNice for Diversity ทำอย่างไรเมืองจะโอบรับสมาชิกที่แตกต่างหลากหลายได้Nice for Community ทำอย่างไรให้หน่วยย่อยอย่างชุมชนมีความสุขและแข็งแกร่ง Nice for Business การสร้างบรรยากาศเมืองให้ส่งเสริมธุรกิจได้อย่างไร นอกจาก 30 ไฮไลต์นี้ ยังคนหาโปรเเกรมที่ยกระดับการสร้างเมืองที่ดี ชีวิตที่ดี พร้อมให้ทุกคนเป็นมิตรที่ดีของเมืองอีกกว่า 500+ โปรแกรมของเทศกาลได้ที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2023/programแล้วพบกันใน Bangkok Design Week 2023 ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’ วันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมิตร

ร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมิตรวันที่ 8 ธันวาคม 2565 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ได้จัดการประชุมหารือการจัดงาน Bangkok Design Week 2023 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดย รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ เป็นประธานในการประชุม โดยมีนักออกแบบ ตัวแทนจากย่านต่างๆ และภาคีผู้ขับเคลื่อนย่านเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่ทุกฝ่ายได้มาพบปะและแบ่งปันไอเดียในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและฟื้นคืนชีวิตชีวาให้กับเมือง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ชูเรื่องการดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯการที่กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ได้มาพบปะกับหน่วยงานภาครัฐที่มีนโยบายมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการประสานความร่วมมือในงาน Bangkok Design Week 2023 ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกมากมาย โดยเบื้องต้นจะมีการต่อยอดงานเพื่อนำไปสู่เดือนแห่งการออกแบบตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ให้สอดคล้องกับปฏิทินเทศกาล 12 เดือนของกทม. เป็นการเปิดโอกาสให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับเทศกาลฯ ได้มากขึ้นและทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระยะยาว มารอติดตามกันได้เลยว่าความร่วมมือครั้งสำคัญนี้จะก่อร่างสร้าง ‘เมือง-มิตร-ดี’ ออกมาได้ ‘NICE’ ขนาดไหน–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี4-12 February 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

เตรียมความพร้อมสู่ BKKDW 2023

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA – Creative Economy Agency จัดการประชุมออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 โดย พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บอกเล่าภาพรวมของเทศกาลฯ ในปีนี้ว่า มีโปรแกรมน่าสนใจกว่า 450 โปรแกรม และมีย่านร่วมจัดงานถึง 8+ ย่าน ซึ่งต่างมีอัตลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัวการประชุมครั้งนี้ นอกจากการชี้แจงกำหนดการ อธิบายเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์ การเตรียมพื้นที่ และอัปเดตความคืบหน้าแล้ว CEA ยังนำเสนอไอเดียที่อยากติดอาวุธให้กับผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลฯ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ 1) เทรนด์การจัดแสดงผลงานให้เข้าตาผู้บริโภค 2) รู้ทันคน Copy & Paste ด้วยกฎหมาย ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และ 3) พลิกโฉมธุรกิจสร้างสรรค์ด้วยการตลาดยุค 5Gขั้นต่อไปจะเป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์ เพื่อแนะนำเส้นทางเที่ยวชมงานทั้ง 8+ ย่าน และนำเสนอโปรแกรมไฮไลต์ต่างๆ เป็นการปลุกกระแสให้คนรักงานออกแบบเตรียมตัวสัมผัส urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี ที่จะขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าอย่างเป็นมิตร รอติดตามกันได้เลย–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี4-12 February 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

NICE FOR DIVERSITY ‘เป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย’

NICE FOR DIVERSITY ‘เป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย’เมืองที่ดีต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังสมาชิกทุกคนในเมืองคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองให้ก้าวไปข้างหน้า เมืองที่ดีจะต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร มีความพิเศษและแตกต่างแบบไหนก็ตาม ซึ่งกรุงเทพฯ ก็นับเป็นเมืองหนึ่งที่มีความหลากหลายของประชากรเป็นอย่างมาก เราจึงมีภารกิจร่วมกันในการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยแท้จริงความท้าทายสำคัญในการออกแบบเมืองให้ตอบโจทย์ Urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี ที่สามารถโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม อันดับแรกคือต้องทำความเข้าใจคนเหล่านั้นให้ถึงแก่นจริงๆ เสียก่อนที่จะออกแบบโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ให้กับกลุ่มเปราะบางในสังคม เช่น คนไร้บ้าน คนพิการ ผู้สูงอายุ คนว่างงาน ซึ่งจำเป็นต้องสื่อสารอย่างระมัดระวังและการขยายขอบเขตความร่วมมือออกไปในวงกว้าง ให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานเพื่อกลุ่มเปราะบางโดยตรงเท่านั้นรู้จัก รู้ใจ เข้าใจความแตกต่างของคนในเมืองวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำความรู้จักผู้คนคือการนั่งลงและเปิดใจพูดคุยกัน เพื่อให้การสนทนาอย่างมีคุณภาพและการรับฟังอย่างไม่ตัดสินนำพาเราไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน หลายครั้งที่การเปิดรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว รวมถึงการเลือกอยู่แต่ในแวดวงเพื่อนเดิมๆ ทำให้เราติดอยู่ใน Echo Chamber และมีมุมมองต่อโลกใบนี้แคบลงอย่างน่าเสียดาย คงจะดีกว่าถ้าเราได้ลองเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เปิดประตูออกไปทำความรู้จักกับคนที่แตกต่างจากเราดูบ้าง แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งเพจมนุษย์กรุงเทพฯ www.facebook.com/bkkhumans โดยได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเพจดังระดับโลกอย่าง Humans of New York ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ออกไปพูดคุยกับผู้คนรอบเมืองบนความเชื่อว่ามนุษย์เราต่างเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่เรากลับไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสการมีอยู่ของคนที่อยู่นอกแวดวงสังคมของเราสักเท่าไรนัก เราจึงขาดโอกาสในการทำความรู้จักและบ่อยครั้งก็ขัดแย้งกันเพราะความไม่เข้าใจ ขวัญชายจึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตผู้คนที่หลากหลายในกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่ให้คนธรรมดามีโอกาสได้เล่าเรื่องของตนเอง ซึ่งหลายเรื่องราวก็สั่นสะเทือนหัวใจและสร้างแรงกระเพื่อมได้เกินความคาดหมายเลยทีเดียวเติมเต็มโอกาสและความสุขในชีวิตเราทุกคนต่างมีชีวิตในฝันแบบที่ต้องการ แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถพิชิตเป้าหมายได้อย่างราบรื่น ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสังคมถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ การครอบครองปัจจัยพื้นฐานเพื่อดำรงชีวิตประจำวันยังแทบจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในสังคมที่ขาดโอกาสและทางเลือก ซึ่งพวกเขาไม่ได้เรียกร้องความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องการโอกาสสำหรับการยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง ด้วยเหตุนี้มูลนิธิกระจกเงาที่ริเริ่มทำโครงการเพื่อสังคมมายาวนานตั้งแต่ปี 2534 จึงก่อตั้งโครงการ ‘จ้างวานข้า’ ขึ้นในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 ซึ่งทำให้คนจนเมืองที่เดิมทีก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอยู่แล้วยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีกจากการขาดรายได้ มูลนิธิกระจกเงาจึงเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างคนไร้บ้านและนายจ้างที่ต้องการพนักงานทำความสะอาด โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านและสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพวกเขาเหล่านั้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ STEPS Community วิสาหกิจเพื่อสังคมและศูนย์ฝึกทักษะอาชีพที่มุ่งเน้นการบำบัดและสร้างอาชีพให้กับเยาวชนที่มีความบกพร่องด้านการพูดหรือภาษา รวมถึงกลุ่มคนที่มีภาวะออทิสซึม ดาวน์ซินโดรม เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและมีทักษะในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนให้โอกาสทุกชีวิตในเมืองเมื่อพูดถึงความแตกต่างหลากหลายในเมืองใหญ่ สมาชิกของเมืองไม่ได้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นอย่าง หมา แมว ตามท้องถนนที่เดินสวนกับเราในทุกๆ วัน และเราก็ไม่อาจทอดทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลังได้ ในระหว่างที่ขับเคลื่อนประเด็นการจัดระเบียบสุนัขจรจัดที่เป็นงานสเกลใหญ่ระดับภาครัฐและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาจารย์ยศพร จันทองจีน ในฐานะคนรักหมาที่คอยช่วยเหลือหมาจรจัดมาโดยตลอด จึงต่อยอดความรักมาเป็นงานวิจัยและออกแบบบ้านพักพิงริมทางสำหรับหมาจรจัดในชื่อโปรเจกต์ ‘จรจัดสรร’ ที่ทำขึ้นจากป้ายโฆษณาเก่า เพื่อให้หมาไร้บ้านได้มาอาศัยเป็นที่หลบแดดหลบฝน และทำให้พื้นที่บริเวณที่หมาจรจัดอยู่อาศัยดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการสุนัขชุมชน ที่ดูแลสุนัขจรจัดในเขตพื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งนอกจากจะดูแลเรื่องการให้อาหาร อาบน้ำ ฉีดวัคซีนแล้ว ทางโครงการยังออกแบบปลอกคอสื่อสาร 3 สี ทำสัญลักษณ์แบ่งสุนัขออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ปลอกคอสีแดง สุนัขที่ไม่เป็นมิตร ต้องระมัดระวังในการเข้าใกล้ ปลอกคอสีเหลือง สุนัขขี้ระแวงที่จะเป็นมิตรกับคนคุ้นเคยเท่านั้น และปลอกคอสีเขียว สุนัขเฟรนด์ลี่พร้อมเล่นกับทุกคน เพื่อให้คนในชุมชนและคนนอกที่เข้ามาใช้งานพื้นที่มีความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกับสุนัขจรจัดมากยิ่งขึ้น นิยามของเมืองที่น่าอยู่ไม่ใช่แค่เมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเท่านั้น แต่ควรเป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชากรทุกชนชั้นหรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สามารถเข้าถึงทรัพยากรและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างทัดเทียม ขอเชิญมาร่วมออกไอเดียและสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคนไปด้วยกันที่งาน Bangkok Design Week 2023 –Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี4-12 February 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

NICE FOR ENVIRONMENT 'เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม'

NICE FOR ENVIRONMENT ‘เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม’ชวนคนเมืองผันตัวมาเรียนวิชาสิ่งแวดล้อม 101ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่ระดับต้นๆ ของโลก ยุคที่เรากำลังอาศัยอยู่ ไม่ใช่เป็นยุคแห่งการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่เป็นยุคแห่งการแก้ไขว่าจะพลิกฟื้นสถานการณ์ธรรมชาติที่เลวร้ายให้ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอันยาวนานเกิดจากการบริโภคและอุปโภคของมนุษย์ ฉะนั้นเป้าหมายปีนี้ของ Bangkok Design Week 2023 ในการสร้าง urban‘NICE’zation หรือ ‘เมือง-มิตร-ดี’ นั้น ภารกิจที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกคือการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและการทำให้เมืองเป็นเมืองสีเขียวยิ่งขึ้น หากพวกเราช่วยกันปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เลือกใช้อย่างคิดคำนึงถึงธรรมชาติ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงมลภาวะทางน้ำและขยะต่างๆ ย่อมลดน้อยลง คุณภาพชีวิตของผู้คนก็ย่อมดีขึ้นไปด้วย วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมาดูไอเดียของการเปลี่ยนแปลงว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเราจะเริ่มอย่างไรดีเพื่อเอาชนะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่เมืองนี้กันได้บ้างจัดการขยะให้ถูกวิธี ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่มีมานาน เหตุหนึ่งเพราะคนไทยยังคุ้นชินกับการทิ้งขยะแบบไม่คัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อ ในฐานะบุคคลธรรมดาที่อยากแก้ปัญหา เราสามารถเริ่มจากการแยกขยะตามประเภทต่างๆ ให้ถูกต้องเพื่อให้หน่วยงานเก็บขยะสามารถนำไปแยกรีไซเคิล หรือกำจัดได้อย่างถูกวิธีสร้างสรรค์ธุรกิจและสินค้าจากการรีไซเคิลและอัพไซเคิล ถ้าใครมีไอเดียสร้างสรรค์ก็สามารถนำขยะเหล่านั้นมา upcycle ต่อยอดให้เกิดเป็นสินค้าและธุรกิจใหม่ๆ ได้เช่นกัน ก่อให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง Precious Plastic ก็เป็นหน่วยงานของคนตัวเล็กๆ ที่รู้สึกว่าอยากแก้ปัญหาขยะในสังคมและให้คนหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการ Recycle และ Upcycle ขยะพลาสติกกันมากขึ้น เกิดเป็น Workspace ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ให้ผู้คนมาลองสร้างชิ้นงานจากการแปรรูปขยะพลาสติก ส่งเสริมให้เกิดคอนเน็กชันและตลาดที่ซัพพอร์ตสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เป็นโปรเจกต์ที่เริ่มต้นที่ต่างประเทศ แต่แพร่มาหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกินอาหารแบบพอดี ให้ความสำคัญกับ Food Waste ขยะอาหาร หรือ Food Waste กำลังกลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในระบบเช่นกัน เนื่องจากต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและทรัพยากรบุคคลในการกำจัดภายหลัง ซึ่งปัญหานี้แก้ได้ ถ้าเราทุกคนรู้จักบริโภคแต่พอดี โดยเน้นบริโภคให้หมดภายในวันหมดอายุ ไม่เหลือทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ รวมถึงสนับสนุนอาหารสดใหม่ในชุมชนที่มีการผลิตวันต่อวัน แต่ในเชิงอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ ยังแก้ปัญหานี้ได้ยาก นั่นจึงเป็นที่มาของ SOS Thailand หน่วยงานที่ดูแลนำอาหารที่เหลือจากซูเปอร์มาร์เก็ตและชุมชน ที่คุณภาพดียังสามารถรับประทานได้ ไปแจกจ่ายเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ที่ต้องการ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมในคราวเดียวกัน บอกลา Fast Fashion สนับสนุนมือสองและยืดอายุการใช้งานนานขึ้น อุตสาหกรรมสุดท้ายที่เรียกว่าเป็น A list ในการสร้างขยะเหมือนกัน นั่นก็คืออุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งแฟชั่นเป็นเรื่องของเทรนด์ การเปลี่ยนสไตล์อย่างรวดเร็วก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เรียกว่า Fast Fashion ซื้อมาใส่ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้ง จากนั้นก็ซื้อสไตล์ใหม่รุ่นใหม่ แน่นอนว่าสิ่งนี้กระทบทรัพยากรธรรมชาติและความสามารถในการกำจัดขยะของทุกหน่วยงานเป็นอย่างมากแต่ชาวแฟชั่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหานี้ มีหลายคนที่ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์วิธีการแก้ไขปัญหาแตกต่างกันไป โดยเน้นไปที่การสนับสนุนการซื้อ-ขายและแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ามือสอง เพื่อไม่ก่อให้เกิดการดูดดึงทรัพยากรในธรรมชาติมาใช้ในการผลิตใหม่ ลดการเกิดมลพิษทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น Fashion Revolution Thailand กลุ่มคนรักแฟชั่นที่จัดงานอีเวนต์และรณรงค์ให้ ‘ลด ละ เลิก’ การซื้อเสื้อผ้าใหม่ แต่เคลื่อนไหวให้ผู้คนเกิดการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากันแทน หรือ Reviv บริการรับซ่อมเสื้อผ้าที่ชำรุด เพื่อหวังต่ออายุสินค้าแฟชั่นให้ทุกคนใช้ได้นานขึ้นเรียนรู้ที่จะดูแล อยู่ร่วมกับต้นไม้และระบบนิเวศ พื้นที่สีเขียว หรือต้นไม้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนเมืองเป็นอย่างมาก เพราะทำหน้าที่เป็นปอดให้คนกรุง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยดูแลเรื่องระบบนิเวศและมลภาวะทางอากาศให้ อีกทั้งยังช่วยดูแลทั้งกายและจิตใจของคนเมือง ประโยชน์ของต้นไม้ยังรวมไปถึงสัตว์ตัวเล็กๆ ที่แฝงตัวอาศัยอยู่ในเมืองร่วมไปกับพวกเราด้วย ปัญหาคือการพัฒนาเมืองบางครั้งนำมาซึ่งการตัดไม้และดูแลอย่างไม่ถูกวิธี ดังนั้นคนที่ดูแลและปกป้องต้นไม้ได้จึงสำคัญ ถือเป็นหัวใจหลักในการช่วยให้สิ่งแวดล้อมเติบโตร่วมกับเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง Big Trees Project ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม นำมาสู่ไอเดียการสร้างคนให้เข้าใจต้นไม้และพร้อมที่จะดูแลต้นไม้ในกรุงเทพฯ ให้เติบใหญ่อย่างแข็งแรงในสวนสาธารณะ 60 แห่งทั่วกรุงเทพฯ หรือกลุ่ม Ari Eco Walk เองก็ช่วยให้คนเข้าถึงธรรมชาติแบบง่ายๆ ด้วยการสร้างกิจกรรมให้ผู้คนได้ออกไปเดินเท้าสำรวจเมือง ไปเห็นพืชพันธุ์และระบบนิเวศที่ซ่อนตัวอยู่อย่างหลากหลายภายในบริเวณถนนอารีย์ ได้เรียนรู้ข้อมูลและทำความเข้าใจวิถีชีวิตของแมลง นก กระรอก รวมถึงสัตว์เล็กในพื้นที่ ตลอดจนเจอพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่สีเขียวลับๆ ภายในย่านชุมชนสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพื่อใกล้ชิดธรรมชาติ อีกสิ่งหนึ่งที่คนเมืองอย่างเราต้องช่วยกันผลักดันสนับสนุนให้เกิด นั่นก็คือพื้นที่รูปแบบต่างๆ ที่มีต้นไม้และธรรมชาติให้ผู้คนสามารถเข้าไปเรียนรู้และใกล้ชิด จริงๆ ไม่ต้องสร้างพื้นที่สเกลใหญ่โตอะไรมากมาย บ้านใครสะดวกแบบไหนก็ทำแบบนั้น ช่วยกันปลูกคนละต้นสองต้น เมืองเราก็เขียวมากขึ้นและมีต้นไม้ที่จะช่วยเป็นปอดเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อยแล้ว อย่าง We! park ก็เป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรที่เล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีต่อเมือง พวกเขาจึงร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ที่ไม่มีประโยชน์ในกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กให้ผู้คนใช้ประโยชน์ได้ แถมยังมีการจัดทำคู่มือให้บุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้ที่จะทำ Pocket Park หรือ สวนสาธารณะเล็กๆ ที่ชุมชนหรือพื้นที่ของตนได้ด้วยทั้งหมดก็เป็นวิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองได้ ถึงจะต้องอาศัยความพยายามและความตั้งใจกันหน่อย แต่เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถของทุกคนแน่นอน อย่าลืมว่าสิ่งแวดล้อมจะอยู่อย่างยั่งยืนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของพวกเราทุกคนแล้ว! ใครที่มีไอเดียส่งเสริมสิ่งแวดล้อม หรือแก้ปัญหาขยะอะไรดีๆ ก็ไม่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว เตรียมแบ่งปันและร่วมสร้างสรรค์กันได้ในงาน Bangkok Design Week 2023 ปีนี้ มาร่วมสร้าง urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกันเถอะ–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี4-12 February 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

NICE FOR COMMUNITY ‘เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน’

NICE FOR COMMUNITY ‘เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน’เมืองเป็นมิตรคือผลผลิตของชุมชนที่เข้มแข็งเมืองของเราประกอบด้วยชุมชนเล็กๆ มากมายที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย แต่ละชุมชนล้วนมีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งยังประกอบไปด้วยกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง เพราะพวกเขาเหล่านี้รู้จักทุกตรอกซอกซอยและรู้ใจคนในชุมชนของตนเองดีที่สุด ซึ่งการจะพัฒนาเมืองในภาพใหญ่ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้ชุมชนซึ่งเป็นหน่วยย่อยเติบโตอย่างมีความสุขและเข้มแข็งเสียก่อน Bangkok Design Week 2023 ภายใต้ธีม Urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี จึงอยากนำเสนอแนวคิดในการยกระดับชีวิตคนเมืองด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน รวมถึงให้ความสำคัญกับพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่กิจกรรม และพื้นที่ศิลปะ เพื่อส่งเสริมและลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้คนในแต่ละชุมชนสามารถเข้าถึงปัจจัยในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างเท่าเทียม และคงดีไม่น้อยถ้าเราพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง จนไปถึงขั้นสามารถเปิดบ้านให้เพื่อนๆ ต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือนชุมชนของเราได้ เพราะนั่นหมายถึงความสนุกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แถมเรายังได้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ แก่ผู้มาเยือนด้วยธุรกิจแบบรวมกัน-เราอยู่เด็กและเยาวชนทุกคนคือพลังสำคัญที่จะเติบโตมาพัฒนาเมืองในอนาคต แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการศึกษาทำให้เยาวชนจำนวนมากขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองที่เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชนจะต้องมีพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้แก่เยาวชนที่ขาดโอกาส ซึ่งภารกิจนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และหากมีคนในชุมชนเห็นความสำคัญลุกขึ้นมาขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เด็กๆ ในชุมชนก็จะยิ่งได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนอย่างเช่นโครงการ ‘คลองเตยดีจัง’ ที่พยายามสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ให้กับเยาวชนคลองเตย เพื่อดึงพวกเขาออกมาให้ห่างจากปัญหาอบายมุขที่แพร่ระบาดในชุมชนมายาวนาน หรือกลุ่ม ‘ยังธน’ คนรุ่นใหม่พัฒนาเมืองย่านฝั่งธนบุรี ที่ขับเคลื่อนชุมชนด้วยการสร้างเครือข่ายและดึงเยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมุ่งเพิ่มพูนความรู้และทักษะต่างๆ ให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการได้รับในวันนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการแบ่งปัน ให้พวกเขาอยากส่งต่อสิ่งดีๆ คืนสู่ชุมชนและสังคมในอนาคตบอกเล่าเรื่องราวชุมชนผ่านมุมมองคนในพื้นที่หากพูดถึงการเที่ยวกรุงเทพฯ หลายคนคงนึกถึงการเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ทั้งที่จริงแล้วตามตรอกซอกซอยของกรุงเทพฯ มีกิจกรรมและสถานที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่มากมาย แต่สถานที่และกิจกรรมเหล่านี้กลับถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย คงดีไม่น้อยหากแต่ละชุมชนมีแหล่งรวบรวมเรื่องราวและข้อมูลของย่านต่างๆ เอาไว้ เพื่อให้คนในพื้นที่เข้ามาติดตามและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยโปรโมตร้านรวงและอัปเดตกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อจูงใจให้คนนอกชุมชนสนใจเดินทางมาเยี่ยมชมด้วย  ตอนนี้ก็มีเพจอย่าง Ari Around www.facebook.com/AriAroundTH ที่นำเสนอเรื่องราวน่าสนใจในย่านอารีย์สุดฮิป โดยตั้งใจอยากจะขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อพัฒนาอารีย์ไปสู่การเป็นย่านที่น่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีเพจ SUNA www.facebook.com/SUNAneighbormove ที่ประกาศตัวขอเป็นเพื่อนบ้านกับชาวสุขุมวิท-บางนา คอยชี้เป้าของเด็ดของดีภายในย่าน และนำเสนอกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัว ชวนเที่ยวอย่างเดียวไม่พอ พาเที่ยวเลยดีกว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนคือวิธีหนึ่งในการประกอบสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับคน ซึ่งเราสามารถออกแบบแผนการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนได้ไม่ยาก ด้วยการหยิบยกเอาของดีในชุมชนขึ้นมาเป็นไฮไลต์ของทริป และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ดังตัวอย่างที่กลุ่ม Trawell Thailand นำเสนอแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นการนำเที่ยวในชุมชนเมือง โดยชูจุดเด่นของศิลปวัฒนธรรมในชุมชนดั้งเดิมและร้านค้าสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่เชื่อมโยงให้คนชอบเที่ยวได้มาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนเมืองในอีกแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ล่าสุดได้เปิดตัว E-book เส้นทางท่องเที่ยวสำหรับคนทุกคนใน 3 ย่าน ได้แก่ ย่านวังบูรพา-เสาชิงช้า-ราชดำเนิน ย่านท่าเตียน-ปากคลองตลาด และย่านสนามหลวง-บางลำพู-เทเวศร์ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.facebook.com/Trawellthailand อีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังทำงานขับเคลื่อนชุมชนอย่างแข็งขันคือ ‘ไกด์เด็กบางลำพู’ ที่รวมตัวกันจัดตั้งโครงการเสน่ห์บางลำพู และรับสมัครนักท่องเที่ยวผ่านเพจ www.facebook.com/sanaebanglumphu เพื่อถ่ายทอดเสน่ห์ของย่านบางลำพูที่เป็นตลาดสำคัญเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ พวกเขาพยายามอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมภายในย่าน ด้วยการชักชวนคนมาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนในย่านบางลำพูโดยมีไกด์เยาวชนท้องถิ่นเป็นผู้นำเที่ยว เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ควบคู่ไปกับการทำงานขับเคลื่อนบางลำพูสู่อนาคต เป็นการปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาชุมชนอย่างสร้างสรรค์ ชวนให้จับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าพลังของคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนแปลงบางลำพูไปอย่างไรบ้าง การพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ สร้างสรรค์ เป็นมิตร และปลอดภัย ทั้งต่อผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยี่ยมเยือน คือโจทย์สำคัญที่ Bangkok Design Week 2023 อยากชวนทุกคนมาขบคิดร่วมกันว่าทุกวันนี้ชุมชนที่เราอยู่อาศัย ยังมีอะไรที่ควรพัฒนาเพิ่มเติมและมีเรื่องราวดีๆ อะไรที่น่านำเสนอบ้าง เพราะเราเชื่อว่าการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองในฝันไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจที่เราทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ –Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี4-12 February 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation